Museum Core
"หนังสือเล่มละบาท" อาวุธทางความคิดของหนุ่มสาว "ยุคสายลมแสดงแดด"
Museum Core
27 ก.ค. 63 16K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูณโรจน์

"หนังสือเล่มละบาท" อาวุธทางความคิดของหนุ่มสาว ยุค "สายลมแสดงแดด"

 

ย้อนกลับไปภายใต้สังคมเผด็จการก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  รัฐบาลทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง มีการจับกุมนักคิดนักเขียนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หากตีพิมพ์เนื้อหาที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงจะถูกจำคุกสูงถึง 20 ปี


ขณะที่บรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ นิสิตนักศึกษาถูกครอบงำโดยระบบโซตัส กิจกรรมเชียร์ การว้ากรุ่นน้อง บ้างก็คร่ำเคร่งกับตำรับตำราเพื่อหวังปริญญาบัตรเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล รวมถึงการมีโอกาสเป็นเจ้าคนนายคน บรรยากาศในยุคนี้ เรียกว่า "ยุคสายลมแสงแดด"


อย่างไรก็ตามมีเยาวชน คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่บางส่วน เริ่มตั้งคำถามต่อความไม่พัฒนาของการเมืองการปกครองไทย พร้อม ๆ กับตั้งคำถามต่อการเมืองภายในประเทศและการเมืองระดับโลก เกิดเป็นเครือข่าย เป็นชุมชนของนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชนจำนวนหนึ่งที่พบปะกันในทางตัวอักษร ผลิต เผยแพร่ข้อมูลและทัศนะ เป็นทางเลือกให้กับสังคมที่ถูกครอบงำด้วยข้อมูลข่าวสารของรัฐเผด็จการ โดยอาวุธหลักคือ หนังสือเล่มละบาท เร่ขายตามประตูหน้ามหาวิทยาลัย มิใช่เพียงให้นักศึกษาอ่านกันเอง แต่ต้องการสื่อสารความคิดไปยังประชาชนทั่วไปด้วย


“เรายืนขายวารสารเล่มละบาทตามประตูมหาวิทยาลัย ไม่ได้คิดว่าเราจะทำกำไรจากจากการทำหนังสือ เราเพียงต้องการแสดงศักยภาพของคนหนุ่มสาว ต้องการแสดงทัศนะ และบอกต่อสังคมถึงการมีอยู่ของคนเช่นเรา” (เรืองรอง รุ่งรัศมี 2541)

 

สมัยนั้นการจะทำหนังสือต้องขออนุญาตสันติบาล ห้ามออกชื่อใหม่ หนังสือเล่มละบาทจึงออกจำหน่ายเป็นรายสะดวก เนื้อหาภายในประกอบด้วย บทความวิชาการ บทกวี เรื่องสั้น บางเล่มเป็นบทความวิชาการล้วน ๆ  อย่างไรก็ตามทั้งหมดเป็นการสะท้อนถึงความต้องการมีสังคมใหม่ที่ดีกว่า โดยมีลักษณะร่วมคือ การวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสถานการณ์ร่วมสมัย และมีแนวคิดที่แหวกแนวน่าสนใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แม้ว่าแนวคิดอุดมการณ์จะไม่ตรงกันเสียทั้งหมด แต่ก็พุ่งเป้าไปที่การต่อต้านเผด็จการทหารและเรียกร้องประชาธิปไตย กลุ่มอิสระที่ทำหนังสือเล่มละบาทออกจำหน่าย และส่งผลทางความคิดต่อสังคมในวงกว้างในยุคนั้น อาทิ


เจ็ดสถาบัน เป็นทั้งชื่อหนังสือเล่มละบาทและชื่อกลุ่ม ตั้งชื่อจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย 7 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 แต่ออกได้เพียง 3 ฉบับก็ถูกห้ามพิมพ์เผยแพร่  เนื้อหาของหนังสือแสดงทัศนะถึงการต่อต้านสงครามเวียดนาม วิพากษ์มหาวิทยาลัยทั้งเรื่องการเรียนการสอน และระบบอาวุโส หนังสือเล่มละบาทเล่มแรกนี้จุดประกายให้นิสิตนักศึกษา กลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยทั้งหลาย ต่างทำหนังสือเล่มละบาทออกมาอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา


กลุ่มสภาหน้าโดม จากรั้วธรรมศาสตร์ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2513 ออกหนังสือชื่อ "ภัยขาว" (10 มีนาคม 2514) เป็นบทความวิชาการที่ต่อต้านมหาอำนาจ ต่อต้านสงครามเวียดนาม


กลุ่มวลัญชทัศน์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกหนังสือชื่อ "ภัยเขียว" (ก.ย.-พ.ย. 2514) มีเนื้อหาโจมตีระบอบเผด็จการทหาร "ถนอม-ประภาส" (จอมพล ถนอม กิตติขจร และ จอมพล ประภาส จารุเสถียร)

 

กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำหน่ายหนังสือเล่มละบาท วิพากษ์วิจารณ์สังคมโซตัสและสภาพการเรียนการสอน รวมทั้งท้าทายระบบค่านิยมเรื่อง “อาวุโส” รุ่นพี่รุ่นน้อง

 

กลุ่มสภากาแฟ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกหนังสือ “ภัยเหลือง” วิพากษ์บทบาทการครอบงำเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทั้งยังมีการรณรงค์ให้นักศึกษาใส่เสื้อผ้าฝ้ายดิบที่ผลิตในประเทศจนกลายเป็นแฟชั่นนักศึกษาในยุคนั้นด้วยโดยกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่น


กลุ่มความรับผิดชอบของแพทย์ต่อสังคม จากมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำหนังสือ "ศิริราช" นำบทกวี  "เปิบข้าว" ของจิตร ภูมิศักดิ์ มาเผยแพร่

 


กลุ่มศิลปและวรรณลักขณ์ จากประสานมิตร ออกหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทกวี “ใต้เส้นระนาบ” (2516)


ชมรมคนรุ่นใหม่ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” เพื่อเผยแพร่ทัศนะความคิดใหม่ให้กับเพื่อนนักศึกษา วิจารณ์การบริหารงานในมหาวิทยาลัย และมีบทกวีวิจารณ์การต่ออายุราชการจอมพลถนอม และกรณีข้าราชการนำเฮลิคอปเตอร์ของหลวงไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรฯ และรัฐบาลมีท่าทีให้ท้าย จึงถูกตั้งชื่อว่า "พรานบรรดาศักดิ์"  นำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


นอกจากกลุ่มอิสระในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีกลุ่มในระดับนักเรียนอีกด้วย เช่น


ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ออกหนังสือ "กด กด กด กด" เนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่าง “คนรุ่นเก่า” และ “คนรุ่นใหม่” เผยแพร่ในหมู่นักเรียนและประชาชนทั่วไป หนังสือถูกนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร จนตำรวจสันติบาลออกตามหาคนทำหนังสือเล่มนี้


กลุ่มยุวชนสยาม เป็นกลุ่มนักเรียนหัวก้าวหน้าที่เกิดจากการรวมตัวของนักกิจกรรมจากโรงเรียนต่าง ๆ เมื่อปี 2515 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากครูโกมล คีมทอง จัดค่ายพัฒนาคนมากกว่าพัฒนาด้านวัตถุ (ค่ายฝึกกำลังคน) ทำหนังสือ "ยุวทัศน์" กลุ่มสนทนา และร่วมประท้วงในหลายเหตุการณ์ หลัง 14 ตุลา


ท่ามกลางแห่งยุคสายลมแสงแดด ยังมีหนุ่มสาวนักแสวงหา หัวก้าวหน้าผลิตหนังสือเล่มละบาท เพื่อเป็นเครื่องมือเคลื่อนไหว ติดอาวุธทางความคิดให้กับผู้คนในสังคมเพื่อร่วมกันต่อต้านเผด็จการทหาร จากประวัติศาสตร์จะเห็นว่าถ้าบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และเกิดความไม่เป็นธรรม เมื่อนั้นเยาวชนคนรุ่นใหม่จะออกมาแสดงบทบาท ซึ่งอาวุธทางความคิดจะไม่ใช่หนังสือเล่มละบาทอีกอย่างแน่นอน แต่เป็นอาวุธใหม่ในโลกโซเซียลมีเดียที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา

 

 หนังสือเล่มละบาท อาวุธทางความคิดในยุคสายลมแสงแดด, สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์, มิวเซียมสยาม, Museum's Core

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 


บรรณานุกรม


ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2544). 88 ปีหนังสือนักศึกษา ชีวประวัติหนุ่มสาวสยามฉบับลายลักษณ์. จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 5 (มิถุนายน 2543 – พฤษภาคม) เข้าถึงจาก http://archives.library.tu.ac.th/%e0%b8%88%e0%b8%b8%e0%b8%a5%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%88%e0%b8%94%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%95%e0%b8%b8-%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b4-5/


ไพศาล วิสาโล, พระ. (มกราคม 2551). ความหลังครั้งเป็นยุวชนสยาม. เข้าถึงจาก http://www.visalo.org/article/paja255101.htm

รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล. (6 ตุลาคม 2557). ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ :แด่ 6 ตุลาฯ อันเงียบเหงา “รื้อ -เล่า ”ประวัติศาสตร์. เข้าถึงจาก https://www.isranews.org/isranews-article/33397-thanet.html


รังสรรค์ ธนพรพันธุ์. ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์เป็นคณบดี. เข้าถึงจาก
http://www.rangsun.econ.tu.ac.th/data/16/16-01-%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%8B%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20%E0%B8%AD%E0%B8%B6%E0%B9%8A%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%81%E2%80%A6.pdf


วีระศักดิ์ กีรติวรนันท์. ศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย (ศรท.). เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท. เข้าถึงจาก https://www.academia.edu/37498491/%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3_14_%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A5%E0%B8%B2_%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A_%E0%B8%9E%E0%B8%84%E0%B8%97._%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B8%B4_%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5


สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (21 ตุลาคม 2557). 14 ตุลากับวัฒนธรรมหนังสือ. เข้าถึงจาก https://prachatai.com/journal/2014/10/56119

 

สุรชาติ บำรุงสุข. (4 ตุลาคม 2559). 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (2) สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย. เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_10128

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ