Museum Core
อนามัยของชาวกรุงศรี
Museum Core
12 ก.ค. 63 2K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

อนามัยของชาวกรุงศรี

 
 
 
ในช่วงโควิด-๑๙ ชวนส่องจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ที่เคยเข้ามาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เคยกล่าวถึงสุขอนามัยของคนกรุงศรีอยุธยาไว้ว่าเป็นคนที่สะอาด มาดูกันว่าชาวสยามในสมัยนั้นมีอนามัยเป็นเช่นไร

ชาวสยามสะอ้านมาก

“เสื้อผ้าเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะที่รูปโฉมไม่น่าชม ให้สะสวยขึ้นเป็นความจริง เมื่อใช้ผ้าประดับกายน้อย การที่จะให้ร่างกายหมดจดงดงามก็ต้องอาศัยความสะอ้านประณีตเป็นธรรมดา เช่น หญิงชาวสยามปฏิเสธอยู่ไม่วาย หญิงชาวสยามอบปรุงองคาพยพด้วยสุคนธรสเป็นหลายแห่งในรูปกาย ที่ริมฝีปากเจ้าหล่อน ก็สีขี้ผึ้งอบ ซึ่งทำให้ริมฝีปากเข้มเข้ามากกว่าปล่อยไว้ธรรมดา เจ้าหล่อนอาบน้ำตั้งวันละ ๓ หรือ ๔ หน หรือถี่มากว่านั้นอีก ธรรมเนียมสะอ้านของเจ้าหล่อนอย่างหนึ่งนั้นเป็นไม่ยอมไปหาใคร นอกจากได้อาบน้ำเสียก่อน และเพราะเหตุข้อนี้เอง หญิงสาวจึงทำจุดสีขาว ๆ ไว้ที่ยอดอกด้วยเม็ดดินสองพอง (ปะแป้งนั่นเอง) เพื่อแสดงว่าเจ้าหล่อนเพิ่งจะอาบน้ำมาแล้วหยก ๆ

วิธีอาบน้ำสองอย่าง

“ชาวสยามอาบน้ำโดยวิธีสองอย่าง คือลงไปแช่ในอ่างอาบหรือแม่น้ำลำคลองอย่างเรา (ฝรั่ง) ใช้กัน หรือตักน้ำรดกายตัวด้วยแครงครุ (น่าจะหมายถึงขัน) และบางทีชาวสยามก็อาบน้ำอย่างรดซู่ ๆ อยู่ตั้งชั่วโมง (น่าจะสระผมถูตัวทาขมิ้นด้วยจึงทำให้นาน) อนึ่งชาวสยามไม่ต้องการอุ่นน้ำที่จะอาบ ไม่ต้อง เพราะต้องการที่จะขังน้ำไว้ในห้องน้ำตั้งหลาย ๆ วัน และไม่หน้าหนาว น้ำก็มีเย็นเฉียบทีเดียว”

ฟันและผมชาวสยามสะอ้านมาก

ชาวสยามเอาธุระที่จะรักษาฟันของตน แม้แกล้งย้อมเสียให้ดำแล้วนั้นให้สะอาด สระผมด้วยน้ำและน้ำมันหอม เหมือนฝรั่งสเปนทำเช่นนั้น และชาวสยามก็ไม่ได้ใช้แป้งมากกว่าพวกสเปน แต่ชาวสยามหวีผมตัวเอง ซึ่งชาวสเปนโดยมากไม่ทำเช่นนั้น ชาวสยามใช้หวีมาจากจีน (นั่นหวีเสนียด หวีไทยก็มีทำด้วยไม้มะกรูด) มีซี่เล็ก ๆ ชิด ๆ กับคันหวีพรืดไป ไม่มีซี่ห่างและซี่ถี่เหมือนหวีของเรา (ฝรั่ง) ชาวสยามใช้ถอนหนวดและโกนไม่ไว้ให้ยาว แต่ธรรมดาก็มีนิดหน่อย แต่ไม่พอใจตัดเล็บเป็น แต่สงวนเล็บให้สะอาด (ใครไว้หนวดเป็นประหลาด ถึงแก่ให้ฉายา เช่น นายคงหนวด เป็นต้น)”
 
อาหารการกินที่เป็นยา

ในเรื่องของอาหารการกินนอกจากนี้ชาวสยามยังใช้ชาเป็นชาสำรอกเหงื่อแก้โรคต่าง ๆ อีกด้วย

ชาเป็นยาสำรอกเหงื่อ จีนและชาวต่างประเทศตะวันออก ใช้ชาเป็นยาแก้ปวดศีรษะแต่ผสมให้แรงขึ้นกว่าธรรมดา เมื่อได้ดื่ม ๕ หรือ ๖ ถ้วยแล้วก็ลงนอนในที่นอนคลุมด้วยผ้าจนเหงื่อออกพลั่ก ๆ อยู่ข้างไม่สู้ยากกระไรนักในเมืองร้อนเช่นนั้น ในการที่จะตั้งพิธีสำรอกเหงื่อ ชาวตะวันออกเห็นการสำรอกเหงื่อนั้น เกือบจะเป็นยาแก้สรรพโรคได้ทั่วไป
  
โรคของชาวสยาม

ส่วนโรคที่ชาวสยามเป็นกันคือ โรคที่มักสังหารชีวิตชาวสยามถี่ ๆ นั่นก็คือโรคป่วงและโรคบิด เป็นโรคที่ฝรั่งเข้ามาสู่กรุงสยามนั้น ต้องเดือดร้อนระวังป้องกันรักษาตัวยิ่งกว่าพลเมืองสยามเอง ด้วยเหตุที่ฝรั่งไม่เว้นการดื่มสุรา
 
ชาวสยามนั้นบางทีก็เป็นไข้กำเดา และกลายเป็นไข้หวัดชัก ปวดหัว ท้องเสีย แต่อาการถึงจะบวมนั้นก็มีห่าง ๆ  และการที่จับไข้สั่นธรรมดาเรื่อยไปก็ไม่ได้ทำให้ถึงแก่เสียชีวิตมากนักและไม่ได้ร้ายแรงกว่าที่เป็นกันในเมืองร้อนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ถึงขั้นเห็นใครที่เพ้อคลั่ง ซึ่งหมอฝรั่งเรียกว่าไข้พิษ ส่วนไอ จุกเสียด ท้องเสียและการจับไข้สั่น ปวดเมื่อยก็มีบ่อยในสยาม อีกทั้งในกรุงสยามนี้ยังมีโรคคุดทะราดเข้าข้อ ฝีต่าง ๆ และเป็นหิด แผลเปื่อย เป็นโรคที่เป็นกันเยอะ ในยี่สิบคนจะต้องมีสิบเก้าคนที่เคยเป็นโรคนี้ ส่วนโรคเลือดไหลตามเหงือกไม่มีใครเป็น โรคขี้เรื้อนก็ไม่ค่อยมี แต่คนบ้าคนเสียจริตมีอยู่มากมาย คนสยามเชื่อกันว่าเป็นการถูกกระทำย่ำยีเชิงเกียรติคุณ อีกทั้งชาวสยามเชื่อว่าความประพฤติลามกทำให้เกิดกามโรค ในสยามก็มีเยอะ
 
อย่างไรก็ตามชาวสยามในสมัยอยุธยาก็ไม่ทราบว่าโรคเหล่านี้เป็นมาตั้งแต่โบราณหรือเป็นโรคที่มาจากประเทศที่เข้ามาติดต่อ แตกต่างจากไวรัสโควิด-๑๙ ที่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าเป็นโรคที่มาจากต่างประเทศด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน
 
  

 

 

รัชนก พุทธสุขา

 

 


แหล่งอ้างอิง

จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม / มร. เดอะ ลา ลูแบร์ ; แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร.

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ