“หนังสือเรื่องนี้เป็นที่รักของข้าพเจ้าเอง เป็นสิ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญ และ โดยที่เป็นผู้ที่ได้ก่อขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวการ รู้ตัวว่าตัวเองเป็นผู้ที่ทำขึ้นมา ถ้าไม่มีตัวเราเองมีแต่ชาดก แล้วก็มีแต่ชาดกภาษาไทยที่แปลมาจากภาษาบาลี มีแต่ชาดกอาจจะเป็นภาษาอังกฤษที่เขาแปลมาจากภาษาบาลี ใครไปอ่านก็ไม่รู้เรื่องและไม่มีความหมายอะไรมากนัก”
ความจากตอนหนึ่งใน พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตัวหนังสือเรื่องพระมหาชนก ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าพระมหาชนก เป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และจากพระราชดำรัสข้างต้น จึงขอชวนพิจารณาพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ด้วยเรารับรู้เป็นอย่างดีว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เป็นเลิศในการยกตัวอย่างการสอนคติเรื่องของความเพียร อีกทั้งเราก็เพลิดเพลินกับปาฏิหาริย์การว่ายน้ำข้ามทะเลเจ็ดวันเจ็ดคืนของพระมหาชนก จนปาฏิหาริย์มีจริงเมื่อนางมณีเมขลาปรากฏตัวตรงหน้าของพระมหาชนก แน่นอน ! “ความเพียรนำไปสู่ความสำเร็จ” แต่หากเรารับรู้แค่นี้ ก็ถือว่ายังไม่คุ้มกับการอ่านพระราชนิพนธ์อันเป็นที่รักของรัชกาลที่ ๙
เพราะแท้จริงแล้วพระราชนิพนธ์นี้ เป็นการนำเอาชาดกเรื่อง พระมหาชนก ซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดกของพระพุทธเจ้า มาสอนคนไทยโดยใส่รหัสต่าง ๆ เอาไว้ให้ดูเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าผู้อ่านมาจากสายอาชีพใดก็จะตีความและนำไปใช้ประโยชน์กับตนเองต่าง ๆ กันไป มีคติสอนใจที่ใช้ได้ตั้งแต่พระราชายันประชาชน คือมีตั้งแต่หลักทศพิธราชธรรม ไปจนถึงการสอนฟื้นฟูต้นมะม่วง แม้แต่วิธีการฟื้นฟูต้นมะม่วง ๙ วิธีก็ถูกตีความหรือหยิบจับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ กันไป วิธีการฟื้นฟูต้นมะม่วง ๙ วิธี คือ ๑. เพาะเม็ดมะม่วง ๒. ถนอมรากที่ยังมีอยู่ให้งอกใหม่ ๓. ปักชำกิ่งที่เหมาะแก่การปักชำ ๔. เอากิ่งดีมาเสียบยอดกิ่งของต้นที่ไม่มีผลให้มีผล ๕. เอาตามาต่อกิ่งของอีกต้น ๖. เอากิ่งมาทาบกิ่ง ๗. ตอนกิ่งให้ออกราก ๘. รมควันต้นที่ไม่มีผลให้ออกผล ๙. ทำ ชีวาณูสงเคราะห์ ซึ่งวิธีการ ๙ วิธีนี้ก็ถูกนักวิชาการสายงานต่าง ๆ ตีความและนำไปใช้ประโยชน์กับสายงานตนเอง ไม่ว่าจะเป็นสายงานด้านการเกษตรก็ถือว่า ๙ วิธีนี้คือวิธีการขยายพันธุ์ต้นไม้แบบสมัยใหม่ หรือนักวิชาการด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ก็ตีความว่าแต่ละขั้นตอนนั้นคือนัยยะของวิธีการพัฒนาคน หรือบุคคลที่เป็นสายทางด้านการเมืองก็จะตีความไปในทางการเมือง เป็นต้น
เรื่องของการฟื้นฟูต้นมะม่วง รวมไปถึงการตั้งสถาบันอบรมในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ก็เกิดจากที่ รัชกาลที่ ๙ ได้มีพระราชดำริว่า ภารกิจของพระมหาชนกยังไม่สมบูรณ์ที่จะเสด็จออกแสวงโมกขธรรม ถึงแม้ว่าพระมหาชนกจะสำเร็จในความเพียรและสร้างความเจริญให้กับมิถิลาแล้วก็ตาม ซึ่งจากชาดกเดิมนั้นเรื่องจะจบแค่พระมหาชนกพิจารณาต้นมะม่วงที่มีผลมากมายว่าเหมือนพระองค์ที่เป็นกษัตริย์ มีทรัพย์สมบัติและอำนาจ ย่อมมีคนปรารถนาในทรัพย์และอำนาจของพระองค์ วันหนึ่งจะเป็นภัยกับพระองค์ได้ แตกต่างจากต้นมะม่วงอีกต้นที่ไม่มีผลที่ยังคงสามารถยืนหยัดอยู่ได้ พระมหาชนกจึงคิดที่จะแสวงหาโมกขธรรม แต่จากกรณีต้นมะม่วงนี้รัชกาลที่ ๙ มองไกลไปกว่านั้นว่ากรณีนี้บ่งบอกได้ว่าชาวเมืองมิถิลายังไม่มีวิทยาการ ความรู้ และมองไม่เห็นแม้แต่ผลประโยชน์ที่เป็นของตนเองแท้ ๆ จึงควรมีการตั้งสถาบันอบรมสั่งสอนให้กับประชาชนมิถิลา ซึ่งถือว่ารัชกาลที่ ๙ ได้เติมเต็มความยั่งยืนระยะยาวให้กับพระมหาชนก ให้ภารกิจของพระมหาชนกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการพระราชนิพนธ์เนื้อหาที่ใช้สอนประชาชนคนไทยด้วย
การเอาเรื่องราวพระมหาชนกที่เป็นหนึ่งในทศชาติชาดกของศาสนาพุทธมาสื่อสารให้ใกล้ตัวคนไทยนั้น เรื่องราวจึงถูกใส่รหัสความเป็นไทยลงไป เพื่อใช้สื่อสารกับคนไทย เนื้อเรื่องที่มีการใส่ความเป็นไทยเข้าไปนอกเหนือจากชาดก เช่น ที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิที่ระบุชัดเจนว่าดินแดนสุวรรณภูมิคือประเทศไทย สะท้อนจากจิตกรรมประกอบพระราชนิพนธ์มีข้อความระบุคำว่าสุวรรณภูมิไว้บนแผนที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังสอดแทรกความเป็นไทยลงไปในจิตรกรรม มีทั้งการแต่งกาย เช่น ชุดราชปะแตน ชุดนักเรียน ชุดทหาร เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องดนตรีไทย สถานที่ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกทั้งยังมีการใส่วิทยาการสมัยใหม่ลงไปให้จิตรกรรมเป็นศิลปะในสมัยรัชกาลที่ ๙ เช่น การแต่งกายของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ ๙ เป็นต้น และตามพระราชดำริที่มีการต่อเติมตอนจบให้มีการตั้งสถาบันโพธิยาลัยขึ้น ก็มีการอ้างอิงถึง “สถาบันฤษีดัดตนที่วัดพระเชตุพน ในเทวมหานคร เมืองสุวรรณภูมิ” ซึ่งเทวมหานครความหมายก็สอดคล้องกับ กรุงเทพมหานครฯ คือที่อยู่ของเทวดา พูดได้ว่าพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นพระมหาชนกที่ถูกทำให้กลายเป็นพระมหาชนกฉบับที่มีความเป็นไทย ที่มุ่งหวังให้คนไทยนำไปใช้ประโยชน์
จินตนาการเกินพระราชนิพนธ์
นอกเหนือจากการจินตนาการต่าง ๆ ในพระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่เสริมเติมแต่งให้กับพระมหาชนกในทศชาติชาดกฉบับเดิมแล้ว ยังมีประเด็นของการจินตนาการอีกรูปแบบหนึ่งคือการ “จินตนาการเกินพระราชนิพนธ์” เรื่องนี้ถือว่าจินตนาการไปไกลกว่าที่พระมหาชนก หรือนางมณีเมขลาจะหยุดยั้งได้จริง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันพระราชนิพนธ์พระมหาชนกถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่มีปาฏิหาริย์ยิ่งใหญ่กว่าปาฏิหาริย์ว่ายน้ำข้ามทะเลเจ็ดวันเจ็ดคืนเสียอีก คือเรื่องของการที่พระราชนิพนธ์พระมหาชนกถูกตีความด้วยการถอดรหัสออกมาจนน่าขนลุก ว่าได้มีการทำนายประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการเมืองเอาไว้ ว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองของประชาชน การเผาบ้านเผาเมือง การแย่งชิงอำนาจของภาคประชาชน นักการเมืองชั้นเลว ต่าง ๆ นานา ที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๕๔๘ เมื่อฟังดูแบบนี้ก็น่าขนลุก เพราะสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจริง ๆ แต่ ! ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างหนึ่งในการศึกษาบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ศึกษานำไม้บรรทัดปัจจุบัน ไปวัดพระราชนิพนธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ ถือเป็นเรื่องเหนือจินตนาการเกินไป และต้องบอกว่าจินตนาการเหล่านี้เหนือไปจากในพระราชนิพนธ์ จริง ๆ ก็ไม่ต่างกับการมานั่งตีความตัวเลขจากความฝันในตอนที่หวยออกแล้ว ซึ่งตีความอย่างไรก็ถูกหวยอยู่ดี นี่แหละนิสัยคนไทยบางจำพวก แม้แต่พระราชนิพนธ์พระมหาชนกที่ถูกวางไว้บนชั้นหนังสือหมวดพระพุทธศาสนา ยังมีมือดีนำไปวางรวมบนชั้นหนังสือหมวดการเมืองได้อีก
เพราะฉะนั้น พระราชนิพนธ์อันเป็นที่รักของรัชกาลที่ ๙ นี้เป็นหนังสือที่มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้วในแง่ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยการปรับเปลี่ยน ตีความ ให้เป็นคติสอนใจที่เหมาะสมกับชีวิตและสายงานของบุคคลต่าง ๆ และมีการทำให้ชาดกที่ไกลตัวเป็นเรื่องใกล้ตัวให้เข้าถึงคนปัจจุบันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นหนังสือที่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ทำให้สามารถนำเรื่องราวจากทางธรรมมาใช้กับทางโลกได้ พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ก็ทรงคุณค่ายิ่งแล้ว ไม่มีความจำเป็นอันใดเลยที่จะต้องทำให้พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ดูมีปาฏิหาริย์เหนือธรรมชาติ หรือผูกโยงไปกับความขัดแย้งในปัจจุบัน
รัชนก พุทธสุขา