Museum Core
ความเชื่อเรื่อง "ต้นกัลปพฤกษ์" สู่การโปรยทานและสอยดาว
Museum Core
13 ก.ค. 63 1K
มิเวเซียมมสยาม

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ความเชื่อเรื่อง "ต้นกัลปพฤกษ์"
สู่การโปรยทานและสอยดาว

 

ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกดอกเป็นสีชมพูอ่อนและมีฝักสีน้ำตาลยาวเป็นทรงกระบอกออกพร้อมกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน สามารถพบได้ทั่วในแถบประเทศพม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ตามป่าแดง ป่าโคก ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณแล้งทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป

 

คนไทยสมัยก่อนถือว่าต้นกัลปพฤกษ์เป็นไม้มงคล และมีดอกที่สวยงามจึงทำให้นิยมนำมาปลูกประดับบ้านเรือนและที่สาธารณะทั่วไป นอกจากนี้ยังมีประโยชน์มากมายหลายด้าน เช่น นำฝักและเมล็ดมาทำเป็นยาลดพิษไข้ เนื้อในฝักใช้ปรุงเป็นยาระบายอ่อนๆ นำเนื้อในฝักมากินกับหมาก นำกิ่งก้านไปทำด้ามธงถือว่าทำให้เกิดสิริมงคล

 

แต่ว่าต้นกัลปพฤกษ์ดังกล่าวไม่ใช่ “ต้นกัลปพฤกษ์ - ต้นสารพัดนึก” ที่จะมาปรากฏในยุคพระศรีอารย์

 

ในคัมภีร์โลกสัณฐานกล่าวว่า ท้าวจาตุมหาราชหรือจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ ได้แก่ ท้าวธตรฐ จอมภูตรักษาทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหก จอมเทวดารักษาทิศใต้ ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค รักษาทิศตะวันตก และท้าวกุเวร จอมยักษ์รักษาทิศเหนือ ทั้ง 4 พระองค์นี้ล้วนทรงด้วยพระภูษา อันเกิดแต่ต้นกัลปพฤกษ์ทุกพระองค์

 

ในคัมภีร์ไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ทวีปต่าง ๆ ทั้ง 4 ประกอบด้วย บูรพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ มีต้นซีกเป็นต้นไม้ประจำทวีป อมรโคยานทวีป อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ มีต้นกระทุ่มเป็นต้นไม้ประจำทวีป ชมพูทวีป อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีต้นหว้าเป็นต้นไม้ประจำทวีป และ อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ มีต้นกัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำทวีป มีคำบรรยายถึงต้นกัลปพฤกษ์ตอนหนึ่งว่า

 

"...แลในแผ่นดินอุตตกุรุทวีปนั้น มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง โดยสูงได้ 100 โยชน์ โดยกว้างได้ 100 โยชน์ โดยรอบบริเวณมณฑลได้ 300 โยชน์แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้นผู้ใดจะปรารถนาหาทุนทรัพย์ สรรพเหตุใดๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการแล..."

 

บุคคลที่อาศัยอยู่ในอุตตกุรุทวีปนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่แข็งแรง รูปร่างสมส่วน มีผิวพรรณดี ไม่มีเรื่องให้เดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ยามหิวก็สามารถนำ "สัญชาตสาลี" ไปหุงกินได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาปลูก หากผู้ใดต้องการเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ แก้วแหวนเงินทอง หรืออยากได้สิ่งของใด ๆ ก็จะปรากฏบนต้นกัลปพฤกษ์นี้ ด้วยเหตุนี้คนไทยในอดีตจึงอยากจะไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์กันอย่างกว้างขวาง

 

ในสมัยโบราณจึงได้มีการทำรูปแบบจำลองต้นกัลปพฤกษ์หรือต้นสารพัดนึก ในพระราชพิธีต่าง ๆ จะสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นสำหรับพระราชทานทรัพย์สินเงินทองให้แก่ราษฎรทั่วไป เช่น ออกพระเมรุมาศ พระราชพิธีลงสรง พระราชพิธีอินทราภิเษกครั้งพระเจ้าปราสาททอง งานมหรสพสมโภชพระพุทธบาทสระบุรีครั้งพระเจ้าเสือ และในงานพระราชทานเพลิงศพท้าวสมศักดิ์ที่วัดสุวรรณารามในรัชกาลที่ 1 มีหมายรับสั่งว่า

 

"อนึ่ง ให้สมุห์บัญชีจัตุสดมภ์เบิกไม้ ไปทำโรงโขนโรงหุ่น แล้ว ให้จัดแจงต้นกัลปพฤกษ์ไม้เสียบลูกกัลปพฤกษ์ แลกระไดขึ้นต้นกัลปพฤกษ์ให้พร้อม" กับ "ให้เกณฑ์ผลมะกรูดผลมะนาว ขุนหมื่นเข้าส้มทิ้งทาน ตำรวจรักษาต้นกัลปพฤกษ์วันละ 2 ต้น"

 

โดยทั่วไปแล้วพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปักเสาสูงๆ ลงไป จากนั้นก็ทำคอกเล็กๆ เหมือนรังกาสำหรับคนขึ้นไปยืนข้างบน ที่ปลายเสาทำพุ่มติดผลมะนาวยัดเงิน สมมติว่าเป็นผลกัลปพฤกษ์ เพราะเงินคือแก้วสารพัดนึก อยากจะเอาไปซื้ออะไรก็เชิญ พอได้เวลา เจ้าพนักงานก็ปีนบันไดขึ้นไปปลิดผลมะนาวหว่านลงมา ผู้คนข้างล่างก็แย่งชิงกันเกรียวกราว


ทั้งนี้โครงพุ่มของต้นกัลปพฤกษ์ มักทำเป็นโครงไม้ผูกเป็นพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ แต่ละชั้นจะติดลูกมะนาว มะกรูด ซึ่งเจาะให้เป็นรูใส่เงินปลีกไว้ข้างใน ใต้พุ่มทำยกพื้นขึ้นเสมอระดับตาใช้เป็นที่ยืนทิ้งทาน เมื่อถึงเวลาทิ้งทาน พนักงานซึ่ง "นุ่งสมปักลายเสื้อครุย สวมลอมพอก" จะพาดกระไดขึ้นไปยืนอยู่บนยกพื้นใต้พุ่ม ต้นกัลปพฤกษ์ แล้วดึงลูกส้ม มะนาว มะกรูดที่เสียบปลายไม้ที่เหลาเรียวยาวคล้าย คันเบ็ด วัดเหวี่ยงให้ลูกส้มปลิวไปตกห่างๆ ต้นกัลปพฤกษ์ คนที่รออยู่ข้างล่างก็จะกลุ้มรุมเข้าชิงลูกส้มกันอย่างสนุกสนาน ประเพณีนิยมนี้เสื่อมความนิยมลงในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

จากธรรมเนียมหลวงของราชสำนัก ได้เคลื่อนไปสู่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางซึ่งอยู่ในรูปของการ "โปรยทาน" ซึ่งเรียกเหรียญโปรยทานว่า "เหรียญกัลปพฤกษ์" ที่พบได้โดยทั่วไปทั้งงานบวช ในภาคใต้จะเรียกว่า "เหรียญกำพรึก" ใช้ในการโปรยทานในงานศพ

 

การโปรยทานในอำเภอไชยามีความแตกต่างจากที่อื่นโดย ลูกกำพรึกบางลูกจะมีเพียงเงิน บางลูกจะติดสลากระบุข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ด้วย เช่น หวี น้ำมันใส่ผม เสื้อ กางเกง ร่ม รองเท้า พัดลม ผ้าห่ม น้ำหอม เสื่อ แป้ง หมวก เป็นต้น ผู้ที่ได้ก็นำฉลากไปแลกข้าวของที่เจ้าภาพเตรียมไว้ คนที่จะได้รับทานได้จะต้องไปในวันเผาศพเท่านั้น

ต่อมาในระยะหลังมีการจัดทำต้นกัลปพฤกษ์จำลองขึ้นอีก เช่น ในงานกาชาดจัดให้มีกิจกรรมสอยกัลปพฤกษ์หรือที่เรียกกันว่าสอยดาว เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 โดยไม่ได้กำหนดค่าสอยกัลปพฤกษ์ไว้แล้วแต่จะบริจาคตามศรัทธา รางวัลได้แก่ เครื่องเวชภัณฑ์ เสื้อผ้า นับแต่นั้นเป็นต้นมาการสอยกัลปพฤกษ์ได้กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมสำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมงานกาชาดจนถึงทุกวันนี้

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์


บรรณานุกรม

 

  • นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส. (2555). ต้นกัลปพฤกษ์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปไทย, มหาวิทยาลัยศิลปากร. เข้าถึงจาก http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000007632
  • มลิวัลย์ อุดมพันธ์. (13 มกราคม 2553). ลูกกัลปพฤกษ์ "ลูกกำพรึก ลูกกำพริก"สำหรับโปรยทาน. เข้าถึงจาก https://www.gotoknow.org/posts/327533
  • สภากาชาดไทย. ประวัติงานกาชาด. เข้าถึงจาก https://www.redcrossfundraising.org/%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%94/
  • เอนก นาวิกมูล. (8 กุมภาพันธ์ 2560). ร.5 ทรงเคยโปรยทานหรือไม่?. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_6308

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ