สมัยเด็ก ๆ โรงเรียนใครเคยไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์กันบ้าง ? เชื่อว่าแทบทุกคน ไม่ว่าจะชอบเข้าพิพิธภัณฑ์เป็นประจำหรือคนที่ปกติไม่คิดจะย่างกรายเข้าไปในพิพิธภัณฑ์หากไม่จำเป็นก็คงต้องเคยมีประสบการณ์การเข้าพิพิธภัณฑ์กันบ้าง ถึงไม่ได้ไปเอง แต่โรงเรียนของเรานี่แหละที่จะเป็นฝ่ายพาไป แล้วเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมครูถึงต้องพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ด้วย วัตถุจัดแสดงบางชิ้นที่พิพิธภัณฑ์ก็มีอยู่ในตำราเรียนอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นสมัยนี้ อยากจะเสิร์ชหารูปเท่าไหร่ก็ได้ หรือถ้าอยากได้ข้อมูลความรู้ ไม่เห็นต้องไปถึงพิพิธภัณฑ์ก็หาความรู้ได้นี่นา
คำตอบหนึ่งก็คือ หัวใจของการเรียนรู้ที่พิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การได้รับ “ข้อมูลความรู้ใหม่” แต่คือการสร้าง “ประสบการณ์ใหม่” ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียนนั่นเอง และประสบการณ์ใหม่ ๆ นี้เองที่สามารถนำไปสู่ข้อค้นพบใหม่ ๆ วิธีคิดใหม่ และแรงบันดาลใจที่แตกต่างจากสิ่งที่เรียนในโรงเรียนด้วย
พอพูดถึงการเรียนรู้ เรามักนึกถึงการเติม “ความรู้” เข้าไปในสมองให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คนมีความรู้คือคนที่รู้เรื่องราวอะไรเยอะไปหมด คนมีความรู้คือคนที่ถามอะไรก็ตอบได้ทุกเรื่อง ความรู้มักถูกจับคู่กับ “ความสามารถในการจดจำ” ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพียงแต่ “ความจำ” ยังไม่ใช่ทั้งหมดของ “ความรู้” และนักวิชาการด้านการศึกษาที่ศึกษาเรื่องการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็ยังเสนอไว้อีกด้วยว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีเพียงเรื่องของ “สมอง”ด้านเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ “หัวใจ” และ “ร่างกาย” ด้วย เพราะฉะนั้น แม้บางครั้งสมองจะจำอะไรไม่ได้ แต่หัวใจกลับจำบางความรู้สึกเอาไว้ได้แม่นยำอย่างยิ่ง
เบนจามิน บลูม (Benjamin Bloom) เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาคนสำคัญที่เสนอแนวคิดเรื่องการเรียนรู้สามด้าน หรือ สามปริเขตแห่งการเรียนรู้ (three domains of learning) นี้ บลูมแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นสามโดเมน คือ โดเมนเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจ หรือ “พุทธิเขต” (cognitive domain) ซึ่งรวมถึงการจดจำ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ประเมินค่า ฯลฯ, โดเมนเกี่ยวกับความรู้สึก หรือ “จิตตเขต” (affective domain) ซึ่งเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติต่อสิ่งต่าง ๆ , และโดเมนเกี่ยวกับกลไกทางจิตใจ หรือ “ทักษะเขต” (psychomotor domain) ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับการใช้กลไกในร่างกายและการเรียนรู้ทักษะในการทำสิ่งต่าง ๆ นักวิชาการรุ่นหลังจึงเรียกทั้ง 3 โดเมนนี้ว่า สมอง, หัวใจ, และร่างกาย ตามลำดับ
ข้อค้นพบหนึ่งในงานวิจัยเกี่ยวกับการวัดผลการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสก็อตแลนด์บอกว่า การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ “ความรู้สึกและทัศนคติ” นั้นประสบผลสำเร็จมากกว่าการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับ “ความรู้และความเข้าใจ” คืออาจกล่าวว่าการเรียนรู้ใน Affective domain ในพิพิธภัณฑ์นั้นดูจะประสบความสำเร็จมากกว่า Cognitive domain นั่นเอง Jenni Fuchs เขียนบทความวิจัยเรื่อง “'Generic Learning Outcomes' as a strategic tool for evaluating learning impact.” เขานำแนวคิด GLOs ซึ่งเป็นหลักการวัดผลการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์มาทดลองใช้วัดผลการเรียนรู้ในนิทรรศการ “Beyond the Palace Wall” ซึ่งเป็นนิทรรศการพิเศษที่นำศิลปวัตถุอิสลามจาก the State Hermitage Museum มาจัดแสดงที่ National Museum Scotland ประเทศอังกฤษ เขาใช้วิธีการแจกแบบสอบถามและสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เข้าชมนิทรรศการเพื่อสำรวจว่านิทรรศการว่าด้วยวัฒนธรรมอิสลามที่จัดแสดงอยู่ในประเทศอังกฤษนี้ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ชมอย่างไรบ้าง และผลเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้จัดนิทรรศการคาดหวังไว้หรือเปล่า
Jenni Fuchs พบว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ว่าต้องการให้ผู้เข้าชม “เกิดความรู้สึกรื่นรมย์ เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเกิดแรงบันดาลใจ” รวมถึงจุดประสงค์ที่ต้องการให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติและการให้คุณค่าต่อวัฒนธรรมอิสลามนั้น” (จุดประสงค์ที่สัมพันธ์กับ Affective domain) ประสบผลสำเร็จดีกว่าจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ว่าต้องการให้ “ผู้ชมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอิสลามมากขึ้น” (จุดประสงค์ที่สัมพันธ์กับ cognitive domain) หลายคำตอบที่ Fuchs ได้รับคือข้อความที่บอกว่า “ฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า....” ตามมาด้วยข้อความต่าง ๆ กันไปที่ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกตื่นตะลึง แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าผู้ชมจะไม่ได้รับความรู้อะไรกลับไปเลย ความประทับใจมาพร้อมกับการบอกเล่าความรู้ที่พวกเขาได้รับ เช่น ผู้เยี่ยมชมคนหนึ่งที่กล่าวในตอนแรกว่า “I use to think Islamic art was crude and unimaginative” และผู้ชมคนเดียวกันนี้เองที่กล่าวว่า “I don’t know they appreciated pictorial work with animals”
คำตอบของผู้เยี่ยมชมคนนี้อาจอธิบายได้ด้วยแนวคิดของ George E. Hein นักพิพิธภัณฑวิทยาที่กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงความคิดเป็นสิ่งที่ยาก มนุษย์จะต้องได้รับประสบการณ์ใหม่ ข้อมูลใหม่ เพื่อตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้ว มากกว่าจะเป็นการยอมรับแนวคิดใหม่ที่บอกเล่าซ้ำ ๆ” การรับข้อมูลใหม่ ๆ จึงไม่ใช่เพียงการรับข้อมูลใหม่เพื่อให้เราจดจำมันเอาไว้ หากแต่เป็นการรับข้อมูลใหม่เพื่อนำมาประมวลผลเปรียบเทียบกับข้อมูลเก่าที่เรามี และหลังจากสิ้นสุดกระบวนการเปรียบเทียบก็เป็นไปได้ที่ความคิดและทัศนคติของเราจะเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลเรื่องที่ว่าอิสลามมีศิลปะรูปสัตว์อันสวยงามอาจไม่ได้สลักสำคัญอะไรเลยต่อคน ๆ หนึ่ง หากข้อมูลนั้นไม่ได้ไปกระตุกความคิดเดิมที่คิดว่าศิลปะอิสลามนั้นแสนจะหยาบและไร้จินตนาการ
นอกจากนี้ Fuchs ยังมองว่าสาเหตุที่นิทรรศการนี้ประสบความสำเร็จเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติผู้ชมและสร้างแรงบันดาลใจมากกว่า ก็เพราะการเกิดความรู้สึกเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการอ่านข้อมูลมหาศาลหรือต้องหยุดอ่านข้อความนาน ๆ หากแต่เกิดจากการได้มองเห็นภาพที่กระทบใจ (visual impact) ประกอบกับการอ่านข้อมูลสั้น ๆ อีกเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจทำให้เกิดการฉุกคิดหรือเกิดแรงบันดาลใจได้แล้ว
ส่วนเรื่องที่ผู้ชมไปไม่ถึงความรู้ความเข้าใจที่ตั้งจุดประสงค์ไว้ เป็นไปได้ว่าความรู้ที่ Fuchs ตั้งจุดประสงค์ไว้ แล้วผู้ชมไปไม่ถึงนั้นเป็นความรู้ที่ออกจะซับซ้อนอยู่สักหน่อย จึงไม่มีผู้เข้าชมคนไหนเอ่ยเรื่องนั้นขึ้นมา อย่างไรก็ตาม แม้นิทรรศการจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความรู้ความเข้าใจทุกข้อ แต่ผลการตอบแบบสอบถามก็แสดงให้เห็นว่าผู้คนมากถึง 39% ที่ผู้เข้าชมนิทรรศการระบุว่าพวกเขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศิลปะอิสลาม
ถึงแม้การตอบแบบสอบถามดังกล่าวจะไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าผู้เข้าชมนิทรรศการเหล่านี้จะได้ “ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตนเอง” จริง ๆ แต่ในอดีตก็มีหลักฐานของเด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเที่ยวชมจารึกภาษาเขมรในพิพิธภัณฑ์ศาสนาอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในฝรั่งเศสมาแล้ว เขา “เกิดรักแรกพบจากการเห็นศิลาจารึกเป็นครั้งแรก” และ “เกิดความรู้สึกดลใจในการศึกษาประเทศตะวันออก” เด็กหนุ่มคนนั้นชื่อยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ผู้ต่อมากลายมาเป็นศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีเขมรและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลมากคนหนึ่งของโลก
พิพิธภัณฑ์จึงมีรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากห้องเรียน แน่นอนว่าการเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณคดีสักแห่งคงไม่ทำให้ผู้เข้าชมเดินกลับออกมาแล้วกลายเป็นสุดยอดศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีในทันใด ทว่า สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของพิพิธภัณฑ์ก็คือการเป็น “แหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย” ผู้เข้าชมจึงสามารถเข้าไปมีประสบการณ์ในพิพิธภัณฑ์ เลือกที่จะเรียนรู้ และตีความได้อย่างอิสระ จุดแข็งของพิพิธภัณฑ์จึงอาจไม่ใช่การให้ “ข้อมูลความรู้” แต่เป็นการ “สร้างความรู้สึก” “เปลี่ยนทัศนคติ” หรือ “สร้างแรงบันดาลใจ” เพราะฉะนั้น แม้จะเคยได้เห็นพระพุทธรูปองค์นั้นมาไม่ต่ำกว่าสิบครั้งแล้วในหนังสือเรียนและสื่อต่าง ๆ การไปดูของจริง (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ของจำลองเหมือนจริง) ก็ยังให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการนั่งดูภาพถ่ายหรือฟังจากคำบอกเล่าอยู่นั่นเอง
นลิน สินธุประมา
Anderson, L. W., Krathwohl, D. R., Airasian, P. W., Cruikshank, K. A., Mayer, R. E., Pintrich, P. R., . . . Bloom, B. S. (2001). A taxonomy for learning, teaching, and assessing: A revision of Blooms Taxonomy of educational objectives. New York: Addison-Wesley.
Fuchs, J. (2010, August 18). “'Generic Learning Outcomes' as a strategic tool for evaluating learning impact.” Retrieved November 19, 2018, from อ่านออนไลน์
Juliani. (2014, March 03). The 3 Emotions That Drive Deeper Learning. Retrieved November 19, 2018, from อ่านออนไลน์
Krathwohl, D. R., Bloom, B. S., & Masia, B. B. (1964). Taxonomy of educational objectives: The classification of educational goals. London: Longmans.
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ และ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. ปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์: บทเรียนจากคนอื่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เปนไท พับลิชชิ่ง, 2559. อ่านออนไลน์