Museum Core
การแข่งรถฟอร์มูล่าวันบนถนนราชดำเนิน กับความหมายที่แตกต่าง
Museum Core
12 ก.ค. 63 963

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

การแข่งรถฟอร์มูล่าวันบนถนนราชดำเนิน กับความหมายที่แตกต่าง

 

 

 

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2553 มีการนำรถแข่งสูตรหนึ่งคันจริง ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกฟอร์มูล่าวัน ปี 2010 มาวิ่งโชว์บนถนนราชดำเนิน และอ้างอิงถึงการสานต่อเจตนารมณ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช โดยมีสุดยอดนักแข่งรถฟอร์มูล่าวันของทีมเรดบูล เรซซิ่ง คือ มาร์ค เว็บเบอร์ ทำหน้าที่ขับรถสูตรหนึ่ง เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษาใน พ.ศ. 2554 งานครั้งนี้จัดโดย นายเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของทีมรถแข่งฟอร์มูล่าวัน "Red Bull Racing" ประธานบริษัทเรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ด กรุงลอนดอน ร่วมกับน้องชายคือ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง

 

การจัดโชว์รถแข่งบนถนนราชดำเนินครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้มาแล้ว แต่การสื่อความหมายของกิจกรรมในแต่ละครั้งนั้นมีความแตกต่างกัน

 


วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2480 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ได้รับการทูลเชิญให้เสด็จกลับมาแสดงการขับรถรอมิวลุสโชว์ บนถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นรถคันที่ชนะในการแข่งขันที่โมนาโก  โดย นายทักษ์ เฉลิมเตียรณ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้กล่าวว่าในยุคนั้นการขับรถเร็วได้กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับคนหนุ่มฐานะร่ำรวยในกรุงเทพฯ ความสำคัญของความสำเร็จของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ที่เกิดขึ้นในยุโรปคือชัยชนะครั้งแรกของสยาม

 

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2480 ได้จัดแสดง รถรอมิวลุส ในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นการเชื่อมโยงพระองค์เจ้าทั้งสองเข้ากับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งภูมิหลังของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระนิพนธ์ของพระองค์สะท้อนถึงการที่พระองค์เชื่อว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถอยู่ภายใต้ความตึงเครียดของยุคสมัยใหม่และการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางได้ อีกทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงสนับสนุนคณะราษฎรรวมถึงการสนุบสนุนความคิดเรื่องรัฐชาติสมัยใหม่ และให้การสนับสนุนการเงินแก่รัฐบาลใหม่

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ภูวนาถ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช จึงเข้ากับตัวแบบของการเป็นวีรบุรุษแห่งชาติสมัยใหม่ รัฐบาลคณะราษฎรและจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยินดีที่สนับสนุนการแข่งรถของทั้งสองพระองค์ในการแข่งขัน พ.ศ. 2482 แต่การแข่งขันดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

 

 

การแข่งรถกรุงเทพกรังด์ปรีซ์ พ.ศ. 2531 เป็นการพยายามครั้งแรกที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช การแข่งรถที่เคยจะกำหนดจัดเมื่อ พ.ศ. 2482 ที่เป็นความประสงค์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช แต่ไม่ได้จัดเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สองเสียก่อน โดยที่ พ.ศ. 2531 เป็นปีสำคัญ แห่งวาระครบรอบพระชนมายุ 60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์นักกีฬา ที่ทรงประสบความสำเร็จจากการแข่งขันกีฬาเรือใบ ในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 พ.ศ. 2510 และเชิดชูพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์และพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เจ้านายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการกีฬาเช่นกัน  ทักษ์ เฉลิมเตียรณ จึงตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยภายใต้รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พยายามสร้างความภาคภูมิใจและสร้างชาตินิยมอย่างแนบแน่นกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย จากผลงานของสมาชิกราชวงศ์

 


จะเห็นว่าการโชว์การแข่งรถบนถนนราชดำเนินในแต่ละครั้งมีการสื่อความหมายถึงชาตินิยมที่มีความแตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้ว่า

 

ในการโชว์รถครั้งแรกที่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ได้ทรงขับโชว์ด้วยพระองค์เอง รัฐบาลภายใต้การปกครองใหม่ได้ใช้เหตุการณ์นี้สื่อความกับประชาชนสยามถึงร่างกายอันเป็นตัวอย่างที่สามารถเอาชนะชาติอารยะ โดยเฉพาะยุโรปได้ ซึ่งแตกต่างกับการโชว์รถใน พ.ศ. 2531 และการโชว์ฟอร์มูล่าวัน ใน พ.ศ. 2553 ที่เป็นกิจกรรมเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะ   ดังนั้นการอ้างอิงถึงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช จึงได้ขยับไปอยู่ในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกราชวงศ์ที่ได้สร้างชื่อเสียง ซึ่งเป็นเหตุผลเพื่อสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์

 

การโชว์แข่งรถฟอร์มูล่าวัน ใน พ.ศ. 2553 ก็เป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำภาพความเป็นกษัตริย์นักกีฬาของรัชกาลที่ 9 หรืออาจจะมากกว่านั้นในแง่ของผลพลอยได้ในการสร้างแบรนด์ของผู้จัด เนื่องจากสองครั้งก่อนหน้าจัดโดยรัฐบาลแต่ครั้งนี้จัดโดยเอกชน

 

ทั้งหมดนี้ ยิ่งตอกย้ำถึงการทำหน้าที่ของถนนราชดำเนินในฐานะเป็นเวทีในการประชันความคิด และการช่วงชิงความหมายมาตลอด 121 ปี ช่วงชิงความหมายในที่นี้คือการอ้างอิงถึงพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช แต่วัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมแต่ละครั้งก็มีความหมายแตกต่างกันไป

 

 ล่องรอยราชดำเนิน, ฟอร์มูล่า, การแข่งรถ, ถนนราชดำเนิน, พระองค์เจ้าพีระ, เฉลิม อยู่วิทยา, สราวุฒิ อยู่วิทยา, กระทิงแดง, RedBull, Red Bull, Museum Core, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ภูวนาถ, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, นายทักษ์ เฉลิมเตียรณ, กษัตริย์นักกีฬา

รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

 

 


แหล่งอ้างอิง

 

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2558). อ่านจนแตก: วรรณกรรม ความทันสมัย และความเป็นไทย. กรุงเทพฯ: อ่าน. 

 

ทีมข่าวหน้าสตรี. (2553). "เรดบูล ฟอร์มูล่าวัน" กระหึ่ม!! บนถนนราชดำเนิน สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้เมืองไทย. สืบค้นเมื่อ 21
ตุลาคม 2562, จาก อ่านออนไลน์

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ