Museum Core
ราษฎรเดิม และการซื้อที่ดินสร้างถนน “ถนนราชดำเนิน”
Museum Core
12 มี.ค. 63 1K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

ราษฎรเดิม และการซื้อที่ดินสร้างถนน “ถนนราชดำเนิน”

 

 

ถนนราชดำเนิน ถนนอันโอ่อ่า สง่างาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวสยาม โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม เบื้องหลังถนนเส้นนี้คือแนวคิดสร้าง "ความศิวิไลซ์" ให้บ้านเมือง เพื่อมิให้ประเทศมหาอำนาจอ้างว่าเหนือกว่าในเชิงอารยธรรมเพื่อเข้าครอบครอง 

 

หากแต่ว่าในอีกมุมหนึ่ง ก็มีราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เดิมก่อนที่จะมีการตัดถนนได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ที่อยู่ไกลออกไปก็อาจได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งถนนสายศิวิไลซ์ อันเป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมืองสายนี้ เสียงเรียกร้องของราษฎรเดิมเหล่านี้ปรากฏอยู่บ้างผ่านหลักฐานการจัดซื้อที่ดิน คดีความต่าง ๆ แม้ว่าเสียงเหล่านั้นจะค่อย ๆ เบาหายไป เห็นแต่ฉากหน้าความแห่งสวยงามของถนน

 

ในการตัดถนนราชดำเนินนั้น มีความคาดหวังกันว่าจะช่วยบำรุงการเดินทางของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชานเมืองเข้าสู่ใจกลางพระนคร อีกทั้งจุดประสงค์ที่สำคัญในการตัดถนนสายนี้อีกประการหนึ่ง ก็เพื่อให้เป็นถนนที่ประชาชนได้เดินเที่ยวผักผ่อน ซึ่งสองฟากถนนถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งวังและสถานที่ราชการใหม่ ๆ ดังพระราชหัตถเลขาที่ว่า

 

“...เพราะที่เหล่านั้นเปนแต่สวนไม่มีบ้านเรือนมากนัก และอยู่ตรงน่าพระที่นั่งออกมาจะเปนที่งดงาม เปนถนนแฟตชั่นเนบอลสำหรับขี่รถวนไปวนมา ที่สองข้างนั้นต่อไปจะต้องเปนวังออฟฟิชใหญ่ ๆ ฤๅบ้านผู้มั่งมี ที่จะตั้งร้านหยุม ๆ หยิม ๆ ไม่ได้ เพื่อแก่ให้เปนการใหญ่สำหรับการประชุมคนไปเที่ยวเช่นนี้ คงจะกลับเปน ทางคนไปมาเที่ยวเตร่ดีขึ้น นับว่าเปนราษีของเมืองไทยสักแห่งหนึ่ง..”

 

อย่างไรก็ดี กนกวรรณ ชัยทัต ก็ได้วิเคราะห์ไว้ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างและเตรียมพื้นที่เพื่อพระองค์ หรือเพื่อความคิดของพระองค์ นอกเหนือจากที่จะต้องการสนับสนุนและพัฒนาประเทศชาติ ตลอดจนพสกนิกรชาวสยามให้เจริญขึ้นไปอย่างแท้จริง

 

แต่กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบภายใต้กระบวนการตัดถนนพัฒนาเมืองที่เด่นชัดที่สุด คือ กลุ่มชาวเมืองที่ยากจน และกลุ่มคนที่ไร้อำนาจต่อรอง ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ในบริเวณที่ถนนต้องตัดผ่านไปในที่ดินของตนไม่ว่าจะเป็นการควบคุม กฎข้อห้ามต่าง ๆ ที่ทยอยกันออกมา นับตั้งแต่แรกเริ่มสร้าง ไปจนถนนนี้สร้างแล้วเสร็จ ราษฎรบางรายถึงขั้นขัดขวางไม่ให้ลงมือก่อสร้าง เพื่อรอร้องเรียนเป็นผลก่อน หรือต้องได้รับความชอบธรรมในการชดใช้พื้นที่หรือเงินตรา

 

ตัวอย่างเอกสารร้องเรียนของราษฎรผู้ถูกไล่รื้อจากการสร้างถนนราชดำเนิน

 

“นายสุต, นายแฉ่ง, นายรอต, นายพร, ร้องว่าที่บ้านช่างหล่อ วัดบดีนายก ว่าเจ้าพระยาบดินทรเดชายกให้ ไต่สวนไม่ได้ความจริง ให้ยกเรื่องราวแล้วให้ไล่รื้อถอนบ้านเรือนไปเสียจากที่หลวงจะสร้างถนนราชดำเนิน (เกี่ยวนายป้อม, อำแดงเขียน)”

 

“เอี่ยม, เจ้าจอมมารดาร้องว่าที่บ้าน ถูกตัดถนนพระราชดำเนิน ขอที่แลกเปลี่ยนใหม่”

 

นอกจากราษฎรเดิมที่มีบ้านเรือนและที่ดินอยู่บริเวณที่มีการตัดถนนแล้ว ก็ยังมีราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎต่าง ๆ ที่ตามมาอีกด้วย


เมื่อถนนราชดำเนินสร้างเสร็จ ทางรัฐได้มีเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการจัดระเบียบการใช้พื้นที่บนถนนราชดำเนินด้วยการออกกฎระเบียบข้อบังคับแก่ราษฎรหลายประการ ดังเห็นได้จากเอกสารการควบคุมการใช้ยานพาหนะบนถนนราชดำเนินโดยห้ามรถลากเดินบนถนนใหญ่


“ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลจัดรถลากซึ่งเดินไปมาในถนนราชดำเนิน ห้ามมิให้เดินในถนนใหญ่ กำหนดให้เดินแต่เฉภาะในที่ถนนเล็ก ๒ ข้างเท่านั้น บัดนี้พลทหารซึ่งประจำรักษาการอยู่ที่น่าวังสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานารถห้ามมิให้รถลากเดินไปมาในถนนเล็กเป็นข้อขัดขวางแก่ระเบียบการที่ได้จัดตามกระแสพระบรมราชโองการดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นขอกรมยุทธนาธิการได้มีคำสั่งกองทหารให้ยอมให้รถลากเดินไปมาในถนนเล็กต่อไปด้วย ขอได้นำกราบทูล นายพลเอกพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ”

 

หรือดังที่ปรากฏตามความที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศวรฤธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ถึงมิสเตอร์ลอซัน ผู้บังคับการ กรมกองตระเวนเกี่ยวกับการห้ามผูกม้าริมถนนราชดำเนิน

 

“ด้วยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า ที่ถนนราชดำเนินกลาง มีผู้นำม้าไปผูกอยู่ตามเสารั้วผักบุ้งบ้าง แลป่อยไม่มีคนดูบ้าง อยู่ตามขอบหญ้าถนนราชดำเนินกลางเล็กด้านเหนือ เมื่อเวลารถม้าวิ่ง อาจจะออกขวางน่าฤๅ วิ่งตามไปให้เป็นอันตรายแก่รถม้าได้ ให้ท่านสั่งกองตะเวนท้องที่ตรวจตราห้ามอย่าให้ผู้ใดนำม้าไปผูกตามเสารั้วแลตามคอกต้นไม้ หรือปล่อยไม่มีคนเลี้ยงให้เที่ยวเดินตามขอบหญ้าถนนนั้น แลการปักหลักม้าเลี้ยงตามสนามหญ้าต่อไป ห้ามไม่ให้ผูกหลักทิ้งไว้โดยไม่มีคนเลี้ยงเป็นอันขาด”

 

จะเห็นได้ว่าเกิดการจัดระเบียบในการเข้าใช้พื้นที่ และมีระดับของการเข้าใช้ รวมถึงบริเวณที่ถูกจำกัด อันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต้องการสร้างภาพเจริญตาเจริญใจให้แก่พระนคร ไม่ต้องการให้เกิดความไร้ระเบียบขึ้นแก่ถนนที่มีภาพลักษณ์สง่างาม สิ่งใดที่ถูกมองว่าไม่เป็นระเบียบก็ต้องถูกกันออกไป แม้ว่าถนนราชดำเนินจะเป็นถนนสายงาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากว่าจะงามก็จะต้องมีผู้คนที่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

 

รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

 

 

 

 


อ่านเพิ่มเติม

 

กนกวรรณ ชัยทัต. (๒๕๑๖). การสร้างความเป็นสมัยใหม่ด้วยมิติวัฒนธรรม : มุมมองเรื่องพื้นที่ศึกษาจากพระราชวังดุสิต วัดเบญจมบพิตร-ถนนราชดำเนิน ในสมัยรัชกาลที่ ๕. วิทยานิพนธ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ