“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ที่บันไดท่าน้ำริมคลอง นางเอื้อยหญิงสาวชาวบ้านหน้าตาสะสวยถือกระด้งมาร่อนรำ พลางร้องเรียกหาแม่ปลาบู่ทอง ให้มากินอาหาร ด้วยความกตัญญูของเธอ ที่ให้อาหารแม่ปลาบู่ทุก ๆ วัน แม่ปลาบู่ทองจึงเสกฟักทองในสวนให้กลายเป็นรถฟักทอง เสกหนูนาในนาให้กลายเป็นม้า พร้อมเปลี่ยนผ้าถุง-เสื้อคอกระเช้า ให้เป็นชุดเต้นรำกระโปรงสุ่มกับคอร์เซ็ตที่งดงาม เปลี่ยนงอบที่สวมมาเป็นเทียร่าเพชรแวววับ ว่าแล้วนางเอื้อยก็ขึ้นรถม้าฟักทองไปปราสาทนอยชวานสไตน์ เพื่อไปงานเต้นรำของเจ้าชาย เจ้าชายเลือกเอื้อยให้เป็นคู่เต้นรำ ทั้งสองจึงเต้นรำกันอย่างเพลิดเพลิน จนนางเอื้อยลืมว่าต้องกลับมาที่บ้านก่อนเวลาเที่ยงคืน พอนางเอื้อยนึกขึ้นได้รีบวิ่งออกจากปราสาททันที แต่รีบมากจนทำให้ใบต้นโพเงินโพทองที่เก็บติดตัวไว้หล่นลงมา เจ้าชายจึงตามหาต้นโพเงิน โพทอง จนเจอและหาคนที่จะมาดึงโพเงินโพทองเพื่อไปปลูกที่วัง ผู้คนมากหน้าหลายตาพากันมาดึง แต่ไม่มีใครดึงได้ จนนางเอื้อยได้มาขออธิษฐาน จึงสามารถดึงได้ และทันทีที่เจ้าชายเห็นหน้าก็จำนางได้ จึงรับนางเข้าไปอยู่ในวังด้วยกัน ทั้งสองจึงครองคู่มีความสุขอยู่ด้วยกันตราบนานแสนนาน”
เด็ก ๆ ที่ได้ฟังนิทานเรื่องนี้ก็คงจะสงสัยอยู่ในที ว่าเอ๊ะ! ตกลงจะเล่านิทานเรื่องอะไรให้หนูฟังกันนะเนี่ย ระหว่าง ปลาบู่ทอง หรือ ซินเดอเรลลา แต่เอาเข้าจริงเราก็สามารถเล่านิทานสองเรื่องนี้ตัดสลับไปมาได้อย่างสบาย ๆ เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีโครงเรื่องเดียวกัน ไม่ต้องมาสืบค้นหาที่มาว่าใครก๊อปปี้ของใคร หรือฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ให้วุ่นวายอย่างในสมัยนี้เลย อาจารย์ประคอง นิมมานเหมินท์ เขียนไว้ในหนังสือ นิทานพื้นบ้านศึกษา ว่า “ซินเดอเรลลาของยุโรปมีโครงเรื่องคล้ายปลาบู่ทองมาก เมื่อนำนิทาน 2 เรื่องนี้มาเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นว่า แม้มีรายละเอียดบางประการแตกต่างกันแต่โครงเรื่องใหญ่คล้ายคลึงกันหมด” ซึ่งนักคติชนวิทยาที่สนใจนิทานพื้นบ้าน ถึงขั้นรวบรวบนิทานจากหลากหลายประเทศ พบความคล้ายคลึงกับซินเดอเรลลามาศึกษาเปรียบเทียบกัน ในหนังสือเรื่อง Cinderella: A Casebook ของ Alan Dundes และเรื่อง Cinderella Cycle ของ Anna Birgitta Rooth
เราจะยังไม่ลงลึกถึงนิทานในแง่มุมของนักคติชนวิทยาไปมากกว่านี้ แต่มาคุยสนุก ๆ ในแบบคนเล่านิทาน-คนฟังนิทานกันดีกว่า
พวกเราคงคุ้นเคยกับนิทานที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับดวงดาว เป็นเรื่องเล่ายามค่ำคืนที่แต่ละชนชาติต่างก็สืบทอดกันมา นิทานประเภทนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดี ของไทยก็คงเป็นนิทานเรื่อง “ดาวลูกไก่” เรื่องของสองตายายที่อยากทำบุญตักบาตรพระธุดงค์ แม่ไก่ที่เลี้ยงไว้ยอมสละชีวิตเพื่อให้ตายายทำแกงไปถวายพระเพื่อแสดงความกตัญญู บรรดาลูกไก่ที่คิดถึงแม่ไม่ยอมพรากจากแม่จึงวิ่งเข้ากองไฟตายตามกันไป ที่จริงแล้วความกตัญญูของลูกไก่นั้น ไม่เท่ากับความกตัญญูของแม่ไก่เลย แต่ด้วยคุณงามความดีทั้งหมดลูกไก่จึงไปเกิดเป็นดาวลูกไก่ เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดบริบทความเป็นไทยผ่านความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม
แต่หากเพ่งมองท้องฟ้าเพื่อหากระจุกดาวดังกล่าวในเอเธนส์ ประเทศกรีก เราก็จะได้ฟังเรื่องราวเทพปกรณัม เพลอาดีซ (Pleiads) พวกเธอทั้งเจ็ดเป็นลูกสาวของ Atlas กับ Pleione และจะมีดาวหนึ่งดวงในจำนวนเจ็ดดวง ที่มองแทบจะไม่เห็น เพราะเธอเป็นคนเดียวในหมู่พี่สาวของเธอที่เคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับมนุษย์ จึงทำให้เธอเลือนรางไป ชื่อของพวกเธอคือ Electra, Maia, Taygete, Alcyone, Celaeno, Sterope และ Merope จึงเห็นได้ว่าแค่เรามองดวงดาวจากคนละฟากฟ้าเราก็มีนิทานที่ได้ยินได้ฟังกันคนละเรื่อง
สำหรับคอวรรณกรรม หรือชอบอ่านชอบฟังนิทาน คงเห็นความเหมือนของนิทานหลาย ๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น มณีพิชัย นิทานพื้นบ้านของไทยที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงตัวน้อยที่เติบโตในกระบอกไม้ไผ่ยักษ์ เติบโตขึ้นมาจนเป็นเจ้าหญิงยอพระกลิ่นแสนสวย แต่ต้องรออยู่ในไม้ไผ่นานถึงสิบห้าปีเพราะมีเพียงเนื้อคู่ของเธอเท่านั้นที่สามารถตัดไม้ไผ่และนำนางออกไปได้ ส่วนญี่ปุ่นก็มีนิทานเรื่อง เจ้าหญิงคางุยะ หรือ เรื่องคนตัดไม้ไผ่ เรื่องราวของสองสามีภรรยาที่มีอาชีพตัดไม้ไผ่ขาย วันหนึ่งเมื่อเข้าไปในป่าก็เจอไม้ไผ่ปล้องหนึ่งที่แปลกประหลาดกว่าไผ่ทุกปล้อง เมื่อตัดออกมาก็พบเด็กผู้หญิง ทั้งคู่ไม่มีลูกจึงเก็บมาเลี้ยงกลายเป็นหญิงสาวแสนสวย เห็นชัดเลยว่านิทานของไทยกับญี่ปุ่นทั้งสองเรื่องมีโครงเรื่องคล้ายกันคือมีตัวเอกที่เติบโตอยู่ในต้นไผ่เหมือนกัน
ความน่าเกลียดน่าชังจากรูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครเอกก็เป็นลักษณะร่วมของนิทานอย่างหนึ่ง เช่น เรื่องอุทัยเทวี (เรื่องพญาคันคากของอีสาน) เรื่องของนางอุทัยเทวีที่ต้องอาศัยอยู่ในซากคางคกเพื่อความปลอดภัย เทียบกับ เจ้าชายกบ ที่ถูกแม่มดสาปให้มีร่างกายเป็นกบ หรือ นางมณีรัตนา จากเรื่อง แก้วหน้าม้า เทียบกับ Beast จาก Beauty & The Beast สองเรื่องหลังนี้ตัวเอกแม้จะต่างเพศกัน แต่ต่างก็เป็นมนุษย์ที่มีลักษณะคล้ายสัตว์ ต้องรอคอยความรักที่แท้จริงจึงจะหลุดพ้นคำสาปได้
โลกของนิทานที่กว้างใหญ่เกินกว่าโลกใบนี้ นิทานจึงมีได้มากมายหลายร้อย หลายพัน หลายล้านเรื่องราว ลองมานึกสนุกจับคู่เรื่องราว ‘นิทานไทย’ กับ ‘นิทานต่างประเทศ’ กัน จะเห็นความสนุกซ่อนอยู่อีกมากมาย การนอนอยู่ในโลงแก้วของสโนไวท์เพื่อรอเจ้าชายมาจุมพิต คงไม่ต่างอะไรกับเจ้าชายวิจิตรจินดา ที่รอโสนน้อยเรือนงามมาถอนพิษให้ นิทานเรื่องใหม่จึงเริ่มต้นว่า
“กลางครั้งหนึ่งนานแสนนาน ซินเดอเรลลาหญิงสาวผู้น่าสงสาร ถูกใช้งานอย่างหนักจากแม่เลี้ยงและพี่สาวต่างแม่ทั้งสอง ชื่อนางอ้าย กับนางอี่ ทั้งสองอิจฉาที่ซินเดอเรลลา มีชื่อไพเราะกว่าตน หน้าตาสวยงามกว่าตน และยังมีความสามารถพิเศษมากกว่า ทั้งสองจึงวางแผนกับแม่เลี้ยงให้ซินเดอเรลลา ออกไปหาฟืนในป่ายามค่ำคืน แล้วในที่สุดนางก็หลงทางในป่า จนพบกับบ้านหลังเล็ก ๆ ที่มีเก้าอี้เล็ก ๆ อยู่ 7 ตัว เตียงเล็ก ๆ อยู่ 7 เตียง ด้วยความเหนื่อยอ่อนนางก็นอนหลับไป และได้พบกับคนแคระทั้งเจ็ด คนแคระดีใจที่ได้ช่วยเหลือซินเดอเรลลา ถึงพานางไปหาเทพารักษ์ในป่าเพื่อให้ช่วยพานางไปงานเลี้ยงของเจ้าชาย เทพารักษ์เสกชฎา รัดเกล้า พาหุรัด ในชุดไทยจักรี เสกช้างพร้อมประทุนหลังช้างให้รับนางไป นางมาถึงงานเลี้ยงเป็นคนสุดท้าย แล้วเจ้าชายก็โยนพวงมาลัยให้ซินเดอเรลลารับไว้ในมือ”
ความคล้ายคลึงกันของนิทานพื้นบ้านทำให้ วาทิน ศานติ์ สันติ สรุปเป็นทฤษฎีการแพร่กระจายของนิทาน หมายถึง นิทานเรื่องหนึ่งเคยนิยมเล่าสืบเนื่องในท้องถิ่นหนึ่ง ภายหลังมีการเล่าผ่านคนท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง จากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งโดยผ่านบุคคลอาชีพต่าง ๆ จนแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง แต่ละท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา ชื่อตัวละคร สถานที่ไปตามความนิยมของท้องถิ่นนั้น ๆ การเคลื่อนย้ายของนิทานจะไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขวางกั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่อง ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม การเคลื่อนย้ายของนิทานนี้นักคติชนวิทยาได้อธิบายความหมายไว้ 2 แนวทางด้วยกันคือ ทฤษฎีเอกกำเนิด เชื่อว่านิทานเกิดขึ้นจากแหล่งเดียวแล้วแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง และ ทฤษฎีพหุกำเนิด เชื่อว่า นิทานสามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ชุมชน และสามารถมีโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกันกับชุมชนอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กันมาก่อน
เพราะฉะนั้นซินเดอเรลลา จะนั่งรถฟักทอง ขี่ช้าง ขึ้นเกวียน หรือนั่งเกี้ยว จะใส่ส่าหรี กิโมโน หรือกี่เพ้า สาระที่เด็ก ๆ จะได้รับ ไม่ได้ลดน้อยลงเลย นิทานยังคงทำหน้าที่สอดแทรกคุณธรรม คติธรรม จริยธรรม ให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างแยบยล ไม่น่าเบื่อหน่าย อันเป็นเสน่ห์ตรึงใจของนิทานแต่โบราณนานมา และถึงวันหน้าถ้าจะต้องใส่ชุดอวกาศ นั่งจรวด ถ่ายโดรน นิทานก็ยังคงเป็นนิทานเสมอ
ชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์
ประคอง นิมมานเหมินทร์. (2543) นิทานพื้นบ้านศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำรา และอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
เสาวลักษณ์ อนันตศานติ์. (2548). นิทานพื้นบ้าน. THE FOLKTALE. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ :มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วัชราภรณ์ ดิษฐป้าน. (2546). แบบเรื่องสังข์ทอง : การแพร่กระจายและความหลากหลาย. กรุงเทพมหานคร : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วาทิน ศานติ์ สันติ. (2556). ทฤษฏีพหุกำเนิด. เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2561. อ่านออนไลน์
Encyclopaedia Britannica. Pleiades GREEK MYTHOLOGY. Accessed July 12, 2018. online
ทฤษฎีคติชนวิทยา :วิธีวิทยาในการวิเคราะห์ตำนาน-นิทานพื้นบ้าน. / ศิราพร ณ ถลาง.