ประชาชนทั่วไปคงคุ้นเคยกับอาหารกระป๋องเป็นอย่างดี เนื่องจากหาซื้อง่าย สะดวกสบาย สามารถเก็บไว้ได้นานในอุณหภูมิปกติ สามารถใช้บริโภคได้ทันทีหรืออาจปรุงเพิ่มเพียงเล็กน้อย และเมื่อยามเกิดภัยพิบัติ ข้าวยากหมากแพง สงคราม สถานการณ์โรคระบาดรวมทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ อาหารกระป๋องก็จะถูกนึกถึงและถูกซื้อกักตุนไว้เพื่อยังชีพเป็นอันดับแรก ๆ
สำหรับทหารแล้วอาหารกระป๋องจัดเป็นเสบียงประเภท ข. ถือว่าเป็นเสบียงหลักสำหรับใช้ในขั้นการรบ เป็นอาหารสำหรับทหารที่กำลังปฏิบัติการในเวลาสงคราม หรือกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากทหารพกพาสะดวกไม่บูดเสียง่าย เสบียงประเภทนี้มีความมุ่งหมายเพื่อใช้แทนเสบียงประเภทอาหารสด ใช้สำหรับนอกที่ตั้งในสถานการณ์ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเก็บเย็น หรือหน่วยไม่มีขีดความสามารถที่จะจัดหาเสบียงประเภทอาหารสดได้เองในท้องถิ่น
ใน “นิราศหนองคาย” บันทึกถึงการยกทัพไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคาย เมื่อ พ.ศ. 2418 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีร่องรอยว่าอาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในเสบียงที่เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ติดตัวไปด้วย
“แล้วท่านจัดพร้อมเพรียงเสบียงกรัง ขนมปังกินยืดทั้งจืดหวาน
ปลาซาดินอินทผลัมทั้งน้ำตาล ท่านเจือจานแจกจ่ายทุกนายพล
ทั้งพริกเกลือเยื่อเคยนมเนยนอก แล้วสั่งบอกไพร่มารับอยู่สับสน
ซึ่งข้าวของกองคละอยู่ปะปน ผู้คนขนคนละกองของดีดี ฯ”
โดยสันนิษฐานว่า ปลาซาดินและนมเนยนอก น่าจะเป็นเครื่องกระป๋องที่เจ้าพระยามหินทรฯ เตรียมไว้เป็นเสบียงระหว่างทาง
ในอดีตเสบียงรบสำหรับทหารทั่วไปได้แก่ ข้าวตากและพริกกับเกลือ แต่หลักการเลี้ยงดูทหารในสนาม ถือกันว่าเลี้ยงด้วยอาหารสดดีกว่าอย่างอื่น กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า “อาวุธจะมีประสิทธิภาพดีอย่างไรย่อมเปล่าประโยชน์ ถ้าขาดอาหาร” การกินดีในสนามรบ ไม่เพียงแต่ทำให้มีพลังงานเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ยังสามารถช่วยสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารอีกด้วย ตัวอย่างเช่น เสบียงรบของกองทัพอิตาลีมีพาสต้า ไก่งวงกระป๋อง ซุปถั่ว คาปูชิโนผงพร้อมชงดื่ม กองทัพฝรั่งเศสมีปาเต (ตับบด) สตูขาเป็ดแบบฝรั่งเศสดั้งเดิม เป็นต้น
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงกลาโหม มีพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธานกรรมการ อสร. ซึ่งก่อนหน้านี้แต่เดิมกระทรวงกลาโหมมีโครงการตั้งโรงงานอาหารกระป๋องกองทัพบกอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
เหตุผลในการจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปหรือ อสร. “เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตอาหารสำเร็จรูปให้มีเพียงพอตามความจำเป็นแก่การบริโภคและสะดวกแก่การขนย้ายในเวลาที่ทางราชการต้องการ และเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนที่จะได้มีอาหารบริสุทธิบริโภคโดยทั่วถึงกันทั้งประเทศ ตลอดถึงในท้องถิ่นที่กันดารซึ่งขาดแคลนอาหารสด เป็นการช่วยเหลือในการครองชีพ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจที่ไม่ต้องสั่งซื้ออาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ หรือทำให้การสั่งซื้อสินค้าประเภทนี้จากต่างประเทศลดน้อยลง และยังเป็นโอกาสให้ประชาชนพลเมืองได้มีโอกาสทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายวัตถุดิบให้แก่องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป อันเป็นผลพลอยได้ในการเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย”
อาหารสำเร็จรูปที่ว่าหมายถึงอาหารบรรจุกระป๋องเป็นหลัก พลเรือโท หลวงชลธารพฤติไกร ผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของ อสร. กล่าวว่า “งานผลิตอาหารสำเร็จรูป พูดอย่างห้วนๆ ว่า เป็นงานหุงข้าวต้มแกงใส่กระป๋องตามวิธีวิทยาศาสตร์”
องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานดำเนินการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นเสบียงรบ (combat ration) ส่งให้แก่ทหารในกองทัพต่างๆ หรือภารกิจด้านยุทธปัจจัยเป็นอันดับแรก ดังคำปรารภของ จอมพลสฤษดิ์ ในหนังสือ การเตรียมเสบียงทัพ (2500) “องค์การฯ นี้มุ่งดำเนินงานเพื่อทหารเป็นประการแรก ถัดไปจึงจะถึงส่วนราชการอื่นและประชาชน ตามลำดับความสำคัญ แต่ถ้าจะบังเอิญเกิดความนิยมต้องการจากประชาชนมากขึ้นได้แล้วการค้าจึงจะตามมา หรืออาจจะมาในขณะเดียวกันก็ได้”
นอกจากประโยชน์ที่มีต่อกองทัพแล้ว อาหารกระป๋องที่ผลิตขึ้นหวังว่าจะสามารถนำไปใช้สำหรับงานสังคมสงเคราะห์ เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย ทุพภิกขภัย วาตภัย ฉาตกภัย (ภัยแล้ง) ใช้เป็นอาหารยามอพยพ ในพื้นที่ทุรกันดาร และช่วยให้ชีวิตประจำวันของประชาชนสะดวกขึ้น ประหยัดเวลาในการปรุงอาหารในเวลาที่มีจำกัด ในทางเศรษฐกิจ เช่น ลดการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ช่วยให้คนมีอาชีพเพิ่มขึ้น
ในระยะแรกช่วง พ.ศ. 2505 ฝ่ายศึกษาทดลองและวิจัยของ อสร.เริ่มทดลองผลิตข้าวแห้ง จากนั้นจึงมีการทดลองทำข้าวบรรจุกระป๋องและกับข้าวบรรจุกระป๋อง 1 ชุดประกอบด้วย ข้าว 3 กระป๋อง กับข้าว 3 กระป๋อง และของหวาน 1 กระป๋อง ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 2.165 กรัม ต่อมาเมื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่น้ำหนักเหลือเพียง 750 กรัมเท่านั้น
อาหารกระป๋องที่นำมาทดลองผลิตนั้นมีมากมายหลายเมนู เช่น เนื้อทอดกระเทียมพริกไทย ผัดเผ็ดยี่หร่าเนื้อ ผัดเผ็ดเนื้อสับ พะแนงเนื้อ มัสมั่นเนื้อ แกงกระหรี่เนื้อ แกงเผ็ดเนื้อ แกงเขียวหวานเนื้อ เนื้อต้มเค็มหวาน เนื้อปรุงรส ต้มเค็มหวานปีกไก่ หมูและไข่พะโล้กระป๋อง กะทิกระป๋อง เมนูทดลองทางการทหารเหล่านี้ หลายเมนูถูกนำมาผลิตเป็นอาหารกระป๋องจำหน่ายจริงในเวลาต่อมา
ภายหลังเมื่อมีการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรม องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงทำการผลิตอาหารสำเร็จรูปประเภทเนื้อโคและเนื้อหมู ผลิตได้ 80 ตันต่อวัน บางส่วนส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ลาวและเวียดนามใต้ และผลิตผลไม้กระป๋อง 17,400 ตันต่อปี ส่วนใหญ่จำหน่ายภายในประเทศ
อย่างไรก็ตามองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด จนกระทั่งใน พ.ศ. 2541 รัฐบาลได้ยุบเลิกองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับภาคธุรกิจเอกชนได้ รวมทั้งองค์การฯ ดังกล่าวไม่จัดว่าเป็นกิจการเพื่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป แต่ยังคงมีการผลิตอาหารกระป๋องโดยกรมพลาธิการทหารบก โดยมีเมนูยอดนิยมของมหาชนคือ เนื้อกระเทียมพริกไทยกระป๋อง ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบรับประทานอาหารกระป๋องด้วย
จะเห็นได้ว่ากิจการอาหารกระป๋องเกิดจากการคิดค้นพัฒนาเพื่อประโยชน์ในทางทหารมาก่อน ต่อมาจึงนำมาใช้ในวงกว้างจนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปคุ้นเคยเป็นอย่างดีในชีวิตประจำวัน
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
กรมพลาธิการทหารบก (2559). หลักนิยมการเลี้ยงดูหน่วยประกอบเลี้ยงในสนาม. (ออนไลน์). เขืาถึงจาก อ่านออนไลน์
กรมศิลปากร. (2559). นิราศหนองคาย หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์). (ออนไลน์). เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
พระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ.2498 (2498, 7 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 72 ตอนที่ 42. หน้า 758 - 772.
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน). เทคโนโลยีป้องกันประเทศจากทหารสู่พลเรือน. (ออนไลน์). เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
องค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป.(2507). ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป (อสร.) อย่างไร. ใน อนสุรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 17 มีนาคม 2507. เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์
อมร ภฺมิรัตน์. (2509). เสบียงสนามแห้ง. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประชัญคดี ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันพุธ ที่ 9 มีนาคม 2509. เข้าถึงจาก อ่านออนไลน์