Museum Core
เงินสร้าง พระบรมรูปทรงม้า มาจากแหล่งใด ?
Museum Core
08 ส.ค. 63 1K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิ์จรูญโรจน์

เงินสร้าง พระบรมรูปทรงม้า มาจากแหล่งใด ?

 

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า ที่ประดิษฐาน ณ พระลานพระราชวังดุสิต นับเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกในประเทศไทย รวมทั้งเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นยังมีชีวิต

 

เดิมเชื่อกันว่าพระบรมรูปทรงม้าเกิดขึ้นจากประชาชนร่วมกันสร้างถวายในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่ทรงครองราชย์ยาวนานกว่ากษัตริย์องค์ใดก่อนหน้าพระองค์ แต่ไกรฤกษ์ นานา ได้แสดงหลักฐานหักล้างความเชื่อเดิมโดยเสนอว่า การสร้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 อยู่ก่อนแล้ว

 

ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงพระยาสุขม (ปั้น สุขุม) เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2450 มีใจความว่าจะนำ...

 

 “เงินที่ข้าราชการเรี่ยรายในการทำบุญแซยิดอายุครบ 50 อันมีเหลืออยู่นั้น ก่อสร้างเป็นซุ้มประตู ที่ต้นถนนเบญจมาศ อันต่อกับถนนดวงตะวันและถนนราชดำเนินนอก เพื่อเป็นซุ้มประตูสำหรับวังสวนดุสิต ....มาภายหลังพระยาสุริยาคิดเห็นว่าน่าจะหล่อพระบรมรูปทรงม้า ตั้งบนหลังซุ้มนั้น แต่ไม่มีโอกาสจะได้ทำรูป ก็ระงับมาอีก”

 

จึงทำให้ทราบว่าพระบรมรูปทรงม้านี้ เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 เริ่มดำเนินการอย่างเงียบๆ เพื่อสร้างพระบรมรูปที่ “กำลังทรงม้า” เพื่อทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าพระราชวังดุสิตที่สร้างขึ้นใหม่ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวความคิดนี้ คือ พระยาสุริยานุวัตร์ และพระองค์ก็เห็นชอบด้วย ทั้งนี้มีพระราชประสงค์ใช้เงินบริจาคที่เหลือจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ พรรษา (ทำบุญแซยิดครบ 50 พรรษา) ที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2446

 

จากนั้นเมื่อพระองค์ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระองค์จึงสานต่อโครงการสร้างพระบรมรูปทรงม้า โดยหาโรงหล่อและเสด็จไปประทับเป็นแบบให้ปั้น และเมื่อการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าคืบหน้าขึ้นโดยลำดับ คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกโดยมีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (รัชกาลที่ 6) เป็นองค์ประธานการจัดงานจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตเรี่ยไรจากราษฎรทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศให้บริจาคตามกำลังทรัพย์ เพื่อนำเงินทูลเกล้าฯถวายเป็นการเฉลิมพระขวัญ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำชับว่าให้เป็นไปตามความสมัครใจ จะจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ทว่ามีเงินบริจาคเป็นจำนวนมากถึง 1 ล้าน 2 แสนบาท ซึ่งเกินงบประมาณ เงินที่เหลือไปก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พระบรมรูปทรงม้า หล่อด้วยโลหะสำริด มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของพระองค์จริง ฉลองพระองค์ด้วยเครื่องยศจอมพลทหาร ประดับบนม้าพระที่นั่ง พระหัตถ์ขวาพาดอยู่บนหลังม้า ทรงถือคฑาจอมทัพช้างสามเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงรั้งบังเหียน มีกระบี่ห้อยอยู่ทางด้านซ้าย ในสมัยนั้นนิยมเรียกว่า ตุ๊กตาทองแดง

 

และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีสมโภชพระบรมราชานุสาวรีย์ เป็นประธานเปิดพระบรมรูปด้วยพระองค์เอง พระบรมรูปทรงม้า ถูกประดิษฐาน ณ ลานพระราชวังดุสิต ตรงตําแหน่งซุ้มประตูที่ทรงตั้งพระทัยไว้

 

ด้วยเหตุนี้ เงินที่นำมาสร้างพระบรมรูปทรงม้านั้น ได้มาจากสองคราว คือ

(1) คราวที่หนึ่งมาจากเงินบริจาคที่เหลือจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา และ

(2) คราวที่สองมาจากเงินที่เรี่ยไรจากประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติยาวกนานกว่า 40 ปี

 

หลังจากวันเปิดพระบรมรูปทรงม้าครบรอบ 1 ปี มีงานสมโภชฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 และมีความคิดว่าจะให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เป็นประจำต่อเนื่องไปทุกปี เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

 

“ด้วยราษฎรพ่อค้าโดยมากด้วยกันคิดเห็นว่า พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประชาชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันสร้างขึ้นไว้ที่พระลานพระราชวังสวนดุสิตแต่ศกหลังนั้น นับว่าเปนสง่าราศีของบ้านเมืองอย่างยิ่ง ก็แลการที่ได้พร้อมกันออกทรัพย์สร้างพระบรมรูปขั้นไว้นี้ ก็ด้วยความจงรักภักดีแลรฤกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นเครื่องหมายความกตัญญูกตเวที ที่พระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงอาณาประชาราษฎรให้ได้ความศุขสำราญ พระบรมรูปได้ประดิษฐานมาแล้วบรรจบครบรอบปีในเดือนพฤศจิกายน ร.ศ.128 นี้ …แลควรมีการมหรสพสำหรับไปเที่ยวเตร่กันเล่นให้เป็นที่รื่นเริงสนุกสบาย เปนงานนักขัตตฤกษ์ประจำปีของประชาชนทั้งหลาย”

 

อย่างไรก็ตามในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนทั่วไปถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเพื่อแสดงความจงรักภักดี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในปีถัดมาจึงทรงเปลี่ยนเป็นวันที่ 23 ตุลาคม และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

 เงินสร้างพระบรมรูปทรงม้ามาจากแหล่งใด

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์ 

 

 


บรรณานุกรม

 

 

การสมโภชพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งราษฎรพ่อค้าได้จัดทำที่หน้าพระลานพระราชวังสวนดุสิต เมื่อวันที่ 15-16-117 พฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ ศก 128. (2452, 30 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 26 หน้า 2128.

 

ไกรฤกษ์ นานา. (11 พฤศจิกายน 2562). หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้างพระบรมรูปทรงม้า ร.5 เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_8497

 

โกวิทย์ นามแก้ว. (2556). พระบรมรูปวีรกษัตริย์ทรงช้างและม้า. ศิลปนิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ (ทฤษฎีศิลป์) คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

บัณฑิต จุลาลัยและรัชดา โชติพานิช. (18 มีนาคม 2561). พระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_878351

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ