เกิดสำเพ็ง
‘เกิดสำเพ็ง’ เป็นหนังสือชีวประวัติของ ‘กิมหงวน’ ตัวละครหนึ่งจากนวนิยายเรื่อง ‘พล นิกร กิมหงวน’ นวนิยายที่ทรงอิทธิพลที่ปรากฏครั้งแรกใน พ.ศ. 2482 เขียนโดย ป. อินทรปาลิต เล่าถึงวีรกรรมของหนุ่มเจ้าสำราญผู้มีอันจะกินและรักการผจญภัยสามคน นวนิยายดังกล่าวมีเนื้อหาขบขันและสนุกสนาน และยังสะท้อนประเด็นสำคัญ ๆ ในยุคสมัยด้วย ได้รับการตีพิมพ์เกือบพันตอน เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความเป็นไปในสยามระหว่าง พ.ศ. 2482-2511 หนึ่งในตัวละครหลักสามตัวที่มีผู้ชื่นชอบมากคือ ‘กิมหงวน’ เป็นพ่อค้าไทยเชื้อสายจีนฐานะร่ำรวย
เกษียร เตชะพีระ เคยเขียนเกี่ยวกับความเป็นชาติและภูมิหลังทางธุรกิจของกิมหงวน ซึ่งเกษียรวิเคราะห์ถึงตอนหนึ่งที่กิมหงวนพยามขายหนังสือชีวประวัติ ‘เกิดสำเพ็ง’ ของเขา กิมหงวนเชื่อว่าหนังสือจะต้องขายดีเนื่องจากเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จของตน หนังสือที่พิมพ์อย่างประณีตสวยงามวางขายในราคาเล่มละ 20 บาท โดยตั้งเป้ายอดขายอย่างน้อย 50,000 เล่ม แต่การณ์มิได้เป็นไปเหมือนตลาดหนังสือปัจจุบันที่คู่มือธุรกิจจีน และคู่มือธุรกิจจีน-ไทยขายดี สมัยนั้นดูเหมือนไม่มีใครสนใจชีวประวัติของกิมหงวน คนอ่านไม่กี่คนที่ซื้อไปก็ก่นด่าคนเขียนและนำหนังสือมาขอคืนเงิน เพื่อจะขายหนังสือให้ได้กิมหงวนจึงใช้วิธีสอดธนบัตร 100 ไว้ในหนังสือซึ่งยังคงขายเล่มละ 20 บาท กลวิธีการตลาดเช่นนี้ทำให้กิมหงวนขายหนังสือได้หมดแต่แน่นอนว่าขาดทุนอย่างหนัก
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้เปิดประเด็นสำคัญไว้ว่า แม้ไม่มีการปรากฏแน่ชัดว่านวนิยายตอนนี้ที่เกษียร เตชะพีระ กล่าวถึง เขียนขึ้นเมื่อไหร่ แต่ทักษ์ประมาณการว่าน่าจะราว พ.ศ. 2493 เป็นปีเดียวกับที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตีพิมพ์หนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ซึ่งเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต ทักษ์สันนิษฐานว่าบางที ป. อินทรปาลิต อาจจะเขียนล้ออดีตเพื่อนร่วมโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมของเขาก็เป็นได้
เกิดวังปารุสก์
‘เกิดวังปารุสก์’ หนังสือที่ถูกอ้างอิงถึง เป็นหนังสือที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ชีวประวัติของพระองค์เอง
“…ชีวิตของข้าพเจ้านับว่าแปลกอยู่บ้าง ข้าพเจ้ามีกำเนิดมาในตระกูล ซึ่งมีประวัติอันพาดพิงใกล้ชิดกับประวัติของชาติ ในเมื่อเด็ก ๆ ข้าพเจ้าได้เห็นชีวิตในวังหลวง ในวังเจ้านายต่าง ๆ ได้เคยอยู่โรงเรียนนายร้อยสมัย ๒๕ ปีมาแล้วของเหล่านี้ส่วนมากนับแต่จะสูญหายไปทุกวัน….”
“…ความประสงค์ของข้าพเจ้าในการแต่งหนังสือก็คือ จะเล่าถึงชีวิตของข้าพเจ้าเป็นเวลาเกือบ ๔๒ ปี ให้ใกล้กับความจริงอย่างที่สุด…”
อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
จากเนื้อหาใน ‘เกิดวังปารุสก์’ ที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงนิพนธ์ไว้พบว่า
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์นั้น เผชิญกับการตั้งคำถามเรื่องความเป็นคนไทย พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นโอรสของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้า จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ส่วนมารดาของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นชาวรัสเซียชื่อว่า คัทริน เดสนิตสกี (Desnitski) เหตุที่มีมารดาเป็นชาวต่างชาตินี้เองที่ทำให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เป็นเจ้านายที่ต้องเผชิญกับการตั้งคำถามถึงอัตลักษณ์ความเป็นคนไทย
การต่อสู้เรื่องความเป็นคนไทยที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ต้องเผชิญนั้นมีมาตั้งแต่ที่พระองค์ยังไม่ประสูติเสียด้วยซ้ำ แรกเริ่มที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนี พระพันปีหลวง ไม่ยอมรับ และรัชกาลที่ 5 ทรงตรัสถามกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้า จักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ว่าถ้าหากมีลูกจะให้ลูกเป็นอะไร
“ตามที่ข้าพเจ้าได้ทราบเรื่องราวต่อมา ปรากฏทูลหม่อมปู่ได้ทรงเรียกพ่อให้ไปเฝ้าสองต่อสองและได้ทรงต่อว่าถึงการแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่ง จริงอยู่บุคคลชั้นขุนนางได้เคยมีแต่งงานกับผู้หญิงฝรั่งมาก่อนนั้นแล้ว แต่ชั้นเจ้านายนั้นยังไม่มี ทูลหม่อมปู่ได้ทรงเตือนพ่อว่า เป็นที่สองในการสืบสันตติยวงศ์ต่อจากทูลหม่อมลุง พ่อได้ทรงโต้เถียงว่า มิได้เคยทรงคิดเช่นนั้น...ต่อจากนั้นทูลหม่อมปู่ยังได้ทรงถามพ่อว่า ‘ถ้ามีลูกออกมาแล้ว จะให้มันเป็นอะไร’”
“..พ่อได้ทรงตอบด้วยสำเนียงอันห้วน ๆ ว่า ‘ไม่ต้องเป็นอะไรเลย ให้มันเป็นมิสเตอร์ก็ได้’...”
“...ทูลหม่อมปู่ก็เลยตกลงพระทัยว่าจะทำเฉย ๆ เสียและทำประหนึ่งว่า พ่อยังมิได้ทรงแต่งงานเลย ส่วนย่านั้นกลับกริ้วกราดยิ่งขึ้นอีก ทรงมีความเห็นว่าแม่ได้ยอมมาแต่งงานและอยู่กับพ่อเพราะอยากได้อัฐ…”
นอกจากนั้นเพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็ได้เล่าถึงสถานการณ์ที่สามารถคลี่คลายและทำให้หม่อมคัทรินเป็นที่ยอมรับ ก็ด้วยการฝึกฝนมีมารยาทที่งามอย่างไทย
“...ย่าได้เสด็จมาเยี่ยมพ่อที่วังปารุสก์อยู่บ่อย ๆ แต่พ่อก็ให้แม่แอบเสียทุก ๆ คราว วันหนึ่งเจ้านายผู้หญิงที่ตามเสด็จย่ามาด้วยได้ทูลออกความเห็นว่า ควรจะให้แม่มาเฝ้าได้แล้ว ย่าก็ตกลงทรงเห็นด้วย ตรัสบอกพ่อให้พาแม่มาเข้าเฝ้า มีท่านสุภาพสตรีอาวุโสผู้หนึ่งที่เคยมีตำแหน่งสูงในวังได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า บรรดาเจ้านายและสตรีชั้นสูงที่ตามเสด็จมา ก็พากันซุบซิบหัวเราะต่อกระซิก คิดว่าแม่จะเข้ามาทำท่าทางเป็นฝรั่งเก้ ๆ กัง ๆ และไม่ถูกแบบแผนต่าง ๆ ทั้งนี้ เพราะไม่ทราบว่าแม่ได้แอบเรียนการหมอบกราบและคลานมานานแล้ว ฉะนั้น เมื่อพ่อนำแม่มาในที่เฝ้า แม่ก็คลานมาและหมอบกราบอย่างเรียบร้อย เป็นที่พอพระทัยย่าอย่างยิ่งและย่าได้โปรดลูกสะใภ้ของท่านตั้งแต่บัดนั้นมา”
หลังจากการเล่าถึงการพิสูจน์ตนเองจนได้รับการยอมรับแล้วนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็เล่าถึงครอบครัวของพระองค์ และแน่นอนครอบครัวของพระองค์ไม่ใช่แค่ครอบครัวธรรมดา หากแต่ว่าสำคัญกับประวัติศาสตร์ไทยด้วยดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า
เนื้อหาในหนังสือเกิดวังปารุสก์พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้มีเนื้อหาที่พยายามนำเสนอถึงความเป็นคนไทยของพระองค์ เช่นในบทแรก ชื่อ “กำเนิด” เล่าถึงว่าเรื่องของครอบครัว ซึ่งเกี่ยวพันกันกับประวัติศาสตร์ประเทศ เล่าถึงชาติกำเนิดว่าเกิด พูดถึงพระบิดา พระมารดา รวมถึงเสด็จปู่ เสด็จลุงซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ นั่นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รวมถึงการกล่าวถึงความผูกพันธ์และชื่นชมเสด็จย่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ว่าเป็นผู้วิเศษ ที่ใครเห็นก็เกรงขาม
อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยของกิมหงวน
ส่วนการพูดถึงประเด็นความเป็นคนไทยของกิมหงวน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ให้ข้อสังเกตว่า เรารู้จักพื้นเพของกิมหงวนน้อยมาก เรารู้ว่าเขาเกิดที่สำเพ็ง พ่อเป็นมหาเศรษฐีชื่อ ‘กิมเบ๊’ ลุงเป็นพ่อค้าฐานะดีชื่อ ‘กิมไซ’ แม้ว่าพ่อกับลุงของเขาจะพูดไทยติดสำเนียงจีนอย่างหนัก แต่กิมหงวนพูดไทยได้ชัด แต่ยังรู้ภาษาจีนเนื่องจากได้เรียนที่โรงเรียนจีนก่อนจะเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญ เรารู้ว่าเขาถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจ ก่อนจะกลับมาเป็นผู้จัดการห้างสรรพสินค้าของพ่อเขาซึ่งชื่อว่าห้าง ‘ศิวิลัยซ์พานิช’ ป. อินทรปาลิต บอกกับคนอ่านว่ากิมเบ๊พ่อของกิมหงวนเสียชีวิตเมื่ออายุ 80 ปี เรารู้ว่าแม่ของกิมหงวนเป็นคนไทย แต่แม่และญาติคนไทยของเขาไม่เคยปรากฏตัวในเรื่อง เรารู้ว่ากิมหงวนร่ำรวยเพราะได้รับมรดกเป็น 10.5 ล้านบาทที่ฝากในธนาคารสามแห่ง อีก 60,000 บาทในปี๊บที่บ้าน โรงสีสิบแห่ง โรงเลื่อยสิบแห่ง เรือกลไฟสิบลำ รถประจำทางหนึ่งสาย และทรัพย์สินที่ให้เช่าอีกนับสิบรายการ อันที่จริงกิมหงวนมีรายได้จากธุรกิจวันละมากกว่า 5,000 บาท ในยุคสมัยนั้นคนรับใช้มีรายได้เดือนละ 10 บาท
กิมหงวนยอมรับในเชื้อชาติจีนของเขาแต่ก็มักพูดติดตลกเกี่ยวกับครอบครัวของตนเอง เมื่อหญิงไทยชั้นสูงสองนางพบกิมหงวนเป็นครั้งแรก พวกเธอถามว่าเขาเป็นใครและทำงานอะไร กิมหงวนตอบว่า “ผมหรือครับ ผมเป็นเจ๊กครับ ลูกจีนเกิดในไทยแลนด์ มารดาเป็นไทย น้าผมก็เป็นไทย ส่วนลุงและอาเป็นเจ๊กครับ แล้วก็-จีนกับไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกันครับ” หญิงสาวถามต่อไปเกี่ยวกับอาชีพของเขา กิมหงวนเลี่ยงที่จะตอบคำถามด้วยการเลือกที่จะฟังคำว่า ‘อาชีพ’ เป็น ‘อาที่ชื่อชีพ’ แทน กิมหงวนตอบว่า “อ๋อ อาผมไม่ได้ชื่อชีพครับ แกชื่อกิมลี้ครับ” หญิงสาวหงุดหงิดบอกว่าพวกเธอรู้แล้วว่าเขาเป็นเจ๊กแต่อยากรู้ว่าเขา “ทำอะไรกิน” กิมหงวนตอบว่าเขาไม่เคยทำเลยเพราะนั่นเป็นหน้าที่แม่ครัว
ทักษ์ กล่าวว่าในใจของกิมหงวนนั้นเขารู้ชัดถึงอัตลักษณ์ของตนเอง ในกรณีนี้เขาเลือกระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติสองทาง แบบไทยด้วยการเลือกฝ่ายแม่ แทนที่จะเลือกระบบความสัมพันธ์เครือญาติแบบจีนที่นับพ่อเป็นหลัก
ใน ‘รัฐนิยม’ ที่ออกมาปี 2483 เป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รณรงค์เชิดชูกระแสชาตินิยมเพื่อสร้างความสามัคคีและกระตุ้นให้คนไทยต่อต้านศัตรูต่างชาติ ตัวละครหลักของนวนิยายเรื่องนี้ตัดสินใจตั้งสมาคมรัฐนิยมขึ้นตอบสนองต่อการเรียกร้องของรัฐบาลให้ต่อต้านการครอบงำเศรษฐกิจไทยของต่างชาติ พลเมืองไทยถูกเรียกร้องให้ไล่คนงานต่างชาติออกและจ้างคนงานไทยแทน ก่อนจะตกลงเข้าร่วมกลุ่ม กิมหงวนขอให้มีข้อยกเว้นอย่างหนึ่ง เขาบอกว่ามีคนไทยแค่คนเดียวในบริษัทของเขานั่นคือเขาเอง นอกนั้นเป็น ‘ตึ่งนั้ง’ (คนจีนที่เพิ่งอพยพมาใหม่) เขาบอกว่าหากไล่คนกลุ่มนั้นออกบริษัทก็จะเจ๊ง ในการบรรยายว่ามีคนไทยเพียงคนเดียวในบริษัทของเขา กิมหงวนใช้คำภาษาจีนสำหรับคำว่าคนเดียวคือ ‘เจ๊กไก๊’ ซึ่งบ่งบอกว่าเขาสามารถอ้างอัตลักษณ์ไทยได้แม้ว่าจะยังคงรักษาแง่มุมต่าง ๆ ของวัฒนธรรมและภาษาจีนอยู่ สหายคนไทยของเขาและผู้อ่านก็เข้าใจความหมายของคำว่าเจ๊กไก๊
เมื่อ ป. อินทรปาลิต แนะนำตัวกิมหงวนเขาไม่มีแซ่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนไปในช่วงรัฐนิยมคนไทยทั้งหมดถูกเรียกร้องให้ใช้นามสกุลไทย ดังนั้นกิมหงวนจึงกลายเป็น ‘กิมหงวน ไทยแท้’ ซึ่งทักษ์มองว่าเป็นการเล่นคำที่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าเพียงเพื่อความขบขัน นามสกุลที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ลดทอนความขลังเกี่ยวกับความเป็นไทยด้วยการยอมให้คนที่มีชื่อจีนมีโอกาสจะกลายเป็นไทยแท้ เรื่องยิ่งอลเวงมากขึ้นเมื่อกิมหงวนเปลี่ยนนามสกุลไปเรื่อย ๆ คราวหนึ่งเขามีชื่อและนามสกุลว่า “สงวน ไทยเทียม’ แทน ‘กิมหงวน ไทยแท้’
การให้ตัวละครนี้มีชื่อและนามสกุลมีสองแบบ ทักษ์ มองว่า ป. อินทรปาลิต แสดงถึงความซับซ้อนในการสร้างอัตลักษณ์โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องของเจ๊ก สงวน ไทยเทียม อาจหมายความได้ว่ารักษาความเป็นไทยเทียม ชื่อและนามสกุลนี้ใช้คำไทยทั้งหมดเพื่อบอกว่าบุคคลนี้เป็นไทยไม่แท้ ทว่า กิมหงวน ไทยแท้ ใช้ชื่อจีนกับนามสกุลไทยที่บอกว่าเขาเป็นไทยแท้ ในกรณีนี้กิมหงวนอ้างดื้อ ๆ ว่าเขาเป็นไทยแท้เช่นกัน เราอาจถามได้ว่าสองกรณีนี้ กรณีไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน น่าสนใจว่าภาพปกที่วาดเป็นการ์ตูนมักแสดงภาพกิมหงวนสวมแว่นตาดำ เราสามารถมองเรื่องนี้ได้ว่าเป็นการซุกซ่อนหน้าตาแบบจีนของเขาโดยเฉพาะดวงตาเพื่อจะได้ดูเป็นไทย หรือในเชิงอุปมา เขาเป็นจีนที่มองโลกผ่านแว่นแบบไทย
ทั้งหมดจึงเป็นดังที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ มองว่า ‘เกิดสำเพ็ง’ คือการประกาศว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่เกิดในย่านคนจีนก็ควรถูกถือว่าเป็นคนไทย หากว่าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ที่มีแม่เป็นคนรัสเซียยังถูกถือว่าเป็นเจ้านายไทยได้
รัชนก พุทธสุขา
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2558). อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย. กรุงเทพฯ: อ่าน.