Museum Core
นานาทัศนะ การปฏิวัติ 2475
Museum Core
15 ก.ค. 63 2K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

นานาทัศนะ การปฏิวัติ 2475

 

 

 

ทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการ: การปฏิวัติสยาม 2475 คือ การ “พลิกแผ่นดิน” ของขุนนางกับราษฎร


หลวงวิจิตรวาทการได้เขียนหนังสือเรื่อง การเมืองการปกครองของกรุงสยาม ขึ้นอย่างรวดเร็ว คือพิมพ์เสร็จในเดือนกรกฎาคม หรือภายในหนึ่งเดือนหลังการปฏิวัติ หลวงวิจิตรวาทการได้กล่าวคำอุทิศสดุดียกย่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และคณะราษฎรไว้เสมอกัน เขากล่าวว่ารัชกาลที่ 7 ได้ทรงประนีประนอมกับคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ระเบียบประเพณีการปกครองสยามนั้นมีวิวัฒนาการเป็นขั้น ๆ จากสมัยเก่ามาสู่สมัยกลางและสมัยใหม่ จนถึงสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาเหตุให้เกิดการ “พลิกแผ่นดิน” ขึ้น ในทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการ เหตุการณ์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีสถานะเป็นการพลิกแผ่นดิน แปลว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบพิธีการปกครอง ไม่ใช่เปลี่ยนคน ไม่ใช่ไล่เจ้าออกจากราชการทั้งหมด ไม่ได้เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่แย่งราชสมบัติ เป็นแต่ต้องเปลี่ยนระเบียบเท่านั้น ต้องถือว่าเจ้าและราษฎรธรรมดามีสิทธิและหน้าที่เท่ากัน และรัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญในการบริหารบ้านเมือง

 


ทัศนะของนักกฎหมาย: การปฏิวัติ 2475 คือ การสร้างระบอบใหม่ด้วยเจตนารมณ์ทางกฎหมาย


ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนักกฎหมายหนุ่ม 3 คน ได้เร่งรีบเขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้น ทั้งสามคนคือ เดือน บุนนาค, ไพโรจน์ ชัยนาม และหลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวานนท์) ให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วง พ.ศ. 2476-2476 กับความหมายของมันมากกว่าการอธิบายลักษณะและหลักการทางกฎหมายของระบบเก่า พวกเขากล่าวถึงระบอบเก่าแต่เพียงสั้น ๆ ส่วนลักษณะของเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเป็นการยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งมีผลในทันทีทันใดให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง การปกครองที่เกิดขึ้นแทนที่คือ มีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารอยู่สามวัน หลังจากนั้นจึงมีการถ่ายทอดอำนาจด้วยการแสดงเจตนาร่วมกันสถาปนาการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญขึ้น ข้อสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดคือ กำเนิดของรัฐธรรมนูญสยามเป็นแบบมีความตกลงกันหรือทำสัญญาร่วมกันระหว่างผู้ปกครองกับราษฎร ไม่ใช่ฝ่ายราษฎรเป็นผู้สถาปนาขึ้น หรือฝ่ายผู้ปกครองเป็นผู้มอบให้

 

 

ทัศนะของ ม.ร.ว. ทรงสุจริต นวรัตน์: การปฏิวัติ 2475 คือการเปลี่ยนรูปการปกครองในเชิงวิวัฒนาการ


ได้มีการอธิบายวิวัฒนาการการปกครองจากลัทธิปิตุราชาธิปไตยมาสู่ลัทธิปริมิตตาญาสิทธิราชย์ และมาสู่การปกครองสมัยปัจจุบันตามลัทธิรัฐธรรมนูญ ข้อสังเกตเกี่ยวกับลักษณะการปกครองส่วนกลาง ม.ร.ว.ทรงสุจริต ได้อธิบายว่าการปกครองตามลัทธิปริมิตตาญาสิทธิราชย์มีความก้าวหน้ามากกว่าลัทธิปิตุราชาธิปไตย กล่าวคือมีการแบ่งแยกหน้าที่ของขุนนาง มีพิธีกรรม คตินิยมและศาสนาความเชื่อที่สลับซับซ้อนขึ้น ส่วนสมัยปัจจุบันการปกครองส่วนกลางยึดถือหลักของลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความก้าวหน้ามากที่สุดอันเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

 


ทัศนะของนักเขียนสารคดีการเมืองและฝ่ายซ้ายไทยยุคแรก: การปฏิวัติ 2475 คือการรัฐประหาร


นักเขียนสารคดีการเมืองและนักเขียนสังกัดฝ่ายซ้ายของไทยในยุคแรก สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะมีทัศนะและแนวทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่สำหรับประเด็นปัญหาว่าด้วยสถานะของการปฏิวัติสยาม 2475 พวกเขากลับมีทัศนะที่ร่วมกันอยู่มาก กล่าวคือในประการแรกพวกเขาพิจารณาว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเพียงแค่การรัฐประหาร คือมีการโอนย้ายถ่ายเทอำนาจจากผู้นำกลุ่มหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในทัศนะร่วมกันของพวกเขาพิจารณาว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีความหมายและมีสาระสำคัญยังไม่ได้เกิดขึ้น ในประการต่อมาซึ่งเชื่อมโยงกับข้อแรก พวกเขามีความเห็นในขั้นพื้นฐานร่วมกันว่า ระบอบเก่ามีพลังตกค้างอย่างมหาศาล ซึ่งพวกนักเขียนสารคดีการเมืองเห็นว่าควรธำรงรักษาไว้ ในขณะที่พวกฝ่ายซ้ายมีความเห็นแตกต่างไปในตรงกันข้าม

 


ทัศนะของปรีดี พนมยงค์ และสานุศิษย์: การปฏิวัติ 2475 คือ การอภิวัฒน์


การปฏิวัติ 2475 มีฐานะเป็น “การอภิวัฒน์” แปลว่า “การเปลี่ยนแปลงที่สภาวะใหม่ของสังคมได้ประสานกันเข้าเปลี่ยนระบบเก่าที่ล้าหลังกว่าความพัฒนาในสภาพความเป็นอยู่ทางชีวปัจจัยของสังคม อันเป็นการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพโดยการกระทำฉับพลันหรือกระทำชุดเดียว” คำอธิบายนี้คัดค้านการอธิบายของหม่อมเจ้าวรรณไวยทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งได้ทรงอธิบายว่า การปฏิวัติสยามมีฐานะเป็นการปฏิวัติ ซึ่งแปลว่า “การหมุนกลับของหลักมูลการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง” อย่างไรก็ตามเห็นได้ชัดว่าคำว่า “ปฏิวัติ” นั้นได้รับการยอมรับถือใช้กันทั่วไปมากกว่า ส่วนความหมายของคำว่าปฏิวัตินั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

 

 

 

รัชนก พุทธสุขา

 

 

แหล่งอ้างอิง


นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2546). ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ