“อยากเล่าราชดำเนินผ่านผัสสะทั้งหมดที่มี ผ่านมุมมอง ผ่านศิลปะที่ตนเองคุ้นเคยและเติบโตมา การได้ดำดิ่งกับบรรยากาศที่ทำให้นั่งวาดภาพได้เป็นชั่วโมง แม้ขณะนั้นยังเป็นนักเรียนเพาะช่าง มีทุนจำกัด ต้องใช้วัสดุใกล้ตัว เช่น การ์ดหรือกิ่งไม้ ต่างเกรียงปาดสีน้ำมัน”
เขตนิธิ สุนนทนาม
ภัณฑารักษ์วัยเก๋า
บทความนี้ขอแนะนำหนึ่งในภัณฑารักษ์วัยเก๋าของนิทรรศการ "ล่องรอย ราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย" คือ พี่ตึ๋ง หรือ คุณเขตนิธิ สุนนทนาม
เหตุผลสั้น ๆ ที่กระชับแต่ได้ใจความของพี่ตึ๋งที่สมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการ ภัณฑารักษ์วัยเก๋า เล่าเรื่องราชดำเนิน ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ก็คือ “อยากพบปะพูดคุยกับคนในสังคมใหม่ ๆ” และประสบการณ์ที่พี่ตึ๋งมีต่อราชดำเนินคือ การวาดรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง วัดราชนัดดา โรงหนังเฉลิมไทย เมื่อครั้งเป็นนักเรียนเพาะช่าง และประสบการณ์ที่ว่านี้ส่งให้พี่ตึ๋งผ่านการคัดเลือก 1 ใน 16 คน
ในช่วงโค้งสุดท้ายของการอบรม พี่ตึ๋งนำเสนอ "My ราชดำเนิน" ผ่านการจัดนิทรรศการเล็ก ๆ ชื่อว่า “ราชดำเนินยามค่ำคืน” ด้วยการรื้อฟื้นความทรงจำ อารมณ์ ความรู้สึกจากประสบการณ์ที่สมัยเรียนอยู่ที่เพาะช่าง ด้วยภาพวาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในยามค่ำคืน ที่วาดขึ้นใหม่ด้วยเทคนิคสีอะคริลิค โดยใช้การ์ดบัตรสมาชิกที่หมดอายุแทนเกรียงปาดสี เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาสมัยเรียนที่เพาะช่างที่ใช้อุปกรณ์วาดรูปจากของเหลือใช้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นกิ่งไม้ นิ้วมือ รวมถึงฝุ่นที่อยู่ข้างถนนมาทำ Texture เพื่อสร้างสรรค์งานส่งอาจารย์ นิทรรศการเล็ก ๆ นี้มีการเติมองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น นำโมเดลรถตุ๊ก ๆ มาจัดวาง พร้อมกับมีไฟประดับประดา ทำให้ได้บรรยากาศราชดำเนินในยามค่ำคืนจริง ๆ และยังช่วยเสริมนิทรรศการเล็ก ๆ นี้ให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
(พี่ตึ๋ง ขณะสร้างสรรค์ผลงานด้วยวัสดุเหลือใช้ใกล้ตัว)
(My ราชดำเนิน: ราชดำเนินยามคำคืน)
หลังจากการอบรมเสร็จสิ้นลง พี่ตึ๋งยังคงมาร่วมสุมหัวกับน้อง ๆ ทีมงาน "่ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย" อย่างสม่ำเสมอ และได้การวาดภาพขึ้นมาใหม่อีก 1 ภาพ รวมเป็น 3 ภาพ เพื่อประกอบนิทรรศการ ช่วยเสริมประวัติศาสตร์ความทรงจำที่มีต่อแลนด์มาร์คนั้น ๆ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่น แลนด์มาร์คอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และชุมชนป้อมมหากาฬ ก็มีภาพวาดฝีมือของพี่ตึ๋งจัดแสดงอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย
ยิ่งพวกเราใช้เวลาการสุมหัวร่วมกันมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พวกเราค้นพบว่าพี่ตึ๋งเป็นผู้ที่มีทักษะและความสามารถที่เรายังไม่รู้อีกมากมาย และสามารถช่วยเติมเต็มนิทรรศการได้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ร้านสกายไฮ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งในนิทรรศการ พี่ตึ๋งเป็นผู้ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ทำพิมพ์รอยกระสุนที่ทิ้งร่องรอยไว้หน้าร้านเพื่อเป็นการบันทึกเสี้ยวหนึ่งในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น
(พี่ตึ๋งกำลังทำพิมพ์รอยกระสุน ที่ทิ้งร่องรอยไว้หน้าร้านสกายไฮ)
ในส่วนพื้นที่จัดแสดงผลงานของภัณฑารักษ์วัยเก๋านั้น แต่ละคนจะมีหีบเป็นของตัวเอง และหีบของพี่ตึ่งตั้งอยู่ในโซนศาลาเฉลิมไทย ภายในหีบมีตำราสิ่งศักดิสิทธ์ ลูกประคำ ไพ่ทาโร่ห์ ลูกแก้ว ฯลฯ แล้วทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับศาลาเฉลิมไทย?
เฉลย.... ไม่เกี่ยวกัน หีบประจำตัวของพี่ตึ๋ง-ภัณฑารักษ์วัยเก๋าของเรานั้น "วางผิดที่"
โดยความผิดที่ผิดทาง มีที่มาที่ไปอย่างนี้ครับ
เดิมคุยกันว่า พี่ตึ๋งจะนำเสนอความเป็นศิลปินของตนในนิทรรศการนี้ ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะมีภาพวาดฝีมือพี่ตึ๋งจัดแสดงอยู่ถึง 3 ภาพดังกล่าวไปแล้ว และในหีบก็จะเล่าขยายความเรื่องนี้ รวมถึงประสบการณ์ช่วงที่เป็นนักศึกษาเพาะช่างที่ได้ฝึกงานที่ศาลาเฉลิมไทย แผนก วาดคัตเอาต์ขนาดยักษ์ติดที่ด้านหน้าโรงหนัง
พี่ตึ๋งเล่าอย่างออกรส เพราะศาลาเฉลิมไทยคือหมุดหมายในชีวิตของนักเรียนเพาะช่าง ที่สามารถเอาไป "เบ่ง" นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะแห่งหนึ่งได้ พี่ตึ๋งลงรายละเอียดพร่างพรู ... การวาดต้องใส่สเกลให้ส่วนบนของภาพใหญ่กว่าปกติ เพื่อมุมมองที่ถูกต้องยามที่เราแหงนมองภาพ ฯลฯ ดังนั้นภายในหีบจึงควรนำแปรงพู่กัน อุปกรณ์วาดภาพ และสรรพสิ่งอันเป็นที่มาของภาพวาดทั้งสามนั้น บรรจุลงในหีบ
ในทีมคุยกันสนุกมากจนคิดกันว่า ตรงซุ้มศาลาเฉลิมไทยในนิทรรศการซึ่งจำลองคัตเอาต์หน้าโรงฯ + กลไกหมุนเปลี่ยนภาพ ตรงนั้นควรเป็นพื้นที่เล่าเรื่องของพี่ตึ๋งด้วย ส่วนหีบก็วางหน้าซุ้มศาลาเฉลิมไทยนั่นแหละ
(ความต้้งใจเดิม: หีบนี้ตั้งอยู่ในโซนศาลาเฉลิมไทย เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่พี่ตึ๋งใช้ในการวาดรูป)
ยิ่งคุยยิ่งไอเดียกระฉูด แต่เมื่อถามพี่ตึ๋งว่าอยากเล่าโยงไปถึง "คุณเปี๊ยก โปสเตอร์" ผู้เป็นตำนานการวาดคัตเอาต์ไหม โดยไม่คาดคิด พี่ตึ๋งเปลี่ยนท่าทีในบัดดล กลายเป็นความครั่นคร้าม ด้วยมองว่าตนเองนั้นช่างอ่อนด้อย ไพล่ไปว่าพื้นที่หน้าโรงหนังศาลาเฉลิมไทยควรจะเล่าเรื่อง "คุณเปี๊ยก โปสเตอร์" ไม่ใช่เรื่องราวของพี่ตึ๋งเอง
... แล้วทำไงต่อกับหีบ
ก่อนนิทรรศการเปิดไม่เกินสองวัน พี่ตึ๋งหอบลูกแก้วพยากรณ์ ไพ่ทาโร่ต์ และอุปกรณ์ดูหมอ มาให้ทีมนำไปใส่ในหีบ แทนอุปกรณ์วาดภาพต่าง ๆ ที่เคยคุยไว้ ด้วยเหตุนี้หีบของพี่ตึ๋งจึงกลายเป็นหีบที่วางผิดที่ในทันที จะย้ายไปตั้งในโซนสนามหลวงก็ไม่ทันแล้ว พื้นที่ต่างๆ ล้วนถูกกำหนดไว้หมดแล้ว
ลึก ๆ แล้วพี่่ตึ๋งคิดอะไรกันแน่ จึงเปลี่ยนเรื่องที่อยากนำเสนอเป็นเรื่องของหมอดู ทั้งที่นิทรศการกำลังจะเปิดในอีกไม่กี่วันแล้ว
พี่ตึ้งบอกว่าแม้ว่าตัวเองจะได้มีโอกาสร่ำเรียนวิชาการเขียนคัตเอาท์หนังมา แต่ว่าเป็นเพียงประสบการณ์ในชีวิตช่วงสั้น ๆ เพียงไม่กี่เดือนขณะเป็นนักศึกษาฝึกงาน ไม่คิดว่าตัวเองจะมีความเชี่ยวชาญมากมายอะไรขนาดนั้น จึงขอเปลี่ยนของในหีบเป็นอุปกรณ์เครื่องมือในการดูดวง เพื่อเล่าเรื่องความเป็นหมอดูของตนเองที่อุตสาห์ไปร่ำเรียนถึงอินเดีย เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในตัวมาอย่างยาวนานจึงมีความมั่นใจมากกว่า
(หีบที่ตั้งอยู๋ในโซนศาลาเฉลิมไทย บรรจุอุปกรณ์การดูดวงของพี่ตึ๋ง ที่มาของหีบที่วางผิดที่ผิดทาง)
เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาภาคค่ำที่วิทยาลัยเพาะช่าง เมื่อมีเวลาว่างมีจะเดินเล่นที่ตลาดนัดสนามหลวง วันหนึ่งได้พบกับหมอดูใต้คนมะขามชาวอินเดีย ด้วยความอยากได้วิชาจึงวิ่งซื้อโอเลี้ยงให้อาจารย์จนได้ร่ำเรียนวิชาสมใจ ผ่านไปสองเดือนอาจารย์หายไปโดยทิ้งกระเป๋าไว้ให้ดูต่างหน้า ในนั้นมีตำราศึกษาจนไม่มีใครให้สอนได้แล้ว จึงไปศึกษาศาสตร์นี้เพิ่มเติมที่อินเดีย
อาจารย์เคยทำนายว่าพี่ตึ่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตจากการวาดรูป ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะประสบการณ์การเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างตลอด 30 ปีที่ผ่านมาก็ต้องวาดรูปเป็นจำนวนมากให้ลูกค้าดูก่อน
ด้วยภาระหน้าที่การงานหลักที่เลือกแล้วจึงไม่มีโอกาสนั้น แม้ลึก ๆ แล้วยังอยากเป็นหมอดูอยู่ เพราะคิดว่าสามารถนำความรู้ด้านการดูดวงช่วยเหลือให้กำลังใจผู้คนได้ และความฝันนั้นได้กลายเป็นจริง
พี่ตึี่งบอกว่า ด้วยความรู้ด้านโหราศาสตร์ การดูดวงที่แกสั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต เรื่องนี้แหละที่มีความมั่นใจที่จะเล่ามากที่สุด วัตถุจัดแสดงในหีบของพี่ตึ๋งจึงเป็นอย่างที่ทุกท่านเห็น
ยังครับ.....เรื่องของพี่ตึ๋งยังไม่จบแค่นี้ครับ
หลังจากนิทรรศการล่องรอยราชดำเนินเปิดอย่างเป็นทางการแล้วประมาณ 1 เดือน พี่ตึ๋งเดินยิ้มมาบอกกับทีมงานว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะจัดกิจกรรมประกอบนิทรรศการ คือ การดูดวงทั้งตามศาสตร์โบราณ และตามศาสตร์ร่วมสมัย พี่ตึ๋งบอกเหตุผลด้วยท่าทีที่จริงจังว่า นอกเหนือจากประสบการณ์ที่นำมาแบ่งปันแล้ว พี่ตึ๋งยังอยากผู้ชมได้รับความสุขกลับไปด้วย
เมื่่อมีข้อเสนอมาเช่นนี้ ทางมิวเซียมก็รีบตอบสนอง ไม่รอช้าเพียงสามวันหลังจากพูดคุย จึงเกิดเป็นกิจกรรมพิเศษประกอบนิทรรศการด้วยการย้อนรอยบรรยากาศหมอดู สนามหลวง ที่เข้ามาช่วยให้นิทรรศการมีสีสันมากขึ้นไปอีก
(หมอดู สนามหลวง)
กลายเป็นว่าในนิทรรศการนี้ พี่ตึ๋งมีส่วนร่วมหลายอย่างในนิทรรศการ เข้ามาร่วมร่วมสุมหัวกับทีมงานตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดนิทรรศการ ประสบการณ์ของพี่ตึ๋งกลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ภาพวาดช่วยเสริมการเล่าเรื่องให้สมบูรณ์ และยังมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการคือการดูดวงที่ช่วยดึงคนมาชมมากขึ้น
จากประสบการณ์ที่เขียนไว้ในใบสมัครเพียงสามบรรทัด แต่เมื่อพวกเราได้ทำงานร่วมกับพี่ตึ๋งแล้วทำให้พบว่ามีความสามารถหลากหลายรอบด้านและเป็นผู้มีพลังงานอย่างล้นเหลือ ทั้งเพื่อนภัณฑารักษ์วัยเก๋าและทีมงานเห็นพ้องต้องกันว่า พี่ตึ๋งเป็น “ผู้สูงวัยที่มีศักยภาพ” สูงมาก เป็นผู้ที่ชอบนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปัน ถ่ายทอดสื่อสารอย่างกระตือรือร้นและมีพลังกับคนทุกช่วงวัย เป็นเรื่องราวในอดีตจากความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นจริงยังสถานที่ต่าง ๆ บนถนนราชดำเนินจากมุมมองและประสบการณ์ตรงที่ไม่เคยมีหนังสือเล่มไหนเคยบันทึกไว้
และหากคุณมาชมนิทรรศการ แล้วเจอพี่ตึ๋งและได้สนทนาพี่ตึ๋งแล้ว ขอรับประกันว่า คุณจะได้รับความรู้ความบันเทิงกลับบ้านไปพร้อมกับความสุขและความหวัง มีแรงใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างแน่นอน - มืดมา สว่าง(กลับ) ไป ฟันธง!!!
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
หมายเหตุ
สามารถพบเพื่อพูดคุยกับพี่ตึ๋ง "เขตนิธิ สุนนทนาม" ตัวจริงเสียงจริงในบทบาท "หมอดู สนามหลวง" ด้วยการ ดูดวงและอาชีพด้วยศาสตร์โบราณ / ดูดวงด้วยเลขท้าย 4 บนบัตรประชาชน ฟรี ที่นิทรรศการ “ล่องรอยราชดำเนินฯ”อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ทุกวันพฤหัส-ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ตลอดเดือนสิงหาคม 2563