Museum Core
ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
Museum Core
30 ก.ย. 63 981

ผู้เขียน : สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก

 

 

 

กิจการลูกเสือ (Scouting) เป็นกิจการเยาวชน (Youth Movement) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน  มีสมาชิก 171 ประเทศ มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคนทั่วโลก  ในช่วงระยะเวลาก่อนที่กิจการลูกเสือโลกจะถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ ในไทยเองก็มีกิจการเยาวชนที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงก่อตั้งขึ้นในนาม “กองลูกเสือ” 

 

ความเป็นมาของกิจการลูกเสือโลกนั้น เดิมทีลอร์ด เบเดน เพาเวลด์ -  B.P. ผู้ก่อตั้งได้ตั้งกองเยาวชนอาสาขึ้นมาทำการฝึกทำหน้าที่หาข่าว สอดแนม  เขานำประสบการณ์จากการรบเขียนเป็นหนังสือชื่อ  Aid to Scouting  และกลายเป็นแรงบันดาลใจและต้นแบบของกิจการลูกเสือในปัจจุบัน

 

จากนั้น B.P. ได้เขียนหนังสือเล่มสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของกิจการลูกเสืออย่างมีนัยสำคัญ คือ Scouting for Boy  สามารถจำหน่ายได้มากกว่า 100 ล้านเล่มทั่วโลก9 ซึ่งทำให้เยาวชนชายทั้งหลายจัดกลุ่มทดลองทำกิจกรรมลูกเสือ  ทำให้กิจการลูกเสือถูกเริ่มต้นและขยายวงทั้งในประเทศอังกฤษ และทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

 

ในระหว่างสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ทั่วโลกยกเว้นประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ  กิจการลูกเสืออาสาเข้าช่วยเหลือกิจการสงครามบนหลักการประชาธิปไตย (Democratic Principle) ตามที่ บี – พี คาดหวังไว้แต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 ลูกเสืออาสาสมัครรับหน้าที่บริการที่หลากหลาย เช่น การส่งข่าว พลเปลหาม อาสากู้ภัย ฯลฯ รวมถึงในประเทศมีความวุ่นวาย ลูกเสือทั้งหลายก็เข้าร่วมมีบทบาทสำคัญในการป้องกันประเทศในระหว่างสงคราม

 

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำแนวคิดการสอดแนม (scouting) ของ B.P. จัดตั้งเป็น  ”กองเสือป่า” และขยายไปยังบุตรหลานของเสือป่าและเยาวชนทั่วไป จึงพระราชทานนามว่า “ลูกเสือ”   กิจการเสือป่าและลูกเสือต่างเป็นกองกำลังอาสาสมัครส่วนพระองค์  ทำการฝึกอบรมตามแบบทหารเพื่อช่วยสอดส่องดูแลประเทศและอารักขาองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์    

 

“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า กองเสือป่าได้ตั้งขึ้นเปนหลักฐานแล้ว พอจะเปนที่หวังได้ว่าจะเปนผลดีตามพระราชประสงค์  แต่ผู้ที่จะเปนเสือป่าต้องเปนผู้ที่นับว่าเปนผู้ใหญ่แล้ว ฝ่ายเด็กผู้ชายที่ยังอยู่ในปฐมวัย ก็เปนผู้สมควรจะได้รับการฝีกฝน ทั้งในส่วนร่างกายและในส่วนใจให้เปนผู้มีความรู้ในทางเสือป่า เพื่อว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้วจะได้รู้จักหน้าที่ ซึ่งผุ้ชายไทยทุกคนควรจะประพฤติให้เปนประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อันเปนที่เกิดเมืองนอนของตน  และการฝึกฝนปลุกใจให้คิดถูกเช่นนี้  ต้องเริ่มฝึกฝนเสียเมื่อยังเยาว์อยู่ เปรียบเหมือนไม้ที่ยังอ่อน ดัดไปเปนรูปอย่างไร ก็เปนไปได้โดยง่ายและงดงา แต่ถ้ารอไว้จนแก่เสียแล้ว เมื่อจะดัดก็ต้องเข้าไฟ และมักจะหักจะลิได้ในขณะที่ดัด ดังนี้ฉันใด สันดานคนก็ฉันนั้น”

 

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้อุปถัมป์ลูกเสือดำรงตำแหน่งสภานายก สภากรรมการกลางลูกเสือ และยังมีการแบ่งสายการปกครองประจำมณฑลและประจำภาคอีกด้วย มีข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือโดยเฉพาะ โดยให้กองลูกเสือกระจายอยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ  โดยต้องมีผู้สมัครเป็นลูกเสือจำนวนไม่น้อยกว่า 18 คนจึงจะตั้งเป็นกองลูกเสือได้  

 

กองลูกเสือยังมีธงประจำกองลูกเสือซึ่งจะต้องรักษาเอาไว้อย่างดี แม้จะต้องเสียชีวิตเพื่อรักษาธงนี้ไว้ก็ต้องยอมสละเป็นราชพลี   เช่น ธงพระมนูแถลงสาร เป็นธงประจำกองลูกเสือหลวง เปรียบได้กับธงไชยเฉลิมพลของกองทหารและศารทูลธวัชประจำกรมกองเสือป่า เมื่อมีการตั้งกองเกียรติยศรับเสด็จหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กองลูกเสือหลวงตามเสด็จไปในการซ้อมรบเสือป่าประจำปีหรือในเวลาเสด็จหัวเมืองใดๆ ก็ตาม กองลูกเสือหลวงจึงต้องเชิญธงพระมนูแถลงสารเข้าประจำแถวหรือไปในการตามเสด็จด้วยทุกครั้ง

 

หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 6 กองเสือป่าได้ถูกยกเลิกไป และมีแนวคิดการเคลื่อนย้ายอำนาจในการป้องกันรักษาดินแดนของรัฐจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังรัฐบาล โดยการนำแนวคิดและโครงสร้างการบริหารจัดการในเรื่องของการสร้างและจัดการกำลังสำรองของประเทศและการรักษาดินแดนไปพัฒนาเป็นต้นแบบในการสถาปนากิจการต่าง ๆ คือ  กรมการรักษาดินแดน กองอาสารักษาดินแดน ตำรวจตระเวนชายแดน  และลูกเสือชาวบ้าน   และมีการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินกองเสือป่าตกเป็นของคณะลูกเสือแห่งชาติ พุทธศักราช 2482 เพื่อโอนทรัพย์สินของกองเสือป่าไปอยู่ในความดูแลของคณะลูกเสือแห่งชาติทั้งหมด คงเหลือแต่เพียงกิจการลูกเสือ

 

โดยบุคคลสำคัญในการสานต่อกิจการลูกเสือของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พลเอกเจ้าพระยารามราฆพ  ดำรงตำแหน่งสภานายก  สภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ ร่วมกำหนดข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 

 

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างกิจการลูกเสือไทยและลูกเสือโลกนั้น  ไทยได้ส่งผู้แทนลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 ณ ประเทศอังกฤษ และคณะลูกเสือแห่งชาติเข้าเป็นสมาชิกสมัชชาลูกเสือโลกตั้งแต่ปีพ.ศ.2465

 

กิจการลูกเสือเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทั่วโลกยกย่อง และยอมรับว่าช่วยให้เยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizen)  และ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกตามค่านิยมร่วมแบ่งปันกันในชุมชน สังคมและระดับโลก  เป็นส่วนหนึ่งของการการศึกษาของเยาวชน ผ่านระบบคุณค่าตามกฎของลูกเสือ และคำปฏิญาณของลูกเสือ ที่จะช่วยสร้างโลกที่ดีกว่า และร่วมมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในสังคม  และลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันด้วยเหตุนี้นั่นเอง

 

 

สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์

 

 

บรรณานุกรม

 

โดม ไกรปกรณ์, ลูกเสือสยาม. เข้าถึงจาก

 

วรชาติ มีชูบท. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (14).  เข้าถึงจาก

 

วรพัฒน์ ญาณวุฒิ. (2560). การปรับตัวของกิจการลูกเสือในฐานะกลไกของรัฐ. เข้าถึงจาก

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ