ช่วงล็อกดาวว์ โควิด-19 มีการปิดสถานศึกษาและเด็ก ๆ นักเรียนจะต้องทำการศึกษาออนไลน์จากที่บ้าน โดยที่บทบาทสำคัญต่อเด็กดูเหมือนว่าจะมาอยู่ที่ผู้ปกครองในสัดส่วนที่มากกว่าที่เคยเป็นที่เดิมเคยเป็นบทบาทของครู ดังนั้นจึงชวนสำรวจข้อแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่กระทรวงธรรมการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เคยให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเกี่ยวกับเด็กในเรื่องของ “Home Education” หรือที่เรียกว่า “การศึกษาทางบ้าน” เพื่อเป็นคำแนะนำให้กับผู้ปกครองนำไปใช้เมื่อต้องดูแลเด็กที่บ้าน
ในหนังสือ “ผู้ปกครองของเด็ก” ที่จัดพิมพ์ในวาระหนังสืองานศพเรืออากาศโทพูลรัตน์ บุญตาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งพระยาวิเศษศุภวัตร์ เป็นผู้เรียบเรียง ปรากฏคำแนะนำให้ผู้ปกครองสนใจการเรียนของเด็ก ๆ
การศึกษาทางบ้าน ที่เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราบดี อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งนานาประเทศในสมัยนั้นจัดให้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาทางบ้านของเด็ก (Home Education) เริ่มมีการประชุมครั้งแรกที่เมืองลิเอช ในประเทศเบลเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ และมีการประชุมเรื่อยมา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่านานาประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กและมุ่งหวังให้ โรงเรียนกับทางบ้าน หรือครูกับผู้ปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
“…ครูเป็นผู้รับผิดชอบเต็มที่ในฝ่ายทางโรงเรียน ส่วนผู้ปกครองต้องรับผิดชอบในฝ่ายการศึกษาทางบ้าน เพื่อเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือครูอีกชั้นหนึ่ง…”
“…บ้านเป็นสถานที่อบรมเด็กมากยิ่งกว่าโรงเรียนเสียอีกเพราะเด็กเกิดที่บ้านและเติบโตที่บ้านตั้งแต่เยาว์วัย บิดามารดาหรือผู้ปกครองนั่นเองเป็นบุรพาจารย์ของเด็กก่อนครูอื่น ๆ ทั้งหมดนับตั้งแต่สอนให้นั่ง ลุก ยืน เดินเป็นระเบียบเรียบร้อยสอนให้พูดแต่คำอ่อนหวานไพเราะชัดถ้อยชัดคำ ตลอดจนสอนให้เป็นผู้รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามควรแก่ความเจริญ หรือตามแต่ภาวะของเด็ก การที่เด็กอยู่กับผู้ปกครองมาแต่เล็ก ๆ เป็นเวลาหลายปีกว่าจะได้ส่งเข้าโรงเรียนเช่นนี้ ความเคยชินที่ได้รับอยู่ทางบ้านอย่างไรนั้น ก็อาจจะติดเป็นนิสสัยของเด็กต่อมาถ้าการอบรมทางบ้านไม่ดีเช่นปล่อยให้เด็กคลุกคลีอยู่กับผู้ซึ่งมีกิริยาวาจาหยาบ หรือปล่อยให้ขลุกอยู่ในสถานที่ไม่ดีต่าง ๆ เช่นบ่อนการพนัน บ่อนไพ่ บ่อนปลา บ่อนไก่ และโรงสุราเป็นต้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสิ่งเหล่านั้นจะติดนิสัยเด็กมาบ้าง…”
“…ถ้าผู้ปกครองทอดธุระ ไม่เอาใจใส่ในบุตรหลานของตนเสียแล้ว เด็กอาจจะเสียมาแต่อ้อนแต่ออก ซึ่งบางทีโรงเรียนใด ๆ ก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้เปรียบประดุจนายช่างหม้อ ซึ่งปั้นรูปหม้อไม่ดีเสียแต่แรกและเอาเข้าเตาเผาเสียจนสุกแล้ว รูปหม้อที่สำเร็จนั้นไม่เป็นรูปดีได้ ถึงหากจะมีช่างหม้อทีมีฝีมือดีอย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้รูปหม้อนั้นให้ดีคืนได้…”
ผู้ปกครองกับครูควรจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “เด็กที่อยู่ระหว่างการศึกษาเท่ากับเรือโกลน ครูและผู้ปกครองเปรียบเหมือนนายช่าง ก็มีหน้าที่ที่จะช่วยเหลือกันเกลา จนกว่าเรือนั้นจะเป็นรูปสำเร็จใช้ประโยชน์ได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นไม่ต้องกัน และต่างก็ก้มหน้าก้มตาทำตามความพอใจของตนแล้ว เมื่อเรือนั้นสำเร็จแล้ว ก็น่ากลัวจะใช้การไม่ดี, มีบางท่านได้เคยเปรียบไว้ว่าผู้ปกครองกับครูที่ไม่ใครทราบความประสงค์แก่กันและกันดีนั้น ก็เท่ากับช่างเขียนสองคน ช่วยกันเขียนรูปภาพแผ่นเดียวกันคนละคราว โดยไม่ทราบความมุ่งหมายแก่กันและกัน เมื่อนำรูปนั้นออกแสดงในที่ประชุมก็คงเป็นภาพที่ไม่มีราคาอะไร การที่จะแก้ไขข้อนี้ ผู้ปกครองกับครูจะต้องรู้กันเสมอว่าบุตรหลานของตนเป็นคนอย่างไรเมื่อเด็กอยู่โรงเรียนครูควรส่งรายงานไปให้ผู้ปกครองทราบ และเมื่อเด็กมาอยู่บ้านเป็นอย่างไร ผู้ปกครองก็ควรรายงานให้ครูทราบด้วย เผื่อมีอะไรไม่ดีจะได้ช่วยกันแก้ไขเสียแต่ต้น ถ้าผู้ปกครองกับครูมัวแต่เกรงใจและคอยตำหนิกันลับหลังแล้วผลร้ายย่อมตกอยู่กับเด็กเป็นเที่ยงแท้”
และนอกจากเรื่องเรียนแล้ว การศึกษาทางบ้านของเด็กที่แนะนำครอบคลุมไปจนถึงการจัดการเวลาว่างของเด็ก ด้วยการแนะนำผู้ปกครองว่าในแต่ละวันเด็กควรจะทำอะไร รวมไปถึงการกินอาหาร
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็เป็นมุมจากฝั่งรัฐบาลที่อยากให้ผู้ปกครองช่วยเหลือในเรื่องการเรียนการสอนกับเด็ก แต่เป็นที่น่าค้นหาในประเด็นต่อไปว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามในขณะนั้น โครงการของจอมพล ป. ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป. ให้ความสำคัญกับเด็ก เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายสร้างชาติที่จำเป็นจะต้องสร้างประชากรที่มีคุณภาพ เด็กเป็นกลุ่มที่รัฐบาลในขณะนั้นให้ความสำคัญ
จะเห็นได้ว่ารัฐได้เข้าไปควบคุมการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองในเวลาที่เด็กอยู่ที่บ้าน นอกเหนือจากในระบบโรงเรียนอีกด้วย