Museum Core
“ขบ” แล้วต้อง “ขัน” วิถีวิจารณ์แบบ “ขำๆ” ในวรรณคดีไทยสมัย ร. 3
Museum Core
14 มิ.ย. 62 8K

ผู้เขียน : นลิน สินธุประมา

“ขบ” แล้วต้อง “ขัน” วิถีวิจารณ์แบบ “ขำ ๆ” ในวรรณคดีไทยสมัย ร. 3

 


ทุกครั้งที่สังคมไทยเกิดดราม่าร้อนแรงขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยขาดหายไปเลยก็คือ “มุกตลก” ไม่ว่าจะมาในรูปของโพสต์จิกกัด การ์ตูนช่อง มีม วิดีโอล้อเลียน ฯลฯ แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่ตึงเครียดเข้มข้นจนหัวเราะไม่ค่อยออก ก็ยังอดไม่ได้ที่จะมี “มุกตลก” โผล่มาขยี้ให้ได้หัวเราะกันบ้าง บ่อยครั้งที่อารมณ์ขันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการ “วิพากษ์วิจารณ์” สิ่งที่พูดตรง ๆ ไม่ได้ เพราะนอกจากอารมณ์ขันจะช่วยทำให้ใจเย็นลง ลดความหัวร้อน หรือไม่ก็ผ่อนคลายความเครียดลงบ้าง จากการรู้สึกว่าได้ “ขบ” ได้กัดผู้เป็นเป้าของการวิจารณ์แล้ว ในขณะเดียวกัน อารมณ์ขันก็ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผู้วิจารณ์ไม่ให้ถูกฟ้องร้องหรือต้องโทษ เพราะความเป็นมุกตลกที่ชวนให้รู้สึกว่าเป็นแค่เรื่อง “ขำ ๆ ” ไม่ควรไปเอาเรื่องเอาราวอะไรด้วยนั่นเอง


ดูเหมือนว่าอารมณ์ขันจะไม่ใช่เครื่องมือใหม่เอี่ยมอ่องของชาวไทยในการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ แต่แฝงอยู่ในวิถีแห่งการวิจารณ์ของชาวสยามมาช้านานแล้ว เห็นได้จากการเกิดขึ้นของ “วรรณคดีอารมณ์ขัน” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สัมพันธ์กับการวิจารณ์สิ่งที่ “พูดตรง ๆ ไม่ได้” อย่างมีนัยสำคัญ


อารมณ์ขันสอดแทรกอยู่ในวรรณคดีไทยหรือนิทานพื้นบ้านเรื่องต่าง ๆ มาเนิ่นนานแล้วในรูปของตัวละครตลก ๆ หรือการกระทำที่น่าหัวเราะสอดแทรกอยู่ในฉากต่าง ๆ ของเรื่อง พฤติกรรม “ตลก ๆ ” ที่ว่านี้มักจะเป็นพฤติกรรมของ “ผู้ร้าย” เช่น ทศกัณฐ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ หรือ จรกา ในเรื่องอิเหนา หรือไม่ก็ “ตัวประกอบ” เช่น คนรับใช้ของพระเพื่อนพระแพงและพระลอ ในเรื่องลิลิตพระลอ ความตลกเหล่านี้มักเป็นความตลกประเภทที่ทำให้รู้สึกว่าตัวละครตัวนั้นเป็นตัวละครที่ด้อยกว่า ยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับตัวละครเอกก็จะยิ่งรู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้ไม่มีเกียรติ ไม่มีศรี เท่ากับพระนางของเรื่อง หรือหากเราพอจะมีพระ-นางที่พูดจาหยาบโลนเสียจนผู้เสพรู้สึกขบขันได้บ้าง ก็จะต้องเป็นพระ-นางใน “ละครนอก” ซึ่งถือว่าเป็นละครชาวบ้าน ไม่มีความประณีตบรรจงเท่าละครใน หรือวรรณคดีของหลวง


ความขบขันส่วนใหญ่ที่พบในวรรณคดียุคก่อนหน้าจึงมักเป็นความขบขันเพราะผู้ชม-ผู้อ่านรู้สึกเหนือกว่าตัวละคร หรือไม่ก็เป็นความขบขันที่ปลดปล่อยตัวเองจากกรอบสังคม ด้วยการที่ตัวละครพูดหรือทำในสิ่งที่ปกติจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ทำ เช่น นางสีดาในละครนอกอาจจะลุกขึ้นมาด่าฉอด ๆ อย่างไร้สิ้นความเป็นกุลสตรี หรือศรีธนญชัยในนิทานพื้นบ้านที่ลุกขึ้นมาเล่นงานให้พระราชาต้องขายหน้า ทว่า อารมณ์ขันในวรรณคดียุคก่อนหน้าก็มักจะเป็นเพียงน้ำจิ้มในวรรณคดีเท่านั้น ไม่ได้เป็นรสสำคัญของวรรณคดีไทย การเกิดขึ้นของ “วรรณคดีอารมณ์ขัน” หรือวรรณคดีที่มุ่งสร้างความตลกขบขันโดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงเป็นหมุดหมายหนึ่งที่น่าสนใจในกระแสธารของประวัติวรรณคดีไทย


วรรณคดีอารมณ์ขันไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างไร้ที่มาที่ไป แต่เกิดมาจากความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนที่มีต่อวรรณคดีในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จิตร ภูมิศักดิ์พูดถึงวรรณคดีในยุคนี้เอาไว้ว่าวรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นเต็มไปด้วยเรื่องของกษัตริย์ เจ้าชาย เจ้าหญิง หรือที่ต่ำศักดิ์ที่สุดก็ยังต้องเป็นตัวละครระดับเจ้าเมือง ขุนน้ำขุนนาง หรือผู้มีอันจะกิน น้อยเหลือเกินที่จะพูดถึงชีวิตของชีวิตสามัญของ “ไพร่” และไม่ใช่เพียงกรอบของ “เนื้อหา” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “รูปแบบ” ของวรรณคดี ที่กวีต่างก็พยายามแข่งขันประชันฝีมือกันแต่งตาม “ขนบวรรณคดี” ที่มากำหนดกรอบการใช้ความเปรียบให้มีแต่แบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ไม่ค่อยมีใครคิดหาอุปมาอุปไมยใหม่ ๆ และแข่งกันเพียงว่าใครจะสรรหาถ้อยคำได้วิจิตรบรรจงกว่าเท่านั้น จิตรมองว่าการที่เนื้อหาและวรรณศิลป์ของวรรณคดีไทยวนเวียนอยู่เพียงเท่านี้ “ทำให้รู้สึกว่า แนวทางแห่งวรรณคดีเป็นทางที่ตีบตันไร้ทางออก ไร้ทางพัฒนา รสชาติของท้องเรื่องนับวันจะคลายลงและคลายลง ทางเดียวที่จะแหวกออกไปให้เด่นได้ ก็คือการแข่งขันกันทางด้านถ้อยคำ”


ภายใต้บรรยากาศการแต่งวรรณคดีที่จิตรใช้คำว่าเกิดความ “มลืดชืด” นี้เอง ที่เริ่มเกิด “วรรณคดีล้อเลียน” หรือ “วรรณคดีขบขัน” ขึ้นหลายเรื่องในสมัยรัชกาลที่ 3 เพราะวรรณคดีอารมณ์ขันที่ดูคล้ายจะไม่มีเนื้อหาสาระอะไรเหล่านี้แสดงให้เห็นความเบื่อหน่ายในความซ้ำซากจำเจของวรรณคดีที่มีอยู่ จนกวีต้องลุกขึ้นมาแต่งอะไรที่ “แหวกขนบ” ออกไปเสียบ้าง ความขบขันในวรรณคดีเหล่านี้จึงกำลังทำหน้าที่เป็น “วรรณคดีวิจารณ์” วรรณคดีร่วมสมัยกันอยู่ในที ดังที่เจตนา นาควัชระ กล่าวถึงอารมณ์ขันไว้ว่า “การเขียนแบบเสียดสี (satire) เป็นศิลปะการเขียนแบบหนึ่งซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างทัศนะวิพากษ์วิจารณ์กับอารมณ์ขัน (humor) และคำคม (wit) โดยมีจุดประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดต่าง ๆ ให้ดีขึ้น”


ในวรรณคดีไทยสมัย ร. 3 เราจึงเริ่มพบ “อารมณ์ขัน” รูปแบบใหม่ ๆ ที่ตลกขบขันด้วย “กลวิธีการประพันธ์” ไม่ใช่แค่ตลกเพราะพฤติกรรมตลก ๆ ของตัวละครซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามจะสร้างวรรณคดีที่ไม่ซ้ำซากจำเจกับเรื่องที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็น “ระเด่นลันได” ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่จิตร ภูมิศักดิ์เคยกล่าวยกย่องไว้ว่า ไม่ใช่การตลกอย่าง “จำอวด” แต่ “ลักษณะอีกประการหนึ่งที่ทำให้บทละครเรื่องระเล่นลันไดตลกอย่าง “คม” และ “ขบขัน” (ต้องขบแล้วจึงขัน) อันเป็นความคมและขบขันที่ติดตรึงใจผู้อ่านก็คือ การใช้ถ้อยคำที่ตรงข้ามกันและใช้ข้อความที่ตรงข้ามกัน นั่นคือ มีลักษณะความขัดแย้งทางถ้อยคำและข้อความ (contrast) วิธีนี้ก็คือ กล่าวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ถือว่าต่ำ ๆ และสามัญด้วยถ้อยคำอันงามหรู หรือกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเสียอย่างงามหรู แล้วหักความหลบลงเป็นเรื่องสามัญดาษ ๆ ทันที”


ความตลกในระเด่นลันได ไม่ใช่เพียงเพราะเนื้อเรื่องที่เล่าเรื่องชิงรักหักสวาทของวณิพกและคนเลี้ยงวัวแถว ๆ โบสถ์พราหมณ์เท่านั้น แต่วรรณคดีเรื่องนี้เต็มไปด้วยการล้อเลียน “ขนบวรรณคดี” ที่แต่งกันจนเกร่ออยู่ในยุคนั้น ตั้งแต่ชื่อตัวละคร “ระเด่นลันได” ชื่อที่ล้อกันมากับชื่อ “ระเด่นมนตรี” (อิเหนา) แต่แทนที่ระเด่นลันไดคนนี้จะเป็นเจ้าชายผู้เพียบพร้อมสูงศักดิ์ กลับเป็นวณิพกพเนจร ไม่มีทั้งคุณธรรม คุณสมบัติ หรือรูปสมบัติใด ๆ ทั้งสิ้น และล้อไปจนถึงกลวิธีในการประพันธ์ที่สืบทอดต่อกันมาจนทำเป็น “ขนบ” เช่น ขนบในการ “ชมนาง” ที่จะต้องเปรียบวงหน้าว่างามราวกับพระจันทร์ เปรียบคิ้วว่าโก่งดังคันศร เปรียบปากว่างามเป็นกระจับ แต่พระมหามนตรี (ทรัพย์) นำเอาขนบการชมความงามที่มุ่งจะเสนอภาพ “ความงามอันเป็นอุดมคติ” เหล่านี้มาบิดความเปรียบเสียใหม่ให้กลายเป็นความเปรียบที่ดูไม่งามและน่าหัวร่อไปทั้งหมด เช่น ชมนางประแดะผู้เป็นนางเอกของเรื่องว่า



นอกจากจะล้อเลียนเรื่องภาษาแล้วก็ล้อเลียนเนื้อหาด้วย “พระมเหลเถไถ” ของคุณสุวรรณ ที่ล้อเลียนความนิยมการแต่งกลอนให้แพรวแพราวด้วยสัมผัสนอกสัมผัสใน แต่กวีบางคนก็ไม่มีความสามารถพอจะแต่งให้ได้ความ คือเสียงเพราะไปอย่างนั้น แต่สื่อความไม่ได้ คุณสุวรรณจึงแต่งพระมเหลเถไถประชดด้วยการแต่งกลอนที่เคร่งครัดฉันทลักษณ์และมีสัมผัสนอก สัมผัสในครบครัน ทว่ากลับอ่านจับใจความแทบไม่ได้

ความน่าขันอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ภาษาจะแทบไม่สื่อใจความ แต่ก็จะพอเดาเรื่องได้ ว่า “พระมะเหลเถไถมะไหลถา” นี่ก็คงเป็นกษัตริย์หรือเจ้าชายสักองค์ที่ครองเมืองสักเมือง แล้วก็มีเหตุให้เดินทางออกจากเมืองไปพบเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ เพราะวรรณคดีไทยในสมัยนั้นเต็มไปด้วยวรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องทำนองนี้ วรรณคดีที่เรารู้จักกันดีทั้งพระอภัยมณี อิเหนา รามเกียรติ์ ต่างก็เริ่มต้นเรื่องมาด้วยการแนะนำตัวละครผู้สูงศักดิ์และเล่าเหตุที่ตัวละครเหล่านี้ต้องเดินทางออกจากเมืองกันทั้งสิ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งความจำเจเหล่านี้จึงแปรรูปออกมาเป็นวรรณคดีล้อเลียนหรือวรรณคดีอารมณ์ขันอย่างที่เห็น วรรณคดีอารมณ์ขันที่เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 จึงไม่ใช่เพียงเรื่อง “ขำขัน” แต่ผู้อ่านต้อง “ขบคิด” ถึงประเด็นที่กวีกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังต้องมีความเข้าใจว่ากวีกำลังล้อเลียนอะไร เพื่อจะได้เก็ทมุกของกวีได้


นอกจากวรรณคดีอารมณ์ขันจะเกิดขึ้นเพื่อโต้กลับขนบการแต่งวรรณคดีที่ซ้ำซากจำเจแล้ว ยังเริ่มมีการใช้ “อารมณ์ขัน” มาวิพากษ์วิจารณ์ “ขุนนาง” ผู้ประพฤติมิชอบในสมัยนั้นด้วย และผู้ที่ริเริ่มการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ ก็คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ผู้แต่งระเด่นลันไดนั่นเอง พระมหามนตรี (ทรัพย์) แต่ง “เพลงยาวแต่งว่าจมื่นราชามาตย์” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “เพลงยาวบัตรสนเท่ห์” แล้วลอบนำมาติดไว้ที่ทิมดาบตำรวจอันเป็นที่ทำงานของจมื่นราชามาตย์ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของจมื่นราชามาตย์ ว่าชอบอวดความร่ำรวยและยศศักดิ์ ทำตัวตีเสมอเจ้านาย เจ้าชู้ประตูดินและการปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เป็นธรรม ชอบวางอำนาจใส่ข้าทาสบริวาร และบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง


เช่นเดียวกับเรื่องระเด่นลันได เพลงยาวบัตรสนเท่ห์นี้ก็มีอารมณ์แพรวพราว และเป็นอารมณ์ขันในลักษณะเดียวกันที่จิตร ภูมิศักดิ์เคยกล่าวชมวรรณคดีเรื่องระเด่นลันไดไว้ นั่นก็คือการเสียดสีโดยใช้การประชดประชัน ใช้ถ้อยคำนัยผกผันที่ทำทีเหมือนจะชม แต่จริง ๆ แล้วคอยจิกกัดอยู่แทบทุกวรรค เช่นการที่ขึ้นต้นเพลงยาวว่า



“มิเสียทีที่เขามีวาสนา” นั้นสื่อความตรงตัวคล้ายจะชมว่าขุนนางผู้นี้ช่างเป็นคนบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่เมื่ออ่านต่อไปก็จะเห็นที่มาของความมีบารมีของขุนนางผู้นี้ว่าเป็นขุนนางที่ “เจ๊กจีน” เกรงกลัว ไม่ใช่ว่าเป็นที่นับน่าถือตาในหมู่ขุนน้ำขุนนางด้วยกัน นัยหนึ่งจึงเป็นการเยาะจมื่นราชามาตย์ว่าทำเป็นวางอำนาจ แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนใหญ่โตอะไร และอีกนัยหนึ่งหากอ่านประกอบกับประวัติของจมื่นผู้นี้ก็จะพบว่าเขาเป็นผู้ที่ขูดรีดและวางอำนาจกับคนจีนอยู่มาก (แม้กระทั่งในวาระสุดท้ายของชีวิตที่จมื่นผู้นี้ได้เลื่อนขั้นเป็นพระยามหาเทพ (ปาน) แล้วก็ยังไปขูดรีดจีนค้าฝิ่น จนพ่อค้าชาวจีนเจ็บแค้นจึงคิดกันตั้งตนเป็นตั้วเหี่ย พระยามหาเทพต้องออกไปปราบและถูกชาวจีนยิงตาย) การกล่าวถึง “เจ๊กจีน” จึงไม่ได้เป็นเพียงการหัวเราะเยาะจมื่นราชามาตย์ว่าไม่ได้เป็นคนใหญ่โตอะไรเท่านั้น แต่ยังวิจารณ์พฤติกรรมของจมื่นราชามาตย์ไปพร้อม ๆ กันด้วย ว่าบารมีที่เขาได้มานั้นเป็นบารมีที่ได้มาโดยมิชอบและเป็นอำนาจที่ได้มาจากการกดขี่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม


พระมหามนตรี (ทรัพย์) ไม่ใช่ผู้แรกที่ใช้กาพย์กลอนเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของขุนนางหรือเจ้านาย แต่พระมหามนตรี (ทรัพย์) อาจเป็นหนึ่งในผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์จำนวนน้อยที่บัตรสนเท่ห์นี้ไปถึงพระเนตรพระกรรณแล้วแต่กลับไม่ถูกลงโทษอะไร ในขณะที่กรณีอื่น ๆ ในยุคสมัยใกล้เคียงกันนั้นมีตั้งแต่กรณีที่ผู้เขียนวรรณคดีวิพากษ์การทำงานของข้าราชการถูกจับไปโบยและสั่งเผาวรรณคดี ไปจนถึงผู้ที่เขียนโคลงวิพากษ์พระบรมวงศานุวงศ์ที่ต้องโทษประหารชีวิต


พระมหามนตรี (ทรัพย์) ไม่ถูกลงโทษจากการทิ้งบัตรสนเท่ห์ครั้งนั้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะในขณะนั้นพระมหามนตรี (ทรัพย์) (ถือศักดินา ๒๐๐๐) มีตำแหน่งสูงกว่าจมื่นราชามาตย์ (ถือศักดินา ๘๐๐) เนื้อหาในเพลงยาวแม้มุ่งวิจารณ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของจมื่นราชามาตย์ก็จริง แต่ก็เน้นไปที่การทำตัว “เสมอเจ้านาย” เช่น ปลูกเรือนเหมือนมุขรับถวายฎีกา ฝึกผู้หญิงให้ร้องละครใน (ซึ่งเป็นสิ่งที่มีได้เฉพาะในวังเท่านั้น) ฯลฯ ดังนั้น เนื้อหาการวิจารณ์จึงไม่ใช่เนื้อหาประเภทที่ “เป็นภัยต่อความมั่นคง” ของชาติ นอกจากนี้ ด้วยความที่พระยามหามนตรี (ทรัพย์) มีกลวิธีในการใช้อารมณ์ขันในการเสียดสีจมื่นผู้นี้ ใช้ถ้อยคำนัยผกผันมาสร้างความตลกขบขัน โดยทำทีเหมือนจะชมและยกย่องและเนื้อความโดยรวมทั้งหมดกลับสื่อความหมายให้รู้ว่าผู้ประพันธ์ต้องการสื่อความไปในทางตรงกันข้าม กลวิธีการสร้างความตลกขบขันนี้ทำให้เนื้อหาของเพลงยาวรุนแรงน้อยลง (หรือเสไปว่ารุนแรงน้อยลงได้) เพลงยาวนี้จึงถูกมองว่าเป็นแต่การสร้างความบันเทิงและการ “หยอกกันเล่น” ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและระบายความอัดอั้นตันใจ ใช้อารมณ์ขันเสียดสีเพื่อวิจารณ์พฤติกรรมและการกระทำที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ปกป้องผู้วิจารณ์ให้ปลอดภัย พูดเรื่องร้ายแรงได้โดยไม่โดนลงโทษด้วย


นับแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา แม้วรรณคดีร้อยกรองจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงพร้อมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีการพิมพ์และวรรณคดีร้อยแก้ว แต่ “อารมณ์ขัน” ก็ย้ายร่างจากในวรรณคดีร้อยกรองมาอยู่ในวรรณคดีร้อยแก้วอีกจำนวนมากหลังจากนั้น และความตลกขบขันในวรรณคดี วรรณกรรม และสื่อบันเทิงต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในความบันเทิงและเครื่องมือในการวิจารณ์ยอดนิยมของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


บางครั้งอารมณ์ขันก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิธีวิจารณ์ที่ฉลาดหลักแหลม มีศิลปะ มีลูกล่อลูกชน เป็นวิถีแห่งการประนีประนอม บางครั้งอารมณ์ขันก็ถูกมองว่าเป็นวิธีการขาดความเด็ดขาด กล้า ๆ กลัว ๆ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นแบบเล่น ๆ ติดตลก ไม่จริงจัง หรือบางครั้งอารมณ์ขันก็อาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วในการส่งสัญญาณว่าเจ้าของอารมณ์ขันนั้นมีเรื่องอึดอัดอยากจะพูด แต่พูดด้วยวิธีอื่นไม่ได้จริง ๆ


อารมณ์ขันจึงไม่ใช่แค่เรื่องขำ ๆ แต่อารมณ์ขันอาจบอกอะไรได้มากกว่าที่เราคิด

 

 

นลิน สินธุประมา

 

 

 

 

บรรณานุกรม

 

 

ใกล้รุ่ง อามระดิษ. ร้อยแก้วแนวขบขันของไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.


จิตร ภูมิศักดิ์. บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2561.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ