Museum Core
‘ความเป็นพม่า’ ในสำเนาคำตอบของ ‘นักเรียน’
Museum Core
10 ส.ค. 61 2K

ผู้เขียน : อรรถพล ประภาสโนบล

‘ความเป็นพม่า’ ในสำเนาคำตอบของ ‘นักเรียน’

 

 


“แต่ว่าเราสมมุติว่ามีพรมแดน แบ่งเป็นเขตเป็นแคว้นมานานแสนนาน กลายเป็นเราเป็นเขาไม่เข้าใจกัน”
ท่อนหนึ่งเพลง: สิ่งสมมุติ ศิลปิน: เล็ก Greasy Cafe Feat. วงนั่งเล่น

 

เมื่อความเป็นรัฐชาติที่ถูกสถาปนาขึ้น ย่อมมีการขีดเส้นสมมุติที่เรียกว่าพรมแดนของมนุษย์ในแต่ละที่ออกจากกัน มนุษย์ในแต่ละพรมแดนจึงได้รับการบอกว่าตนเองเป็นคนสัญชาติใด นอกจากนี้ความเป็นรัฐชาติยังได้ทำหน้าที่สร้างชุมชนที่มีพรมแดนของความรู้สึกร่วมของผู้คนขึ้นมา และความรู้สึกร่วมเป็นสิ่งที่คนในพรมแดนใช้ยึดถือร่วมกันเพื่อยึดโยงถึงการเป็นพวกเดียวกันขึ้นมา และแน่นอนว่ามันย่อมสร้างความรู้สึกของการเป็นพวกอื่นให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันอีกด้วย และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสำเนาทางความคิดให้แก่คนในชาติว่าสิ่งใดเป็นกรอบที่ทุกคนใช้ตอบร่วมกัน

 


สำเนาความเป็นพม่า


‘สำเนา’ เป็นกริยาของการทำซ้ำ มันบ่งบอกถึงการผลิตซ้ำให้เหมือนกับเค้าโครงเดิม บางครั้งสำเนาช่วยให้เราสามารถกระจายความทรงจำข้อมูลได้ทีละปริมาณมาก และบางครั้งมันช่วยรักษาต้นฉบับทางความคิดเอาไว้ ‘ความเป็นพม่า’ ถือเป็นสำเนาของคำตอบของชาติไทยที่มีการจัดวางให้เป็นด้านตรงข้ามของ ‘ความเป็นไทย’ สำเนาชุดนี้ได้ผลิตภาพตัวแทนของพม่าให้ออกมาในทางลบ ภาพตัวละครพม่าที่ถูกสร้างผ่านความเป็นไทย เลยดูเป็นสิ่งที่เป็นตัวโกง ไม่ใช่พระเอก ดูโหดเหี้ยม เกิดเป็นความตอกย้ำทางสำเนาจนชินตาจนเราไม่ได้ตั้งคำถามกับมันว่าต้นฉบับสำเนานี้มันถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร


หากเรานำแนวคิด ‘ชาติพลาสติก’ ที่อาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาด้านรัฐศาสตร์ของไทยได้ใช้อธิบายความเป็นไทยในแต่ละยุคสมัยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นทศวรรษ 2540 ซึ่งอธิบายผ่านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่า แนวคิดดังกล่าวได้ฉายภาพให้เห็นว่า ความเป็นไทยเป็นดังพลาสติกที่มีการบิดรูปไปมาตามผลประโยชน์และบริบทในช่วงเวลานั้น นั่นเท่ากับว่าสำเนาของความเป็นพม่าก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมา ความเป็นพม่าในช่วงเวลาหนึ่งก็ถูกสร้างให้เป็นศัตรูคู่แค้นของไทย แต่ในช่วงเวลาหนึ่งความเป็นพม่าในสายตาไทยก็ถูกวาดเป็นภาพของความร่วมมือ


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาพของพม่าในแบบฉบับของศัตรูยังคงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก และขณะเดียวกันความเป็นศัตรู ยังมีการสร้างช่องว่างของสถานะให้ดูห่างชั้นจากความเป็นไทย ดังเราจะเห็นได้ชัดเจนจากคำหัวเราะของคนไทยเมื่อเอ่ยถึง ‘พม่า’ หรือคำเหล่านี้กลายเป็นคำด่าเพื่อแปะป้ายให้ความต่ำกว่ากับผู้อื่น

 

 

ครูกับต้นฉบับสำเนาที่ต้องรื้อสร้าง


การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นแนวคิดการศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ที่แวดวงการศึกษาไทยกำลังให้ความสนใจ แนวคิดดังกล่าวได้มีจุดยืนที่สำคัญกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนร่วมลงมือเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ และสร้างทักษะชีวิตของการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งให้ความสำคัญกับทักษะทางการสื่อสารและเทคโนโลยี โดยมีครูที่ทำหน้าที่เป็นเพียงโค้ชคอยให้คำชี้แนะ เกิดเป็นวาทกรรมทางการศึกษาที่กำลังสร้างคุณค่าของการศึกษาให้อยู่เพียงมิติของการเป็นแรงงานแบบใหม่ทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่ากระแสแนวคิดดังกล่าวกำลังจะไปได้สวยในทางหลัก และมีจุดยืนที่จะมุ่งสร้างนักเรียนเป็นนักนวัตกรรมที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่


แต่อีกแนวคิดฝากฝั่งหนึ่งอย่าง ‘การศึกษาเชิงวิพากษ์’ (Critical Pedagogy) กลับเลือกที่จะเสนอว่า วาทกรรมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ทำหน้าที่ของการกลบเกลื่อนสภาพปัญหาความไม่เป็นธรรมเอาไว้ และเพียงเสนอว่าสังคมข้างหน้าจะดีได้เพียงเราสร้างการศึกษาที่ส่งเสริมมนุษย์เป็นนักนวัตกรรมและผู้ประกอบการที่ดีเท่านั้น แท้จริงแล้วการศึกษาควรทำหน้าที่เปิดเผยและท้าทายให้เห็นว่า การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เข้ามาบงการและครอบครองทางความคิดของเราได้อย่างไร แนวคิดนี้กำลังวางจุดยืนของการต่อต้านความไม่เป็นธรรม ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ และให้ความสำคัญกับเสียงของผู้ถูกกดขี่ในสังคม ซึ่งดูเป็นสิ่งที่ยังไม่จางหายไปในโลกศตวรรษที่ 21


บทบาทของครูจึงไม่ใช่ผู้สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ครูจะต้องทำหน้าที่ท้าทาย ‘สำเนา’ คำตอบของนักเรียน เพื่อแสดงให้เห็นว่าต้นฉบับสำเนานั้นได้สร้างคำตอบของการอธิบายสังคมไว้อย่างตายตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนท้ายที่สุดเราเกิดสำนึกอย่างเชื่อสนิทใจว่าการตอบการคิดแบบนั้นมันเป็นความจริงแท้


‘สำเนาความเป็นพม่า’ สำหรับนักเรียนแล้ว การพูดเพื่อแปะป้าย หรือการหัวเราะในความเป็นพม่า ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติในห้องเรียน และสิ่งนี้ไม่ได้ถูกรื้อให้เห็นว่าความคิดดังกล่าวสร้างขึ้นมาและมีอิทธิพลอย่างไรต่อการมองเพื่อนมนุษย์ ท้ายที่สุดแล้วการรื้อวิธีคิดต่อสำเนาความเป็นพม่า จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างให้นักเรียนเป็นพลเมืองที่เห็นความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน

 


เราจะท้าทายสำเนาคำตอบได้อย่างไร


ห้องเรียนที่ท้าทายสำเนาคำตอบ ควรเป็นห้องเรียนที่ให้นักเรียนได้กลับไปสำรวจประสบการณ์เดิมต่อความเป็นพม่าในการรับรู้ของเขา อาจเริ่มต้นด้วยการให้นักเรียนวาดภาพและระบายสีตัวตนของความเป็นพม่าในสายตาของเขาออกมา และใช้ภาพวาดเป็นแกนสำคัญสู่การเปิดประเด็นเพื่อพูดคุยผ่านคำถามเหล่านี้

เหตุใดเราจึงวาดภาพคนพม่าออกมาในรูปแบบนี้ ?

เพราะอะไรแต่ละกลุ่มจึงวาดออกมาในลักษณะคล้ายคลึงกัน ?

สิ่งใดที่ทำให้เราวาดภาพออกมาเป็นเช่นนี้ ?

ในขณะที่เราวาดเราเกิดความรู้สึกอย่างไรต่อตัวตนที่เราวาด ?

ภาพที่เราวาดตามประสบการณ์รับรู้ของเท่ากับภาพความจริงทั้งหมดหรือไม่ ?

 

ตัวของคำถามจะช่วยให้นักเรียนได้ตั้งคำถามถึงสำเนาการรับรู้ของตัวเองที่ผ่านมา และมันจะทลายกำแพงภาพของความคิดในแบบเดียวลง พร้อมกับเปิดพื้นที่ของการค้นหาที่หลากหลายคำตอบว่าแท้จริงแล้ว ‘ความเป็นพม่า’ มันถูกสร้างขึ้นมาในการรับรู้ของเราได้อย่างไร ซึ่งนั่นจะทำให้เห็นภาพของความเป็นพม่าว่าไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มันมีการถูกสร้างปรับแต่งผ่านความเป็นไทย และมีการปรับแต่งอย่างมีนัย


นอกจากนี้สื่อยังเป็นเครื่องมือทรงอนุภาพที่สำคัญในการถ่ายทอด ‘สำเนาความเป็นพม่า’ สื่อในพื้นที่หน้าฉากจึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความบริสุทธิ์ แต่เป็นพื้นที่ของการถูกเลือกและคัดสรรผ่านชุดคุณค่าความเป็นไทยเอาไว้ ดังนั้นแล้วการมองเห็นความเป็นพม่าผ่านสื่อควรเป็นสิ่งที่นักเรียนต้องรู้เท่าทันมัน


ครูสามารถใช้กิจกรรมการวิเคราะห์สื่อ โดยที่ให้นักเรียนได้ลองวิเคราะห์สื่อที่เกี่ยวกับความเป็นพม่า เพื่อให้นักเรียนได้เห็นว่า สื่อได้บรรจุชุดอคติ คุณค่าความเชื่อที่ไม่เป็นธรรมแฝงอยู่ จนทำให้เกิดการสร้างภาพสำเนาซ้ำ ๆ ของความเป็นพม่า ครูอาจใช้คำถามเช่นว่า


ใครคือผู้สร้างสื่อ ?
ใครคือผู้รับสื่อ ?
สื่อมีเป้าหมายอะไร ?
ในสื่อมี คุณค่า อคติ ที่อะไรแฝงอยู่ ?
สื่อมีผลต่อมุมมองเชิงบวกหรือลบตัวต่อผู้รับสื่อ ?


นอกจากนี้ครูยังสามารถตั้งประเด็นให้นักเรียนถกเถียงระหว่างกัน ในหัวข้อที่ว่า ‘ความเป็นไทยกับความเป็นพม่ามีอะไรที่คล้ายกัน’ หรือ ‘อะไรคือความเป็นมนุษย์’ เพื่อชวนนักเรียนให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้วางอยู่บนความเป็นเชื้อชาติ สัญชาติ รวมทั้งครูสามารถชวนนักเรียนแลกเปลี่ยนถึงเส้นสมมุติของความเป็นชาติว่ามันสร้างเส้นแบ่งให้ความเป็นคนไม่เท่ากันอย่างไร

 

 

สำเนาที่ควรจะเป็น


ที่ผ่านความเป็นรัฐชาติได้สถาปนาเส้นแบ่งความเป็นพวกเราและเขาเอาไว้ มันก่อให้เกิดการแบ่งมนุษย์อย่างมีลำดับชั้นอย่างไม่เป็นธรรม ‘ความเป็นพม่า’ เลยไม่ได้ถูกมองว่ามีความเป็นมนุษย์เท่ากันกับ ‘ความเป็นไทย’ เราเลยมองเห็นความเป็นพม่าเพราะเขาเป็นสิ่งที่ต่างจากเรา แต่เราไม่ได้มองเห็นความเป็นเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ระบบการศึกษา โรงเรียนและครูควรมีส่วนสำคัญในการสร้างนักเรียนให้รู้เท่าทันอคติของตัวเอง วิพากษ์กับความไม่เป็นธรรมในสังคม และกล้าที่จะทำความเข้าใจผู้อื่น สิ่งนี้อาจเรียกว่า ‘สำเนาของความเป็นมนุษย์’

 

 


อรรถพล ประภาสโนบล

 

 

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ