เป็นเวลาหลายปีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่าง ๆ แม้ต่อมาเขาจะสามารถปราบปรามกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ลงได้ก็ตาม แต่เขาย่อมตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงของปัญหาการเมืองจากความขัดแย้งภายนอกคณะรัฐประหารมาสู่ความขัดแย้งภายในระหว่างขุนศึกสำคัญสองคนที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และล่อแหลมต่อความมั่นคงของรัฐบาลของเขา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักดีถึงการรักษาเสถียรภาพอันเปราะบางของรัฐบาล
เมื่อได้เดินทางไปต่างประเทศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกและหนทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเขาในฐานะผู้นำรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพิงอำนาจจากสองขุนศึกในการค้ำจุนรัฐบาล ซึ่งทำให้เขาเป็นเสมือนหุ่นเชิดของสองขุนศึก นั่นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่าศรียานนท์ สำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตแกนนำคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงการสร้างกระแสชาตินิยมในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เขามีความคุ้นเคยกับการแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนอยู่ก่อนแล้ว เหตุผลเหล่านี้อาจทำให้เขาตัดสินใจเปิดกว้างทางการเมือง ให้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่ สร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพด้วยการเปลี่ยนสนามหลวงให้กลายเป็นเวทีไฮปาร์คแบบในลอนดอนในปลายปี 2498 เพื่อนำประเทศไทยไปสู่วิถีทางประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง
จอมพล ป. พิบูลสงคราม หวังว่าบรรยากาศดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจนมีสถานะเข้มแข็งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดปราศรัยในครั้งแรก ๆ ที่เริ่มต้นด้วยการวิจารณ์นโยบายรัฐบาล เช่น การศึกษาและประกันสังคม ต่อมากลับเปลี่ยนไปสู่การโจมตีจอมพล ป. สลับกับ พลตำรวจเอกเผ่า และการโจมตีค่ายราชครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลตำรวจเอกเผ่านั้นถูกโจมตีจากประเด็นการฆาตกรรมรัฐมนตรี 4 คน หลังจากนั้นการไฮปาร์คเปลี่ยนเป็นการปราศรัยวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเรียกร้องให้ไทยมีนโยบายที่เป็นอิสระจากสหรัฐอเมริกา
เวทีไฮปาร์คที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นทั่วประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย กลับกลายเป็นเวทีที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ใช้เป็นโอกาสในการเปิดสงครามโจมตีคู่แข่งทางการเมือง เช่น จอมพล ป. และ พล.อ. สฤษดิ์ ร่วมมือกันโจมตีพลตำรวจเอกเผ่า และค่ายราชครู ส่วนพลตำรวจเอกเผ่าก็ใช้เวทีไฮปาร์คโจมตีคู่แข่งในคณะรัฐมนตรี ในขณะที่กลุ่มฝ่ายซ้ายใช้เป็นเวทีโจมตีรัฐบาล รายงานจากสถานทูตสหรัฐฯ เห็นว่าจอมพล ป. ไม่สามารถควบคุมไฮปาร์คได้
การปราศรัยทางการเมืองภายใต้บรรยากาศที่มีเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองไทยนั้นทำให้คนมาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่หลักพันคนเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นและแสนคนในเวลาต่อมา บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้นำมาสู่ความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาด้วยเช่นกัน สถานทูตสหรัฐอเมริการายงานว่านิสิตนักศึกษาเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น พวกเขารวมกลุ่มเคลื่อนไหวแม้จะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา แต่สหรัฐอเมริกามองว่าการรวมตัวเช่นนี้มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การก่อตัวของความเห็นสาธารณชนและการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปได้
ทั้งนี้นิสิตนักศึกษาตระหนักถึงอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นแต่เพียงผู้รับคำสั่งไปสู่การเรียกร้องและแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ ดังเช่นเหตุการณ์ประท้วง ม.ร.ว. สดับ ลดาวัลย์ เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ของเหล่านิสิต และเหตุการณ์นักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วงขุนประเสริฐศุภมาตรา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม รวมถึงกรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์มากกว่าหนึ่งพันคนได้รวมตัวประท้วงที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากการเป็นอธิการบดี โดยต่อมาจอมพล ป. ยอมลาออกและให้เหตุผลว่าเขาไม่สามารถอุทิศเวลาให้กับหน้าที่อธิการบดีได้อย่างเพียงพอในการบริหารงานมหาวิทยาลัย
ยิ่งไปกว่านั้นจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังกล่าวด้วยว่าการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาเป็นการกระทำที่เป็นประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าภายใต้การสร้างบรรยากาศที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกทำให้นิสิตนักศึกษาได้เริ่มแสดงออกถึงความคิดเห็นของพวกเขาที่พร้อมจะกลายเป็นพลังทางการเมืองที่สำคัญต่อไป
ในขณะเดียวกันประชาชนก็เริ่มตื่นตัวทางการเมืองและไม่พอใจที่ถูกปกครองภายใต้คณะรัฐประหารมานานหลายปี ได้มารวมตัวกันหลายพันคนเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารที่บริเวณท้องสนามหลวง พวกเขาเรียกร้องให้คณะรัฐประหารสลายตัว และมีการปราศรัยโจมตีไปที่กลุ่มของพลตำรวจเอกเผ่าที่เคยปราบปรามศัตรูทางการเมืองอย่างน่าสะพรึงกลัวและแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจนอกกฎหมาย จากนั้นพวกเขาได้เดินขบวนไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและตะโกนว่า “ประชาธิปไตยจงเจริญ คณะรัฐประหารไม่เอา คณะรัฐประหารออกไป เราไม่ต้องการคณะรัฐประหาร”
กล่าวโดยสรุปคือ การไฮปาร์คเป็นเสมือนเวทีในการทำลายความชอบธรรมของพลตำรวจเอกเผ่า ซึ่งเป็นผู้ท้าทายอำนาจทางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยส่งผลให้จอมพล ป. กลายเป็นผู้มีความชอบธรรมและปลดปล่อยพันธนาการการพึ่งพิงทางการเมืองของเขาจากค่ายราชครูไปสู่การได้รับการสนับสนุนจากประชาชนแทน อีกทั้งยังก่อให้เกิดกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกาขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะกลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลจอมพล ป. จะใช้ในการถอยห่างออกจากนโยบายทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
อ้างอิง
ณัฐพล ใจจริง. (2563). ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน.