“พิพิธภัณฑ์” ในความรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะหมายถึง สถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพิพิธภัณฑวิทยาที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายกว้างขวางมากกว่าสถานที่และการจัดแสดง แต่เทียบเท่าได้กับคำว่า“แหล่งเรียนรู้”
“พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “สิ่งของนานาชนิด” คำนี้เป็นการสมาสกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” ซึ่งแปลว่า นานาชนิด กับคำว่า“ภัณฑ์” ซึ่งแปลว่าสิ่งของ รากศัพท์ของ ”พิพิธภัณฑ์” มาจากภาษาบาลีคือ คำว่า “วิวิธ” กับคำว่า “ภณฺฑ” รวมกันเป็น “วิวิธภณฺฑ” แปลว่า สิ่งของนานาชนิด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นราว 140 ปีเท่านั้น จากพจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ชื่อ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท – Dictionarium Linguae Thai” แต่งโดยชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว เมื่อปี พ.ศ. 2397 ไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด จะมีก็เพียงคำว่า “พิพิธ” ซึ่งหมายถึง สิ่งต่าง ๆ มากมาย
ในปี พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริให้สร้างราชมณเฑียรขึ้นใหม่หมู่หนึ่ง โดยพระราชทานนามเรียกรวมทั้งหมดว่า “พระอภิเนานิเวศน์ ภายในราชมณเฑียรแห่งนี้ ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งและสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในนั้นเป็น “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นพระที่นั่งสำหรับไว้สิ่งของต่าง ๆ สำหรับทอดพระเนตรส่วนพระองค์ ตั้งอยู่ทางด้านใต้พระที่นั่งอนันตสมาคม เหตุที่ทรงตั้งพระที่นั่งหลังนี้ขึ้นมาเนื่องจาก พระที่นั่งราชฤดีชำรุด และเริ่มคับแคบ จึงโปรดที่จะสร้างพระที่นั่งที่ใหญ่กว่าพระที่นั่งราชฤดี เพื่อไว้สำหรับจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่นานาประเทศนำมาถวาย ดังนั้น เมื่อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์แล้วเสร็จ จึงโปรดฯ ให้ย้ายวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่เคยจัดแสดงอยู่ที่พระที่นั่งราชฤดีมาจัดแสดงที่นี่ทั้งหมด
จึงอาจกล่าวได้ว่าคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เกิดขึ้นราว พ.ศ.2400 อันเป็นปีเฉลิมพระราช มณเฑียรพระอภิเนาวนิเวศน์ จากชื่อ “ประพาสพิพิธภัณฑ์” จึงทำให้พิจารณาได้ว่า คำว่า “พิพิธภัณฑ์” นั้น ยังไม่ได้ถูกใช้โดยลำพัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งขึ้นประกอบกับคำอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “ประพาส” เพื่อตั้งเป็นชื่อพระที่นั่งหลังหนึ่งในพระอภิเนานิเวศน์ โดยมีพระราชประสงค์ให้ เป็นพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เหมือนกันกับ “มิวเซียม” ตามแนวคิดของโลกตะวันตกในสมัยนั้น กล่าวคือ ทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระที่นั่งสำหรับ “เก็บสะสมสิ่งของนานาชนิดไว้เพื่อเที่ยวชมเป็นการส่วนพระองค์ หรือ พาแขกบ้านแขกเมืองมาเที่ยวชม” ดังนั้น จึงผูกนามของพระที่นั่งหลังนั้นว่า “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” คำว่า ประพาส เป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า เที่ยว ดังนั้น พระที่นั่งองค์นี้จึงมีความหมายว่า “พระที่นั่งสำหรับเที่ยวชมสิ่งของนานาชนิด”
รัชกาลที่ 4 ทรงผูกศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาใช้ คู่กับคำว่า“ประพาส” จึงกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เมื่อปี พ.ศ.2400 หมายถึง “สิ่งของนานาชนิด” ซึ่งเป็นไปตามรูปศัพท์เดิม ผูกขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ของพระที่นั่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เท่านั้น ยังไม่ใช่นามที่ใช้เรียกชื่ออาคารหรือสถานที่แต่อย่างใด
ในสมัยนั้น อาจเรียกพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์เป็นภาษาไทยว่า “มิวเซียมหลวง” หรือ “มูเสียมหลวง” ด้วยอีกชื่อหนึ่ง และคงเรียกกันติดปากเรื่อยมาจึงถึงช่วง พ.ศ. 2430 – 2440 ดังที่ในประกาศโฆษณา“มิวเซียม” ปี พ.ศ. 2436 ซึ่งแปล “Royal Museum” ว่า “มูเสียมหลวง”
ถึงแม้ว่าจะเกิดศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาใช้แล้วก็ตาม แต่คำนี้ก็คงยังไม่ได้ถูกใช้เรียกอาคารหรือสถานที่ที่มีการเก็บสะสมวัตถุแห่งอื่น ๆ แต่อย่างใด และอาจคงบทบาทที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อพระที่นั่งเท่านั้นเป็นเวลากว่า 20 ปี ทีเดียว และอาจมีการเรียกพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์นี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซียมหลวง” หรือ “มูเสียมหลวง” ดังที่กล่าวมาแล้วก็เป็นได้ เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานว่ามีการเรียกอาคารในลักษณะนี้ว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่เรียกทับศัพท์ว่า มิวเซียม มูเซียม แม้แต่ใน “หนังสืออักขราภิธานศรับท์” แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2416 โดยหมอบรัดเลย์ ก็ไม่พบคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในคราวแรกตั้งศาลาสหทัยสมาคม ให้เป็นสถานที่จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในปี พ.ศ.2517 ก็ไม่ได้ใช้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษไปว่า “มิวเซียม” ดังเช่น “ไป ณ ที่มิวเซียมซึ่งจัดการหาของประหลาดต่างๆ มาเรียบเรียงวางแต่งตั้งไว้ในที่โรงคงคอเดีย ” ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้าย “มิวเซียม” ไปตั้งที่พระราชวังบวรสถานมงคลแทน โดยใช้พระที่นั่งส่วนหน้า 3 หลัง เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกกันว่า “โรงมูเสียม” หรือ “มูเสียมของหลวงที่วังหน้า”
แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างปี พ.ศ. 2530 – 2531 เอกสารราชการที่เกี่ยวกับงานบริหาร “มิวเซียม” นั้น เริ่มที่จะปรากฏคำว่า“พิพิธภัณฑ์” ขึ้นบ้างแล้ว และ “มูเสียม” ได้ยกฐานะเป็น “กรมพิพิธภัณฑ์” คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ที่เริ่มปรากฏนี้มีความหมายในฐานะชื่อของหน่วยงานราชการ และยังไม่เป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไป ประกาศโฆษณา “พิพิธภัณฑ์” เอง ก็ยังคงใช้คำว่า “มูเสียม” ดังปรากฏในประกาศโฆษณา “มูเสียมของหลวงที่วังหน้า” หรือ “โรงมูเสียม” หรือ “มูเสียมหลวง” บางครั้งชาวบ้านเรียกเพี้ยนไปเป็น “โรงปะเซียม” หรือ “โรงกระเซียม”
หลังปี พ.ศ.2430 เป็นต้นมา คำว่า “พิพิธภัณฑ์สถาน” เป็นการนำคำว่า “พิพิธภัณฑ์” มาสมาสกับคำว่า“สถาน” โดยต้องการให้หมายถึง สถานที่อันมีสิ่งของนานาชนิด ซึ่งก็ตรงกับคำว่า “โรงมูเสียม” หรือ “หอมูเสียม” ที่เป็นคำที่คนทั่วไปเรียก อาจเป็นไปได้ที่หลังปี พ.ศ.2440 เป็นต้นมา คนไทยในสมัยนั้น น่าจะมีการเรียก “มิวเซียม” 2 แบบ คือตามภาษาปากยังคงนิยมเรียกกันว่า โรงมูเสียม หรือ หอมูเสียม แต่ในหนังสือราชการต่าง ๆ จะใช้คำว่า พิพิธภัณฑ์สถาน และอาจมีการเรียกย่อ ๆ อย่างไม่เป็นทางการว่า “พิพิธภัณฑ์”
หลัง พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา คำว่า “มิวเซียม” มีการใช้น้อยลง แต่คำว่า “พิพิธภัณฑ์” และ“พิพิธภัณฑสถาน” เริ่มเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น โดยในหนังสือราชการจะใช้คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ส่วนในภาษาพูดโดยทั่วไปนั้น จะให้คำว่า “พิพิธภัณฑ์” และคงใช้กันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูลและคณะ.(2547). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์: วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ระยะที่ 1 สร้างเครือข่ายและสำรวจสภาพพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. เข้าถึงจาก