Museum Core
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในฐานะพระนักเทศน์
Museum Core
29 ก.ย. 63 1K

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในฐานะพระนักเทศน์

 

 

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เป็นพระผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชนทั่วไป และนอกจากจริยาวัตรด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว คนรุ่นหลังระลึกถึงท่านด้านเกจิผู้มีวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล "พระสมเด็จ" ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่งของท่านเป็นธรรมกถึกหรือพระนักเทศน์ ที่มีภูมิธรรมชั้นสูง

 

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.2343

 

ว่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายาว่า "พฺรหฺมรํสี" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ท่านศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานแต่ก็ไม่เข้าสอบเปรียญธรรม ดำรงตนเป็นผู้สมถะไม่ปรารถนาลาภยศใด ๆ  ตามบันทึกหลักฐานมักกล่าวท่านในความเป็นพระเถระผู้มีเมตตา มีจริยวัตรเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใส  อย่างไรก็ตามไม่ค่อยพบเอกสารที่บันทึกหลักธรรมคำสั่งสอนของท่าน โดยมากมักเป็นบันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงชีวิตของท่าน และส่วนมากเป็นเพียงบันทึกที่ได้จากปากคำของผู้ที่มีชีวิตร่วมสมัยกับท่านเท่านั้น เช่น เอกสารฉบับของมหาอำมาตย์ตรีพระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ที่รวบรวมขึ้นในปีพ.ศ. 2473

 

อย่างไรก็ตามมีกัณฑ์เทศน์ที่เชื่อกันว่าเป็นโวหารของท่านที่มีผู้กล่าวถึงเสมอ คือ “เทศน์ 12 นักษัตร”  เมื่อพิจารณาโดยละเอียดก็จะพบว่าประกอบด้วยหลักธรรมคำสอนชั้นสูงทางพุทธศาสนาว่าด้วยความจริงอันประเสริฐอันนำไปสู่การดับทุกข์หรือ ดังนี้ 

 

"อาตมาภาพก็เห็นว่า 12 นักษัตรนี้ เป็นต้นทางของอริยสัจ แท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง 12 นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่ เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใคร จะเทศน์ 12 นักษัตรสู่กันฟังเลย ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเหตุแล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนา เรื่อง 12 นักษัตรเล่า ควรจะอนุโมทนาสาธุการ อวยพรให้แก่ผู้ไปนิมนต์ให้มาก"

 

โดย “เทศน์ 12 นักษัตร” ที่มีการบันทึกไว้ เป็นฉบับที่พระธรรมธีรราชมหามุนี (สิริจนฺโท จันทร์) วัดบรมนิวาส เป็นผู้แต่งคำอธิบายขยายความเพิ่มเติมในตอนท้าย จัดพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2466 หลังสมเด็จพระพุฒาจารย์โตมรณภาพราว 50 ปี  สันนิษฐานว่าพระธรรมธีรราชมหามุนี (สิริจนฺโท จันทร์) ท่านคงขยายความในส่วนของนักษัตร ที่ปรากฏชื่อเดือนต่าง ๆ เช่นเดือนเมษายน เดือนพฤษภาคม ซึ่งชื่อเดือนต่างๆ เหล่านั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนจากปฏิทินจันทรคติมาใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลตามปฏิทินเกรกอเรียนแทนที่ โดยกำหนดแบ่งให้หนึ่งปีมี 12 เดือน และในแต่ละเดือนจะมี 28-31 วันตามปฏิทินสากล ทรงให้กรมพระยาเทววงศ์วโรปการตั้งชื่อเดือน ได้แก่ เดือนแรกของปีคือเดือนเมษายน จนถึงเดือนสุดท้ายของปี คือเดือนมีนาคม กล่าวคือชื่อเดือนแบบใหม่นี้เกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มรณภาพแล้ว เมื่อนำกัณฑ์เทศน์โวหารของท่านมาตีพิมพ์ พระธรรมธีรราชมหามุนี (สิริจนฺโท จันทร์) จึงขยายความส่วนนี้ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป

 

นอกจากนี้ยังมีคติธรรมคำสอนที่เชื่อว่าเป็นโวหารของท่านอีกเป็นจำนวนมาก เช่น

 

“ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?”

 

“เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

 

การเปิดมุมมองสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ในฐานะพระนักเทศน์ จึงช่วยให้เห็นว่านอกจากความเป็นผู้มีคาถาอาคม ท่านยังเป็นผู้มีภูมิธรรมชั้นสูง เป็นพระนักเทศน์นำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเผยแพร่ โดยเน้นไปสู่การดับทุกข์มากกว่าอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม

 

คติธรรมคำสอน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี). เข้าถึงจาก

 

คำสั่งสอนอบรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี) ; และ, ธรรมบรรยายพิเศษเรื่องธรรมะทำไมกัน?. พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในการพระราชทานเพลิงศพ นายหิรัญ สูตะบุตร เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 24 ธันวาคม 2512. เข้าถึงจาก

 

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ตอนที่ 1 – 10. อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณแม่เพื่อน สนยั่งยืน และ เรืออากาศโท มรกต ชาติบุญเกิด ณ เมรุวัดสังเวชวิศยาราม พระนคร 12 ธันวาคม 2505. เข้าถึงจาก

 


ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) จากบันทึกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์). เข้าถึงจาก

 

เทศน์ 12 นักษัตร. พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในงานฌาปนกิจศพ นางสาวดวงกมล วุฒิศาสน์ ณ ฌาปนสถานวัดสระเกศ พระนคร วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2505. เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ