Museum Core
เดอะชราภาพ: เมื่อวัยฉกรรจ์เล่าเรื่องสูงวัยผ่านบทเพลง
Museum Core
18 มิ.ย. 62 7K

ผู้เขียน : Museum’s Core


เดอะชราภาพ: เมื่อวัยฉกรรจ์เล่าเรื่องสูงวัยผ่านบทเพลง

 

 

 

เป็นเวลากว่า 5 ปีที่วงเดอะชราภาพ (The Charapaabs) ทยอยปล่อยซิงเกิ้ลเพลงที่พวกเขาผลิตขึ้นมา เมื่อครบ 10 เพลงจึงได้ออกอัลบั้ม “มหามรดก” ที่มีเนื้อหาอยู่เรื่องเดียวคือ เรื่องของคนแก่ !!!


ทีมงาน Museum’s Core ได้ฟังครบทุกเพลงแล้วเห็นว่าอัลบั้มนี้เป็น Concept Album ที่ดีและชัดเจนชุดหนึ่งของวงการเพลงไทย ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ฟังเพลิดเพลินไปกับดนตรีแต่ยังให้ข้อคิดและเห็นภาพ “สังคมผู้สูงวัย” ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้อีกด้วย จึงขอนัดสมาชิกวงล้อมวงคุยกัน แล้วพบว่าเบื้องหลังการทำงานของพวกเขาเกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย มีความสนุกและน่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาในเพลงที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้รับรู้


ถ้าคุณยังไม่เคยฟังเพลงของพวกเขา เราขอแนะนำให้หาโอกาสฟังก่อนค่อยกลับมาอ่านบทความนี้ต่อจนจบ แล้วจะเข้าใจว่าทำไมพวกเราถึงอยากคุยกับพวกเขา (คลิกฟังเพลงที่นี่) 

 

วงเดอะชราภาพ เป็น Concept Band


ในวันที่เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจรัฐประหารครั้งล่าสุด มีวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนั่งคุยกันว่าอยากลองตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยมีโจทย์เริ่มต้นแค่ว่าอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยทำกันมา ด้วยความที่สมาชิกวงทำงานประจำด้านครีเอทีฟจึงพยายามคิดงานโดยให้คอนเซ็ปเป็นตัวนำ ส่วนเรื่องดนตรี-เพลงค่อยตามมาทีหลัง


ในช่วงเวลานั้นสังคมเริ่มพูดถึงสังคมผู้สูงวัยแล้ว แม้แต่งานอีเว้นท์ต่าง ๆ ก็เกาะกระแสนี้ ตอนที่นั่งคุยกันมีคนโยนคำว่า “คนแก่” ลงกลางวงถามว่าวงดนตรีที่จะตั้งขึ้นมาจะพูดถึงคนแก่กันดีไหม ปรากฏว่าทุกคนเห็นด้วย จึงทดลองเขียนเพลงขึ้นมาก่อนคือเพลง “ตรวจสุขภาพประจำปี” แต่แต่งค้างไว้ยังไม่เสร็จ เพลงที่สองที่เขียนไว้แต่แต่งเสร็จก่อนคือเพลง “ศาลาคนเศร้า”

 

เนื้อเพลงดังกล่าวทำให้เริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำวงดนตรีที่เล่าเรื่องผู้สูงวัย จึงคุยกันต่อถึงคอนเซ็ปของวง ทั้งภาพรวมและวิธีการนำเสนอ ตั้งใจจะให้เป็นวงที่สร้างภาพเกี่ยวกับผู้สูงวัยทั้งภาพลักษณ์และเนื้อหา ในที่สุดคำว่า “ชราภาพ” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชื่อวง เมื่อคอนเซ็ปชัด สมาชิกในวงทุกคนก็เห็นภาพตรงกันว่าเพลงต่อ ๆ ไป ดนตรี เนื้อร้องจะออกมาอย่างไร พอปั้นให้กลมได้แล้วก็เห็นว่ามันไปต่อได้ และเพลงอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ ถูกสร้างสรรค์ในเวลาต่อมา

 

ตั้งใจทำเพลงที่ฟังได้ทุกวัย


จุดเริ่มต้นของวงไม่ได้เกิดจาก Mindset แบบชื่นชมคนชราไปทุกเรื่อง ไม่ได้กำหนดว่าจะทำเพลงสำหรับวัยรุ่นหรือเพลงสำหรับผู้สูงวัย หากดูที่ภาคดนตรีก็เห็นว่ามีกลิ่นอายจากยุคปีสองพัน และย้อนยุค 90s บ้าง ซึ่งไม่ใช่กระแสวัยรุ่นจะฮิตฟังกันและก็ไม่ใช่ดนตรีที่ผู้สูงอายุคุ้นเคย


ส่วนเนื้อหานั้นทุกเพลงในอัลบั้มเป็นเรื่องจริงที่พบเห็นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่ถูกเลือกหยิบขึ้นมาเล่าผ่านสายตาของคนแก่ เขียนเนื้อเพลงโดยการสวมบทบาทเป็นคนแก่ ตัวอย่างเพลงที่เล่าเรื่องให้คนแก่ฟัง เช่น เพลงตรวจสุขภาพประจำปี เพลงศาลาคนเศร้า เพลงคนที่ไปก่อน เพลงที่เล่าเรื่องให้ลูกหลานฟัง เช่น เพลงอัลไซเมอร์ เพลงสวัสดีวันจันทร์ เพลงบุพการีรอ ยกเว้นเพลง เพลงภวชรา เพลงเดียวที่เสียดสี “สังคมสูงวัย”


พวกเขาแค่ต้องการทำในสิ่งที่อยากทำ แต่งเพลงที่มีเนื้อหาที่ร่วมสมัย เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าอยู่ในวัยไหนก็สามารถฟังและเข้าใจได้เหมือนกัน “ก็เหมือนกับเพลงอกหักแหละ ไม่ได้อกหักแต่ก็ฟังได้ บางทีเราก็ฟังเพราะอยากรู้อะไรบางอย่างจากเรื่องอกหัก”

 

 

ผู้สูงวัยอยู่เบื้องหลังการทำงานเพลง


นับเป็นความโชคดีที่ระหว่างการทำเพลงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้สูงวัยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำเพลงทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังมากมาย ทั้งหมดเป็นผู้สูงวัยที่ยังเปี่ยมด้วยพลัง ทุกคนต่างมีความเป็นมืออาชีพ และเป็น “some one” มาก่อน เพียงแค่เราเห็นคุณค่าของพวกเขาเหล่านั้น เมื่อได้รับการชักชวนก็จะตอบรับทันที


เช่น ลุงอ้วนโพธาราม สูงวัยเท้าไฟที่ถูกชักชวนให้ช่วยเต้นประกอบมิวสิควิดีโอ จากการค้นพบโดยบังเอิญในยูทูป แม่ของพี่เต๋อ นวพล มาช่วยร้องเพลงสวัสดีวันจันทร์ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา ช่วยเขียนเนื้อเพลงภวชรา เป็นต้น ยังไม่นับถึง “ตัวละครลับ” อีกหลายคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพลงโดยตรงแต่เกี่ยวข้องกับงานที่วงได้รับเชิญให้ไปงานต่าง ๆ เช่น ลุงแอ๊ดอดีตเซลแมนที่ทางวงชวนให้ไปเป็นตัวแทนวงในงาน Creative Talk เป็นต้น


นับเป็นเรื่องที่ยากเมื่อวัยรุ่นอย่างพวกเขาต้องทำงานร่วมกับ “รุ่นพี่” ต่างวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสื่อสารระหว่างขั้นตอนทำเพลง ผู้สูงวัยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเพลงในยุคเขา การให้มาร้องในแบบที่วงต้องการเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพวกเขา จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน เมื่อร้องไม่ได้ได้ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีการพูด หรือการใช้เสียงจากการสัมภาษณ์แทน เป็นต้น


แต่ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างยอมปรับลดตัวตนและยอมรับซึ่งกันและกัน ทำให้วัยรุ่นอย่างพวกเขามีผู้สูงวัยเป็น “แบ็คอัพ” ที่สำคัญในการทำเพลง

 

การทำเพลงคือการเรียนรู้


กระบวนการทำเพลงของวงเดอะชราภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างวัย เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อเข้าใจกันมากขึ้น ช่องว่างระหว่างวัยก็ลดลง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้สูงวัยทำให้พวกสมาชิกวงทุกคนทึ่งและประหลาดใจเสมอ และนี่คือสิ่งที่สมาชิกวงได้เรียนรู้

  • จากเคยดูแคลนผู้สูงวัยว่าเป็นวัยที่ไร้พลัง เป็นวัยที่ความสามารถถดถอยสู้วัยรุ่นไม่ได้ แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกับผู้สูงวัยทำให้พบว่า ผู้สูงวัยยังคงเรียนรู้อยู่เสมอ ทุกคนมีความสามารถ เพียงแต่ว่าเรามองเห็นและค้นหาศักยภาพเจอหรือไม่ รวมถึงการปรับการทำงานให้เข้ากันด้วย
  • เมื่อก่อนมีภาพจำผู้สูงวัย ว่าเป็นภาพตายายนั่งเลี้ยงหลาน หรือไม่ก็นั่งป่วย นั่งเหงาอยู่กับบ้าน แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกับผู้สูงวัยทำให้พบว่า เราไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางนี้ ยังมีทางที่จะใช้ชีวิตในสิ่งที่ชอบและสนุกได้อยู่ แม้จะอายุมากก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวแก่
  • แน่นอนว่าเรื่องของ “ความแก่” สัมพันธ์กับร่างกายที่อาจเสื่อมถอยลงตามอายุที่มากขึ้น แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกับผู้สูงวัยทำให้พบว่า ไม่จำเป็นว่าอายุต้องมีแต่เรื่องหดหู่ ผู้สูงวัยยังคงมีตัวตน ยังคงมีความฝันให้เดินตามได้เหมือนเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น
  • เมื่อก่อนมีช่องว่างระหว่างวัย แม้แต่ในครอบครัวก็ผู้สูงวัยแต่ก็ไม่รู้สึกอยากคุยด้วย แต่เมื่อได้ใกล้ชิดกับผู้สูงวัยทำให้พบว่า แต่ละคนต่างผ่านประสบการณ์สนุกๆ มา เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เขาเล่า พอถึงจุดหนึ่งก็ทำให้กลับไปใกล้ชิดกับผู้สูงวัยในครอบครัวตัวเองมากขึ้น

 

สุดท้ายแล้ววงเดอะชราภาพเรียนรู้ว่า “ผู้สูงวัย” ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น “รุ่นพี่” ที่เดินนำหน้าไปสู่การมีอายุที่มากขึ้น พวกเขาแค่เดินทางนำหน้าเรา และเรากำลังเดินทางสู่การมีอายุที่มากขึ้นใน “สังคมสูงวัย” ที่คนทุกวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน



บทบาทพิพิธภัณฑ์ในสังคมสูงวัย


เมื่อทีมงาน Museum’s Core ถามว่าอยากให้พิพิธภัณฑ์ทำอะไรกับผู้สูงวัย ก็ได้รับคำตอบว่าผู้สูงวัยกับพิพิธภัณฑ์เป็นอะไรที่น่ารักดี แต่อยากให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่คนหลายวัยมาเจอกัน เป็นสถานที่ที่ผู้สูงวัยก็ไปได้ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับวัยรุ่นได้ด้วย พิพิธภัณฑ์ควรเป็นสถานที่ที่นำเสนอเนื้อหาอะไรบางอย่าง ที่ทำให้คนต่าง generation เข้าใจกันได้ เพราะนี่คือสังคมผู้สูงอายุจริง ๆ คือสิ่งที่เราต้องเจอจริง ๆ


สิบกว่าปีที่ผ่านมาเมืองไทยทำเนื้อหาเกี่ยวกับผู้สูงวัยไม่น้อย เช่น จะออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อผู้สูงวัยอย่างไร พวกนี้มีเยอะจนเอียน อยากให้จัดกิจกรรมเชิงรุก (action) มากกว่าเพราะเห็นจริงจับต้องได้ เช่น เชิญชวนผู้สูงวัยมาเป็นอาสาสมัคร 


นอกจากนี้เราต้องเลิกพูดว่า “แก่” ในเชิงเหยียดอายุได้แล้ว เหมือนกับเรื่องเพศที่ตอนนี้เราก็ไม่พูดว่า เพศที่สามแล้ว มันเป็นเรื่อง universal คือ เป็นเรื่องที่ทุกคนมาร่วมสนุกด้วยกันได้

 

 

Museum's Core

 

 

 

 

ขอขอบคุณ

 

สมาชิกวงเดอะชราภาพ 

 


ชวนมารู้จักวงเดอะชราภาพให้มากขึ้น

 

Facebook: คลิกที่นี่


YouTube: คลิกที่นี่

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ