“ไม่มีรักแท้ในหมู่เกย์” เป็นมโนทัศน์ความรักที่อยู่ในความคิดของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การมีความรักที่ผิดหวังถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แม้แต่ภายในสังคมของชายรักเพศเดียวกันก็เช่นกัน อย่างไรก็ตามการแสวงหารักแท้และความปรารถนาที่จะแต่งงานมีความรักฉันท์สามี-ภรรยา ดั่งชายหญิงยังคงมีอยู่ในความคิดของเกย์หลาย ๆ คนซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นบนพื้นที่สาธารณะของเกย์ในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 อย่างนิตยสารนีออน
นิตยสารนีออน เป็นนิตยสารสำหรับเกย์ซึ่งอยู่ในเครือสำนักพิมพ์หนุ่มสาว โดยปกรณ์ พงษ์วราภา ซึ่งค่อนข้างได้รับความนิยมเช่นเดียวกับนิตยสารมิถุนาจูเนียร์ ซึ่งเป็นนิยสารเกย์ในยุคเดียวกัน ภายใต้สังคมไทยที่ถูกครอบงำด้วยวาทกรรมรักต่างเพศ การแสดงออกถึงการมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและผิดปกติจากบรรทัดฐานของสังคม นอกจากเกย์สถานแล้ว นิตยสารยังเป็นพื้นที่สำคัญในการแสวงหาความรักและคู่ครองของเกย์ นิตยสารนีออนเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการดังกล่าว เกิดพื้นที่สำหรับการหาคู่รักบนนิตยสารอยู่หลายส่วนทั้งคอลัมน์ถามตอบจดหมายบนคอลัมน์เสี่ยงสาส์น บริการจัดหาคู่อย่างวีคเอนเดอร์คลับ และ International Men's club (I.M.C.) รวมไปถึงคอลัมน์ ผ่านมิติ ซึ่งเป็นคอลัมน์ถามตอบปัญหาชีวิตชาวเกย์ก็มักมีผู้อ่านเขียนจดหมายมาให้คอลัมนิสต์ช่วยหาคู่ให้เช่นเดียวกัน
จากการสำรวจ เนื้อหาเกี่ยวกับความรักในนิตยสารนีออน ทั้งในบทความและเรื่องสั้น ผู้เขียนพบว่า นิตยสารนี้มีส่วนสร้างและผลิตซ้ำมโนทัศน์ความรักที่ว่า “เกย์ (รุก) ต้องรักกับเกย์ (รับ)” เท่านั้น
‘เสี่ยงสาส์น’ เป็นคอลัมน์จัดหาคู่ที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านเขียนจดหมายเพื่อแนะนำตัวและแสดงตัวตนของตนเองบนข้อความไม่เกิน 70 คำพร้อมที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ และรูปถ่ายส่งมายังนิตยสารเพื่อให้ทางทีมงานดำเนินการประกาศหาคู่ให้บนนิตยสารต่อไป ในระยะแรกมีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกาศและผู้ติดต่อ ติดต่อกันเองโดยแสดงที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ ลงบนคอลัมน์แต่ต่อมาได้เกิดปัญหาอันเนื่องมาจากการแสวงหาผลประโยชน์จากมิจฉาชีพจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโดยเพิ่มรายละเอียดในการใช้บริการทั้งผู้ประกาศและผู้ติดต่อโดยต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนมาเพื่อเป็นหลักฐานการยืนยันตัวตน ในส่วนของผู้ติดต่อนั้นให้ส่งจดหมายพร้อมหมายเลขประจำตัวผู้ประกาศ เช่น N.0385.บอย/กรุงเทพฯ มายังนิตยสารซึ่งทีมงานจะเป็นผู้ประสานงานต่อไป
ภายใต้กรอบมโนทัศน์ความรักเกย์รุกต้องรักกับเกย์รับ การประกาศหาคู่บนคอลัมน์เสี่ยงสาส์นจึงมักจะพบเงื่อนไขต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นดังเช่น “ต้องการหาเพื่อนที่เป็นเกย์คิง หรือที่ชอบเกย์ควีน” “อายุ 27 ปี สูง 168 ซม. หน้าตาหล่อ ชอบเล่นกีฬา ไม่แสดงออก ไบเซ็กชวล หุ่นนักกีฬา เป็นคนมีเหตุผลและใจดี” “ต้องการเพื่อนชายที่มีอายุ 17-30 ปี หน้าตาหล่อหุ่นดีลักษณะแมนไม่แสดงออกและเก็บความลับได้ดี มีเหตุผล สะอาด ต้องไม่มีลักษณะอ้อนแอ้น ยินดีตอบจดหมายเฉพาะผู้ที่ส่งรูปไปด้วยเท่านั้น และเมื่อได้รับแล้วยินดีส่งรูปคืน” “สูง 177 ซม. หน้าตาดี รูปร่างสูงใหญ่ ชอบเล่นกีฬามาก ต้องการรู้จักเพื่อนหุ่นนักกีฬา (มีกล้าม) หน้าตาดี มองโลกในแง่ดี จริงใจต่อกันและมีลักษณะแมนไม่แสดงออกเหมือนผม ส่งรูปด้วย” “ถ้าคุณไม่แสดงออก และไม่ออกสาว มีความจริงใจ หน้าตาน่ารัก หล่อดูดี และคิดจะมีเพื่อนสักคน ติดต่อมาซิครับ ยินดีตอบทุกฉบับ ต้องมีรูปด้วยนะ ผมอายุ 25 ปี ปริญญาตรี ทำงานแล้ว สูง 170 นน. 62 กก. หุ่นดี มีกล้ามนิด ๆ เป็นนักกีฬายินดีเสมอ” หรือในส่วนของบริการจัดหาคู่อย่างวีคเอนส์คลับ และ I.M.C. มีเกณฑ์ในการสมัครว่า “รับแต่ชายที่ไม่แต่งหญิงเท่านั้น”
สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนไขและค่านิยมในการเลือกคู่ของเกย์ซึ่งนอกจากเงื่อนไขเกย์คิงต้องคู่กับเกย์ควีนแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างการมีรูปร่างที่ดี น่าตา ฐานะ การศึกษา และ “การไม่แสดงออก” หรือ “ไม่สาว” ซึ่งหมายถึงการไม่มีพฤติกรรมเหมือนผู้หญิง เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกคู่ของเกย์ ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ว่าเกย์คิงต้องคู่กับเกย์ควีนเท่านั้น
นอกจากการไม่แสดงออกทางพฤติกรรม การแต่งกาย การมีรูปร่างที่ดี เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงออกถึงความเป็นชายและเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของเกย์ จึงทำให้เกิดการสร้างค่านิยมในการสร้างรูปร่างที่ดี เช่น “เรากำลังอยู่ในศตวรรษที่ความเชื่อนี้เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง แต่เดิมกรีก โรมันเป็นต้นตำรับความคิดที่ว่านี้มาก่อน วันนี้...มัดกล้ามแลแผงอกคือความงามของเพศชาย ไม่มีใครปฏิเสธสัจจะแห่งธรรมชาติบนเรือนกายมนุษย์ได้ลงถ้าเขามิได้เป็นอรหันต์” “เมื่อก่อนนี้หนุ่มร่างสูงสโอดสะอง ถือว่ามีหุ่นเท่ แต่แนวโน้มในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว... ความล่ำสันมีมัดกล้ามได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความหล่อและความเซ็กซี่แทน นายแบบผอม ๆ เหมือนไม้แขวนเสื้อหายไปจากวงการแฟชั่นโชว์และหนุ่มหุ่นพระเอกนักกีฬาก็เข้ามาแทนที่ ในขณะเดียวกันชาวเกย์ก็หันมานิยมชมชื่นความเซ็กซี่แบบมัดกล้ามด้วย เมื่อดูนายแบบดูนักแสดงโชว์ตามบาร์ ที่มีหุ่นแบบนี้แล้ว หนุ่มเกย์ทั้งหลายก็ไม่พอใจเพียงแต่ชมดูหรือแต่ได้กกกอดลูบคลำกล้าม หากอยากจะมีกล้ามเองบ้างเพื่อเพิ่มความเซ็กซี่ให้กับตนเอง ............ ลองนึกภาพดูตัวเองก็แล้วกันว่าเล่นกล้ามแล้วกลายเป็นคนมีอกใหญ่เป็นแผง ไหล่ตั้ง บั้นท้ายแกร่ง ต้นขาดูทรงพลัง และเอวคอด ท้องราบเหมือนหน้าท้องเสือหิว (แค่นึกภาพดูก็รู้แล้วถ้าหุ่นเป็นเช่นนี้ ก็จะได้แฟนเพิ่มมาอีกเป็นสิบแน่ ๆ ใช่ไหม)”
ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการมีรูปร่างที่ดีก่อให้เกิดแรงดึงดูดทางเพศ (sex appeal) ซึ่งนอกจากจะพบในการเลือกคู่ครองของเกย์แล้วยังปรากฏให้เห็นผ่านภาพลักษณ์นายแบบที่นีออนพยายามนำเสนอด้วย เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการเลือกคู่ของเกย์อย่างเงื่อนไขเกย์คิง (ฝ่ายรุก) ต้องรักกับเกย์ควีน (ฝ่ายรับ) เงื่อนไขทางร่างกาย ได้แก่ การมีน่าตาและรูปร่างที่ดี อันก่อให้เกิดแรงดึงดูดทางเพศ แสดงให้ว่าการเลือกคู่ของเกย์เป็นไปในทิศทางต้องการร่วมเพศ มากกว่า ความรัก
ความรักของเกย์สัมพันธ์กับการร่วมเพศอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ จากคอลัมน์ผ่านมิติ หรือเสี่ยงสาส์น มักจะแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของคู่รักเกย์ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากอารมณ์ ความปรารถนาในการร่วมเพศเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นจากกิจกรรมการร่วมเพศ ความสัมพันธ์ก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย เป็นการนำเสนอภาพแทนในความรักของเกย์ให้ถูกมองว่าเป็นเพียงความสัมพันธ์ในระยะสั้นเพียงแค่ปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศก็มักจะจบสิ้นแล้วไม่ยั่งยืนเหมือนชายและหญิง ซึ่งสังเกตได้จากปัญหาที่ส่งมาจากผู้อ่านในคอลัมน์ผ่านมิติ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระยะสั้น คบหากันไม่นานก็เลิกราไป ซึ่งสำนึกซ้อนคอลัมน์นิสของคอลัมน์ผ่านมิติได้กล่าวว่า “ปัญหาชีวิตคู่เกย์ ต้องเข้าใจกันมากกว่าความต้องการทางเพศ มากกว่าชายหญิงทั่วไป เพราะเกย์ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวผูกพันกันไว้ ในขณะที่ชายหญิงมีบุตรและทะเบียนสมรส ทั้งมีพ่อแม่พี่น้องประคับประคอง แต่เกย์มีแต่ ความมั่นคงของหัวใจเป็นเครื่องค้ำประกันความมั่นคงในชีวิตคู่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา”
นอกจากปัญหาชีวิตคู่และการไม่สมหวังในความรักระหว่างเกย์ด้วยกันแล้ว ความไม่สมหวังในความรักของเกย์ที่ดูจะแย่ไปกว่านี้คือการรักผู้ชาย นีออนพยายามชี้ให้เห็นว่าความรักระหว่างเกย์และผู้ชายแท้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สังเกตได้จากเรื่องสั้นและปัญหาความผิดหวังจำนวนมากมักจะเกิดในกรณีของการมีความรักกับชายแท้มากกว่าเกย์ ซึ่งหากจะมีความรักที่ยั่งยืนกับชายแท้นั้นก็จำเป็นต้องแลกด้วยเงินเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบเกย์รักเกย์ หรือ เกย์รักชาย ก็มักจะจบลงด้วยความไม่สมหวังด้วยกันทั้งคู่
อย่างไรนีออนก็พยายามเป็นสื่อที่สร้างให้ความรักของเกย์ไทยเกิดขึ้นได้จริง ทั้งการนำเสนอเนื้อหาแนวทางการเลือกคู่ครอง เคล็ดลับการทำให้ชีวิตรักยั่งยืน รวมไปถึงการยกตัวอย่างคู่รักเกย์ในต่างประเทศ และในไทยอย่าง ดนัย ณ สงขลา และ ราพร อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งเป็นคู่รักเกย์ที่อยู่กินฉันสามี-ภรรยา มาเป็นเวลากว่า 8 ปี ในนิตยสารนีออนฉบับที่ 22 ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าการมีชีวิตคู่รักฉันท์สามีภรรยาในรูปแบบความรักระหว่างเกย์และเกย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย รวมไปถึงยังมีการนำเสนอแนวคิดในเรื่องการร่างกฎหมายจดทะเบียนสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามหลักสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยชนที่พึงจะมี ดังเช่นต่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตามด้วยการนำเสนอเนื้อหาอีกแง่มุมหนึ่งของนีออนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยเฉพาะเรื่องสั้นห้องห้าเหลี่ยม และ การนำเสนอความสัมพันธ์ที่เกิดจากกามารมณ์มากกว่าความรักของนีออน เป็นการผลิตซ้ำภาพแทน “รักแท้ไม่มีอยู่ในหมู่เกย์” จึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด มโนทัศน์ความรักที่สมหวังในรูปแบบเกย์รักเกย์จึงยังคงเป็นความรักในอุดมคติในช่วงเวลาดังกล่าว
อภิวัฒน์ สิงห์สถิตย์
เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545) วาทกรรมเกี่ยวกับเกย์ในสังคมไทย พ.ศ.2508-2542. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อ่านออนไลน์
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2553). ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อ่านออนไลน์
ปีเตอร์ เอ. แจ็คสัน. (2552). เปิดประตูสีรุ้ง หนังสือและเว็บไซต์ของเกย์-กะเทยในสังคมไทย. นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (บรรณาธิการ). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง.
นิตยสารนีออน
ขจรฤทธิ์ [นามแฝง], “หน้าต่างสังคม,” นีออน, ฉ.34 (2531): 125.
มิลินท [นามแฝง], “ผ่ามิติ,” นีออน , ฉ. 77 (2533): 61.
สิทธิระวี [นามแฝง], “อาหารสำหรับเพิ่มกล้าม,” นีออน, ฉ.1 (2528): 47.
สำนึกซ้อน [นามแฝง], “ผ่ามิติ,” นีออน ปีที่1, ฉ.3 (2528): 59.
“วีคเอนเดอร์คลับ,” นีออน, ฉ.23 (2530): 45.
“ไปออกกำลังกายกันเถอะ,” นีออน, ฉ.2 (2527): 91.
“วีคเอนเดอร์คลับ,” นีออน, ฉ.23 (2530): 45.
“เสี่ยงสาส์น,” นีออน, ฉ.10 (2528): 90.
“เสี่ยงสาส์น,” นีออน, ฉ.53 (2533): 77.
“เสี่ยงสาส์น,” นีออน, ฉ.53 (2533): 78.
“เสี่ยงสาส์น,” นีออน, ฉ.71: 78.
“เสี่ยงสาส์น,” นีออน, ฉ.79 (2536): 81.
นิตยสารนีออนรูปแบบดิจิทัล
THAI RAINBOW ARCHIVE :
โครงการจัดเก็บเอกสารของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย. อ่านออนไลน์