เมื่อสยามต้องการส่งออก "ข้าวแฝ่"
คนไทยน่าจะรู้จักกาแฟมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมมีเพียงเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้นที่รู้จักกาแฟเป็นอย่างดี และนิยมดื่มกาแฟที่มาจากอาหรับ กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ดังในบันทึกของคณะราชฑูตเปอร์เซียที่เข้ามาในสม้ยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า "เมื่อเราเข้าไปในพระราชวัง ...หลังจากพวกเราดื่มน้ำชากาแฟกันแล้วคนใช้ก็นำอาหารมาตั้ง"
สันนิษฐานว่าคนไทยเรียก กาแฟ ตามชื่อเครื่องดื่มที่พวกแขกมัวร์นิยมดื่มที่เรียกว่า “kahweh-คะเว่ห์” จึงเรียกทับศัพท์ตามนั้นแต่เมื่อออกเสียงด้วยสำเนียงแบบไทยๆ จึงเพี้ยนเป็นกาแฟในที่สุด อย่างไรก็ตามในสม้ยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 นิยมเรียกว่าว่าข้าวแฝ่ และเปลี่ยนเป็นกาแฟ ตั้งแต่สม้ยรัชกาลที่ 5 จนถึงทุกวันนี้
ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตลาดโลกเริ่มมีความต้องการกาแฟเป็นอย่างมาก ประเทศมหาอำนาจยุโรปในขณะนั้นต่างแสวงหาดินแดนเพื่อเป็นแหล่งผลิตกาแฟ เช่น เนเธอแลนด์เข้ายึดหมู่เกาะอินโดนีเซีย ทำไร่กาแฟขนาดใหญ่เพื่อผลิตกาแฟราคาที่ต่ำกว่าขายสู้กับกาแฟอาหรับ อย่างไรก็ตามกาแฟถือว่ามีมูลค่าสูงมากเมื่อเทียบกับผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเสวยกาแฟผสมนมวัว ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าไว้ในสาส์นสมเด็จว่า “ข้าวแฝ่ ก็ชอบกินกันมาแต่ในรัชกาลที่ 3 แล้วเห็นจะเสวยน้ำนมวัวเจือกับข้าวแฝ่” และพระองค์มองเห็นว่ากาแฟเป็นพืชที่น่าจับตามอง เพราะว่าเริ่มเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญระดับโลก ทรงรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวนี้ เนื่องจากพระองค์เคยกำกับกรมท่าตั้งแต่สม้ยรัชกาลที่ 2 เคยผูกสำเภาไปค้าขายกับชาติมหาอำนาจตะวันตก จึงโปรดให้ปลูกกาแฟขึ้นโดยเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในบางกอก และในเวลาต่อมาก็ขยายไปปลูกที่จันทบุรี
ในปีพ.ศ.2385 พระองค์ทรงมีรับสั่งรับสั่งให้เพาะต้นกาแฟจำนวน 5,000 ต้น นำไปปลูกในพื้นที่สวนหลวง นอกเขตพระนคร แต่ว่าไม่เพียงพอจึงมีหมายรับสั่งให้ข้าราชการทหารและพลเรือน ทั้งวังหลวงวังหน้าเร่งทำบัญชีหางว่าวมา จะได้จ่ายเม็ดข้าวแฝ่ไปเพาะครบตามจำนวนในปีถัดมา
สวนกาแฟหลวง อยู่นอกกำแพงพระราชวังด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันคือพื้นที่แถบสนามไชย พระราชวังสราญรมย์ และวัดราชประดิษฐ์ ดังหลักฐานดังนี้ “สวนกาแฟหลวงนี้ ต่อมา ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ โปรดฯให้ทำสวนกาแฟและผลไม้ต่างๆเป็นพระธุระอยู่ จึงมีผู้รักษาต่อมาแผ่นดินทูลกระหม่อมไม่โปรด ฯ จึงไม่เป็นพระธุระ ต้นไม้ก็สาบสูญไป ที่ทิ้งร้างอยู่กี่มีคนมาอาศัย”
และยังมีสวนกาแฟแถวบ้านกุฏีจีน ริมคลองสานฝั่งธนบุรี เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง หลังจากบริจาคที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อสร้างวัดประยูรวงศ์แล้ว ก็ยังมีที่ดินเหลือสำหรับปลูกกาแฟต่อเช่นเดิม ด้งในจดหมายเหตุของเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษ ซึ่งเข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญากับสยาม มีใจความว่าเคยตามเสด็จไปเที่ยวสวนกาแฟของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ปรากฏว่ามีต้นกาแฟมากมาย และรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เซอร์จอห์น เบาว์ริงได้เก็บกาแฟไปเป็นตัวอย่างจำนวน 3 กระสอบ
หลังจากเริ่มปลูกในเขตบางกอกและฝั่งธนบุรี รัชกาลที่ 3 ทรงรับสั่งให้ปลูกกาแฟที่จังหวัดจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2393 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีภูมิอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมสำหรับการปลูกกาแฟ และเหมาะสมสำหรับการเตรียมการส่งออก เนื่องจากจันทบุรีเป็นเมืองท่าติดต่อค้าขายกับเกาะกงและอินโดจีนได้สะดวก เพราะเรือกลไฟขนาด 400 ตัน เข้าไปจอดในแม่น้ำจันทบุรีได้
ทั้งนี้กาแฟจากแหล่งปลูกนี้ หรือที่เรียกกันว่า กาแฟจันทบูรนั้น ค่อนข้างมีคุณภาพ ดังที่อังรี มูโอต์ นักสำรวจฝรั่งเศส ซึ่งไปจันทบุรีเมื่อปีพ.ศ.2402 กล่าวไว้ในหนังสือ “Travels in the Central Part of Indo-Chaina (Siam),Cambodia and Laos” ว่ากาแฟที่จันทบุรีปลูกนั้น (กาแฟจันทบูร) มีรสชาติดี
ในช่วงรอยต่อระหว่างปีสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สยามเริ่มมีการส่งออกกาแฟ ดังเห็นได้จากรายชื่อสินค้าออกของสยามที่พบในหนังสือราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเขียนโดยพระสยามธุรานุรักษ์ โดยการปลูกกาแฟเพื่อการส่งออกแม้จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เป็นรองจากการส่งออกข้าว แต่ก็ถือว่ามีปริมาณน้อยมากเทียบไม่ได้กับสินค้าส่งออกที่สำคัญของสยามได้แก่ ข้าว ไม้สัก ดีบุกและยางพารา
เหตุผลที่สยามไม่ประสบความสำเร็จในการผลิตกาแฟเพื่อการส่งออก ทั้งที่กาแฟไทยค่อนข้างมีศักยภาพในการแข่งขันคือมีรสชาติดี (กาแฟจันทบูร) ทั้งนี้เนื่องจากการปลูกกาแฟเพื่อส่งออกจำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ปลูกกาแฟในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีเพียงเฉพาะกลุ่มเชื้อพระวงศ์และขุนนางที่มีไพร่ในสังกัด ต่อมาเมื่อยกเลิกระบบศักดินาซึ่งเป็นกลไกร้ฐในการเรียกเกณฑ์แรงงานไพร่และทาส ทำให้ราษฎรเปลี่ยนเป็นแรงงานอิสระ ต่างจากประเทศผู้ผลิตกาแฟอื่น ๆ ที่ประเทศมหาอำนาจเข้าไปบังคับใช้แรงงานอย่างกดขี่เยี่ยงทาส
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2559). อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ 5 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก. พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นายหงวน เท่งเศรษฐี ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2482. เข้าถึงจาก
เชื้อ ธรรมทิน สุวรรณรัต. การปลูกและการผลิตกาแฟ ภาคปฏิบัติของกรมการปกครอง. พิมพ์แจกเป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ นายศุข สงวนน้อย ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 13 มกราคม 2509. เข้าถึงจาก
โดม ไกรปกรณ์. (2557). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยอาณานิคม : มองผ่านการผลิตและบริโภคกาแฟ. เข้าถึงจาก
พระครูพิศาลวินัย วาท (เหม) และพระมหาเพิ่ม. (2471). ประวัติวัดประยุรวงศาวาส จ.ธนบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์. (พิมพ์แจกเปนที่ระลึกในงานเสด็จพระราชดำเนิรพระราชทานผ้าพระกฐินวัดประยุรวงศ์ โดยกระบวนพยุหยาตรน้อยทางชลมารคและสถลมารค 13 พ.ย.2471). เข้าถึงจาก
บัณรส บัวคลี่. (4 กันยายน 2558). ในการค้ามีตำนาน ตอน ข้าวแฝ่แห่งกรุงสยาม. เข้าถึงจาก
สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช 2484. เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก
สุกัญญา สุจฉายา. (2560). อาหารไทยสมัยกรุงศรีอยุูธยา. เข้าถึงจาก