Museum Core
พื้นที่กักกันเพื่อควบคุมโรคระบาดของรัฐไทยในอดีต
Museum Core
22 เม.ย. 63 1K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 “State Quarantine”
พื้นที่กักกันเพื่อควบคุมโรคระบาดของรัฐ สมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

 

 

ย้อนกลับไปช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีโรคระบาดที่มีต้นทางมาจากต่างประเทศหลายครั้ง เช่นการระบาดของกาฬโรคที่เริ่มต้นในปีพ.ศ.2431 เริ่มจากเมืองท่าของประเทศจีนและเกาะฮ่องกง เข้าสู่อินเดีย ยุโรป โดยการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดในไทยครั้งนั้น ด้วยการตั้งด่านที่เกาะไผ่ ทำการกักเรือที่เดินทางมาจากเมืองท่าที่เกิดระบาดรวมทั้งที่มีความเสี่ยง โดยต้องจอดเรือให้เจ้าหน้าที่ตรวจโรคทุกคนบนเรือเสียก่อน หลังจากออกประกาศจัดการป้องกันกาฬโรคเมื่อ พ.ศ. 2441 ทำให้เรือที่มาจากฮ่องกงต้องจอดที่เกาะไผ่ 9 วันและเมื่อได้รับการตรวจโรคและออกใบรับรองว่าไม่มีผู้ใดเป็นกาฬโรค หรือหากมีผู้ป่วยก็รักษากันบนเรือ จากนั้นจึงจะอนุญาตให้เดินทางต่อเข้ามายังกรุงเทพฯได้ โดยมีพระบําบัดสรรพโรค หรือ หมอฮันส์ อะดัมสัน (คนไทยเรียก หมอลําสั้น) เป็นนายแพทย์ประจำด่าน

 

สำหรับกรณีที่โรคติดต่อระบาดในไทยเป็นวงกว้าง มาตรการกักกันมีอยู่หลายแนวทางด้วยกันเช่น ในการระบาดของกาฬโรคใน พ.ศ. 2447 ที่เริ่มต้นในกรุงเทพฯ แล้วระบาดไปยังหัวเมืองต่างๆ มาตรการที่ใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดคือ ตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจสำหรับรักษาผู้ป่วยกาฬโรค และคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลนั้นเป็นเวลา 10 วัน อีกทั้งให้เผาหรือทำลายสิ่งของหรืออาคารต้องสงสัยว่าอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

 

เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเสนาบดีมหาดไทย เสนอให้กักตัวคนเดินทางจากแหล่งที่เกิดโรค ไม่ให้เดินทางไปที่อื่น โรคก็จะไม่ระบาดลุกลาม จึงดำริให้ตั้งสถานกักโรคขึ้นตามเมืองท่าในปักษ์ใต้ ให้สมุหเทศาภิบาลมีอำนาจกักตัวผู้โดยสารทางเรือ ที่มีต้นทางเป็นสถานที่ที่มีอหิวาตกโรคระบาดเพื่อตรวจรอดูอาการก่อน เมืองใดที่อหิวาตกโรคระบาดให้ชักธงเหลืองขึ้นที่ปากอ่าว หรือทางร่วมเพื่อให้ราษฎรทราบโดยทั่วกัน (พระราชบัญญัติระงับโรคระบาดหัวเมือง 2455 ระบุให้ตั้งด่านตรวจและชักธงเหลือง)

 

หรือในกรณีการระบาดของอหิวาตกโรค ระหว่าง พ.ศ. 2468-2472 เริ่มต้นระบาดในเขตอำเภอป้อมปราบและปทุมวัน แล้วระบาดไปทั่วพระนคร ธนบุรี และทั่วประเทศรวม 52 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตกว่า 14,902 ราย สาเหตุเกิดจากเรือที่ถูกกักจำนวน 140 ลำ มีลำหนึ่งเกิดอหิวาตกโรค ในเรือมีผู้ป่วย 27 ราย ตาย 10 และมีผู้หลบหนีขึ้นบกระหว่างที่เรือถูกกัก ปีถัดมาพบอีก 2 ลำ การระบาดครั้งนี้พื้นที่สำหรับกักกัน ได้แก่ การตั้งโรงพยาบาลรับผู้ป่วยอหิวาตกโรคเป็นการเฉพาะ เปิดวังเก่าของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่วงเวียน 22 กรกฎา และที่สุขศาลา บางรัก เป็นต้น

 

ในการระบาดของไข้ทรพิษเมื่อ พ.ศ. 2466 ต้นทางมาจากซัวเถาและฮอยเฮา ทางการไทยประกาศกักเรือที่มาจากเมืองท่าทั้งสองนี้ พบเรือโดยสารมีผู้ป่วยไข้ทรพิษ 3 ลำ ขณะที่กักเรือไว้ที่ปากน้ำ มีผู้หลบหนีขึ้นบก และเกิดการระบาดในกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2477

 

ใน พ.ศ. 2494 รัฐมีมาตรการรับมือกับไข้ทรพิษและอหิวาตกโรคในเรือ โดยกำหนดให้เจ้าของเรือแยกผู้ป่วยขึ้นมารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้โดยสารอื่น ๆ ให้ปลูกฝีหรือฉีดวัคซีน และดำเนินการฆ่าเชื้อโรคในเรือโดยสารให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงจะเดินทางต่อไปได้ ซึ่งเป็นแบบแผนเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ตามกฎข้อบังคับว่าด้วยการสุขาภิบาลระหว่างประเทศเพื่อลดเวลาในการกักเรือ 

 

ปัจจุบันแม้ว่ามีด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศทั้งสิ้น 68 แห่ง แต่การเดินทางข้ามประเทศเป็นเรื่องง่ายดายทำให้การควบคุมการระบาดของโรคที่มีต้นทางจากต่างประเทศมีความลำบากมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของการกักกันเพื่อควบคุมโรคระบาดของรัฐไทยในอดีต ทำให้เห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ที่ทางการไทยกำลังทำเพื่อรับมือกับโควิด-19 ณ ขณะนี้มีความคล้ายคลึงกับการรับมือโรคระบาดในอดีต เพียงแต่เป็นโรคระบาดคนละชนิดกันเท่านั้นเอง

 

ภาคผนวก

 

การกักกันเพื่อสังเกตการ (Quarantine) มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดหรือการกระจายของเชื้อโรค โดยระยะเวลาเฝ้าสังเกตอาการจะไม่นานเกินกว่าระยะฟักตัวที่ยาวที่สุดของเชื้อโรคซึ่งแต่ละโรคมีระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น โรคโควิด-19 มีระยะฟักตัวของโรคนาน 2 - 14 วัน ดังนั้น จึงแยกตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน เป็นต้น ปัจจุบัน มีโรคติดต่ออันตรายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตรายมีจำนวน 14 โรค


เมื่อพบว่าเกิดโรคระบาดร้ายแรงส่งผลให้ประชาชนป่วยและตายในระยะเวลาอันสั้น หรือโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีอำนาจหน้าที่ในการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย รวมทั้งสั่งห้ามผู้ที่เป็น หรือ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

 

 

 

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

อ้างอิง

 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (5 มีนาคม 2563). หลักเกณฑ์ลักษณะ และแนวทางการจัดการสถานที่ควบคุมเพื่อสังเกตการเริ่มป่วย (Quarantine) กรณีผู้เดินทางจำนวนมากกลับจากพื้นที่เสี่ยงสูง. อ่านออนไลน์ 

 

ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ. (2559). UNSEEN กรมควบคุมโรค...เส้นทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ. อ่านออนไลน์ 

 

แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ประทานวังให้เป็นที่รักษาผู้ป่วยด้วยอหิวาตกโรค  อ่านออนไลน์

 

ประเมิน  จันทวิมล. (2515). ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย. ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงสุขเวชวรกิจ ต.ช.,ต.ม. (จรูญ ทองคง)  อ่านออนไลน์ 

 

พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558  อ่านออนไลน์

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ.2559   อ่านออนไลน์

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561  อ่านออนไลน์

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563   อ่านออนไลน์

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ