สีพระราชนิยม : สีจีวรในงานพระราชพิธี
ผ้าที่พระภิกษุใช้ห่มคลุมร่างกายมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อย่างเช่น จีวร สบง และสังฆาฏิ เป็นบริขารที่ต้องใช้เพื่อปกปิดร่างกาย ใช้ป้องกันความหนาว ร้อนและเหลือบยุง ดังที่พุทธพจน์ตรัสความสำคัญเกี่ยวกับจีวรว่า "เพื่อบำบัดความหนาว เพื่อบำบัดความร้อน เพื่อบำบัดสัมผัสแห่งเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื่อยคลาน เพื่อปกปิดอวัยวะที่ให้ความละอายกำเริบเป็นกำหนดเท่านั้น"
โดยในยุคแรกพระพุทธเจ้าและพระสาวกคงใช้ผ้านุ่งผ้าห่มตามที่จะหามาได้ หรือเก็บเอาผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ บ้าง มีคนเขาถวายบ้าง และบางทีก็เป็นผ้าห่อศพบ้าง ซึ่งเรียกว่าผ้าบังสุกุล หรือผ้าคลุกฝุ่นนั้นเอง และมีหลักฐานที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกและพระสูตรว่า
“สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงได้ผ้าบังสุกุล พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะซักผ้านั้นก็มีท้าวสักกะจอมเทพทรงขุดสระโบกขรณีถวาย และพระองค์ทรงจะตากผ้าก็มีเทวดาที่สิงสถิตที่ต้นกุ่มก็น้อมกิ่งกุ่มลงมาให้ตากผ้า ซึ่งเป็นประเพณีที่พระภิกษุถือปฏิบัติกันมากในครั้งพุทธกาลเกี่ยวกับผ้าบังสุกุลจีวร”
จีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์ถูกตัดเย็บตามลวดลายนาข้าวเป็นแบบแผนเดียวกันซึ่งออกแบบโดยพระอานนท์ แม้สีจีวรต่างกันออกไปตามวัสดุที่นำมาย้อมสี มักหาได้ตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในธิเบตย้อมจึวรด้วยดินสีแดงผสมหญ้าฝรั่นสีส้ม ในศรีลังกาจีวรถูกย้อมด้วยไม้มะฮอกกานี ส่วนในประเทศไทยสายวัดป่ายังคงนิยมย้อมจีวรด้วยแก่นขนุน สีจีวรจึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แม้แต่ในไทยเองก็มีความแตกต่างกัน
ในสมัยพุทธกาลพระภิกษุสงฆ์จะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติแท้ สีจะไม่ออกมาเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปบ้าง พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตสีที่ใช้ย้อมจีวรผ้ากาสายะ และสีใกล้เคียงอีกหลายชนิดหรืออาจมองได้อีกประการหนึ่งว่า ทรงมีพุทธวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้เนื่องจากไม่ใช่แก่นของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม พระวินัยปิฎกอนุญาตให้ภิกษุย้อมจีวรจากน้ำย้อม 6 ชนิด คือ 1) น้ำย้อมที่เกิดจากรากหรือเหง้า (ยกเว้นขมิ้น) 2) น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ (ยกเว้นฝาง, แกแล) 3) น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ (ยกเว้นเปลือกโลท, เปลือกมะพูด) 4) น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ (ยกเว้นใบมะเกลือ, ใบคราม) 5) น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ (เว้นดอกทองกวาว, ดอกคำ) และ 6) น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ เรียกรวมๆ ว่าน้ำย้อมฝาด
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าไม่ชัดเจนว่าเป็นสีจากน้ำย้อมเหล่านี้เป็นสีอะไรกันแน่ แต่มีการตีความว่าการห้ามใช้บางสี เพื่อให้เกิดความแตกต่างของเครื่องนุ่งห่มจากลัทธิอื่น บ้างก็ว่าเพื่อความปลอดภัยไม่เป็นพิษต่อผิวหนัง โดยสีที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามใช้ทำสีจีวร ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีดำ สีแสด สีชมพู รวม 7 สี
ในปัจจุบันจีวรในไทยส่วนมากถูกผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำให้สีไม่ตรงกับสีที่บัญญัติไว้ในพระวินัยแท้จริง พบว่าในเมืองไทยมีจีวรหลากหลายสีมาก อาทิ สีส้มทอง ส่วนใหญ่ที่ครองจีวรสีนี้จะเป็นวัดสระเกศ วัดธรรมกาย วัดปากน้ำ สีแก่นขุน สีแก่นบวร ส่วนใหญ่จะเป็นพระสายกรรมฐานภาคอีสาน หรือสายพระป่า สีกรักแดง ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ทางภาคเหนือ
หากแบ่งพระสงฆ์เป็นฝ่ายอรัญวาสี กับฝ่ายคามวาสี พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีจะอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน ส่วนใหญ่จะนุ่งห่มจีวรสีส้มหรือเหลืองทอง ส่วนพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสี ส่วนใหญ่นิยมจึวรสีกรัก สีแก่นขนุน เพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้มีความยืดหยุ่น ไม่ได้เป็นที่เคร่งคัดนักกล่าวคือ การที่พระสงฆ์ครองจีวรสีใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าวัดที่สังกัดนั้นเป็นหลัก
เมื่อราวปีพ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถึงเรื่องสีจีวรของพระสงฆ์ เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าในงานพระราชพิธีนั้น พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีครองจีวรสีต่างกันดูไม่สวยงามไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สมเด็จพระญาณสังวรฯ ได้จัดทำจีวรตามสีที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยนั้น ถวายพระสงฆ์ในงานตามพระราชพิธีต่างๆ เรียกว่า "จึวรสีพระราชนิยม"
นับตั้งแต่นั้นทางคณะสงฆ์ก็ฉลองพระราชศรัทธาโดยห่มจีวรสีพระราชนิยม เข้าร่วมงานพระราชพิธีต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง รวมถึงพิธีพระราชทานสมณศักดิ์ประจำปี การที่คณะสงฆ์ไทยครองจีวรสีพระราชนิยมเหมือนกันก็เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะสงฆ์ไทย
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
พระสมุห์จักรพงศ์ จนฺทสีโล (มาศตุการักษ์). (2561). ศึกษาการทรงจีวรของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในเถรวาท. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. เข้าถึงจาก
MGR Online. (22 กุมภาพันธ์ 2557). เปลี่ยนสีจีวร “พระธรรมยุต” เรื่องธรรมดาที่ “ไม่ธรรมดา” เข้าถึงจาก เข้าถึงจาก