Museum Core
ทำไมต้องเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
Museum Core
15 ส.ค. 63 3K

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

ทำไมต้องเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

 

 


การใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง คำถามที่หลายคนอาจจะถามว่า ทำไมต้องเป็นราชดำเนิน และโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีพื้นที่ตั้งมากมายทำไมไม่ไป


ศ.ดร. ชาตรี ประกิทนนทการ เคยกล่าวไว้ในงานเสวนาน “สถาปัตย์ฯ ราชดำเนิน” ในหัวข้อ “บนถนนราชดำเนิน : สัญญะในความทรงจำ และอำนาจ” เมื่อวัน ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ว่า

 

“ผมคิดว่า ด้วยการเป็นพื้นที่ทางกายภาพที่รวมศูนย์อาคารราชการทั้งหมดเอาไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ก็ยังมีอาคารราชการเกิดขึ้นมากมายตามแนวถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นย่อมเป็นพื้นที่ที่ดีในการส่งเสียงของประชาชนให้กับผู้นำได้ยิน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ถนนราชดำเนินเป็นที่รู้จักกันในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ถนนทางการเมือง ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นเส้นสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่”

 

“อีกทั้งกายภาพของพื้นที่ก็เอื้อให้กับการแสดงความต้องการหรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดของถนนที่ใหญ่ ตึกรามบ้านช่อง การเป็นศูนย์กลางของหน่วยราชการ เอื้อให้กับการเดินขบวนเรียกร้องทั้งหลายทั้งปวง บ่มเพาะให้ถนนราชดำเนินในอีกด้านหนึ่ง เป็นถนนทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ตั้งแต่ระดับประเด็นเล็กไปจนถึงประเด็นใหญ่ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

 

คนทั่วไปมักมีภาพจำว่า เหตุการณ์  ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ คือจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องประชาธิปไตย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งนี้ ด้วยความที่เหตุการณ์ดังกล่าว มีประชาชนเรือนแสนออกมาสำแดงพลัง

 

ภาพหนังวือพิมพ์รายงานข่าวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

แต่ ศ.ดร. ชาตรี ประกิทนนทกา ได้กล่าวว่า จริง ๆ แล้วตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ใหม่ ๆ ถนนราชดำเนินได้กลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทั่วไปในระบอบใหม่ ได้ออกมาเดินขบวนเรียกร้องในสิ่งที่เป็นความต้องการของตนเองก่อนหน้าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ พ.ศ. ๒๕๑๖ ยาวนานมาก ยกตัวอย่างที่สำคัญ ๆ เช่น

 

การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนในปี ๒๔๘๓ เหตุการณ์ครั้งนั้นส่วนใหญ่คนทั่วไปจะเห็นภาพจำแค่เฉพาะตอนที่จอมพลป. พิบูลสงคราม ยืนอยู่บนระเบียงหน้ากระทรวงกลาโหม และมีนักศึกษา ประชาชน อยู่ด้านล่าง แต่จริง ๆ แล้วขบวนมหาชนตรงนั้นได้เดินมาบริเวณถนนราชดำเนินกลาง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย อาจะจะเป็นครั้งแรก ๆ หลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ก็ได้ที่ทำให้คนกลุ่มใหม่อย่างประชาชน หรือราษฎร ได้มาแสดงออกบนพื้นที่นี้ 

 

อีกครั้งที่สำคัญก็คือการเดินประท้วงของประชาชนใน “การเลือกตั้งสกปรก ปี ๒๕๐๐” จากภาพถ่ายเก่าเราจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีประชาชนออกมาเดินบนถนนราชดำเนินจำนวนมหาศาล และยังไม่นับการเดินขบวนเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์แต่ว่าไม่ได้อยู่ในตำราประวัติศาสตร์อีกหลายครั้งมาก 

 

ในงานเสวนาครั้งนั้นวิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง ได้กล่าวเสริมว่า นอกจากนั้นแล้วในโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์พันทิปดอทคอมก็ได้มีห้องสนทนาการเมือง ก็ใช้ชื่อว่า ห้องราชดำเนิน ยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่า ราชดำเนินเป็นเหมือนพื้นที่ในการถกเถียงทางการเมือง ซึ่งก็เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ด้วย

 

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ราชดำเนินเป็นถนนสำคัญของการเรียกร้องทางการเมือง แต่ความเป็นเมืองก็คล้ายสิ่งมีชีวิต เมืองมีการเติบโต เมืองมีความเปลี่ยนแปลง ผู้คนในเมืองก็เปลี่ยน ผู้คนที่ใช้สอยพื้นที่เหล่านี้ก็เปลี่ยน พื้นที่การเมืองก็เปลี่ยนเช่นเดียวกัน จากเดิมที่ใช้ราชดำเนินก็ได้เปลี่ยนไปเป็นแยกราชประสงค์และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าบทบาทในทางการเมืองของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนินอาจจะเริ่มลดลงแล้วเมื่อการประท้วงได้เริ่มย้ายไปที่อื่น นั่นก็คือภาพสะท้อนว่าเมืองได้ขยายไปยังจุดอื่น ๆ เพราะศูนย์กลางอำนาจไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่เกาะรัตนโกสินทร์อีกแล้ว

 

ภาพรวมของโซนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในนิทรรศการ ล่องรอยราชดำเนิน นิทรรศการผสานวัย ประกอบด้วยวัตถุจัดแสดง และภาพวาดผลงานของภัณฑารักษ์วัยเก๋า 

 

ศ.ดร. ชาตรี ประกิทนนทการ ให้ความเห็นต่อไปว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อนุสาวรีประชาธิปไตยมีบทบาทลดลงในการเป็นสถานที่เรียกร้องประชาธิปไตยหรือการชุมนุมทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการจัดการของรัฐโดยวิธีที่เรียกว่า “Beautification” คือกระบวนการสร้างหรือการพัฒนาเมืองในด้าน Visual (เกี่ยวกับการมองเห็น) ให้มีความสวยงาม สะอาด ปลอดภัย มาใช้ในการวางผังเมือง ซึ่งคนทั่วไปมักไม่คัดค้าน ไม่ตั้งคำถาม เพราะฟังดูก็เป็นสิ่งที่ดี   แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่อยากชวนให้ขบคิดก็คือ เวลาเราพูดถึงคำว่า "สะอาด" "ปลอดภัย" "สวยงาม" นั้น เป็นความสะอาดสำหรับใคร เป็นนิยาม "ความสวยงาม" ของใคร และปลอดภัยสำหรับคนกลุ่มไหน

 

เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ได้เผยโอกาสให้ประชาชนออกมาแสดงสิทธิ์และเสียง ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมีลักษณะที่เป็นคู่ตรงกันข้ามกับความต้องการของรัฐ บนถนนราชดำเนิน จึงเกิดกระบวนการที่สำคัญก็คือ การลดทอน หรือทำลาย ความเป็นการเมืองของถนนหรือพื้นที่สาธารณะนั้น ๆ เพื่อควบคุมให้การต่อต้านรัฐให้เบาบางลง ซึ่งกระทำได้หลายอย่างด้วยวิธี เช่น การรื้ออาคาร การรื้ออนุสาวรีย์ การจำกัดผู้คนบ้างด้วยการเอารั้วมาล้อม เป็นต้น 

 

สำหรับกรุงเทพ Turning point (จุดเปลี่ยน) ที่สำคัญ คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เกิดคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น บนสมมุติฐานที่ว่า เมืองเก่ามีลักษณะเสื่อมโทรมและแออัดมากเกินกว่าที่จะรองรับผู้คนได้อีก จึงจำเป็นต้นทำเมืองให้สวยงาม ส่วนหนึ่งก็คือ Beautification แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยมีถนนราชดำเนินเป็นเป้าหมายสำคัญ  จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในทัศนะของ ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ คือ เหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ [ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก และจบลงด้วยการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง] ทำให้เกิดโครงการพัฒนาภูมิทัศน์ถนนราชดำเนิน นับเป็นต้นแบบของการทำถนนให้คล้ายกับฉากถ่ายภาพรูป เช่น สร้างน้ำพุ ประดับวงเวียนด้วยดอกไม้ รวมถึงฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  แต่อีกด้านหนึ่งควรมองโครงการเหล่านี้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ซึ่งทำให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่มีกลุ่มนักศึกษาไปยืนตะโกน “สวนสวยจริง ๆ สวนสวยจริง ๆ” อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และให้คะแนนการจัดสวน "0 คะแนน"  ซึ่งหมายความว่าเป็นการสูญเปล่านั่นเอง

 

พนักงานดูแลสวนสาธารณะ กรุงเทพมหานคร ผู้ต้องปรับตัวกับนโยบายการพัฒนาเมืองโดยตรง ขอเชิญชวนมาเล่น "ล่องรอย" (ล่องไปตามรอย) ชีวิตของ "คนสวน" กทม. บนถนนราชดำเนิน ได้ที่นิทรรศการ

 

ดังนั้นจะเห็นว่า แม้แรกสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจะออกแบบมาโดยใส่ความหมายเกี่ยวโยงถึงประชาธิปไตยแทบทุกจุด เช่น ออกแบบให้มีรัฐธรรมนูญประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า, ครีบสี่ด้านที่สูงจากแท่นพื้น ๒๔ เมตร หมายถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ปืนใหญ่จำนวน ๗๕ กระบอก หมายถึงปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือปี ๒๔๗๕, ภาพแกะสลักลายปั้นนูนที่ทำให้อนุสาวรีย์มีเรื่องราวของประชาชน และอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ประชาธิปไตย แต่การใช้สถานที่แห่งนี้อย่างที่คณะราษฎรผู้สร้างปรารถนายังไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที หากแต่ความหมายมาบังเกิดเพราะผู้คนที่มาร่วมกันสร้างความหมายดังที่ ศ.ดร. ชาตรี ประกิทนนทการ ได้กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นความหมายของประชาธิปไตยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อาจจะไม่ใช่แค่ “พื้นที่” หากแต่ว่าเป็น “ผู้คน” ที่ได้มาร่วมกันให้ความหมาย 

 

 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในความหมายอื่น

 

หากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในความหมายพื้นที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผู้คนร่วมกันให้ความหมาย แล้วผู้คนได้ให้ความหมายอื่น ๆ ไว้กับอนุสาวรีย์แห่งนี้หรือไม่? แน่นอนว่ามี

 

ในอีกความหมายหนึ่ง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็น “แลนด์มาร์ค” ของประเทศไทย ไม่ว่าใครมาถึงเมืองไทยก็ต้องมา “เช็กอิน” ที่นี่ ไม่เว้นแม้แต่การโฆษณาสินค้าหรือภาพยนตร์ ก็ใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นฉากหลังอยู่บ่อย ๆ ดังเช่น ภาพยนตร์ “หนุมานพบ ๕ ไอ้มดแดง” ฉาย พ.ศ. ๒๕๑๘ ที่มีฉากในภาพยนตร์เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ เราก็จะเห็นภาพรถบรรทุก “โคคา โคลา” ที่ถ่ายกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นการบอกกล่าวอย่างเป็นทางการว่า “โคคา โคลา” มาถึงไทยแล้ว, หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์เก่าที่เคยลงข่าวเกี่ยวกับสุภาพสตรีที่ชื่อว่า โดโรธี เบอร์ตัน สุภาพสตรีอายุ ๖๘ ปี ขับรถโฟคส์วาเกน (Volkswagen) เดินทางไกลตามลำพังมาจากเยอรมนี และผ่านประเทศไทย โดยเธอและรถของเธอก็ถ่ายภาพคู่กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, หรือแม้แต่ซุปเปอร์สตาร์ของเอเชียอย่าง “เติ้งลี่จวิน” เจ้าของเสียงร้องเพลง “เถียนมี่มี่” เดินทางมากรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๔ ก็ถ่ายภาพคู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นกัน  ซึ่งภาพเช็คอินประเทศไทยเหล่านี้มีให้ชมในนิทรรศการ "ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย"

  

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในความหมายอื่น เติ้งลี่จวิน ซูเปอร์สตาร์แห่งเอเชียก็ถ่ายภาพกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อครั้งมาเยือนเมืองไทยในปี 2518

 

 ... ท้ายที่สุดแล้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะมีการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมด้วยการจงใจใส่ความหมายเรื่องประชาธิปไตยลงไปอย่างมากมาย แต่ความหมายของอนุสาวรีย์ ก็หาได้บรรลุดังความปรารถนาของผู้ออกแบบ/ผู้สร้างไม่  หากความหมายนั้นเลื่อนไหลได้ ตามเหตุการณ์และประสบการณ์ของผู้คนที่จะมองและให้คุณค่ากับอนุสาวรีย์อย่างไร 

 

 

 

กล่าวสำหรับความหมายของ "ประชาธิปไตย" หากพิจารณาจากเหตุการณ์ชุมนุมที่อนุสาวรีย์แห่งนี้ ก็ดูเหมือนว่า ประชาธิปไตยของคนไทยมีหลายความหมายเหลือเกิน

 

 

 

 

รัชนก พุทธสุขา

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง

 

งานเสวนาน “สถาปัตย์ฯ ดำเนิน” ในหัวข้อ “บนถนนราชดำเนิน : สัญญะในความทรงจำ และอำนาจ” โดย ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ วัน ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

 

งานเสวนาน “สถาปัตย์ฯ ดำเนิน” ในหัวข้อ “สถาปัตยกรรมฝรั่งในสมัยสยามศิวิไลซ์” โดย ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง วัน ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ณ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ