ประสบการณ์ความศิวิไลซ์ในอาณานิคม: สยามกับการเข้าร่วมเวิลด์แฟร์

Museum Core

12 ก.ค. 63
2K
ประสบการณ์ความศิวิไลซ์ในอาณานิคม: สยามกับการเข้าร่วมเวิลด์แฟร์
World’s Fairs
ในการเข้าร่วม World’s Fairs ประเทศผู้เข้าร่วมจะเป็นฝ่ายพิจารณาเองว่าควรส่งสิ่งของใดไปจัดแสดง และจะเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบรวมถึงค่าใช้จ่ายในการสร้าง “ศาลา” (Pavinlion) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงของตนเอง เป้าหมายของการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาตินี้แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประเทศที่มั่งคั่งมีความเจริญด้านอุตสาหกรรม จุดประสงค์ก็เพื่อแสดงให้ชาวโลกรับรู้ถึงความสำเร็จโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกประเภทหนึ่งก็คือ ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้มั่งคั่งทางด้านอุตสาหกรรม สยามก็เป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ มีจุดประสงค์เพื่อการนำเสนอประเทศของตนเองให้เป็นที่รู้จัก ในขณะเดียวกันก็หวังใบสั่งสินค้าที่จะมีคนสั่งสินค้าในงานนี้
อย่างไรก็ตาม World’s Fairs ถือเป็นงานที่สะท้อนการจัดระเบียบโลกยุคจักรวรรดินิยม มีการจัดงานที่เป็นแบบจักรวาลจำลอง แบ่งพื้นที่การจัดแสดงสองส่วนใหญ่ ๆ คือส่วน “White City” เป็นโซนที่แสดงความก้าวหน้าของประเทศที่ศิวิไลซ์ เช่น อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ฯลฯ กับพื้นที่จัดแสดงอีกส่วนที่เรียกว่า “Colonial section” เป็นการจัดแสดงความเป็นอยู่และข้าวของจากประเทศอาณานิคม รวมถึงประเทศที่ยังไม่ศิวิไลซ์แม้ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคม สยามมักจัดอยู่ในประเภทไม่ล้าหลังแต่เป็นกึ่งศิวิไลซ์ อย่างไรก็ตามก็ยังถูกจัดอยู่ในประเทศที่แปลกน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อเทียบกับประเทศที่จัดอยู่ในโซน “White City” แต่ในเวลาต่อมาก็จะมีความเบาบางลงของการแบ่งแยกพื้นที่แบบนี้ แต่การแสดงให้เห็นว่าประเทศใดศิวิไลซ์มากน้อยก็จะแสดงออกให้เห็นจากสิ่งสิ่งของและสินค้าจากประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ในงาน World’s Fairs จะมีการให้รางวัล รวมกันนับร้อยรางวัล รายชื่อผู้ได้รางวัลยาวเหยียดแสดงบนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีผู้ได้เกือบทุกรางวัลมีรางวัลหลากหลายไม่ได้เน้นรางวัลอะไรเป็นพิเศษ
การเข้าร่วมของสยาม
สยามเข้าร่วมมหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2419 ณ กรุงฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐฯ เพื่อฉลองการครบรอบ 100 ปี ที่ประเทศสหรัฐฯได้ประกาศอิสรภาพ จากประเทศอังกฤษ โดยคนอเมริกันจะเรียกงานเอ็กซ์โปว่างาน World Fair ในครั้งนี้สยามยังไม่มีศาลาเป็นของตัวเองเพราะส่งของจัดแสดงไปล่าช้าจึงต้องจัดแสดงในอาคารราชนาวีอเมริกัน ของและสินค้าเหล่านี้จึงต้องแสดงในฐานะของขวัญจากสยามที่ให้กับสหรัฐอเมริกา ของจัดแสดงของสยามได้แก่ เมล็ดพันธ์ุข้าว เครื่องมือทำนา ไม้ หัวโขน เครื่องดนตรี บ้านและวัดจำลอง รวมถึงเครื่องราชูปโภคทำด้วยเงิน เป็นชิ้นที่ผู้ชมให้ความสนใจ
นอกจากที่ฟิลาเดลเฟียแล้ว สยามยังเข้าร่วมงานที่ปารีส ใน พ.ศ. 2432 ศาลาของสยามอยู่ใกล้กับอียิปต์และญี่ปุ่น ในพ.ศ. 2443 ทีแรกเจ้าภาพจะจัดให้สยามอยู่กับอาณานิคมต่าง ๆ แต่สยามขออยู่กับประเทศยุโรป แต่ท้ายที่สุดไม่มีศาลาของสยามที่ตั้งใจจะสร้างเป็นจตุรมุขเพราะสยามส่งของเข้าร่วมช้าเกินไป, ที่ชิคาโก ใน พ.ศ. 2436 ศาลาของสยามอยู่ใกล้กับโคลัมเบีย ไฮติ และหมู่เกาะแคริบเบียน, ที่เซ็นต์หลุยส์ ในพ.ศ. 2447 ศาลาของสยามจำลองวัดเบญจมบพิตรตั้งอยู่ท่ามกลางศาลาของประเทศเอกราช, ที่ตูริน (พ.ศ. 2454)
สยามเข้าร่วมได้อย่างไร
สยามได้รับการติดต่อให้เข้าร่วม World’s Fairs หลายประเทศ แต่สยามจะเลือกเข้าร่วมงานที่เข้าเป้าประสงค์สามหลักเกณฑ์ดังนี้ คือจะเข้าร่วมงานที่รัฐบาลประเทศนั้น ๆ เป็นผู้จัดไม่ใช่เอกชนจัด แต่จะเข้าร่วมงานเอกชนเฉพาะรายการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ สยามต้องการทั้งนำเสนอประเทศและใบสั่งสินค้า รวมถึงการคำนึงต้นทุน
การเตรียมสินค้า
สยามจะจ้างผู้จัดการ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย สัญชาติเดียวกับประเทศเจ้าภาพจัดงาน ผู้จัดการจะวางแผนและดำเนินการโดยอาศัยกลไกที่ราชสำนักสยามออกคำสั่งให้มณฑลต่าง ๆ รวบรวมข้าวของชั้นดี และเกณฑ์ให้ชาวบ้านผลิตสินค้า โดยจะจ่ายค่าตอบแทนตามสมควร และส่งเข้ามาคัดเลือกที่กรุงเทพฯ มีสินค้าเช่น กระบุง ตะกร้า ผ้าทอ ผ้าเช็ดหน้า แร่ธาตุ ของป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการมอบหมายให้ขุนนางและเจ้านายไปจัดหาหรือจัดทำสิ่งของที่ได้รับผิดชอบไป เช่น พลับพลา แพ เรือ รูปปั้น บ้านและวัดจำลอง เครื่องดนตรี เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่จะจัดส่งไปจะมีจำนวนที่มากพอจะทดแทนสินค้าที่ชำรุดได้ แต่งานชิ้นที่ดีที่สุดบางชิ้นถูกคัดเลือกและซื้อเข้าพิพิธภัณฑ์ที่กรุงเทพฯ เอง ก่อนจะถูกส่งไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากในงานแสดงสินค้า แต่องค์ที่งดงามที่สุดจะถูกเลือกเก็บไว้ตามบ้านเจ้านายหรือเข้าพิพิธภัณฑ์ และส่งองค์ที่ไม่งามมากไปจัดแสดง นอกจากสินค้าพื้นเมืองแล้วสยามยังส่งสินค้าที่แสดงความเป็นศิวิไลซ์ไปด้วย เช่น สินค้าการไปรษณีย์ การรถไฟ แผนที่ที่ชาวสยามทำเอง เป็นต้น ก่อนจะบรรจุหีบและส่งลงเรือไปยังประเทศเจ้าภาพ หลังเสร็จจากแสดงสินค้า หากมีสินค้าที่เหลือจากการขายในงานก็จะยกให้กับเจ้าภาพเอาไปตั้งในพิพิธภัณฑ์ของตนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าขนส่งของกลับ
นำแนวคิดมาสู่การจัดงานแสดงสินค้าในสยาม
สยามจัดงานแสดงสินค้าขึ้นครั้งแรกในงานครบรอบหนึ่งร้อยปีสถาปนากรุงเทพฯ จึงจัดมหกรรมแสดงสินค้าที่เรียกว่า “นาเชอนนัล เอกซฮิบิเชน” ขึ้นที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2425 ผลิตภัณฑ์ที่แสดงในงานนี้ส่วนใหญ่เป็นของพื้นบ้าน เครื่องมือทำนาทำสวน เมล็ดพันธุ์ข้าว ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม วัตถุบูชาพระพุทธศาสนา ซึ่งทำกันในหมู่เจ้านายและขุนนาง มีการเปิดให้สาธารณชนเข้าชม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สยามก็ได้รับผลกระทบ รัชกาลที่ 6 จึงมีพระราชปรารภแก้ไขวิกฤตดังกล่าวด้วยการจะจัดงานแสดงสินค้าครั้งใหญ่ อนุโลมตามแบบที่นานาประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงพระราชทานที่ดินประมาณ 360 ไร่ บริเวณทุ่งศาลาแดงและพระราชทานนามว่า “สวนลุมพินี” เพื่อจัดงาน “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ในฤดูหนาวของ พ.ศ. 2468 ซึ่งตรงกับฉลองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี เป็นปีที่เสมอรัชพรรษาในรัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าให้รวบรวมตำนานสยามนับแต่โบราณจนถึงรัชสมัยของพระองค์พิมพ์หนังสือเป็นภาษาอังกฤษควบคู่ภาษาไทย เพื่อให้ต่างชาติได้ยอมรับนับถือความเป็นอารยะของสยาม แต่รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน ทำให้งานถูกล้มเลิกเพียงไม่กี่วันก่อนถึงกำหนดการ แต่หากพิจารณาแผนการของโครงการนี้จะพบว่างานนี้จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากทั่วสยาม นอกจากนี้เป็นการจัดกิจกรรมของ กระทรวง ทบวง กรม หน่วยราชการ สถานศึกษาต่าง ๆ แล้วยังมีอีกหมวดที่น่าสนใจคือ หมวดแสดงชนชาติต่าง ๆ ในสยาม โดยจะเอาคนและตัวอย่างบ้านเรือนมาจัดแสดง หากไม่เอาคนจริงก็อาจจะเอาภาพถ่ายคนและวิถีชีวิต ซึ่งความคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากงาน World’s Fairs นั่นเอง
รัชนก พุทธสุขา
บรรณานุกรม
ธงชัย วินิจจะกูล. (2546). ภาวะอย่างไรหนอที่เรียกว่าศิวิไลซ์ เมื่อชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 แสวงหาสถานะของตนเองผ่านการเดินทางและพิพิธภัณฑ์ในและนอกประเทศ. รัฐศาสตร์สาร 24:2, น. 1-66.
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. (2554). งานเอ็กซ์โปปี 2419 ฉลองเอกราชครบ 100 ปี ที่นครฟิลาเดลเฟีย. ในวารสารส่งเสริมการลงทุน. 22 (11). สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2562, จาก อ่านออนไลน์
Museum Siam Knowledge Center
ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง. (2549). ที่ระลึกสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ สวนลุมพินี พระพุทธศักราช 2468. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. อ่านออนไลน์