หากพูดถึงประวัติสมเด็จพระนเรศวรในช่วงที่ประทับอยู่ ณ กรุงหงสาวดี คนไทยส่วนใหญ่ต้องนึกถึงฉากชนไก่ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราช และต้องนึกถึงประโยคที่สมเด็จพระนเรศวรมีการรับสั่งตอบโต้พระมหาอุปราชว่า “ไก่เชลยตัวนี้ อย่าว่าแต่ตีกันเป็นกีฬาในวังเหมือนอย่างวันนี้เลย จะตีกันเอาบ้านเอาเมืองกันก็ยังได้”
แต่แท้จริงแล้วพงศาวดารพม่าทุกฉบับ ไม่เคยมีการบันทึกเรื่องราวที่สมเด็จพระนเรศวรชนไก่กับพระมหาอุปราชเลย หากเราศึกษาโบราณราชประเพณี และกฎในพระราชวังหรือแม้แต่ในหมู่ประชาราษฎร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ จะพบว่า การกินเหล้าเมายา รวมถึงการพนันชนไก่นั้นเป็นความผิดทางศีลธรรม จริยธรรม รวมถึงผิดกฎหมายด้วย ฉะนั้นคนดีมีศีลธรรมจะไม่เล่นชนไก่กัน นอกจากพวกอันธพาลเท่านั้น
หากกษัตริย์รวมถึงราชานุวงศ์องค์ใดที่ชอบเล่นพนัน หรือเสวยน้ำจันฑ์ มัวเมานารี ปราศจากทศพิศราชธรรม ก็เป็นการยากที่ประชาชนจะถวายความจงรักภักดีและครองราชย์อยู่ได้ไม่นาน ก็มักจะถูกกบฏต่อต้านหรือลอบปลงพระชนม์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ พระองค์เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ ประชาราษฎร์รักและถวายความจงรักภักดี แต่เมื่อวันหนึ่งพระองค์ได้เสวยน้ำจันฑ์ (เหล้าองุ่น) ที่ชาวตะวันตกนำมาถวายและได้เสวยต่อเนื่องมาโดยตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ศรัทธาที่ประชาราษฎร์มีต่อพระองค์ก็สั่นคลอน ประชาชนถือว่ากษัตริย์เป็นผู้นำและผู้นำนั้นผิดศีลไม่ได้ หากพระองค์ทรงกระทำผิดศีลแล้วไซร้ จะนำพาบ้านเมืองให้พ้นภัยได้อย่างไร สุดท้ายพระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์
เพราะฉะนั้นแล้วการเล่นไก่ชนถือเป็นสิ่งอัปยศ ไม่มีกษัตริย์หรือราชานุวงศ์ใดจะทรงเล่นทั้งในและนอกเขตพระราชวังพม่าอย่างแน่นอน
กีฬาที่พระมหากษัตริย์และราชานุวงศ์เล่นกันในวังที่เป็นที่นิยมคือ การเล่นกูลี (ตีคลี) ซึ่งกีฬาชนิดนี้จะส่งเสริมให้เด็กผู้ชายขี่ม้าแกร่งขึ้น เป็นการฝึกฝนไปในตัว
หากสมเด็จพระนเรศวรชอบเล่นการพนันตั้งแต่ยังเยาว์ พระเจ้าบุเรงนองคงไม่พระราชทานความเอ็นดู และทรงเลี้ยงไว้เป็นโอรสบุญธรรม นอกจากนี้แล้วคนสยามโบราณเองก็ถือว่าการชนไก่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน แต่สันนิษฐานว่าเรื่องราวสมเด็จพระนเรศวรชนไก่นั้นเกิดขึ้นสมัยหลัง เป็นไปได้ว่าสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นบุญญาธิการของสมเด็จพระนเรศวร และเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้าน ศัตรูที่มารุกราน เนื่องจากเรื่องราวที่สมเด็จพระนเรศวรชนไก่นั้น ได้พบครั้งแรกในพงศาวดารฉบับกรุงเก่า และฉบับคำให้การขุนหลวงหาวัดเท่านั้น พงศาวดารทั้งสองฉบับนี้ไม่ปรากฏชัดเจนว่ามีมาเมื่อไหร่ คาดเดาได้ว่าน่าจะพุทธศตวรรษที่ 25
อีกทั้งจากบันทึกของวัน วะลิต ที่ไม่มีเรื่องราวของการชนใน วิเคราะห์ได้ว่า เนื่องจากบันทึกนี้เป็นบันทึกที่ได้จากการสอบถามจากคำให้การของชาวสยามในสมัยนั้น แสดงให้เห็นว่าคนสยามในสมัยนั้น (สมัยพระเจ้าปราสาททอง) ก็ยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวของการชนไก่
มิคกี้ ฮาร์ท
มิคกี้ ฮาร์ท. (2559). โยเดียกับราชวงศ์พม่าเรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ.