Museum Core
ในยุคสร้างชาติ จอมพลแปลก ห้ามกินอาหารแปลก ๆ
Museum Core
21 เม.ย. 63 3K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

ในยุคสร้างชาติ จอมพลแปลก ห้ามกินอาหารแปลก ๆ

 

 

 

หนึ่งในสาเหตุของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ว่ากันว่ามาจากการกินอาหารแปลก ๆ โดยเฉพาะค้างคาว ดังนั้นจึงอยากชวนมาดูว่าครั้งหนึ่งประเทศไทยเองในยุคสร้างชาตินั้น การกินอาหารแปลก ๆ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลเคยสั่งห้าม เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่มหาอำนาจอย่างที่ปรารถนา แต่อาหารอะไรที่ท่านผู้นำในขณะนั้นอย่างจอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) จัดว่าเป็นอาหารแปลก ๆ ไร้อารยธรรมบ้าง มาดูกัน


ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงเวลาของการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรม (พ.ศ. 2481-2487) ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมถูกทำให้เป็นรูปธรรมผ่านการแสดงออกทางกาย ทั้งการแต่งกาย มารยาท การกินอยู่ การดูแลสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในสมัยนี้รัฐบาลจึงมีนโยบายห้ามกินอาหารบางชนิดที่ถูกมองว่าเป็นอาหารแปลก


“เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ทางการจึงได้ออก แถลงการกะซวงการสาธารณะสุข เรื่อง ผลร้ายของการบริโภคสัตว์ มแลง และอาหารบางชนิด เนื่องจากประชาชนชาวไทยบางท้องถิ่นยังกินอาหารไม่ถูกอนามัย และกินอาหารที่ไม่ควรจะกินเช่น สัตว์ แมลง และอาหารบางชนิด เช่น งู คางคก ตะขาบ ลาบเลือด เป็นต้น สัตว์และอาหารบางชนิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่พึงรังเกียจไม่ควรนำมาบริโภค หากกล่าวในด้านอาหารสัตว์บางชนิด เช่น คางคก อึ่งอ่าง กิ้งกือ และตัวแก้ว มีพิษชนิดหนึ่งในตัวของมันเองซึ่งเป็นพิษเบื่อเมา นอกจากนี้อาหารบางชนิด เช่นลาบเลือด ซึ่งเป็นอาหารที่ทำจากเลือดสัตว์และเนื้อสัตว์สด ๆ นำมาบริโภคโดยไม่ทำให้สุกก่อน ทำให้เกิดโรคท้องร่วงอย่างรุนแรงและโรคพยาธิ ถ้ารักษาหรือแก้ไขไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ กล่าวในทางวัฒนธรรม สัตว์เลื้อยคลาน แมลง และอาหารบางชนิด เป็นสิ่งพึงรังเกียจ ไม่สมควรที่อารยชนจะบริโภคเป็นอาหาร”


สังเกตว่าการประชาสัมพันธ์ในสมัยนั้นไม่เพียงแต่พูดในแง่ของการสาธาณสุขเท่านั้น แต่ยังพูดในด้านของวัฒนธรรมอีกด้วยว่า การกินอาหารแปลก ๆ เป็นที่น่ารังเกียจของคนอื่น การประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุข อาจจะไม่พอที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย แต่การพูดถึงในบริบทของวัฒนธรรมก็จะช่วยให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว พูดโดยสรุปก็คือแม้ไม่นึกถึงสุขภาพแต่ก็ต้องกลัวสังคมรังเกียจ ดังนั้นรัฐบาลจึงมักจะใช้ภาษาที่ค่อนข้างกดทับอาหารท้องถิ่นที่รัฐมองว่าเป็นอาหารแปลก


กรมโฆษณาการในขณะนั้นได้ประชาสัมพันธ์ว่า “ทางการได้พิจารณาว่าอาหารดังกล่าว มีแต่คนป่าคนดอยและคนที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้นที่ยังมีทำเป็นอาหารอยู่ แต่ในขณะนี้อารยธรรมได้แพร่เข้าไปสู่ทุกส่วนทุกภาคในประเทศไทยแล้วจึงสมควรที่ประชาชนจะเลิกบริโภคอาหารเหล่านี้ น.พ.ยงค์ ชุติมา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบริโภคศาสตร์ ได้จัดอาหารเหล่านี้ไว้ในจำพวก “อาหารอุตริ” ที่บางท้องถิ่นยังบริโภคกันอยู่ แต่ควรเลิกรับประทานเพราะไม่เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป และไม่ต้องด้วยวัฒนธรรม ควรรับประทานอาหารที่มีอยู่โดยปกติ ปลูกหรือเพาะเลี้ยงได้ง่าย เช่น หมู เป็ด ไก่ ไข่ ปลา จะดีกว่า” (กรมโฆษณาการ)


“ทางกรมประชาสงเคราะห์ก็ได้วิงวอนราษฎรขออย่าให้จับสัตว์สกปรกมารับประทาน เนื่องจากเกิดเหตุเด็กชายและเด็กหญิง 2 คน ได้จับคางคกมาหมกไฟรับประทานโดยเข้าใจว่าเป็นอึ่ง เป็นเหตุให้เด็กชายเกิดอาการมึนเมา อาเจียนและชักถึงแก่ความตาย ส่วนเด็กหญิงได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที นายแพทย์ผู้ชำนาญในทางอาหารของกรมประชาสงเคราะห์ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คางคกมีพิษไม่พึงใช้บริโภค หากบริโภคจะเป็นอันตราย อาจถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นกรมประชาสงเคราะห์จึงวิงวอนพี่น้องทั้งหลาย ได้โปรดเลิกบริโภคอาหารประเภทสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อึ่ง คางคก งู โดยเด็ดขาด หากพี่น้องประชาชนได้ทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ตามคำชักชวนของนายกรัฐมนตรีกันทุกครัวเรือนแล้ว ก็จะมีสัตว์ผักและผลไม้ใช้บริโภคได้ธาตุอาหารถูกส่วนตามความต้องการของร่างกาย โดยไม่ต้องไปจับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สกปรกมาบริโภค ซึ่งอาจทำลายทั้งสุขภาพร่างกายและชีวิต อีกทั้งยังไม่ต้องด้วยวัฒนธรรมของชาติ”


“ในประเด็นเรื่องห้ามรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ พระยาพาณิชยศาสตร์วิธานได้อธิบายในหนังสือสุขศึกษา สำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 3 ไว้ว่า ของกินบางชนิดกินดิบ ๆ ได้บางชนิดต้องกินเมื่อสุกแล้ว เราต้องระมัดระวังเรื่องการกินให้มาก เพราะของที่เรากินอาจมีเชื้อโรคติดอยู่ เช่นผักสด เวลาที่มีโรคอหิวาห์ระบาด ควรเว้นกินของดิบเสียเลยเป็นดีที่สุด ควรกินแต่ของที่ต้มสุกแล้ว และควรกินเวลาร้อน ๆ ไม่ควรกินของดิบ ๆ สุก ๆ เพราะนอกจากทำให้ท้องขึ้นแล้ว เชื้อโรคที่ติดอยู่ในของนั้นอาจทำให้เราเจ็บป่วยได้”


ถึงตรงนี้การห้ามกินผักสดนั้นก็แสดงให้เห็นว่า อย่างไรก็ตามข้อห้ามของทางการก็ไม่ได้อิงกับข้อพิสูจน์ทางวิชาการแต่อย่างใด ดังที่ก้องสกล กวินรวีกุล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้เกี่ยวกับข้อห้ามในประเด็นอื่น ๆ อย่างเช่น การอุ้มเด็กเข้าสะเอวทำให้เด็กมีความรู้สึกทางเพศเร็ว, การปล่อยให้เด็กเปลือยกายจะทำให้เด็กมีนิสัยมักง่าย ไม่รักสวยรักงาม ดังนั้นจะเห็นว่าในบางกรณี คำอธิบายแนวทางที่ควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติต่อร่างกายเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี และป้องกันผลร้ายต่อสุขภาพนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของทางราชการ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ แนวทางที่ได้รับการแนะนำว่าควรปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการไร้ความเจริญ ป่าเถื่อน หรือไม่เป็นอารยะทั้งต่อผู้ปฏิบัติและต่อประเทศชาติ


ซึ่งก้องสกล กวินรวีกุล ได้กล่าวว่า คำอธิบายและเหตุผลในการห้ามบริโภคสัตว์และอาหารบางชนิดของทางราชการในสมัยนั้น ได้สะท้อนให้เห็นแนวความคิดขั้วตรงข้าม (binary opposition) อย่างเห็นได้ชัด ดังเช่น ความสะอาดและความสกปรก, ความมีอารยธรรมและความไร้อารยธรรม, ดีต่อสุขภาพและไม่ดีต่อสุขภาพ, เจริญและป่าเถื่อน, นิยมบริโภคและไม่นิยมบริโภค, สุกและดิบ ฯลฯ ทางราชการได้พยายามสนับสนุนและให้ความสำคัญกับความคิดในขั้วแรก ขณะเดียวกันก็พยายามต่อต้านความคิดในขั้วหลัง


ท้ายที่สุดแล้วการห้ามกินอาหารแปลก ๆ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือการพยายามสร้างชาติในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของประชาชน หากแต่ว่า ยังขาดการวิจัย และทำความเข้าใจ การตัดสินว่าอาหารแปลกนั้นคืออะไร เป็นการมองแบบใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และกดทับอาหารท้องถิ่น เช่นเรื่องของการบริโภคแมลง ซึ่ง ชาร์ลอตต์ เพย์น ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า แมลงซึ่งเป็นอาหารที่เบากว่าเนื้อสัตว์และหนักกว่าอาหารทะเล ทั้งยังมีรสชาติที่อร่อย เป็นอาหารที่มนุษย์นิยมบริโภคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันกำลังมีความพยายามส่งเสริมให้รับประทานอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้น โดยโฆษณาว่าเป็นอาหารแห่งอนาคตที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและลดการก่อก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ


นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเมนู คือขนมจีนน้ำยากิ้งกือ ที่จัดว่าเป็นเมนูที่แปลกแต่ก็มีคนบริโภคมาอย่างยาวนาน


“เมื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งที่กิ้งกือชุม มักจับกิ้งกือไปทำน้ำยากินกันประจำ เรื่องน้ำยานี้ นายทองปาน บุญแดง อยู่บ้านเลขที่ 9/1 หมู่ที่ 8 บ้านดอนโม่ง ต.บ้านกง อ.หนองเสือ จ.ขอนแก่น ได้ไปสอบถามการทำน้ำยากิ้งกือจากหลวงพ่อซึ่งเป็นบิดา และลุง ได้ความว่า เมื่อก่อนจังหวัดอุดรธานีและหนองคายก็มีการจับกิ้งกือมาทำน้ำยาเช่นกัน นายปาน บุญแดง เล่าว่าครั้งหนึ่งตอนที่ท่านยังหนุ่มอยู่ประมาณปี 2475 ท่านไปเป็นกรรมกรที่หนองคาย และรู้จักกับนายอำเภอเมืองในปีนั้น ชื่อคุณพระบริบาร ซึ่งท่านนายอำเภอท่านนี้ชอบรับประทานขนมจีนน้ำยากิ้งกือมาก ท่านมักใช้ให้คุณพ่อผมไปซื้อขนมจีนน้ำยากิ้งกือทุก ๆ วันอาทิตย์ ทางอุดรธานี หนองคาย เรียกกิ้งกือว่า บ้ง เวลาท่านบอกให้คุณพ่อว่า “นี่นายมีไปซื้อขนมจีนมาทานหน่อย ซื้อน้ำยาบ้งนะ น้ำยาอื่นไม่เอา” นี่ก็พอแสดงว่ากิ้งกือนั้นทำน้ำยาขนมจีนได้และอร่อยด้วย สิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการบริโภคสัตว์เลื้อยคลานที่รัฐบาลสั่งห้ามกันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลานั้น”


เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าการบริโภคขนมจีนน้ำยากิ้งกือนั้นเป็นเรื่องธรรมดาปกติของคนในสมัยนั้นไม่ได้พิลึกอะไร และมีการบริโภคมานาน นอกจากนี้เมนูนี้ยังปรากฏอยู่ใน นิราศพระพุทธบาท ของสุนทรภู่ ว่ามีการขายขนมจีนน้ำยากิ้งกือ เพียงแต่ไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนกรุง (สุนทรภู่)


“ ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น
มีโพธิ์พุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น ไม่ว่างเว้นสัปปุรุษเขาหยุดเรียง
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง เห็นของเรียงอยู่บนร้านทั้งหวานคาว
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว มาตามราวมรคาพนาวัน
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน ไก่เถื่อนขันขานเขาชวาคู ฯ”

 

และการที่รัฐบาลในสมัยสร้างชาตินี้พูดถึงพื้นที่ที่ห่างไกลกรุงเทพฯ ว่าไร้อารยธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้มุมมองของคนกรุงเทพฯ ในการจัดประเภทว่าอาหารในพื้นที่ห่างไกลเป็นอาหารที่แปลก หากจะถอดบทเรียนในยุคสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นมีข้อดีในแง่ของการจัดการและการลุกขึ้นมาใส่ใจต่อการบริโภคของประชาชน แต่ในยุคสร้างชาติที่พยายามแสวงหาอัตลักษณ์ตัวตนของชาตินั้น ได้มีการตามหาอัตลักษณ์ที่มีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง และกดทับอัตลักษณ์ท้องถิ่น ขาดความเข้าใจ และที่สำคัญขาดการค้นคว้าและตีตราอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่ตนเองไม่คุ้นเคยว่าไร้อารยธรรม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ หากจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามทำความเข้าใจและทำความรู้จัก อาหารแปลก (สำหรับรัฐบาลในขณะนั้น) บางอย่างก็ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเสมอไป ดังนั้นการจัดการของรัฐจึงจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทั้งการวิจัยและทำความเข้าใจ เพื่อระมัดระวังการใช้วาทกรรมที่ไปกดทับคนที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ และระวังเรื่องการสร้างชาติที่มีอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว ทั้งที่แท้จริงแล้วประเทศไทยมีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย

 

 

 

 รัชนก พุทธสุขา

 

 

 


บรรณานุกรม

 

 

ก้องสกล กวินรวีกุล. “การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481-2487.”
(วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

 

ประชุมวรรณคดีเรื่องนิราศ พระพุทธบาท อ่านออนไลน์

 

ส่องวัฒนธรรมอาหารจากแมลงทั่วโลก อ่านออนไลน์

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ