หากใครเคยไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ในปัจจุบันทุกคนจะทราบโดยทั่วกันว่าในโรงภาพยนตร์นั้นต้องการ “ความเงียบ” มากพอสมควร หรือถ้าท่านไม่ทราบ (กรณีเพิ่งเข้าชมครั้งแรก) ท่านก็จะทราบได้จากบรรยากาศเงียบเชียบที่แวดล้อมตัวท่าน รวมไปถึงโฆษณาประจำโรงภาพยนตร์ที่พยายามสื่อสารด้วยการร้องขอความเงียบจากท่าน เพื่อการเสพภาพยนตร์ให้ถึงอรรถรสและเพื่อไม่เป็นการรบกวนผู้อื่น จนมีคนพูดกันว่า “นอนหลับไปเสียดีกว่าเสียงดังรบกวนผู้อื่น” มิเช่นนั้นจะต้องมีคนตำหนิท่านแน่นอนว่าเป็นคน “ไม่มีมารยาท” แต่ในยุคแรกเริ่มของการเข้ามาของภาพยนตร์นั้นกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง ในเวลานี้จึงขอร้องให้ท่านอ่านบทความนี้อย่างเงียบ ๆ และพิจารณาต่อไป
กำเนิดสื่อภาพยนตร์ในสยาม เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยนายเอส จี มาคอฟสกี ได้นำภาพยนตร์มาฉายในไทย ดังตัวอย่างโฆษณาภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มนี้ “ขอแจ้งความให้ท่านทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า การละเล่นซึ่งเรียกว่า ซีเนมาโตแครฟ คือ รูปที่สามารถกระดิกแลทำท่าทางต่าง ๆ ได้ โดยคำขอของราษฎรจะเล่น ๓ คืนติด ๆ กัน คือคืนวันพฤหัสบดี วันศุกร์ แลวันเสาร์ ตรงกับวันที่ ๑๐, ๑๑, ๑๒ เดือนมิถุนายน ที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ จะมีวงแตรเป่าด้วย ปรอแฟศเซอร์ หมอรีศ ผู้ชำนาญในการเล่นนี้ในทวีปตวันตก ประตูจะเปิดเวลา ๒ ทุ่ม ตรงกับ ๘ โมงฝรั่ง ราคาห้องหนึ่งที่มีเก้าอี้หลายตัว (บอกซ์) ราคา ๑๐ บาท ชั้นที่หนึ่งราคา ๓ บาท ชั้นที่สองราคา ๒ บาท ชั้นที่สามราคา ๑ บาท ชั้นที่สี่คือที่นั่งวงเวียน ๒ สลึง เด็กที่มีอายุศม์ต่ำกว่า ๑๐ ขวบ จะเรียกเอาราคาแค่ครึ่งเดียว” (Bongkok Times, 9 มิถุนายน 2440)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้ข้อเสนอว่าภาพยนตร์ไทยนั้นมีความสืบเนื่องกับการแสดงอื่น ๆ ของคนไทยที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว ให้สังเกตได้จากการเรียกภาพยนตร์ว่า “หนัง” ซึ่งยืมมาจากที่เคยเรียก “หนังใหญ่” อันแสดงถึงการเชื่อมต่อภาพยนตร์กับการแสดงแบบโบราณ จึงทำให้มิติวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มของคนไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกับการดูมหรสพพื้นบ้านอื่น ๆ เช่น ลิเก ละครนอก
อีกทั้งประกอบกับการที่ภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่มเป็นภาพยนตร์เงียบ ยังไม่มีการบันทึกเสียงลงฟิล์ม จึงต้องมีเสียงดนตรีบรรเลงสร้างบรรยากาศ การฉายภาพยนตร์แต่ละครั้งจะมีการแสดงอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น มายากล ละครร้อง และมีดนตรีสดหรือดนตรีจากหีบเสียง เครื่องเล่นจานเสียง หรือเครื่องเล่นไขลาน เปิดเพลง หากเป็นนักดนตรีสดก็อาจจะเป็นการว่าจ้างนักดนตรีเดี่ยวเล่นหีบเพลง เล่นไวโอลิน เปียโน ออร์แกน หรือจะเล่นเป็นวงอย่างแตรวง บรรเลงเพลงประกอบอยู่ข้างจอที่ฉายภาพยนตร์
“เพราะเพียงแต่เครื่องฉายซึ่งตั้งเปล่าอยู่ท่ามกลางโรงที่ส่งเสียงกรากแกรกแทรกลั่นตลอดเวลาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเป็นเครื่องฉายยุคแรก ๆ และสภาพโรงฉายตามมีตามเกิดในยุคนั้น ซึ่งมิใช่โรงอุ้มเสียงและมิได้กั้นห้องสำหรับตั้งเครื่องฉายเก็บเสียงแยกจากกันในโรง... ทีนี้ยังสารพัดเสียงอื่น ๆ อีก เช่น เสียงผู้ชมพูดคุยกัน ทั้งที่กระซิบกระซาบและไหลจ้อ เสียงคนเมาโหวกเหวก โวยวาย เสียงทารกร้องกระจองอแง เสียงใครจามฟิดฟัดและไอโขลกขลาก เสียงตบยุงริ้น เสียงใครตะบันหมาก ฯลฯ เหล่านี้แหละรวมเป็นเสียงอึกทึกธรรมชาติในโรงภาพยนตร์ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีอะไร รังแต่จะรบกวนอารมณ์ของผู้ชมส่วนใหญ่ให้หงุดหงิดรำคาญ แล้วผลาญสมาธิในการดูภาพยนตร์อย่างสงบราบรื่นลงทันใด...ดังนั้นหน้าที่เบื้องต้นจริง ๆ ของการบรรเลงดนตรีขณะฉายภาพยนตร์ก็คือเพื่อกลบเกลื่อนความเงียบงันอันอึกทึกนั่นเอง” (โดม สุขวงศ์, 2555)
นอกจากภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่ม ไม่มีเสียงจนต้องมีการบรรเลงสร้างบรรยากาศแล้วนั้น ยังมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดทางเทคนิคในสมัยนั้นคือ ภาพยนตร์จะเกิดอาการภาพเต้นจนพร่ามัว ทำให้ผู้ชมปวดตาได้ จึงต้องมีดนตรีหรือการแสดงอื่นมาคั่นไว้
นับเป็นวัฒนธรรมการเสพภาพยนตร์ที่แตกต่างไปจากปัจจุบันที่เน้นความ เงียบ เย็น มืด ต่อเนื่องเป็นเวลา 1-3 ชั่วโมง หากมีใครทำลายบรรยากาศเหล่านี้ จะต้องมีคนโกรธเพราะถือว่าเป็นการเสียมารยาท สาเหตุหนึ่งคือสถานภาพของภาพยนตร์ในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันมาก ในอดีตแรกเริ่มมีภาพยนตร์ ภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อความบันเทิง การไปดูหนังถือเป็นการไปสมาคมกัน เพื่อความรื่นเริงในระดับชาวบ้านที่มารับชมความแปลกใหม่ที่หาชมจากสื่ออื่นไม่ได้ รวมไปถึงเทคโนโลยีภาพและเสียงของภาพยนตร์ที่ยังไม่พัฒนา แต่ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น พัฒนาบทภาพยนตร์ นักแสดง เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงมีวัฒนธรรมแบบแผนในการซึมซับตามขนบต่างประเทศบ้าง ตามชนชั้นสูงบ้างทำให้ภาพยนตร์เป็นสื่อที่อยู่ในสถานะของศิลปะร่วมด้วย กลายเป็นว่าโรงภาพยนตร์จากเคยเป็นผู้สร้างเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ที่กระทบหูเรา ในปัจจุบันกลับเป็นผู้ต้องร้องขอความเงียบจากเราแทน
รัชนก พุทธสุขา
อุณาโลม จันทร์รุ่งมณีกุล. (2560). 120 ปี ธุรกิจภาพยนตร์ไทย ในมิติประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).