Museum Core
ความเป็นมาของการจัดซุ้มไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษา
Museum Core
11 ส.ค. 63 530

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ความเป็นมาของการจัดซุ้มไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษา

 

การประดับไฟเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เริ่มมีเป็นครั้งแรกหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากการประพาสต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยในปีเดียวกันนั้นเองเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาใกล้เข้ามา พระองค์ทรงคิดจะจัดงานฉลองพระชนมพรรษา (การฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา) และเฉลิมพระชนมพรรษา (บำเพ็ญพระราชกุศล-ทำบุญวันเกิด) ไว้ในคราวเดียวกัน

 

และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวโรกาสพิเศษดังกล่าว จึงมีแนวความคิดจะ “ตกแต่งฟืนไฟ” ที่เคยเห็นจากประเทศสิงคโปร์ ประเทศชวา นำมาประดับตกแต่งในพระบรมมหาราชวัง  ดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

 

"ในครั้งนั้นเป็นเวลาที่เลียนธรรมเนียมฝรั่งใหม่ ๆ ได้ไปเห็นเขาตกแต่งฟืนไฟกันในการรับรองที่สิงคโปร์บ้าง ที่ปัตเตเวียบ้างพวกที่ไปด้วยกัน และพวกที่มีความจงรักภักดี อยากจะช่วยตกแต่งในการทำบุญนั้นให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนานเหมือนอย่างที่เคยไปเห็นมา และจะให้เป็นที่ชอบใจข้าพเจ้าด้วย จึงได้มีผู้มารับเป็นเจ้าหน้าที่ จะตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวังให้เป็นการสนุกสนาน”

 

แต่ปรากฏว่ามีประกาศห้ามการตกแต่งฟืนไฟในพระบรมมหาราชวัง เมื่อถึงวันงานมีผู้ลักลอบไปจุดไฟในลำแม่น้ำและตามถนนหนทาง เข้าใจว่าเป็นพวกคนหนุ่ม ๆ ในวังที่ถูกห้ามนั่นเอง

 

“การตกแต่งฟืนไฟเป็นซุ้มหรือการจุดไฟนั้นได้ทำติดต่อกันยาวถึง 5 – 6 วัน ฝรั่งต่างชาติก็พลอยจุดตามไปด้วย เมื่อมีผู้จุดมากขึ้นจึงพระราชทานเหรียญรางวัลให้แก่บรรดาผู้ซึ่งแต่งซุ้มไฟในวังเป็นรางวัลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นที่เอิกเกริกสนุกสนานและได้รับความนิยมในหมู่ราษฎรมากขึ้นเรื่อย  …การแต่งซุ้มไฟครั้งแรกนั้นเป็นการเอิกเกริกสนุกสนานอย่างยิ่ง ที่ราษฎรไม่เคยเห็นงดงามเช่นนั้น ความนิยมเต็มใจในการแต่งไฟก็มีขึ้นในวันหลังๆ มากขึ้นทุกวัน”

 

เมื่อพระองค์ทรงทราบก็ทรงตรัสขอบใจผู้ที่แสดงความจงรักภักดี ด้วยการจุดไฟในการเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างพร้อมเพรียงกันโดยพระองค์ไม่ได้ทรงร้องขอแต่ประการใด “เพราะฉะนั้นการจุดไฟในงานเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เกิดขึ้นโดยความเต็มใจของคนทั้งปวงแท้ ไม่ได้มีขอร้องอย่างหนึ่งอย่างใดเลย จนถึงทุกวันนี้ก็เป็นนักขัตฤกษ์อย่างหนึ่ง ซึ่งคนทั้งปวงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่หรือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำเหมือนอย่างตรุษสงกรานต์...”

 

กำหนดการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาในแต่ละปีอาจไม่ตรงกัน อาจเป็นสี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง ขึ้นอยู่กับหมายสงกรานต์หรือหมายที่ลงในราชกิจจานุเบกษาของปีนั้น ๆ อย่างไรก็ตามมักจะอยู่ในช่วงวันที่ 19 -21 กันยายน

 

อย่างไรก็ตามมีการแต่งประทีปในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 5 คืน  ส่วนนอกพระบรมมหาราชวังมีการตกแต่งเป็นเวลา 3 คืน  ในคืนวันที่ 21 กันยายนของทุกปีพระองค์จะทรงเสด็จพระราชดำเนินตามลำน้ำโดยเรือไฟลำเล็กๆ  เพื่อทอดพระเนตรการจัดซุ้มไฟที่จัดถวาย หรือ อาจเป็นพุ่มพะเนียงกรวดตะไลดอกไม้เทียนต่างสี บ้างก็จุดพลุแทนการยิงปืนสลุตจำนวน 21 นัด

 

ต่อมาเมื่อสยามเริ่มมีระบบกระแสไฟฟ้า ก่อนที่จะถูกนำไปใช้เพื่อความสว่างไสวยามค่ำคืนหรือใช้ในการคมนาคมด้วยรถรางไฟฟ้า การจ่ายกระแสไฟฟ้าครั้งแรกเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยในปี พ.ศ. 2427 “เจ้าหมื่นไวยวรนารถ” (ต่อมาคือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี – เจิม แสงชูโต) ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากประเทศอังกฤษ นำมาจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นการไฟฟ้าของไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 20 กันยายน ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นต้นแบบการประดับไฟเฉลิมพระเกียรติจนถึงปัจจุบันนี้ (เปลี่ยนจากการประดับด้วยฟืนไฟ พะเนียง จุดพลุเป็นประดับไฟด้วยระบบกระแสไฟฟ้า)

 

เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาเวียนมาบรรจบคราใด บรรดาหน่วยราชการ ห้างร้าน บ้านเรือนของประชาชนทั่วไปมักประดับธงชาติคู่กับธงอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รวมทั้งตกแต่งซุ้มและประดับไฟตามสถานที่ต่าง ๆ และถนนสายหลักทั่วประเทศ 

 

และถนนแห่งความทรงจำเกี่ยวกับการประดับไฟวันเฉลิมฯ คงหนีไม่พ้น “ถนนราชดำเนิน”  พนิต กุลศิริ “ภัณฑารักษ์วัยเก๋า เล่าเรื่องราชดำเนิน” แชร์ความทรงจำในส่วนนี้ว่า “เท่าที่จำได้คือตอนเด็ก ทุกปีที่ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พ่อบ้าง ยายบ้าง แม่บ้าง จะพาเด็กๆ นั่งรถดูไฟที่ประดับอยู่ข้างถนน เดี๋ยวนี้รถติดมาจนทำไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่นึกถึงตอนที่ไปดูไฟที่ประดับ ก็นึกถึงความรักของพ่อแม่และยาย และความสนุกที่ได้รับตอนนั่งรถไปด้วยกัน” 

 

เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีความหลังในทำนองเดียวกันนี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ”กิจกรรมดูไฟวันเฉลิมฯ” ที่เคยฝังลึกเป็นความทรงจำอันหอมหวานของใครหลายคนกำลัง “ล่องลอย” จางหายไปตามกาลเวลา

 

 

 

 สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย. อ่านออนไลน์

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. อ่านออนไลน์

พนิต กุลศิริ. “ภัณฑารักษ์วัยเก๋า เล่าเรื่องราชดำเนิน”

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ