Museum Core
โรงเตี๊ยมอาเนาะรู: การบริโภคความเป็นจีนในดินแดนอิสลาม
Museum Core
10 ส.ค. 61 4K

ผู้เขียน : บัณฑิต ไกรวิจิตร

โรงเตี๊ยมอาเนาะรู: การบริโภคความเป็นจีนในดินแดนอิสลาม

 

 

 

การบริโภคสินค้าความเป็นจีนในปัตตานี-ดินแดนอิสลาม: ความเปรมปรีดิ์กับดวงจิตแห่งอดีต


บนถนนสายสั้น ๆ ชื่ออาเนาะรู ย่านตลาดจีนที่คนในพื้นที่เรียกว่า ‘กือดาจีนอ’ ไม่ไกลจากศาลเจ้าลิ้มกอเหนี่ยว มีตึกจีนที่สร้างโดยคนจีนอยู่ในพื้นที่อิสลาม เป็นที่ตั้งของ ‘โรงเตี๊ยมอาเนาะรู’ ในภาพรวมจะพบเห็นความเป็นจีนและมลายูผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การนำชื่อสถานที่มาตั้งเป็นชื่อร้านสื่อให้เห็นถึงความเป็นท้องถิ่น


โรงเตี๊ยมอาเนาะรู เป็นร้านอาหารจีน เจาะกลุ่มลูกค้าช่วงอายุตั้งแต่ 30 – 50 ปี ที่ต้องการหวนระลึกถึงอดีต แต่ทางร้านก็ไม่ได้พาลูกค้าย้อนอดีตไปไกลมากนัก สังเกตได้จากบรรยากาศและข้าวของเครื่องใช้ในการตกแต่งร้าน ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า เทปคาสเซ็ทเพลงลูกกรุงอมตะ กองอยู่รวมกับวง The Eagles วิทยุเก่า นาฬิกาปลุกเก่า รถจักรยานเก่า ฯลฯ ทั้งหมดเสมือนเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมย้อนยุค ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและหวนระลึกถึงยุคเก่า ๆ ก่อนที่ความเป็นสมัยใหม่จะกวาดต้อนทุกสิ่งให้หายไป


ในภาพมุมกว้าง เมืองปัตตานีเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม รองรับความหลากหลายอารมณ์ของผู้คน ระบายออกมาในช่องทางการพักผ่อนหย่อนใจ มีคำเรียกกันทั่วไปว่า การบริโภคสถานที่ (place consumption) เพื่อการเติมช่องว่างความรู้สึกและเพื่อสร้างความหมายให้แก่การดำเนินชีวิตประจำวัน โดยการแต่งแต้มเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ให้แก่ประสบการณ์ที่พบพานมา และเมืองปัตตานีก็เป็นเช่นนั้นด้วย


ร้านย้อนยุคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในปัตตานีเกิดจากนักลงทุนท้องถิ่นที่มีการศึกษาด้านศิลปกรรม จึงนำรสนิยมและจินตนาการหวนรำลึกถึงรากเหง้าตนเองโดยใช้เครื่องมือทางธุรกิจจากเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม เป็นการรวมตัวกันของผู้นำทางการเงิน เจ้าของสถานที่ซึ่งเป็นผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จีนของตนเองไว้ในท่ามกลางชุมชนมุสลิม


พวกเขาเหล่านี้เป็นลูกหลานจีนโพ้นทะเล (Overseas Chinese) หรือ หัวเฉียว (Huaqiao) ซึ่งเพิ่งมีกฏหมายสัญชาติรับรองลูกชาวจีนที่เกิดในไทยเป็นพลเมืองไทยเมื่อราว พ.ศ. 2499 ทำให้ลูกจีนในไทยเริ่มกลายเป็นคนไทยโดยการเกิด แต่ยังคงตระหนักว่าตัวเองก็ยังคงเป็นชาวจีนด้วย เมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาได้พัฒนาอัตลักษณ์และตัวตนที่เชื่อมโยงตนเองกลับไปพัวพันกับอดีต ทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภคความเป็นจีนขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีความสัมพันธ์แบบย้อนยุคผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เกิดธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริโภคตราสินค้าจีน ที่เป็นส่วนหนึ่งของตราสินค้าทางวัฒนธรรม (cultural heritage) ในกระแสโลก


ในแง่นี้นับว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลจีนในการรวมจีนพลัดถิ่น (Chinese diaspora) ให้กลับมามีสำนึกว่าตนยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน ทำให้เกิดการเชื่อมต่อกับ ‘แผ่นดินแม่’ ดังที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวไว้ว่า “...จีนอพยพในสยามก็แสดงบทบาทเป็นนักชาตินิยมทางไกล (long-distance nationalists) คือ อยู่ไกลบ้านก็รักบ้านได้”


ทั้งนี้ภาษาจีนดูเหมือนจะเป็นสินค้าส่งออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทุกวันนี้ ‘เหล่าซือสอนภาษาจีน’ พบเห็นได้ทั่วไป แม้แต่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็มีอาจารย์จากประเทศจีนมาสอนเป็นอาจารย์ประจำ รวมถึงมีโครงการนักศึกษาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยของจีนอีกด้วย


อย่างไรก็ตามโรงเตี๊ยมอาเนาะรู เติบโตขึ้นมาได้จากทรัพยากรความทรงจำที่อ้างอิงจากประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะถูกนำมาจัดวางใหม่ที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์จริง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการบริโภคแบบนี้เป็น ‘วัฒนธรรมใหม่’ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย และเกิดขึ้นในพื้นที่ของความรู้ในอาณาบริเวณของสังคม ที่มีประวัติศาสตร์พื้นที่ของตนเอง


กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการแปรเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ นำมาเข้ารหัสความเป็นจีน สร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัว เฉพาะถิ่น ที่ตรงกับรสนิยมและความสนใจใคร่บริโภค ในที่สุดก็ถูกแปรรูปและถูกนำเสนอเป็น ‘สำเร็จรูป’ ราวผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง โดยความหลากหลายทางวัฒนธรรมทำงานร่วมกับนโยบายการเมืองและตลาดสินค้าเพื่อการบริโภค


ในแง่นี้โรงเตี๊ยมอาเนาะรูจึงเป็นร้านอาหารที่ใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ที่ได้รับการปรุงแต่งขึ้นใหม่ แต่ในแง่นี้ผู้บริโภคไม่ใช่ปลาที่ติดเหยื่อ หากเป็นการกลับไปมีความเกี่ยวข้อง (engagment) กับอดีตในยุครุ่งเรืองของความเป็นสมัยใหม่ในปัตตานีผ่านข้าวของที่ใช้ตกแต่งร้านและอาหารที่ขายในร้าน อีกทั้งบรรยากาศมวลรวมที่มีกลิ่นอายความเป็นจีน เช่น โทนสี แสงสีจากโคมไฟ ป้ายอักษรจีน ช่วยขับเน้นวัฒนธรรมจีนและสำนึกชาตินิยม และประการสุดท้ายคือจินตนาการของลูกค้าเองเมื่อเข้ามาใช้บริการ


ดูเหมือนโรงเตี๊ยมอาเนาะรูที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากการร่วมกระทำในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ตราสินค้าความเป็นจีนที่เกิดขึ้นไม่ใช่มรดกตกทอดมาจากอดีต แต่เป็นการกระทำ (performativity) จากการเลียนแบบ หยิบยืม นำเข้า ปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกควบคุมจากวาทกรรมที่ครอบงำอย่างเข้มงวด


สุดท้ายแล้วแม้ว่าจะเป็นผลพวงของอุตสาหกรรมรำลึกอดีต แต่ความหมายของโรงเตี๊ยมอาเนาะรู รวมถึงร้านอื่น ๆ ในแนวนี้ ก็ถือเป็นพื้นที่ของการบริโภคที่มากไปกว่าอาหาร แต่ยังเป็นการเติมเต็มชีวิต เป็นการเพิ่มความสุข เป็นการพักผ่อน ลูกค้าผู้ใช้บริการสามารถเลือกทำให้ชีวิตประจำวันมีความหมายน่าจดจำอย่างไร และนำมาเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัว เป็นการเดินทางภายในเพื่อย้อนกลับไปวันวาน ผ่านการผสมผสานทั้งความเป็นจีนและมลายูที่ดำรงอยู่ด้วยกัน

 

บัณฑิต ไกรวิจิตร

 

 

 

บรรณานุกรม

 


Appadurai, Arjun. (1996). Modernity at Large : Cultural Dimensions of Globalization Minneapolis. London: University of Minnesota Press.

 

Bao, Jiemin. (2013). "The Chinese Diaspora: From China to Thailand to the USA 403." In Routledge Handbook of the Chinese Diaspora. edited by Chee-Beng Tan, 403-16. London: Routledge.

 

Carpinini, Francesco. (Dec 2015 2016-05-06 2015). "Spectacle and the City: Chinese Urbanities in Art and Popular Culture." [In English]. International Journal of China Studies 6, no. 3.

 

Debord, Guy. (2002). The Society of the Spectacle. Canberra: Hobgoblin Press.

 

Lee, Chin-Chuan, and Zhou He and Yu Huang. (2002). “‘Chinese Party Publicity Inc.’’ Conglomerated: The Case of the Shenzhen Press Group." Chap. 11-30 In Political Regimes and the Media in Asia. edited by Krishna Sen and and Terence Lee. London and New York: Routledge.

 

McDonough, Tom. (2002). Guy Debord and the Situationist International : Texts and Documents [in English]. October Books. Cambridge, Mass: The MIT Press.


Ng, Carl Jon Way.(2018). "Performing Brand Identity: Situating Branding in Discursive-Ideological Landscapes." in Consumption, Markets & Culture 21, no. 2.


Schroeder, Jonathan, Janet Borgerson, and Zhiyan Wu. (Apr 2015 2017-01-07 2015). "A Brand Culture Approach to Chinese Cultural Heritage Brands." [In English]. Journal of Brand Management 22, no. 3.

 

Seligmann, Linda J.(1997). "How Chinese Are You? Adopted Chinese Youth and Their Families Negotiate Identity and Culture." in American Anthropologist 118, no. 4.


Supang, Chantavanich. (1997). "From Siamese-Chinese to Chinese-Thai: Political Conditions & Identity Shifts among the Chinese in Thailand." In Ethnic Chinese as Southeast Asians. edited by Leo Suryadinata. Singapore and London: Institute of Southeast Asian.


Suryadinata, Leo. (1997). "Ethnic Chinese in Southeast Asia: Overseas Chinese, Chinese Overseas or Southeast Asians?". In Ethnic Chinese as Southeast Asians. edited by Leo Suryadinata. Singapore and London: Institute of Southeast Asian.


เกษียร เตชะพีระ. (2548). "เปิดแฟ้ม Tdri: พินิจปัญหาใต้จากประสบการณ์จีนสยาม. ประชาไท, จาก อ่านออนไลน์

 

เกษียร เตชะพีระ. (2559). "เกษียร เตชะพีระ: เจ๊กสยามหันขวาหาจีน (1). มติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2559.


ปิยะนันท์ นิภานันท์. (2554). "ความทันสมัยในภาพเรืองแสง: ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของโรงภาพยนตร์ในสังคมปัตตานี". รุไบยาต: วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา. ปีที่ 2 ฉบับที่ 3. (กรกฎาคม – ธันวาคม).

 

 

Museum Siam Knowledge Center

 

ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี / ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ.


บุหงาปัตตานี :คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้ /ประพนธ์ เรืองณรงค์.

 

จินตทรรศน์จากปัตตานี :มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในกระแสการเปลี่ยนแปลง / บรรณาธิการ: ณภัค เสรีรักษ์, รชฎ สาตราวุธ.

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ