Museum Core
ประสบการณ์การศึกษาจากรุ่นพี่ในอดีต ณ ราชดำเนิน
Museum Core
08 ก.ย. 63 719

ผู้เขียน : รัชนก พุทธสุขา

ประสบการณ์การศึกษาจากรุ่นพี่ในอดีต ณ ราชดำเนิน


ราชดำเนิน เคยเป็นแห่งกวดวิชา เรียนที่ไหน เรียนอย่างไร กวดวิชาดีหรือไม่ดี มาฟังประสบการณ์การศึกษาของคนรุ่นหนึ่งที่เคยกวดวิชาที่ราชดำเนิน ก่อนที่จะเป็นยุคกวดวิชาที่สยาม

 

ในการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อทำนิทรรศการ มิวเซียมสยามได้มีการจัดโฟกัสกรุ๊ปเชิญชวนบุคคลทั่วไปมาให้ข้อมูลเพื่อทำนิทรรศการ โดยหนึ่งในหัวข้อที่โฟกัสกรุ๊ปคือหัวข้อ “โรงเรียนกวดวิชาบนราชดำเนิน”บทความจึงขอถอดบทเรียนจากการโฟกัสกรุ๊ปในครั้งนั้นเพื่อมาเป็นบทเรียนเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา ในช่วงเวลานี้ ชื่อบทความว่า “ถอดบทเรียนการศึกษาจากรุ่นพี่ในอดีต ณ ราชดำเนิน”

 

ครั้งหนึ่งถนนราชดำเนินเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชา....

 

โดยผู้เข้าร่วมแต่ละท่านจะช่วยกันเล่าประสบการณ์ทั้งที่เกี่ยวกับกวดวิชาบนราชดำเนิน และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่ง จุดที่มีโรงเรียนกวดวิชาเยอะ ๆ อย่างสมัยก่อนคือที่ราชดำเนิน ก่อนที่จะเป็นแถวสยามอย่างปัจจุบัน คุณบุญช่วย เทพสงเคราะห์ อดีตเด็กนักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยาตั้งข้อสังเกตว่า แหล่งกวดวิชามักจะอยู่ในที่ที่การคมนาคมสะดวก (สมัยก่อนสนามหลวงเป็นชุมทางรถเมล์) ประจวบกับบริเวณนั้นก็มีแหล่งอุปกรณ์การเรียนอย่าง “ศึกษาภัณฑ์พานิช”


พ.ศ. 2516 คุณบุญช่วย เทพสงเคราะห์ กวดวิชาเพื่อเข้าสตรีวิทยา แต่โฮมออฟอิงลิสอยู่ใจกลางถนนอันรุ่งเรืองอย่างราชดำเนิน จึงทำให้ค่าเรียนอาจะสูงสำหรับคุณบุญช่วย ที่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ก็เลยต้องขยับไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาที่ไกลอีกไปหน่อยหนึ่ง คือแถวบางลำพู เป็นโรงเรียนกวดวิชาเล็ก ๆ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของร้านธงไตรรงค์ ชั้นบนจะเป็นที่กวดวิชา ชั้นล่างจะขายเครื่องดนตรี ซึ่งตอนนี้ปิดไปแล้ว


วิชาที่มักกวดวิชากัน สมัยก่อนจะน้อยกว่าในสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ


ตัวเลือกอื่น ๆ นอกจากโรงเรียนกวดวิชา ตอนสอบเข้า ไปซื้อหนังสือมือสองมาอ่าน ตามแผงเก่าแถว ๆ สนามหลวง จะมีหนังสือจำพวกตำราข้อสอบเก่า ๆ แต่ละคนซื้อมาแล้วก็มานั่งดูด้วยกัน เพราะเราเก็งข้อสอบไว้เลยว่าข้อสอบไม่ได้ไปไหนหรอก มันวนเวียนอยู่ห้าหกปีตรงนั้นแหละ เป็นวิธีที่ครูบุญช่วยไว้ใช้ในการเตรียมสอบ ก็คือจะซื้อข้อสอบย้อนหลังมาอ่านกัน และกวดวิชาเพียงเป็นตัวช่วยเสริม


ค่ากวดวิชาแพงใหม ตอนนั้นค่ากวดวิชาค่อนข้างสูง ค่าเงินในตอนนั้น โดยคุณสุภาณี จิระประเสริฐ เสริมว่าให้คุณบุญช่วยลองเปรียบเทียบกับค่าครองชีพตอนนั้น เช่น ก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวแกง คุณบุญช่วยจึงตอบว่าข้าวแกงตอนนั้นราคา 3 บาท และ คุณสุภาณีก็เสริมในกรณีของตนเองว่า ค่ากวดวิชาที่ตนเองเคยใช้เรียนประมาณ 50 บาท สามครั้ง 150 บาท ถือว่าเยอะ เพราะสมัยของคุณสุภาณี ข้างแกงจานละ 5 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 4 บาท แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์แล้วตอนปี 1 ก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาท ของพี่ 150 บาท 3 ครั้ง เป็นคอร์สแบบเข้มข้นเลย ของที่โฮมออฟองลิส ครูบุญช่วยเสริมว่าของตนเองประมาณไม่กี่ร้อย ประมาณ 300-400 บาท เพราะจากที่กล่าวไปก่อนหน้าแล้วว่าถ้าไกลจากศูนย์กลางความเจริญอย่างราชดำเนินไป ราคาก็จะถูกลง ว่าไปก็คล้าย ๆ กับแหล่งกวดวิชาแถวสยามปัจจุบัน และครูบุญช่วยยังเปรียบเทียบกับค่าเรียนในนะดับมหาวิทยาลัยของตนเอง นั่นคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ค่าเรียนหน่วยกิตละ 10 บาท


คุณสุภาณีกล่าวว่า อย่างตอนที่เข้ามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2528 หน่วยกิตละ 25 บาท ถ้าเป็นเรียนภาคฤดูร้อนหน่วยกิตละ 50 ของที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เรียนด้วยตัวเอง กวดวิชาเป็นตัวเสริม

 

คุณบุญช่วยกล่าวว่าสำหรับครูส่วนใหญ่แล้วเรียนด้วยตัวเองเยอะ จับกลุ่มกับเพื่อนติว โดยมีอาจารย์ในโรงเรียน (โรงเรียนสตรีวิทยา) บางท่านมาช่วยติว แต่จะเข้าไปกวดวิชาแค่ไม่กี่ครั้ง เป็นการประหยัด โดยแต่ละครั้งที่เข้าไปมีจุดมุ่งหมายเพื่อเข้าไปดูแนวข้อสอบ โดยที่ตนเองเรียนโรงเรียนแรกเรียนโรงเรียนวัดมหาธาตุ โรงเรียนเขียนนิวาสน์ ( หนึ่งในโรงเรียนราษฎร์ซึ่งเคยเปิดกิจการในย่านบางลำพู เจ้าของและผู้ก่อตั้งโรงเรียนแห่งนี้คือ ม.ล.เติม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เปิดรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถม ๔ และยุบกิจการหลังจากครูเติมเสียชีวิต เพราะท่านไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ปัจจุบันอาณาบริเวณโรงเรียนเปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์….ข้อมูลจากมูลนิธิเล็กประไพ) แล้วตอนจะเข้าสตรีวิทยา ก็กลัวสู้คนอื่นไม่ได้ พอตอนเข้ามาเรียนแล้วก็ต้องขยัน อย่างเราเลือกสายฝรั่งเศส ตอนเพิ่งเข้าสตรีวิทยาตอน มศ.4 เราเสียเปรียบเด็กสตรีวิทยาเก่าที่เขาเรียนมาตั้งแต่ มศ.1 เพราะฉะนั้นเราก็ต้องขยันกว่าเขา แล้วก็จับกลุ่มเรียนพิเศษ ส่วนใหญ่แล้วเราจะติวกับเพื่อนเกาะกลุ่มกัน ใครเก่งวิชาไหนก็มาช่วยติวให้เพื่อน

 

ในส่วนของคุณสุภาณี กล่าวว่า ตอนนั้นเรียนก็ตั้งใจไว้ว่า ตอนเรียน ม. 4 ม. 5 ม. 6 ก็จะตั้งใจเรียนแค่ในโรงเรียน แต่ก็คิดว่าเราอยากได้ส่วนเสริม ส่วนพิเศษที่นอกเหนือจากที่สถาบันที่เราเรียนอยู่ เพื่อเวลาทีว่าเราสอบแข่งขันเอนทรานซ์ เราจะได้เทคนิคในการทำข้อสอบ ก็เลยขวนขวายไปเรียนพิเศษ แม้ว่าค่าเรียนจะแพง ก็เลยไปทำงานพิเศษเพื่อหาเงินไปเรียน พอได้เงินก็สืบหาว่าละแวกนั้นมีที่ไหนมีที่กวดวิชา เลยเรียนโฮมออฟอิงลิส คนเรียนแน่นห้องทั้งผู้หญิง หากไปช้าก็จะได้ข้างหลังเพราะฉะนั้นจะต้องไปเร็ว ๆ และจะต้องเรียนให้คุ้มค่าเพราะค่าเรียนเราหามายาก เรียนห้าโมงเย็นถึงสองทุ่ม นั่งรถจากโรงเรียนสตรีศรีอยุธยา ไปถนนราชดำเนิน สนามหลวงกับละแวกราชดำเนินเป็นเหมือนแหล่งการศึกษา เพราะตรงสนามหลวงเป็นแหล่งขายตำรา จำได้ว่าตอนตนเองสอบเอนทรานเข้ามหาวิทยาลัย ก็จำได้ว่าข้อสอบถามอะไรและตนเองตอบอะไร ก็เลยไปหาหนังสือเก็งข้อสอบมาอ่านเฉลย เราก็ไปซื้อก่อนที่จะประกาศผลเอนทรานซ์ ไปซื้อแล้วก็มานั่งทำ ๆ ซ้ำกับที่เราสอบ แล้วก็คิดในใจว่า ผ่านแน่นอนคณะที่เลือกไว้อันดับหนึ่ง เพราะว่าทำได้คะแนน 367 คะแนนตอนนั้นเต็ม 500 ได้เข้าแน่ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พอผลสอบออกต้องไปดูที่ “สนามจุ๊บ” สนามจารุเสถียร หรือสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน (ที่สนามจุ๊บ จะเป็นสถานที่ประกาศผลสอบ พอกลางคืนเขาก็ประกาศอีครั้งทางวิทยุ คนก็จะไปดูกันตั้งแต่เช้ามืด) กับอีกช่องทางก็คือการซื้อหนังสือพิมพ์มาดูผลสอบ คุณสุภาณีซื้อหนังสือพิมพ์ ติรหัส 199 คือคณะศิลปศาสตร์



กวดวิชาเป็นหลัก

เราได้ประสบการณ์การกวดวิชาด้วยวิธีการที่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนเป็นหลัก แล้วกวดวิชาเป็นตัวช่วยเสริมกันไปแล้ว แต่ก็มีคนที่ใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปอย่างคุณกฤติกา โพคากร ที่เน้นกวดวิชาเป็นหลัก ซึ่งคุณกฤติกากล่าวว่าได้ใช้เวลากับโรงเรียนกวดวิชาเป็นหลัก ใช้เวลามากกว่าในโรงเรียน โดยเฉพาะ เน้นติวภาษาอังกฤษที่โฮมออฟอิงลิส

 

แต่คุณกฤติกายังมีขอสังเกตว่า โรงเรียนเองก็พยายามปรับตัวด้วยการทำให้เด็กไม่ต้องออกไปติวข้างนอก อย่างซางตาครู้ส คอนแวน ก็จ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยมาติว เช่นจ้างอาจารย์จากจุฬามาสอน หรือจ้างอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรมาสอนชีววิทยา แต่เด็กก็ไปเรียนอยู่ดีโดยที่ยอมติวพิเศษกับโรงเรียนในตอน แล้วเสาร์-อาทิตย์ก็เรียนที่โรงเรียนกวดวิชา อย่างไรก็ตามคุณกฤติกาเองก็ยังชอบการเรียนที่โรงเรียนกวดวิชาเป็นหลักอยู่ดี

 

เหตุผลของการชอบกวดวิชา

ไม่แค่การเรียนพิเศษ ตอนนั้นนอกจากเรื่องเรียนแล้วก็เป็นแฟชั่นด้วย มีบางคนมาเรียนพิเศษก็แต่งตัวสวย ๆ เพื่อน ๆ ก็นั่งมอง มันไม่ใช่แค่การมาเรียน แต่เป็นการมีสังคมด้วย ได้รู้จักเด็กโรงเรียนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งคุณบุญช่วยก็เห็นด้วย แม้ตนเองจะไปกวดวิชาน้อยก็ตาม แต่เห็นด้วยว่าการไปเรียนกวดวิชาทำให้รู้จักเพื่อนเยอะ และได้คุยกับเพื่อนที่หลากหลายว่าที่โรงเรียนเขาแต่ละวิชาเป็นอย่างไร ถ้ามีเวลาบ้างบางทีก็เอาข้อสอบมาคุยกันกับเพื่อนต่างโรงเรียน

 

 

อย่างไรก็ตามทุกคนในวงสนทนาก็มีความคิดเห็นที่ตรงกันว่า การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยในตอนนั้นต้องจริงจัง ตั้งใจเรียน เพราะการแข่งขันเยอะ แตกต่างจากการเข้ามหาวิทยาลัยสมัยปัจจุบัน ตอนนั้นเลือกได้ 5 คณะ ถ้าไม่ได้ก็คือชีวิตจบแค่นั้น ปัจจุบันทางเลือกเยอะ ได้สอบตรงก็ได้ มีโควต้า มีอะไรตั้งหลายอย่าง โอกาสที่เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยมีเยอะมาก

 

 

 

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ