หลายคนคงมีความทรงจำกับหนังร้อยจอ บนถนนราชดำเนิน
บนพื้นที่ถนนราชดำเนินแห่งนี้มีการจัดงานพระราชพิธี และรัฐพิธีต่าง ๆ มากมาย หนึ่งในงานที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ใน พ.ศ. 2525 จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 บนถนนราชดำเนินจะมีการประดับไฟและประดับดอกไม้ ให้ประชาชนมาเดินเที่ยวชมความสวยงาม การจัดมหรสพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงลิเก ลำตัดในบริเวณท้องสนามหลวง รวมไปถึงการจัดฉายหนังกลางแปลงร้อยจอจากบริษัทฉายหนังทั่วประเทศ
“สมัยก่อนที่ราชดำเนินมีฉายหนังเกือบ 200 จอในวันที่ 4 ธันวาคม จากบริษัทต่าง ๆ หนังกลางแปลงนี่ฉายที่งานในหลวง(รัชกาลที่ 9) ก็คือจะมีเครื่องฉายและจอฉาย ตั้งอยู่กลางทุ่งสนามหลวงเลย จนล้นอออกมา เครื่องฉายจะเป็นเครื่องฉายขนาด 35 mm. ซึ่งจะต้องมีเตาอาร์ตไฟและหลอดไฟ สมัยก่อนก็ใช้เป็นถ่านคาร์บอนยิงเข้าไปในเครื่องฉายหนัง แล้วจะมีตัว positive ที่เป็นตัวจุด และตัว negative ให้ความสว่าง แล้วเตาจะวิ่งมาหากัน แสงก็จะยิงไปที่เครื่องฉายหนัง พอยิงออกไปข้างนอกจอก็จะใหญ่ พวกนี้ก็จะมีหลายขนาดแล้วแต่ว่าจะเอาความใหญ่โตขนาดไหนโชว์ในงาน ฉายกันเต็มสนามหลวง เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง(รัชกาลที่ 9) รถติดมาจนถึงถนนราชดำเนินเลย” วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
มีหนังฉายตั้งร้อยจอ แล้วจะดูรู้เรื่องไหม ?
การฉายหนังร้อยจอ จะฉายตั้งแต่สนามหลวงไปจนถึงตามทางยาวของถนนราชดำเนิน ดังนั้นหลายคนสงสัยว่าการฉายหนังทีละหลาย ๆ จอ ซึ่งแต่ละจอก็ฉายหลายเรื่อง แล้วคนดูจะดูอย่างไร หากใครเคยไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ก็จะทราบว่าดูจอเดียวก็ยากแล้ว นี่ดูตั้งร้อยจอ
เราได้รับคำยืนยันการดูหนังไม่รู้เรื่องจากผู้ที่เคยมีประสบการณ์ดูหนังร้อยจอบนถนนราชดำเนิน โดยพี่พจนี เอนกวนิช ซึ่งเป็นผู้ที่บ้านอยู่ละแวกราชดำเนินด้วย ได้ เล่าให้เราฟังว่า “งานวันเฉลิมฯ ก็จะมีหนังร้อยจอตรงถนนราชดำเนิน ไม่มีทางฟังรู้เรื่อง”
ทำไมกัน... เราก็ได้รับการยืนยันจากปากหนึ่งในเจ้าของบริษัทที่นำหนังมาฉายเป็นหนึ่งในร้อยจอ ได้เล่าให้เราฟังว่า
และอีกหนึ่งเสียงจากคุณวรรณดี อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง
“เสียงตีกันแต่คนก็มาดู ดูความยิ่งใหญ่ของเขา จะดูหนังรู้เรื่องหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่ามีเป็นร้อย ๆ จอ” วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
"การจัดฉายหนังร้อยจอบนถนนราชดำเนินไม่ได้ต้องการให้คนดูรู้เรื่อง แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ขอบริษัทผ่านขนาดของจอหนัง ซึ่งเป็นเหมือนการตลาดของบริษัทฉายหนัง และในจอหนังจะมีการเขียนชื่อบริษัทพร้อมเบอร์โทร หากคนที่มาดูถูกใจก็อาจจะจ้างไปฉายที่บ้านได้" วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
“จอฉายหนังไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าใครจะทำใหญ่แค่ไหน รถสิบล้อจะขนมาแล้วค่อย ๆ ขึ้นไปตั้ง บางคนจอใหญ่เท่าตึกสี่ชั้น เวลาตั้งทีหนึ่งต้องปีนขึ้นไปตั้ง มันยิ่งใหญ่ อยากได้หนังแบบไหน หนังไทย หนังฝรั่ง หนังจีน มีหมด แล้วแต่ว่าใครจะเอาหนังอะไรมาฉาย ตามสบาย” วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
การที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่ละบริษัทก็จะต้องเตรียมอุปกรณ์การฉายหนังให้พร้อมก่อนวันงาน ทั้งการเปลี่ยนอะไหล่ เปลี่ยนเลนซ์ เพื่อให้จอฉายหนังยิ่งใหญ่กว่าใคร ๆ
“ เมื่อก่อนช่วงวันที่ 1 - 4 ธันวาคม พี่จะขายดีมาก เพราะคนก็จะมาเปลี่ยนอะไหล่ เปลี่ยนเลนส์ ให้จอฉายหนังยิ่งใหญ่เลย อย่างบริษัท แอ๊ด เทวดา, บริษัทแจ่มจันทร์, บริษัทเอ็กซ์ เล็ก วรจักร ” วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
เมื่ออุปกรณ์พร้อมแล้ว ถึงวันงานแต่ละบริษัทจะมาลงทะเบียนเพื่อขอพื้นที่ปักจอฉายหนังรอบ ๆ ท้องสนามหลวง หากมีบริษัทฉายหนังมาจัดฉายเยอะเกินพื้นที่ ก็จะมีการปักจอฉายหนังเลยมาจนถึงถนนราชดำเนิน เมื่อเริ่มฉายหนังผู้คนก็จะเริ่มทะยอยเข้ามานั่ง โดยไม่เสียค่าเข้าชม
“แต่ละบริษัทก็จอใครจอมัน ตั้งอยู่ติดกัน ไปลงทะเบียนแล้วคุณฉายได้เลย หนังที่ฉายเทิดพระเกียรติในหลวง(รัชกาลที่ 9)ไม่เก็บเงินนะ ทุกคนใจรักในหลวง แล้วก็ไปจองที่เพื่อปักจอ ปักจอรอบสนามหลวง จะมีเหลือบางมุมที่เขาเล่นลิเก ลำตัด เวทีนักร้อง เวลาจุดเทียนชัย หนังจะฉายตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม คืนวันที่ 5 ธันวาคม เวลาหนึ่งทุ่มตรง ถึงจะจุดเทียนชัยถวายพระพร ช่วงบนถนนราชดำเนินก็จะประดับไฟและดอกไม้ คนก็จะเดินไปถ่ายรูป แต่ความสนุกมันเริ่มตั้งแต่นางเลิ้งไปจนถึงสนามหลวงเลย เดินกันถวายในหลวง” วรรณดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
สัมภาษณ์
คุณพจนี เอนกวนิช (ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ชมการฉายหนังร้อยจอ และเป็นผู้ที่มีบ้านอยู่ชุมหลังตึกราชดำเนิน)
คุณวันดี (อดีตเจ้าของกิจการขายอะไหล่เครื่องฉายหนัง)
เธียรชัย อิสระเดช. (2563). บ้านราชดำเนิน. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์.