Museum Core
สนามมวยราชดำเนิน เวทีผลิตนักมวยอาชีพแห่งแรก
Museum Core
13 ก.ค. 63 2K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

สนามมวยราชดำเนิน  เวทีผลิตนักมวยอาชีพแห่งแรก

 

ในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 หลายฝ่ายเป็นกังวลว่า “สนามมวย” กำลังผลิตเซียนมวยให้เป็น Super spreader   อย่างไรก็ตามขณะนี้สนามมวยราชดำเนินปิดให้บริการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น  ระหว่างนี้เรามาทำความรู้จักสนามมวยราชดำเนินในฐานะเวทีผลิตนักมวยอาชีพที่ทำการแข่งขันภายใต้กฏกติการะเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนเป็นสนามแรกของประเทศไทย

 

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา ความนิยมชมชอบในกีฬามวยเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก มีการจัดการแข่งขันมวยอย่างแพร่หลาย มีสนามมวยหลายแห่งแต่ก็เป็นเพียงเวทีกลางแจ้ง และไม่มีลักษณะถาวร  เช่น 

 

สนามมวยสวนกุหลาบ นับเป็นสนามมวยที่จัดการแข่งขันเป็นประจำแห่งแรกใช้พื้นที่บนสนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นเวทีมวย ต่อมาทำการยกพื้นเวทีสูง 4 ฟุต ปูพื้นด้วยเสื่อจันทบูรณ์หลายผืนเย็บติดกัน มีเชือกกั้นเวทีขนาด 1 นิ้ว มีช่องตรงมุมบันไดสำนักมวยและผู้ตัดสินขึ้นลง  แข่งขันทั้งหมด 11 ยก ๆ ละ 3 นาที ใช้นาฬิกาจับเวลาและใช้เสียงกลองเป็นสัญญาณการชกแข่งขัน และผู้ตัดสินแต่งเครื่องแบบเสือป่าเต็มยศ  

 

สนามมวยหลักเมืองท่าช้าง ตรงบริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน สร้างโดยพระยาเทพหัสดิน เวทีมีเชือกกั้นเส้นใหญ่ขึ้น เชือกแต่ละเส้นขึงตึงเป็นเส้นเดียวไม่เปิดช่องตรงมุมสำหรับขึ้นลงเหมือนกับยุคเก่าเพื่อป้องกันนักมวยตกเวที เริ่มมีการให้นักมวยสวมนวม เนื่องจากมีนักมวยถูกชกตายด้วยหมัดคาดเชือกด้ายดิบ

 

สนามมวยสวนสนุก ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี เริ่มใช้เวทีมวยแบบมาตรฐานสากล คือ มีเชือก 3 เส้น ใช้ผ้าใบปูพื้น มีมุมแดง น้ำเงิน มีผู้ตัดสินให้คะแนน 2 คน มีผู้ชี้ขาดการแข่งขันบนเวที 1 คน และให้สัญญาณด้วยระฆังเป็นครั้งแรก และจัดแข่งขันทุกวันเสาร์  

 

สนามมวยสวนเจ้าเชต (กรมรักษาดินแดนในปัจจุบัน) สนามมวยแห่งนี้มีทหารทำหน้าที่ควบคุมจัดการแข่งขัน นำรายได้ไปบำรุงกิจการทหาร เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยกเลิกจัดการแข่งขัน  และเมื่อสงครามสงบการแข่งขันมวยย้ายไปจัดตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ในเวลากลางวัน เช่น สนามมวยพัฒนาการ สนามมวยวงเวียนใหญ่ เนื่องจากประชนยังคงให้ความสนใจมวยไทยอยู่เป็นจำนวนมาก

 

จะเห็นได้ว่า แม้การชกมวยจะเป็นที่นิยมมาก แต่การกติกาการแข่งขันก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีระเบียบข้อบังคับที่แน่นอนรัดกุม ไม่มีกติกาเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการแจ้งด้วยวาจาจากนายสนามมวยแต่ละแห่งที่อาจแตกต่างกันไป เช่น ใช้ศีรษะชนคู่ต่อสู้ได้ ห้ามกัด ห้ามซ้ำ ใช้ลูกติดพันได้ ถ้าคู่ต่อสู้ล้มให้ไปยืนรอที่มุมกลาง เป็นต้น

 

จนกระทั่งเมื่อสนามมวยราชดำเนินถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ.2488  ในช่วงแรกการจัดการแข่งขันก็ยังไม่ระเบียบข้อบังคับแต่อย่างไร  กระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ.2498 สนามมวยราชดำเนินได้จัดทำกติกามวยไทยอาชีพฉบับแรกขึ้น ครอบคลุมทั้งเรื่องพื้นที่เวที สังเวียน การแต่งกาย การแบ่งน้ำหนักตัว จำนวนยก กรรมการ เป็นต้น  ถือได้ว่าการแข่งขันมวยไทยอาชีพที่มีกฎกติการะเบียบข้อบังคับที่ชัดเจนเกิดขึ้นครั้งแรกที่สนามมวยราชดำเนินแห่งนี้ ปีพ.ศ.2503 ได้เพิ่มข้อบังคับกติกา ห้ามนักมวยอายุต่ำกว่า 18 ปีและอายุเกิน 38 ปีขึ้นทำการแข่งขัน  อันเป็นต้นแบบให้สนามมวยอื่น ๆ ทำตาม  กระทั่งปัจจุบันมีกติกาการแข่งขันที่ออกโดยสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยให้ใช้โดยทั่วกันทุกสนามเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

ในช่วงแรกของสนามมวยเวทีราชดำเนิน จัดการแข่งขันชกมวยเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น     ในแต่ละคู่แบ่งการชกเป็น 5 ยก ยกละ  3 นาที  การชั่งน้ำหนักตัวนักมวยในยุคแรก ใช้มาตรเดียวกับม้าแข่งคือใช้พิกัดเป็นสะโตน คือ 1 สะโตนเท่ากับ 6.38 กิโลกรัม 14 ปอนด์  ต่อมาจึงเปลี่ยนน้ำหนักเป็นกิโลกรัม และเปลี่ยนน้ำหนักนักมวยเป็นปอนด์ เพื่อให้เป็นระบบสากลมากขึ้น และเรียกชื่อรุ่นตามน้ำหนัก เช่น น้ำหนักไม่เกิน 112 ปอนด์ รุ่นปลายเวท น้ำหนักไม่เกิน 118 ปอนด์ รุ่นแบนตัมเวท เป็นต้น  

 

สำหรับการเฟ้นหาตัวนักมวยที่เก่งที่สุดนั้นได้ใช้วิธีจัดตั้ง “มวยรอบ” ขึ้น โดยคัดเลือกนักมวยที่มีน้ำหนักตัวและระดับฝีมือใกล้เคียงกันมาชกชิงคะแนนในรอบเพื่อหาตัวคนที่ได้คะแนนสูงสุด 2 คนมาชิงชนะเลิศ เรียกตามจำนวนและชื่อรอบรุ่นตามชื่อสิงสาราสัตว์ต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ ผู้ชนะเลิศในแต่ละรอบจะได้รับมอบเข็มขัดสามารถหรือเสื้อสามารถเป็นรางวัลเกียรติยศเป็นกรรมสิทธิ์ถาวรตลอดไป  และนักมวยที่ครองตำแหน่งชนะเลิศมวยรอบต่างๆ ก็จะได้การยอมรับว่าเป็นนักมวยแถวหน้าแห่งวงการ

 

เป็นความใฝ่ฝันของนักมวยไทยอาชีพทุกคนว่าอยากขึ้นชกที่สนามมวยราชดำเนิน เพราะเป็นหนึ่งในสองเวทีมาตรฐานสุดยอดของเมืองไทย แต่การได้ขึ้นชกที่เวทีแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากต้องเป็นนักมวยผ่านสนามมวยรอง ๆ เช่น เวทีมวยสยาม อ้อมน้อย ฯลฯ จนมีฝีไม้ลายมือ มีชื่อเสียงระดับหนึ่งแล้วจึงจะได้ขึ้นเวทีแห่งนี้    นักมวยหลายคนที่มีชื่อเสียงในอดีตทั้งนักมวยไทยและนักมวยสากล อาทิ โผน กิ่งเพชร , ชาติชาย เชี่ยวน้อย, เวนิส บ.ข.ส. , พเยาว์ พูนธรัตน์, เขาทราย แกแล็คซี่, รัตนพล ส.วรพิน, ชนะ ป.เปาอินทร์ ฯลฯ ซึ่งก่อนจะเป็นแชมป์โลก ล้วนเคยขึ้นชกที่เวทีราชดำเนินแห่งนี้ทั้งสิ้น     สำหรับนักมวยอาชีพแล้วหากได้ผ่านเวทีแห่งนี้จะสร้างความภาคภูมิใจเหมือนได้รับใบปริญญาบัตรเลยทีเดียว

 

และนี่คือความยิ่งใหญ่ของสนามมวยราชดำเนิน หรือสนามมวยแห่งชาติ เป็นหนึ่งในอารยะที่จอมพล ป. พิบูลสงครามสร้างขึ้นควบคู่กับโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย โรงแรมรัตนโกสินทร์  เพื่อแสดงความมีวัฒนธรรมและความเป็นไทยในยุคใหม่บนถนนราชดำเนิน  จวบจนปัจจุบันมีสถานภาพเป็นสถาบันมวยแถวหน้าของประเทศ ผลิตนักมวยอาชีพสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน    

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

บทความอ่านเพิ่มเติม 

มวยไทย มวยใคร ทำไมจึงเป็นมรดกไทยมรดกโลก โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

 

 

บรรณานุกรม

จิราพร แก้วศรีงาม. (2547). เปิดโลกมวยไทย: ความสัมพันธ์ระหว่างนักมวย ค่ายมวยและธุรกิจในวงการมวยไทย. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. เข้าถึงจาก https://tdc.thailis.or.th/tdc/browse.php?option=show&browse_type=title&titleid=184923&query=%E0%BB%D4%B4%E2%C5%A1%C1%C7%C2%E4%B7%C2&s_mode=any&d_field=&d_start=0000-00-00&d_end=2563-04-02&limit_lang=&limited_lang_code=&order=&order_by=&order_type=&result_id=1&maxid=1 

 

เจือ จักษุรักษ์. (2498.). กติกามวยไทย (อาชีพ) ของบริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด. ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเจือ จักษุรักษ์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 29 พฤศจิกายน 2525. เข้าถึงจาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:1627

 

สถาบันอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย. (ม.ป.ป.). ศิลปะมวยไทย. เข้าถึงจาก https://www.dpe.go.th/manual-files-392891791804

 

โรงเรียนมวยไทย. ประวัติมวยไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงจาก  https://www.muaythai-rangsit.com/history

 

Rajadamnern Stadium.  NATIONAL BOXING STADIUM SINCE 1945.  [Online].  Retrieved from https://rajadamnern.com/history/  

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ