Museum Core
นักท่องเที่ยวหมายเลข ๑
Museum Core
08 ก.ย. 63 430

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

 

นับตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการปฏิวัติ ก็ได้มีการตั้งองค์กรใหม่อย่าง “องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เพราะมองว่าการท่องเที่ยวจะสามารถเป็นอุตสาหกรรที่เป็นรายได้ให้กับประเทศได้มาก พร้อมกันนั้นก็ช่วยส่งเสริมความรักชาติด้วย

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยส่สนตัวแล้วชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยมีความนิยมไปพักผ่อนตามสถานที่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา จอมพลสฤษดิ์เดินท่งไปปฏิบัติราชการในภาคเหนือของประเทสไทย ก็ได้ถือโอกาสไปท่องเที่ยวจนสุดแดนด้านเชียงตุง

 

ความสนใจในการท่องเที่ยวนี้ยิ่งทวีขึ้น เมื่อได้เดินทางไปพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลวอลเตอร์รีด สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็ได้ศึกษากิจการนี้จนพบว่าการท่องเที่ยวนั้นหากทำกันจรงิจังก็จะสามารถเป็นอุตสาหกรรมอีกชนิดหนึ่งของประเทศที่สามารถดึงดูดเอาเงินตราต่างประเทศได้ไม่น้อย

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวการจัดตั้งองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทสไทยก็ได้เริ่มกิจการขึ้นและสามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทย

 

ถ้าจะลองลำดับว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เคยเดินทางไปที่ไหนเกี่ยวกับการท่องเที่่ยวบ้าง

 

ครั้งที่ ๑ นับตั้งแต่ได้ทำการปฏิบัติมาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความปรารถนาที่จะเดินทางไปตรวจทุกภาคในประเทศไทย และแห่งแรกที่ได้เดินทางไปคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มออกเดินทางจากพระนครในวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ รวมเวลา ๑๖ วัน ได้ผ่านจังหวัด นครราชศรีมา ขอนแก่น เลย อุดรธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ แล้วเลยขึ้นไปทางภาคเหนือผ่าน พิษณุโลก สุโขทัย ตาก ลำพูน เชียงใหม่

 

ภายหลังการเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่นานนัก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้เดินทางไปตรวจราชการภาคใต้ในลักษณะการท่องเที่ยวกลาย ๆ โดยเริ่มออกเดินทางด้วยรถยนต์จากพระนครตั้งแต่คืนวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ผ่านนครปฐม ราชบุรี เพรชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา รวมเวลา ๑๐ วัน แล้วเดินทางโดยขบวนรถไฟพิเศษกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ 

 

และที่จังหวัดตรัง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  ได้กล่าวคำปราศรัยแก่ข้าราชการและพี่น้องชาวจังหวัดตรง มีความตอนหนึ่งว่า

 

“... การศึกษาของจังหวัดนี้ได้มีโรงเรียนสอนถึงระดับชั้นมัธยมปีที่ ๘ แล้ว ฉะนั้น สายตาของข้าพเจ้าจึงดูไม่ผิดที่เห็นประชาชนในจังหวัดของท่านเฉลียวฉลาดมากกว่าหลายจังหวัดที่ข้าพเจ้าได้ผ่านมา ทิวทัศน์ที่อยู่โดยทั่วไปก็สวยงามน่าดูหากปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นคงจะมีนักท่องเที่ยวมาชมจังหวัดของท่านมากกว่านี้....”

 

ครั้งที่ ๓ การออกตรวจราชการครั้งนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้งดพิธีรีตองการรับรองทั้งหลาย ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นด้วยการกางเต๊นท์ และหุงหาอาหารรับประทานกันเองในภูมิประเทศตามริมห้วย ริมบึง ท่ามกลางป่าเขา เริ่มต้นเดินทางตั้งแต่วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔  ผ่านจังหวัดต่าง ๆ ทางทิศตะวันตกแล้วจึงออกไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม ๑๙ จังหวัด คือ จังหวัด กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยทานี สิงห์บุรี เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี รวมเวลา ๑๔ วัน

 

หลังจากการเดินทางท่องเที่ยว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ได้กล่าวว่า “...ความข้อหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าอยากจะกล่าวในที่นี้ คีือการท่องเทืี่ยวภายในประเทศของเรานั้น เป็นอุปกรณ์สำคัญอันหนึ่งที่จะส่งเสริมความรักชาติ รักประเทศเพิ่มพูนความพูนปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้ประเทศชาติของเราจะเริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป และเป็นทางหนึ่งที่จะให้ความภาคภูมิใจในชาติของเราเพราะว่าของดีงามที่ชาติทั้งหลายมีอยู่นั้นธรรมชาติให้ไว้แก่เราอย่างไม่แพ้ชาติใด เราต้องลงแรงแต่เพียงปรุงธรรมชาติให้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าออกตรวจราชการต่างจังหวัดข้าเจ้าก็มีกำลังใจ มีความมานะพยายามยิ่งขึ้นที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ....”

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินทางท่องเที่ยวแทบจะทั่วประเทศไทย จนอนุสาร อ.ส.ท. ยกย่องให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนักท่องเที่ยวหมายเลข ๑ ซึ่งจากการท่องเที่ยวของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปรากฏว่าหลังจากนั้นโรงเรียนต่าง ๆ ก็ได้เกิดโครงการการพาเด็กนักเรียนไปทัศนาจรขึ้นอย่างหลากหลาย

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ