Museum Core
ความรู้ในการปฏิบัติตนให้พ้นอหิวาตกโรค สมัยพระพุทธเจ้าหลวง
Museum Core
13 ก.ค. 63 785

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ความรู้ในการปฏิบัติตนให้พ้นอหิวาตกโรค
สมัยพระพุทธเจ้าหลวง

 

สมัยก่อนเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดรุนแรงทุกปี เนื่องจากผู้คนในยุคนั้นยังใช้น้ำในแม่น้ำคลองในการอุปโภค-บริโภค และยังเป็นที่ทิ้งสิ่งปฎิกูลทั้งหลายลงไปในน้ำเหมือนเป็นถังขยะ ที่สำคัญคือขณะนั้นยังไม่รู้สาเหตุของการเกิดโรคและการรักษา อหิวาต์จึงระบาดอย่างรวดเร็ว และคร่าชีวิตผู้คนปีละมากๆ

 

คนโบราณเชื่อว่า ผีห่า มีฤทธิ์มากทำให้คนตายได้ คนตายด้วยผีห่าจึงเรียกว่า ห่ากิน ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า การที่มีคนตายเป็นจำนวนมากเกิดจากการกระทำของ ผีห่า นั่นเอง เมื่อคราวระบาดหนักในรัชกาลที่ 2 จึงทรงโปรดให้ตั้ง “พิธีอาพาธพินาศ” และประกาศไม่ให้ประชาชนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นเวลา 7 วัน และให้อยู่กันแต่ในบ้าน

 

เมื่อคราวอหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาล 3 ขณะนั้นความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่เริ่มเข้าสู่ไทยแล้ว พระองค์มีพระดำริว่าเกี่ยวกับการระบาดในครั้งนี้ว่า การรับประทานน้ำเกลือ “เกลือละลายในน้ำร้อนน้ำเย็น”สามารถแก้อหิวาตกโรคได้ดี ไม่ควรรับประทานขนุน และผลไม้ ให้ดมกลิ่นการบูร และอบห้องด้วยการเผากำยานให้มีกลิ่น โดยไม่มีพิธีขับไล่โรคดังรัชกาลก่อนหน้านั้น

 

จวบจนสมัยรัชกาลที่ 5 ประชาชนยังหวาดกลัวต่ออหิวาตกโรค และมักมีข่าวลือเกี่ยวกับโรคชนิดนี้ เช่นลือว่าถ้าได้ช้างเผือกมาเมื่อไร ก็จะนำอหิวาตกโรคมาด้วย แต่พระองค์เชื่อว่าอหิวาตกโรคเกิดจากการดื่ม “น้ำกร่อย” แล้วทำให้เกิดการผิดน้ำจึงทำให้ท้องร่วง พระองค์จึงทรงใช้วิธีการจัดการน้ำ และให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคที่ถูกสุขอนามัย และจัดการที่พักอาศัยให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากอหิวาต์

 

“เมื่อเวลาฤดูนี้ น้ำในแม่น้ำกร่อยมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเหตุที่จะเปนอันตรายแก่ชีวิตคนทั้งปวง คือต้องกินน้ำกร่อยแล้วจะทำให้ท้องเสียแลจะกลายเป็นอหิวาตกโรคได้นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้มีกอมมิตตีจัดการไปบันทึกน้ำจึดข้างเหนือลงมาจำหน่ายจ่ายแจกแก่คนทั้งปวงที่ต้องกินน้ำกร่อยอยู่นั้น ผู้ที่เป็นกอมมิตตี คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ … จัดเรือขึ้นไปตักน้ำที่น้ำเค็มไหลไปไม่ถึงและใช้เรือไฟลากลงมาแจกจ่ายให้คนที่กรุงเทพ แลเมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เพื่อมิให้มีเหตุอันตรายในการต้องกินน้ำกร่อยนั้นได้ต่อไป
โปรดให้ควรที่คนทั้งปวงจะระวังรักษาชีวิต ระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่เปนของบูดเสียฤาผิดเวลานั้นให้มาก แลจัดเย่าเรือนให้สะอาด ด้วยอหิวาตกโรคซึ่งเปนโรคที่แรงร้ายน่ากลัวนี้มักเกิดแต่ท้องเสีย ฤาโสโครกสมมม”

 

อีกทั้งมีการจัดตั้งกรมสุขาภิบาลจัดการประปา จัดหาน้ำดื่มให้ประชาชนเพื่อเป็นการป้องกันอหิวาตกโรคอีกด้วย
ในด้านความรู้เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยอหิวาตกโรค โปรดฯให้พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอ คิดปรุงยารักษาโรคอย่างฝรั่งขึ้นใหม่ 2 ขนาน คือ เอายาวิสัมพยาใหญ่ตามตำราไทย ผสมกับแอลกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำ และ 2) เอาการบูรทำเป็นยาหยด เรียกว่าน้ำการบูร รวมทั้งแนะนำให้โรยการบูรบนเสื้อผ้าเพื่อเป็นการป้องกันโรค โดยยาเหล่านี้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ รับยาหลวง เพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรทั่วไปทั่วพระนคร ทำนองว่าเป็น “โอสถศาลา”
เมื่อถึงปลายรัชกาลที่ 5 ความรู้เกี่ยวกับอหิวาตกโรคเพิ่มมากขึ้น ดังที่กระทรวงนครบาลได้ออก “ประกาศตักเตือนแลแนะนำวิธีป้องกันอหิวาตกโรค” ซึ่งได้กล่าวถึงลักษณะการเกิดของโรค วิธีปฏิบัติตนให้พ้นโรค วิธีรักษาและวิธีปฏิบัตตัวเมื่อป่วยเป็นอหิวาตกโรค ยาที่ใช้รักษา และการป้องกันไม่ให้โรคติดต่อแพร่ไปยังผู้อื่น ไว้ดังนี้

 

ความรู้เรื่องการแพร่ระบาดของโรค เหตุที่ติดต่อกันไปนั้น เข้าใจว่าเป็นโรคที่มีตัวสัตว์เล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้นเปนเชื้อโรค เมื่อมีใครมีเชื้อโรคแล้วขับถ่ายสิ่งโสโครก หากติดไปกับน้ำหรืออาหาร แล้วมีใครกินเข้าไปผู้นั้นก็ติดอีก หากเอาเสื้อผ้าผู้ป่วยไปซักล้างในแม่น้ำลำคลอง เชื้อโรคก็จะกระจายไปตามกระแสน้ำ เมื่อเปนกันขึ้นครั้งหนึ่งคราวใดแล้ว จึงย่อมเปนกันมากชุกชุมในหมู่นั้นตำบลนั้น

 

สาเหตุของโรค มักเป็นเพราะน้ำแลอาหาร เป็นต้นว่า กินอาหารที่บูดเสีย กินอาหารที่ทำให้เสาะท้อง (มีรสเปรี้ยว เค็ม และเผ็ดจัด) เมื่อกินแล้วทำให้รู้สึกหิวน้ำ และเมื่อกินน้ำเข้าไปมากๆ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับเชื้อโรค กินผลไม้หรือผักสดที่ทำให้ละลายยาก ถ้ากินในมื้อเย็น ถ้าอาหารนั้นไม่ละลาย ชักบูดเฟ้อ ทำให้เปนเหตุก้อได้ มักเกิดขึ้นชุกชุมในฤดูร้อน เพราะกระหายน้ำมาก และทำให้อาหารบูดเสียได้ง่าย

 

ความรู้ด้านสุขอนามัยในอาหาร

1)อย่ากินน้ำกร่อย

2)น้ำดื่มควรต้มเสียก่อน

3)อย่ากินน้ำมากเกินไป

4)อย่ากินน้ำไม่สะอาด เช่น น้ำต่างๆ ที่เปิดขายตามถนน ซึ่งเปิดรับฝุ่นละอองอยู่เสมอ

5)อย่ากินอาหารที่ทำให้เสาะท้อง เช่น มะม่วงสุก กินมากๆ ไม่ดี

6)อย่ากินอาหารเปรี้ยวเค็มและเผ็ดจัดอันเป็นเหตุให้กระหายน้ำเพิ่มมากขึ้น

7)อย่ากินอาหารที่บูดเสีย ให้ระวังอาหารที่ทำจากแป้ง และกะทิ รวมทั้งเนื้อสัตว์ที่จวนเน่าเสียด้วย 8)อย่ากินอาหารที่ทำให้ท้องเฟ้อในเวลาเย็น เช่น ผักสด รวมทั้งอาหารสุก ๆ ดิบๆ


ความรู้ด้านการป้องกันตนเองไม่ให้ติดโรค

1)ระวังอาหารไม่ให้แมลงวันตอม เพราะเป็นการแพร่เชื้อโรค

2)รักษาที่อยู่ให้สะอาด อย่าให้มีสิ่งบูดเน่า

3)อย่าให้ห้องอับชื้น เปิดหน้าต่างให้ลมถ่ายเท และเปิดรับแดดอยู่เสมอ

4)แหล่งเทสิ่งโสโครกต้องหมั่นชำระล้างอยู่เสมอ

5)บ่อสระน้ำที่ใช้บริโภค ต้องรักษาให้สะอาด

6)เมื่อเกิดการระบาด อย่ากินน้ำในแม่น้ำลำคลองที่ไม่ได้ต้มสุกเสียก่อน

7)ผู้พยาบาลผู้ป่วยต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก

8)ซักล้างเสื้อผ้าผู้ป่วยด้วยการนำไปต้มฆ่าเชื้อ

9)ข้าวของเครื่องใช้ เช่น เสื้อผ้า หมอน มุ้งของผู้ที่เสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรค ควรนำไปฝังหรือเผาทิ้ง

10)ห้องที่ใช้รักษาผู้ป่วยต้องหมั่นทำความสะอาด แต่ต้องระวังอย่าให้ฝุ่นฟุ้งกระจายหรือน้ำชำระล้างไหลลงแหล่งน้ำ จากนั้นให้อบห้องด้วยควันกำมะถัน หรือราดด้วยยาคาบอลิก เพื่อฆ่าสิ่งโสโครกให้สูญไป

11)ห้ามฝังศพคนตายด้วยอหิวาตกโรคใกล้แหล่งน้ำ


เมื่อทบทวนความรู้เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วเป็นที่น่าแปลกใจว่าความรู้หลายประการยังคงทันสมัยอยู่

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

บรรณานุกรม

  • จะแก้น้ำกร่อยแลอหิวาตกโรค. (2431, 2 กรกฏาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 5 หน้า 72 -73
  • ประกาศตักเตือนและแนะนำวิธีป้องกันอหิวาตกโรค. (2453, 26 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 27 หน้า 2874 – 2883.
  • ประกาศแจกน้ำจืด. (2429, 29 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 3 หน้า 39.
  • ประเมิน จันทวิมล. (2515). ประวัติการควบคุมโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทย. ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพหลวงสุขเวชวรกิจ ต.ช.,ต.ม. (จรูญ ทองคง)
  • สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ. ย้อนรอยประวัติศาสตร์โรคระบาดประเทศไทย. เข้าถึงจาก https://www.hfocus.org/content/2013/09/4628

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ