บทความนี้จะพาไปดูกลไกการทำงานของโหราศาสตร์ ที่มิได้เป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล หากแต่ยังเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่างแรก จำต้องกล่าวถึงงานบุกเบิกทางวิชาการจากวิทยานิพนธ์ของ ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ เรื่อง “Supernatural prophecy in Thai politics: The role of a spiritual cultural element in coup decisions” หรือในชื่อภาษาไทย “โหราศาสตร์กับการตัดสินใจในทางการเมืองของไทย” ชลิดาภรณ์ได้กล่าวถึงความน่าสนใจในการศึกษาประเด็นเรื่องโหราศาสตร์ต่อการเมืองไทยไว้ว่า “การละเลยโหราศาสตร์ซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่อธิบายพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง โดยไปให้ความสำคัญกับปัจจัยซึ่งทฤษฎีที่ถูกคิดโดยตะวันตกเห็นว่ามีความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมไทย อาจจะทำให้การพยายามอธิบายหรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง” กล่าวคือมิติด้านโหราศาสตร์อาจ “ไม่เป็นสาระเมื่อมองจากมุมของสังคมตะวันตก แต่อาจมีสาระมากมายในสังคมไทย” ซึ่งช่วงเวลาศึกษาในงานของชลิดาภรณ์ คือสมัยรัฐประหาร พ.ศ. 2524 และ พ.ศ. 2528
บทความนี้ใช้แนวคิดจากงานศึกษาของชลิดาภรณ์ เพื่อเล่าเรื่องราวคำทำนายทางโหราศาสตร์กับประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยจะเริ่มกล่าวถึงในช่วงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่ามิติทางโหราศาสตร์สัมพันธ์ต่อความพลิกผันทางการเมือง ดังปรากฏข่าวลือในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อย่างข่าวลือการโค่นล้มรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ส่งผลต่อความรู้สึกทางการเมืองในสังคมสยาม ทว่า ‘ข่าวลือ’ นี้กลับมีพื้นฐานบางส่วนมาจากความเชื่อในคำทำนายเก่าแก่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี พระน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทำนายว่า อายุของราชวงศ์จักรีจะสิ้นสุดลงแค่ 150 ปี ซึ่งหมายถึงช่วง พ.ศ. 2475 พอดี เบนจามิน เอ.บัทสัน นักวิชาการผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า “ข่าวลือหลายข่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำพยากรณ์เก่า ๆ ที่ว่าราชวงศ์นี้จะมีอายุเพียง 150 ปี”
คำนายดังกล่าวน่าเป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางและคงส่งผลต่อความรู้สึกทางการเมือง เพราะแม้แต่นักสังเกตการณ์ชาวต่างชาติก็ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ แต่เขากลับมีมุมมองที่น่าสนใจต่อเรื่องนี้ว่า
“ข้าพเจ้าไม่เคยคิดสงสัยเลยว่าที่มีการพูดถึงข่าวลือขึ้นมาใหม่และการที่มีข่าวว่ามีผีปรากฏตัวนั้นคงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมตัว มันเป็นการจัดฉากที่ดีและช่วยให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแน่ ๆ ดังนั้น เมื่อเกิดมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นย่อมเป็นที่ยอมรับได้”
ตามความเห็นของนักสังเกตการณ์ชาวต่างชาติว่า ข่าวลือคำทำนายที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ‘จัดฉาก’ เพื่อตอบสนองความรู้สึกในการยอมรับได้ของประชาชนสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คำทำนายได้ถูกใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถือได้ว่าเป็นอธิบายความเข้าใจทางการเมืองในเชิงวัฒนธรรมสังคมสยามอย่างน่าสนใจ
แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงบังเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร แต่การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ ‘แตกหัก’ และสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้นเป็นไปในลักษณะพยายามสร้างความประนีประนอมทางการเมืองร่วมกันระหว่างคณะราษฎรและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอย่างหนึ่งที่เด่นชัดก็คือ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
งานวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ให้ความสำคัญต่องานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำมาซึ่งการสร้างชุดความทรงจำ อำนาจเชิงสัญลักษณ์ และการให้ความหมายที่มาของรัฐธรรมนูญสยามในฐานะของ ‘พระราชทาน’ ผ่านทั้งคำปรารถรัฐธรรมนูญ งานพระราชพิธี และภาพถ่าย วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จึงนับว่ามีความสำคัญยิ่ง กระนั้น กลับไม่ค่อยปรากฏงานที่กล่าวถึงที่มาของวันดังกล่าวในเชิงวัฒนธรรมแบบไทย ๆ เท่าใดนัก ว่ากำเนิดของวันที่ 10 ธันวาคม มาจากฐานคิดเรื่องอะไร ที่ตั้งข้อสงสัยเช่นนี้เพราะว่า เมื่อสืบค้นฐานคิดเรื่องงานพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวามคม พ.ศ. 2475 เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากมิติเรื่องโหราศาสตร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ควรจะมีพิธีรีตอง จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์หายาม” และวันที่ 10 ธันวาคม เป็นฤกษ์ดีเหมาะสม “โดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์เป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทยซึ่งจะกินเวลาหลายวัน”
การร่างรัฐธรรมนูญในระบอบการเมืองใหม่เป็นเรื่องสำคัญทางการเมืองอย่างปฏิเสธมิได้ ทว่าฤกษ์งามยามดีของวันที่ 10 ธันวาคม กลับเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กำหนดความเป็นไปและพฤติกรรมทางการเมือง กล่าวคือ ความเชื่อทางโหราศาสตร์ได้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างสูง เพราะฤกษ์ยามวันดังกล่าวทำให้สภาต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จอย่าง ‘รีบเร่ง’ ในเวลาเพียง 4 วัน แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ในเชิงประจักษ์ได้ว่าฤกษ์ยามวันที่ 10 ธันวาคม ส่งผลต่อการสร้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์จริง ๆ หรือไม่ แต่ก็น่าสังเกตว่าฤกษ์ยามวันดังกล่าว อาจส่งผลสำหรับกลยุทธ์ทางการเมืองในการ ‘ช่วงชิง’ ชุดความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญในสังคมไทย ซึ่งคณะราษฎรเองก็ยินยอมไปกับพระราชประสงค์ภายใต้ความเชื่อทางโหราศาสตร์ โดยที่หากพิจารณาเทียบเคียงกับการวิเคราะห์ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจงใจหรือไม่ก็ตาม แต่วัน ‘พระราชทาน’ รัฐธรรมนูญ 10 ธันวามคม ก็มีความสำคัญ เพราะเป็นการลดความสำคัญของวันที่ 24 (หรือ 27) มิถุนายน ไปโดยปริยาย
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 ความประนีประนอมทางการเมืองก็สิ้นสุดลงด้วยความรุนแรงจากสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลกับคณะกู้บ้านกู้มือง และจบลงด้วยการที่รัฐบาลสามารถปราบปราบได้ ต่อมามีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาตัดสินลงโทษ ซึ่งสมาชิกคนหนึ่งในฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ถูกจับและตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คือ โหรแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์
ในงานศึกษาของณัฐพล ใจจริง เรื่อง “โหรกับการโต้ปฏิวัติ 2475: แฉล้มเลี่ยมเพ็ชรรัตน์ กับ “76 เทพการเมือง” ได้ให้ข้อมูลว่า ข้อหาที่โหรแฉล้มโดนจับคือ การเป็นผู้อ่านประกาศให้ประชาชนที่อยู่ตามสถานีรถไฟ ในทำนองกล่าวหารัฐบาลว่าเป็นคอมมิวนิสต์และคิดล้มราชบัลลังก์ นอกจากนี้ “ในหนังสือโหราศาสตร์ของแฉล้มเองนั้นได้เล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทและความเคลื่อนไหวของเขาในการเผยแผ่เอกสารตามหัวเมืองขณะนั้นว่า เขาได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ เค้าโครงการปกครองเมือง ตำราโครงลาว ตำราผัวเมีย ตำราดาวนิพพาน และ หนังสือบำรุงการเมือง ระหว่างที่พวกเขาดำเนินการแจกจ่ายเอกสารในหัวเมืองอีสานอยู่นั้น ปรากฏว่ากองทัพบวรเดชที่ไปปราบคณะราษฎรในกรุงเทพฯ ประสบความพ่ายแพ้ หนังสือที่เหลือจำนวน 16,000 เล่ม จึงถูกหลวงศุภนัยนิติรัก ซึ่งเป็นพรรคพวกของเขาทำลายทิ้งทั้งหมดทันที จากนั้นแฉล้มก็ถูกจับ” ซึ่งณัฐพล ใจจริง สันนิษฐานว่าหนังสือบางเล่มอย่าง เค้าโครงการปกครองเมือง และ หนังสือบำรุงการเมือง น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการเมือง
ชวนตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า นอกเหนือไปจากเรื่องทางการเมืองโดยตรงแล้ว รัฐบาลจับโหรแฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ ด้วยเหตุผล (ที่ไม่เปิดเผยโดยตรง) ใดอีกได้บ้าง เป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทย ๆ เรื่องโหราศาสตร์คือปัจจัยหนึ่งในโลกทัศน์ทางสังคมการเมืองที่รัฐบาลหรือสังคมสยาม รู้สึกอ่อนไหวและให้ความสำคัญ เพราะเป็นไปได้สูงที่ฤกษ์ยามของคณะกู้บ้านกู้เมืองได้รับการดูฤกษ์ยามโดยโหรแฉล้ม แม้การยึดอำนาจจะไม่สำเร็จ แต่ก็อาจสะท้อนให้เห็นว่าเรื่องโหราศาสตร์เป็น ‘ปัจจัย’ หนึ่งของโลกทัศน์สังคมการเมือง กล่าวคือ เรื่องโหราศาสตร์อาจถูกนำมาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการโจมตีทางการเมืองผ่านวัฒนธรรมความเชื่อ อย่างไรก็ดี เรื่องที่ทำให้โหรแฉล้มโด่งดังเป็นที่รู้จักและนิยมก็มาจากเหตุการณ์นี้ เพราะเขาสามารถหลบหนีการกุมขังออกจากเกาะตะรุเตาได้
สำหรับตัวโหรแฉล้มเองแล้ว ความสำเร็จในการหลบหนีออกจากเกาะตะรุเตาได้นั้นมาจากความสามารถทางด้านโหราศาสตร์ ดังที่เขาเขียนเล่าภายหลัง โดยมิได้กล่าวถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และจ่ายค่าจ้างคนบนเกาะในการเป็นผู้พาหลบหนีด้วยจำนวนเงิน 5,000 บาท แต่การกล่าวอ้างความสามารถทางโหราศาสตร์ ก็น่าจะทำให้งานเขียนของโหรแฉล้มเป็นที่สนใจของผู้อ่านไม่มากก็น้อย ดังที่โหรแฉล้มได้ผลิตงานเขียนด้านโหราศาสตร์ออกมาเป็นหนังสือหลายเล่ม และที่สำคัญคือได้แฝงนัยทางการเมือง ดังปรากฏในการวิเคราะห์ของณัฐพล ใจจริง ว่างานเขียนของโหรแฉล้มเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายพันธมิตรในการ ‘โต้ปฏิวัติ’
อีกหนึ่งเหตุการร์ที่น่าสนใจคือการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้มีการดูฤกษ์ยามและดวงชะตาของบุคคลต่าง ๆ ในคณะรัฐประหารและผู้นำฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการอย่างสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เห็นว่าการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นจุดเริ่มต้นรัฐประหารแบบไทย ๆ และกล่าวถึงองค์ประกอบหนึ่งในการรัฐประหารแบบไทย ๆ ว่า
“ผมขอพูดถึงคนคนหนึ่งที่บอกว่าเป็นการรัฐประหารแบบไทยจริง ๆ ชื่ออาจจะดูแปลก ๆ คือร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู คนนี้เป็นโหร เป็นคนรับหน้าที่ไปดูฤกษ์ยามว่าจะรัฐประหารวันไหนดี วันไหนหลวงธำรงฯ นายปรีดี ดวงจะตก จะได้กำหนดวันนั้นเป็นวันก่อการรัฐประหาร ซึ่งอันนี้ชี้ให้เห็นถึงการเป็นรัฐประหารแบบไทยจริง ๆ...คือ 2475 นั้นพระยาพหลฯ ไม่เชื่อโหรคนไหน ไม่ดูดวง ไม่ดูฤกษ์ แต่ 2490 มีคนกำหนดฤกษ์ยาม..”
จากการสืบค้นประวัติเบื้องต้นพบว่า โหรทองคำ ยิ้มกำภู เป็นนายทหารกองหนุนที่น่าจะมีชื่อเสียงทางโหราศาสตร์มาในช่วงทศวรรษ 2480 เป็นอย่างน้อย ดังปรากฏงานเขียนของเขาเรื่อง “ตำราโหราศาสตร์ภาคคำนวณแบบรัตนโกสินทร์ หรือคำภีร์ผูกดวงพิชัยสงคราม” ในหนังสือพิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพหลวงเทวานิมิตร (เนื่อง หัตถพันธ์) ใน พ.ศ. 2482 เป็นไปได้ว่าเคยเขียนคำทำนายทางโหราศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองลงในหนังสือพิมพ์ ไท รายสัปดาห์ในช่วงก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือทางโหราศาสตร์ไว้หลายเล่ม เช่น ปฏิทิน 3 ภาษาเทียบ 120 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 2520, ตำราพระภูมิ พร้อมทั้งพิธีจัดตั้งศาลพระภูมิ การบูชา, การสังเวย โดยละเอียด, ตำราสรุปโหราศาสตร์ (คำภีร์สุริยาตร์), แบบเรียนโหรทางลัด เป็นต้น
ข้อมูลที่พอยืนยันความสำคัญเรื่องโหราศาสตร์ในการรัฐประหารคือ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ได้มีการประชุมร่วมกันของคณะรัฐประหาร ในที่ประชุมร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู ได้ดูฤกษ์ยามและกำหนดให้เอาวันที่ 8 พฤศจิกายน เป็นวันทำการ เพราะ
“ ได้ตรวจดูดวงชะตาของคนสำคัญโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เช่น ดวงชะตาของนายปรีดี พนมยงค์ นายถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และพลเอก อดุล อดุลเดชจรัส ล้วนแต่เข้าสู่ดวงบาปเคราะห์ ส่วนดวงชะตาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะผู้ก่อการรัฐประหารทุกคน ล้วนแต่กำลังมีโชคเป็นศุภเคราะห์ แสดงว่าจะทำการสำเร็จสมมโนรถ”
จากการตรวจดูดวงชะตาและฤกษ์ยามของโหรทองคำ ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรัฐประหารมีความ ‘ปิติยินดีเห็นคล้อยตาม’ และถ้าพูดในแง่ขวัญและกำลังใจก็ถือว่าร้อยตรีทองคำ ยิ้มกำภู “ได้ใช้วิชาโหรบำรุงขวัญของคณะผู้ก่อการเป็นอย่างดี” อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่คำทำนายหรือการตรวจชะตาทางโหราศาสตร์จะเป็น ‘ขวัญ’ ให้คณะรัฐประหารตัดสินใจทำการรัฐประหารเท่านั้น ตัวโหรทองคำเองก็ถือได้ว่าเป็น ‘กลไก’ ในการเชื่อมเครือข่ายหรือสายงานในคณะรัฐประหารด้วย โดยเมื่อครั้งเริ่มวางแผนการรัฐประหาร ได้ปรากฏเรื่องราวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 อันเป็นกองกำลังสำคัญในพระนครเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่ พันเอกอาจศึก ดวงสว่าง ได้บันทักเรื่องนี้ไว้ว่า
“ จนกระทั่ง (ร.ท.ชาญณรงค์ วิจารณบุตร นายทหารใต้บังคับบัญชาซึ่งพยายามชักชวนให้ พ.อ.สฤษดิ์ ก่อรัฐประหาร - ผู้เขียน) ไปพบและรู้จักกับ ร.อ.ทองคำ ยิ้มกำภู นายทหารกองหนุนผู้ชำนาญในด้านโหราศาสตร์ และมีโอกาศได้พบกับ พ.ท.ขุนจำนงภูมิเวท, น.อ.กาจ กาจสงคราม และ ร.อ.ขุนปรีชารณเศรษฐ แล้ว จึงทราบว่าท่านเหล่านี้มีความเห็นตรงกันกับตน จึงได้วางแผนประสานงานกันแผ่ขยายออก...”
การประสานงานและขยายตัวของสมาชิกคณะรัฐประหารนี้ ได้ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ตัดสินใจเข้าร่วมคณะรัฐประหารในที่สุด จากที่เล่ามาผู้เขียนพยายามจะชี้ชวนให้เห็นอานุภาพของโหราศาสตร์กับสังคมวัฒนธรรมการเมืองอย่างกว้าง ๆ ลำดับถัดมาจะขอขยับเรื่องเล่ามาสู่ปัจเจกบุคคลผ่านประวัติศาสตร์ของผู้นำทางการเมือง โดยเฉพาะผู้นำแบบไทย ๆ อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในงานศึกษาของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้กล่าวถึงความแตกต่างของกลุ่มคณะราษฎรและกลุ่มคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2501 หรือคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ในประเด็นหนึ่งว่า บุคคลชั้นนำส่วนใหญ่ของคณะราษฎรในการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้รับการศึกษาอบรมมาจากต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มหลังนั้นส่วนใหญ่เป็นผลผลิตภายในประเทศ ประเด็นนี้นับเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อวัฒนธรรมความคิดทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ เพราะจากการสืบค้นประวัติจอมพลสฤษดิ์ จะพบว่าเป็นผู้ที่มีความเชื่อเรื่องราวทางโหราศาสตร์และเป็นปัจจัยในการตัดสินใจทางการเมืองบ่อยครั้ง มีโหรประจำตัวไว้คอยดูดวงชะตาช่วยในการตัดสินใจทางการเมืองอย่างน้อยสองคน คือ โหรเทพย์ สาริกบุตร และ โหร(หมอ)ประจวบ วัชรปาณ
จอมพลสฤษดิ์กับโหรเทพย์ สาริกบุตร เป็นที่รู้จักและมีการตรวจดูดวงชะตาให้กันตั้งแต่เมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์มียศเป็นเพียงพันตรี น่าจะอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2482-2486 โดยโหรเทพย์ได้ทำนายว่า จอมพลสฤษดิ์จะได้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง และมีผู้ให้ข้อมูลว่าจอมพลสฤษดิ์เคยสั่งให้โหรเทพย์หาฤกษ์แต่งงานระหว่างตนเองกับคุณหญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ด้วย โหรเทพย์น่าจะดูดวงชะตาและหาฤกษ์ยามต่าง ๆ ให้จอมพลสฤษดิ์หลายครั้ง และคงเป็นที่ชอบพอกันอยู่มาก ดังคำบอกเล่าของลูกสาวโหรเทพย์ที่กล่าวว่า
“คุณพ่อนี่ท่านเป็นโหรฯใหญ่ ท่านก็จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประเภทสองค่ะ ท่านมีเพื่อนเป็นนายทหารและก็เป็นท่านที่ดูหมอ ดูดวงชะตาราศีให้ท่านสฤษดิ์...อยู่ในวงหมอดูจอมพลสฤษดิ์... เรื่องข่าวสารนี่คุณพ่อจะรู้หมด มีสายสืบค่ะ ท่านเป็นเหมือนหน่วยสืบลับ เทียบกับสมัยนี้ก็เหมือนกับหน่วยงานความมั่นคง จะรู้หมด ใครจะเป็นอะไรท่านก็จะพูด พอดีท่านมาทานข้าวที่บ้าน คุณแม่ก็ทำกับข้าว หาอาหารให้ทาน เราก็แผนกเสริฟน้ำ ก็จะรู้จักข่าวสารบ้านเมืองเมื่อมาคุยกับคุณพ่อ คุณพ่อก็จะทำนายเหตุการณ์ได้ เพราะว่าท่านมีพรรคพวกหลากหลายสายค่ะ ตั้งแต่ท่านในวัง นายแพทย์ก็มี นายทหารใหญ่ก็มี คุณพ่อจะรู้หมด”
ประเด็นนี้แสดงให้เห็นว่า นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องคำนายทางโหราศาสตร์ ตัวโหรเองก็ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเชื่อมต่อเครือข่ายกลุ่มการเมืองผ่านความเชื่อทางโหราศาสตร์ของผู้นำไทย โดยตัวโหรเทพย์เองก็น่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียงทางโหราศาสตร์ระดับต้น ๆ ในยุคสมัยดังกล่าว รวมถึงยังเป็นโหรที่มีชื่อเสียงยุคสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากได้ทำนายว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญและเคยทำนายว่านายสมัคร สุนทรเวช จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งยังได้ผลิตงานเขียนทางด้านโหราศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
โหรอีกคนหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นโหรประจำตัวใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์มากที่สุด คือ โหรประจวบ วัชรปาณ ประวัติของโหรท่านนี้สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ แต่เป็นผู้มีความสนใจด้านโหราศาสตร์ รวมถึงยังมีความสามารถในด้านการต่อสู้และใช้อาวุธปืน
เรื่องราวความสัมพันธ์ของโหรประจวบ วัชรปาณ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ น่าจะเริ่มต้นขึ้นในระหว่างช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาประมาณ พ.ศ. 2483 โดยร้อยโทประจวบเป็นผู้บังคับหมวดเสนารักษ์ประจำกองพันทหารราบที่ 33 ซึ่งมีพันตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับกองพัน เรื่องราวประวัติศาสตร์ในตอนนี้น่าสนใจยิ่ง ดังที่ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ได้บันทึกเล่าไว้ว่า “เป็นบุคคลที่หาไม่ได้ง่ายนักในยุคปัจจุบัน...เพราะเตรียมชีวิตไว้เข้าศึกษาเล่าเรียนแพทย์แผนปัจจุบันจนจบเป็นแพทย์ปริญญา ยังสนใจในการแพทย์แผนโบราณ สนใจวิชาไสยศาสตร์ ภูติผีปีศาจ สิ่งลึกลับและความดำมืด ไม่มีตัวตนที่ยากแก่การพิศูจน์” โดยในตอนหนึ่งได้เล่าถึงการทำพิธีทางไสยศาสตร์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์เองก็ได้เข้าร่วมพิธีด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังสงครามสิ้นสุดลง โหรประจวบก็ได้ลาออกจากราชการไปอยู่ภาคใต้กับภรรยา ทว่าเมื่อจอมพลสฤษดิ์เริ่มขึ้นมามีบทบาทอำนาจหลังการปราบกบฏสองครั้งใน พ.ศ. 2492 และ 2494 ก็ได้เขียนจดหมายติดต่อโหรประจวบหลายครั้งเพื่อให้กลับมาร่วมงานกันอีก ภายหลัง พ.ศ. 2494 โหรประจวบจึงได้กลับมารับใช้จอมพลสฤษดิ์ในฐานะนายแพทย์ประจำตัวและนายทหารติดตามอีกครั้ง
บทบาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ในช่วงทศวรรษ 2490 โดดเด่นขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็น ‘ขวัญใจประชาชน’ โดยเฉพาะช่วงหลังการเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ. 2500 ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เวลาประมาณ 20.00 น. โดยมีผู้กล่าวว่า วันและเวลาดังกล่าวได้รับการดูฤกษ์ยามโดยโหรประจวบ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง เพราะจากคำบอกเล่าของพลโทวัลลถ โรจนวิสุทธิ์ เมื่อคราวการรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับโหรประจวบว่า “ก่อนเวลาลงมือทำรัฐประหารไม่กี่นาที จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกและผู้นำคณะทหารเข้าทำการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวแก่คณะนายทหารฝ่ายอำนวยการประจำตัวท่านว่า “ถ้าทำงานคืนนี้ไม่สำเร็จ ไอ้จวบ. มึงไปกับกูสองคน นอกนั้นไม่ต้อง”
จากที่กล่าวมาทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าทั้งตัวโหรผู้ทำนายและคำทายดูจะมีความสำคัญทั้งกลไลการทำงานและเชิงการเป็นเครือข่ายเชื่อมต่อกลุ่มทางการเมืองรวมถึงเป็นการสร้างขวัญกำลังใจหรือเป็นหน่วยหนึ่งในการตัดสินใจทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำรัฐประหาร อันเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีในสังคมการเมืองไทย
ท้ายที่สุด จากข้อมูลที่กล่าวมา พอจะสร้างชุดข้อเสนอในการทำความเข้าใจประวัติศาตร์การเมืองไทย ว่าท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2500 หากพิจารณาโดยกว้างว่าเป็นการขับเคี่ยวกันทางการเมืองระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายกษัตริย์นิยม-อนุรักษ์นิยม สำหรับการเมืองวัฒนธรรม มุมมองทางโหราศาสตร์ ดูจะไม่แน่ชัดนักว่าประเด็นนี้เป็นโลกทัศน์ทางการเมืองที่คณะราษฎรให้ความสนใจหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่เมื่อสังเกตกลไกหรือกลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมของฝ่ายคณะราษฎร ในงานศึกษาทางวิชาการไทย มักแสดงให้เห็นถึงฐานคิดการสู้ในเชิงสัญญะผ่านพื้นที่ รูปปั้น วัตถุต่าง ๆ บนฐานคิดความเป็นสมัยใหม่ ขณะที่ฝ่ายกษัตริย์นิยม-อนุรักษ์นิยมดูจะปรากฏความคิดเรื่องโหราศาสตร์อยู่ด้วยอย่างเด่นชัด แน่นอนว่าเรามิสามารถพิสูจน์ในแง่อำนาจลี้ลับนี้ได้ แต่ในฐานะ ‘เครื่องมือ’ ทางการเมืองแล้ว โหราศาสตร์เป็นทั้งกลยุทธ์ จิตวิทยา หรือหน่วยเชื่อมต่อเครือข่ายกลุ่มการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยม-อนุรักษ์นิยม และกลุ่มผู้นำทางทหาร แน่นอน ข้อเสนอนี้จึงสมควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้ง เพราะจะได้นำไปสู่ความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยในเชิงการเมืองวัฒนธรรมไทยมากขึ้น
อิทธิเดช พระเพ็ชร
กฤษณ์ สีวะรา. (2514). แด่ หมอจวบ – เพื่อนรัก – เพื่อนตาย. ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๔.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์.(2534). โหราศาสตร์กับการตัดสินใจในทางการเมืองของไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (2552). หนึ่งศตวรรษ : รัฐธรรมนูญและรัฐประหารกับการเมืองสยามประเทศไทย จากกบฏ ร.ศ. 130 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือประชาธิปไตยกับอำมาตยาธิปไตย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ชาตรี ประกิตนนทการ. (2552). ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์. กรุงเทพฯ: มติชน.
ชัยวัฒน์ ตรีวิทยา. บทสัมภาษณ์ พรทิพย์ สาริกบุตร, “ปากคำประวัติศาสตร์”: ตามโครงการของมูลนิธิ 14 ตุลา ในการรวบรวมปากคำของคนที่อยู่ในเหตุการณ์ฯ. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561.อ่านออนไลน์
ณัฐพล ใจจริง. (2556). โหรกับการโต้ปฏิวัติ 2475: แฉล้มเลี่ยมเพ็ชรรัตน์ กับ “76 เทพการเมือง. ใน ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2552). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2560). 2475 และ 1 ปีหลังปฏิวัติ. ใน ปฏิวัติ 2475. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. (2548). 10 ธันวาคม วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือวันรัฐธรรมนูญ. ใน ธรรมศาสตร์และการเมืองเรื่องพื้นที่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2549). แนวความคิดชาติบ้านเมือง: กำเนิด พัฒนาการ และอำนาจการเมือง. ใน วารสารธรรมศาสตร์. ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2549)
เบนจามิน เอ.บัทสัน. (2543). อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
เปลว สีเงิน. (4 สิงหาคม 2558). ท่องโลก 'มิติหลังตาย' กันดีกว่า. ใน ไทยโพสต์. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561.
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2557). พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ: นัยยะแห่งการเมือง สัญญะแห่งอำนาจ. ใน ศิลปวัฒนธรรม, 36: 2 (ธันวาคม).
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2558). “ลัทธิบูชารัฐธรรมนูญ” กับสยามสมัยคณะราษฎร. ใน ศิลปวัฒนธรรม, 37:2 (ธันวาคม).
มานิตย์ นวลละออ. (2540). การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์ไทย. กรุงเทพฯ: บริษัท รุ่งเรืองรัตน์พริ้นติ้ง จำกัด.
ยอดธง ทับทิวไม้. การเมืองไทยและนักการเมืองกำลังเสื่อมถึงที่สุด (2). เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561. อ่านออนไลน์
วิชัย ประสังสิต. (2505). แผ่นดินสมเด็จพระปกเกล้า. พระนคร: ผดุงชาติ.
.
วิชัย ประสังสิต. (2557). ปฏิวัติรัฐประหารและกบฏจราจลในสมัยประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย. อ้างใน สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490. กรุงเทพฯ: มติชน.
วัลลถ โรจนวิสุทธิ์. (2514). แด่ พันเอกประจวบ วัชรปาณ เพื่อนตาย, ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พ.อ. (พิเศษ) ประจวบ วัชรปาณ, ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๔.
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. (2547). ประวัติศาสตร์วันชาติไทยจาก 24 มิถุนายน ถึง 5 ธันวา. ใน ฟ้าเดียวกัน. ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน)
ส.สีมา. อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร"ผู้ทำนาย 14 ตุลามหาวิปโยค และ สมัคร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2561. อ่านออนไลน์
อาจศึก ดวงสว่าง. (2507). ประวัติและผลงานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะรัฐมนตรี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2507. โรงพิมพ์ทำเนียบนายกรัฐมนตรี.
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์. / อ่านออนไลน์
กำเนิด. / ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. อ่านออนไลน์