หากพูดถึงกลุ่มแฟนคลับศิลปินต่างชาติที่มีความ ‘สตรอง’ และเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นที่สุดในปัจจุบัน แน่นอนว่าภาพของกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลี น่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง แต่ในเมืองไทยยังมีกลุ่มแฟนคลับศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่พูดได้ว่า เป็นแฟนคลับศิลปินต่างชาติรุ่นบุกเบิก แถมยังคงเป็นแฟนคลับที่มีความเป็นอมตะอีกด้วย ก็คือแฟนคลับของ เอลวิส เพรสลีย์ นั่นเอง
เอลวิส เพรสลีย์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมากในเชิงวัฒนธรรมช่วงศตวรรษที่ 20 ศิลปินผู้มีน้ำเสียงที่สามารถปรับได้หลายแบบ และมีเพลงหลากหลายแนว ทั้งคันทรี, ป็อป บัลลาด, กอสเปล และบลูส์
หนุ่มสาวชาวไทยทั่ว ๆ ไป เริ่มรู้จักเอลวิสจากภาพยนตร์ไม่ใช่จากคอนเสิร์ตอย่างที่บางคนเข้าใจ ซึ่งเป็นช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2500 จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Love Me Tender’ หรือมีชื่อไทยว่า ‘ไอ้เสือหาญ’ เข้าฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2500 เข้าฉายเป็นระยะเวลาประมาณสองสัปดาห์
เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘Love Me Tender’ เปิดตัวในเมืองไทย เอลวิสยังไม่ดังมาก เพราะเขาไม่ได้เป็นดารานำ ประกอบกับเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับสงครามกลางเมือง ยังไม่ค่อยมีความ ‘Rock and Roll’ มากนัก แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่องที่สอง อย่างเรื่อง ‘Loving You’ ที่เข้าฉายในเมืองไทย วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 เป็นภาพยนตร์สี ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เอลวิสมีชื่อเสียงมากขึ้น เนื่องจากมีเรื่องราวที่ทันสมัย เป็นเรื่องของเด็กบ้านนอกที่กลายมาเป็นนักร้อง ซึ่งเนื้อเรื่องก็เลียนแบบชีวิตของตัวเอลวิสเอง หลังจากได้เห็นหน้าของนักร้องจากภาพยนตร์บวกกับเพลงที่เข้ามาก่อนหน้านั้น และเพลงที่ตามมาไม่ขาดสาย ทำให้เอลวิสได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม
สำหรับภาพลักษณ์ของเอลวิสจากภาพยนตร์ เรื่อง ‘Loving You’ ที่ส่งสู่สายตาคนไทย เป็นภาพของหนุ่มหน้าตาน่าเอ็นดูอุ้มตุ๊กตาหมี ‘Teddy Bear’ แต่พอมาเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สามคือ ‘Jailhouse Rock’ หรือ ‘หนุ่มเลือดร้อน’ ที่ฉายในไทยเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 ภาพลักษณ์ของเอลวิสก็เปลี่ยนไปกลายเป็นหนุ่มเกเรที่ต้องติดคุก ดูยียวนกวนประสาท เป็นจุดเริ่มต้นภาพความเป็น ‘จิ๊กโก๋’ ภาพลักษณ์ของเอลวิสที่คนไทยคุ้นเคย ต่อมาภาพลักษณ์นี้ก็ถูกตอกย้ำด้วยภาพยนตร์เรื่องที่ตามมาคือ ‘King Creole’ หรือ นักร้อง นักเลง เป็นเรื่องของแก๊งป่วนเมืองที่ยกพวกตีกัน ฉายในไทยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิยายน พ.ศ. 2501
ผลจากภาพยนตร์ในช่วงนี้จึงทำให้เกิดกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบทั้งตัวของเอลวิสและคาแรคเตอร์ในภาพยนตร์ก็คือ ‘โก๋หลังวัง’ เนื่องจากภาพยนตร์ฉายย่านวังบูรพา วัยรุ่นมารวมตัวกันเยอะ ๆ เพราะมาดูเอลวิส ทำให้เกิดเรื่องวิวาทกัน ส่งผลให้คนเริ่มเอือมกับวัยรุ่นและพาลไปว่าเอลวิสเป็นต้นเหตุให้เกิดอันธพาล ช่วงหลังจึงมีกระแสต้านเอลวิสถึงขั้นพลเอกประภาส จารุเสถียร ขู่จะไม่ให้ฉายภาพยนตร์ของเอลวิส แต่ไม่ได้ทำจริง เพราะถ้าทำจริง ๆ แฟนคลับเอลวิสคงไม่พอใจ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ช่วงแรกกระแสสังคมมีคนอเมริกันต่อต้านเพลงเอลวิสเนื่องจากปัญหาเรื่องสีผิว เอลวิสเป็นคนผิวขาวที่นิยมศิลปะของคนผิวดำ จึงโดนโจมตีเรื่องที่ทำให้เสื่อมเสียทางวัฒนธรรม
แต่สำหรับกลุ่มแฟนคลับเอลวิสในประเทศไทยปัญหาพวกนี้ไม่เป็นอุปสรรค เพราะคนไทยไม่ได้มีปัญหากับเอลวิสในเรื่องของวัฒนธรรมสีผิว หากผลงานของเอลวิสนั้นอาจจะถูกจับตามองบ้างก็คงจะเป็นการมองว่าเป็นอันตรายกับวัฒนธรรมความเป็นไทยสำหรับใครบางคน
ภาพสะท้อนกลุ่มแฟนคลับเอลวิสในประเทศไทยจากที่อาจารย์นิตยา กาญจนะวรรณ (อาจารย์เองก็เป็นแฟนคลับเอลวิสด้วย) ผู้จัดทำกาลานุกรมเกี่ยวกับเอลวิสให้กับหอภาพยนตร์ ได้ให้ภาพความโด่งดังของเอลวิสในเมืองไทยไว้ ว่าจากที่อาจารย์นิตยาเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์ฟรัง คอนแวนต์ ซึ่งร่วมสมัยในช่วงเวลาที่เอลวิสมีชื่อเสียงอย่างมาก เด็กเซนต์คาเบรียล กับ เด็กเซนต์ฟรัง รุ่นโตหน่อยสมัยนั้นมักไปที่ร้าน ‘หลุยส์ ธุระวณิชย์’ ที่ตั้งอยู่ปากซอยมิตรคาม ถนนสามเสน โดยออกมานั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มแล้วก็หยอดตู้เพลงฟังเพลงเอลวิสไปด้วย
นอกจากนี้อาจารย์นิตยายังบรรยายไว้ว่าพฤติกรรมของนักฟังเพลงสากลในช่วงเวลานั้นมีอยู่สองพวกคือ พวกที่ชอบขอเพลงไปตามสถานีวิทยุ เพื่อให้มีการประกาศชื่อผู้ขอก่อนการฟังเพลง กลุ่มนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘เพื่อนนักเพลง’ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ขอแต่อาศัยฟังเพลงจากที่เพื่อน ๆ เขาได้ช่วยกันขอให้เรียบร้อยแล้ว
‘เพื่อนนักเพลง’ กลายเป็นกลุ่มสังคมของเด็กวัยรุ่นในสมัยนั้น นักเรียนต่างโรงเรียนกันเริ่มมารู้จักกัน อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกี่ยวกับแฟนเพลงเอลวิสคือการพยายามติดต่อกันของแฟนเพลง ด้วยวิธีการเขียนจดหมายหาคนที่ประกาศตัวเป็นแฟนเพลงเอลวิสในหนังสือเพลงฉบับต่าง ๆ เช่นคอลัมน์ ‘ELVIS ELVIS ELVIS’ โดย จตุพร สุธาสินี พ.ศ. 2503 มีหนังสือเพลงเล่มเล็ก ๆ ของไทยเล่มหนึ่ง ชื่อว่า ‘MR. HIS MAGAZINE’ ก็ได้ลงโฆษณาเชิญชวนแฟน ๆ เอลวิสให้สมัครสมาชิก Elvis Fan Club หนังสือเล่มอื่น ๆ ก็มีการทำแบบนี้เช่นกัน
แต่แฟนเพลงเอลวิสในช่วงแรก ๆ นั้นยังไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษนัก ยิ่งมาฟังเพลงเร็ว ๆ ของเอลวิสก็แทบจะฟังไม่รู้เรื่อง จึงทำให้เกิดการพยายามศึกษาภาษาอังกฤษ เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้รู้ว่าเอลวิสพูดอะไร ความสนใจภาษาอังกฤษนี้เองได้นำไปสู่ความใฝ่ฝันของเด็กรุ่นนั้นที่อยากไปเหยียบประเทศสหรัฐอเมริกาให้ได้ซักวันหนึ่ง ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘โรบินฮู้ด’ รุ่นแรก ๆ
ในเรื่องของการแต่งกายแฟนคลับหนุ่มสาวยุคนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากเอลวิส เช่นผู้ชายก็จะไว้ผมแบบเอลวิส คือหวีผมโป่งขึ้นไปด้านหน้า ส่วนด้านข้างก็หวีแนบศีรษะ ตวัดส่วนยาวไปทับกับด้านหลัง ความยาวเพียงระดับที่ต้นคอ ถ้าใครไว้จอนได้ก็ไว้จอน การจะจัดทรงแบบนี้ได้นั้นต้องละเลงน้ำมันใส่ผมกันเป็นก้อนหนา ตอนนั้นครีมแต่งผมยี่ห้อ ‘ต้นโจ’ ขายดีเป็นอย่างมาก ส่วนกางเกงนั้นยาวแนบขาแต่ไม่ถึงกับฟิต สำหรับผู้หญิงก็จะนุ่งกระโปรงบานยาวครึ่งเข่าดูได้จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Loving You’
อีกปรากฏการณ์หนึ่งของเอลวิสที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คือ จากภาพยนตร์ชื่อดัง ‘Blue Hawaii’ เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้กระแสใส่ ‘เสื้อฮาวาย’ เป็นที่นิยมอย่างมาก (1960s) อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ของเอลวิสเองที่เป็นต้นแบบของความนิยมเสื้อฮาวายมาสู่เมืองไทย ตอนหลังมีการดีไซน์ผสมผสาน ระหว่างเสื้อคอกลมลายดอกที่คณะลำตัดนิยมสวม กลายมาเป็นเสื้อลายดอกสงกรานต์ที่ภายหลังก็มีความเป็นไทยไปแล้ว ซึ่งในปัจจุบันหากคุณเคยใส่เสื้อลายดอกสงกรานต์ ต่อให้คุณไม่ได้เป็นแฟนคลับของเอลวิสนั้นคุณก็ได้รับอิทธิพลจากเอลวิสไปโดยไม่รู้ตัว
แต่ความโศกเศร้าก็เข้าปกคลุม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เอลวิส เพรสลีย์ ก็ได้เสียชีวิตจากอาการเกี่ยวกับหัวใจวายด้วยอายุ 42 ปี ณ คฤหาสน์เกรซแลนด์ รัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งการจากไปของเอลวิสแทนที่จะทำให้แฟนคลับแยกตัวออกจากกัน แต่กลับรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและมีแฟนคลับหน้าใหม่ ๆ เข้ามาอีกด้วย ซึ่งเราคุ้นเคยกันดีจนถึงปัจจุบันคือพวก ‘งานรำลึก’ ต่าง ๆ ที่แฟนคลับเอลวิสจัดกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดเริ่มต้นที่มีการจัดงานลักษณะแบบนี้คือ การชุมนุมรำลึกเอลวิส เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2521 ที่หน้าคฤหาสน์เกรซแลนด์
ในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าตลอดช่วงชีวิตของเอลวิส เพรสลีย์เขาจะไม่เคยมาไทยเลยสักครั้ง แต่เมื่อเขาจากไปแฟนคลับก็มีการจัดงานรำลึกถึงเอลวิส โดยจุดเริ่มต้นคือการรวมตัวกันของแฟนคลับ ที่โรงแรมนารายณ์ พ.ศ. 2529 งานชุมนุมในครั้งนั้นมีกิจกรรมที่ประกอบไปด้วยการฉายวิดีโอเทป และฟังเพลงจากซีดี มีการถามตอบปัญหาซึ่งมีคนมาชุมนุมกันประมาณ 300 คน
และหลังจากนั้นการจัดงานในลักษณะเพื่อรำลึกถึงเอลวิสก็มีตลอดมาทุก ๆ ปีอย่างไม่ขาดสาย แม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาต่อให้กระแสดนตรี ภาพยนตร์จะหมุนไปไกลแค่ไหนก็ยังคงมีแฟนเพลงเอลวิส ที่มีไลฟ์สไตล์อย่างวันเก่าก่อนเมื่อครั้งที่เขายังคงเป็นวัยรุ่นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้อง เสียงดนตรี ท่าเต้น เสื้อผ้าหน้าผม แฟนคลับเอลวิสก็เป็นเสมือนสาวกที่สืบทอดและเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นเอลวิสยาวนานมาตลอดถึงปัจจุบัน ซึ่งเราคุ้นเคยจากการแสดงในสื่อบันเทิงของบุคคลที่เรียกตัวเองว่า ‘เอลวิสเมืองไทย’ คนต่าง ๆ เช่น ตี๋ จีระศักดิ์, จิ๊บ วสุ เป็นต้น และแม้ว่าแฟนคลับเอลวิสที่ร่วมสมัยในยุคนั้น บางคนอาจจะมีอายุที่เยอะขึ้นทำให้ดูเหมือนว่าน่าจะมีจำนวนที่น้อยลงไปตามกาลเวลา แต่บางครั้งกาลเวลาก็อาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคเพราะแฟนคลับเอลวิสรุ่นใหม่ ๆ ที่รู้จักเอลวิสผ่านรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า หรือคนรุ่นก่อน ๆ เขาและเธอเหล่านั้นก็ชื่นชอบจนกลายเป็นแฟนคลับเอลวิสผู้หลงยุคต่อให้เกิดไม่ทันก็ตามอย่างเช่น วิชญ ผาติหัตถกร
แม้ปีนี้จะเป็นปี 2561 และเอลวิสจากไป 41 ปีแล้ว เราก็ยังคงได้เห็นงานเกี่ยวกับการรำลึกถึงเอลวิสอย่างงาน ‘The Legend of ELVIS’ จัดที่หอประชุมใหญ่ ที.โอ.ที. สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ทำให้มั่นใจได้ว่าคนรุ่นหลังจากนี้ต่อไปจะยังคงคุ้นเคยกับเสียงดนตรี ท่าเต้น เสื้อผ้าหน้าผม สไตล์เอลวิส เพรสลีย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแฟนคลับของเอลวิสนั้นยังคงชื่นชอบคลั่งใคล้อย่างมีใจรักต่อศิลปินผู้ล่วงลับไม่เสื่อมคลาย กลุ่มคนเหล่านี้ก็ชื่นชอบศิลปินของเขาไม่ต่างไปจากวัยรุ่นในปัจจุบันอย่างที่เราใช้ศัพท์เรียกกันง่าย ๆ ว่า ‘ติ่ง’ กลุ่มแฟนคลับเอลวิสก็มีความติ่งอยู่ไม่น้อย และเป็นติ่งที่ ‘โคตรสตรอง’ จนต้องยอมรับว่า “แม้เอลวิส เพรสลีย์ ได้ตายไปแล้ว แต่ติ่งเอลวิสจะยังคงเป็นอมตะนิรันดร์กาล”
รัชนก พุทธสุขา
นิตยา กาญจนะวรรณ. กาลานุกรม เอลวิส เพรสลีย์ ที่ปรากฏในสังคมไทย พ.ศ. 2500 - 2516. (2555). กรุงเทพฯ: หอภาพยนตร์.