ผะหมี : ปริศนาคำทายจากจีนที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรด
ผะหมี คือการเล่นปริศนาคำทายที่ไทยรับแบบอย่างมาจากประเทศจีน พระเจนจีนอักษรอธิบายว่า ผะ แปลว่า ตี หมี แปลว่า คำอำพราง ดังนั้นผะหมีก็คือการตีปัญหาหรือแก้ปัญหา ตีหรือแก้คำที่อำพรางให้ชัดแจ้ง ซึ่งเป็นการเล่นของหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต และกวีในประเทศจีน ถือเป็นการประลองปัญญาและฝึกสมอง แต่เดิมเรียกการเล่นชนิดนี้ว่า มี่กื้อ แปลว่า คำพูดที่อำพราง ต่อมานิยมเรียกว่า เต็งหมี แปลว่า ชวาลาส่องให้เห็นคำที่อำพราง ต่อมาการเล่นนี้ได้แพร่หลายทั่วไปนักปราชญ์ราชบัณฑิตและกวีโดยทั่วไป มีการเล่นการละเล่นปริศนาคำทายในเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ที่เจ้าของบ้านจะเขียนปริศนาไว้บนโคมไฟหน้าบ้าน ให้แขกที่มาบ้านได้ทายปัญหา หรือ เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาได้ทาย ผู้ใดทายถูกเจ้าของบ้านก็จะเชิญให้ร่วมรับประทานอาหาร ซึ่งแสดงถึงการให้เกียรติในฐานะเป็นผู้มีความรู้
การเล่นผะหมีของจีนแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย แล้วถูกปรับปรุงให้เป็นไทยโดยแต่งคำปริศนาและคำทายด้วยคำประพันธ์ของไทย เช่น โคลง กลอน มีการเล่นในรูปแบบการตอบคำถาม (ถาม-ตอบ) รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้มี ”คอลัมน์ ปัญหาขัดข้อง“ ในหนังสือวชิรญาณ ใช้วิธีถามปัญหาจะใช้วิธีผูกเป็นเรื่องราวขึ้นมา ผู้ผูกปัญหาก็คือบรรดาเจ้านายและข้าราชการ และให้ผู้อ่านที่เป็นสมาชิกหนังสือวชิรญาณช่วยกันตอบ ต้องการให้เกิดความสนุกและขบขัน และตั้งคณะกรรมการ “กรรมสัมปาทิก” เพื่อพิจารณาว่าคำแก้ของใครถูกต้อง เพื่อมอบรางวัล ต่อมามีการจัดพิมพ์รวมเล่ม ชื่อว่า “ปัญหาขัดข้อง” ปัญหานั้นจะไม่มีคำเฉลยที่ถูกต้องเสียทีเดียว คำตอบจะเป็นอย่างไรก็ได้ขึ้นอยู่ว่า คำตอบนั้นสามารถแก้ปัญหาที่ผูกไว้มากที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด โดยมีกรรมสัมปาทิกจะทำหน้าที่ตัดสิน การตอบคำถามนั้น ต้องอาศัยเชาวน์ ปัญญา การแก้ไขปัญหา สถานการณ์เฉพาะหน้า การใช้วิจารญาณและการตัดสินใจ บางครั้งก็พบว่า แก้ปัญหาในลักษณะตลกขบขัน
และรัชกาลที่ 5 ทรงนำปริศนามาทายในคราวออกร้านวัดเบญจมบพิตร มีเกร็ดเล่าว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะที่มีอายุ 7-8 ขวบ เคยไปเที่ยวงานฤดูหนาว วัดเบญจมบพิตร และได้ไปเล่นผะหมี ด้วย ข้อความในปริศนามีดังนี้ “คำว่า เทิดทูน ต่อสู้ มีชื่ออยู่ในพุทธประวัติ มีความหมายอยู่ในคนๆเดียว” เขียนตอบในกระดาษว่า ชูชก ลงชื่อ คิดลึก ซึ่งถูกต้อง รัชกาลที่ 5 จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเล่นปริศนาคำทายมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ได้เขียนเล่าไว้เรื่อง “ผะหมี” ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โปรดการเล่นพะหมีกับพวกมหาดเล็กมาก ทรงตั้งคำถามให้ข้าราชบริพารส่วนพระองค์คิดทายกันเล่น
ต่อมาใน พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดงานฤดูหนาว ณ พระราชอุทยานวังสราญรมย์ เพื่อหารายได้แบ่งเบาพระราชภาระค่าใช้จ่ายในการซ้อมรบประจำปีของกองเสือป่าและลูกเสือ มีข้าราชการและประชาชนมาออกร้านกันเป็นจำนวนมาก พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “ร้านผะหมี” และทรงขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งพระยาศรีสุนทรโวหาร และเสนาบดีหลายคนช่วยตั้งปัญหา คำถามผะหมีจะเขียนบนกระดานชนวนแขวนเรียงลำดับไว้ข้างฝาร้านทั้งสองด้าน ผู้ที่จะทายผะหมีลำดับใด แสดงความจำนงแล้วจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก่อนเล่นทายปริศนาคำทาย หากทายถูกจะได้รับรางวัล ซึ่งมีราคาพอสมควรแตกต่างไปตามความยาก-ง่ายของปัญหา
ในครั้งนั้น ผะหมีพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “ใครเก่งที่สุดในโลก” ผู้ที่ตอบได้ถูกต้องคือ นายสนิท หุ้มแพร (บุญมา หิรัญยะมาน) ว่ากันว่าคำตอบนั้นก็เกิดจากคำบ่นอย่างโกรธๆ ว่า “ไม่รู้” ซึ่งปรากฏว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้อง พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงการตั้งปริศนานี้ว่า
“การที่ฉันตั้งกระทู้พะหมี ถามว่า “ใครเก่งที่สุดในโลก” ครั้งนี้ก็เพราะจะลองดี พวกที่ถือดี อวดว่าอะไรๆ ฉันก็รู้ทั้งนั้น...บรรดาคนที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ผู้รู้” หรือ “นักปราชญ์” นั้น ดูจะพูดคำว่า “ไม่รู้” ไม่ได้เอาเสียเลย...นับเป็นเรื่องฉันมีความรำคาญใจมานานแล้ว”
ตัวอย่าง ผะหมีพระราชนิพนธ์ที่มีลักษณะร้อยกรอง
ใครเอยเคยโบกให้ สัญญา ต้อนพยุห์ยุทธนา แต่กี้
มีนามซึ่งอามา เป็นชื่อ เสวก ณ บัดนี้ อีกทั้งเป็นทหาร ฯ
คำตอบคือ เจ้าพระยารามราฆพ
ใครเอยเคยขึ้นชื่อ ฤาชา รักลูกผู้โทษา ดุร้าย
บัดนี้ยกนามมา ร้องเรียก เสวกมีสร้อยท้าย เพศเชื้อสกุลสูง
คำตอบคือ พระยาอนิรุทธเทวา
ตัวอย่าง ผะหมีพระราชนิพนธ์ที่มีลักษณะร้อยแก้ว
“คำ 2 เสียง เสียงที่ 1 เป็นเสียงสั้น แปลว่าล้าง เสียงที่ 2 เป็นเสียงยาวแปลว่าทำให้แค้น รวม 2 เสียง แปลว่าดำก็ได้ เป็นนามประเทศแห่งคนที่ไม่เป็นทาส”
คำตอบคือ สยาม ขยายความได้ดังนี้ เสียงที่ 1 คือ สระ หรือ สะ, เสียงที่ 2 คือ หยาม เมื่อรวมทั้งสองเสียงจึงเป็นคำว่า สยาม
“คำเสียงเดียว เป็นชื่อสัตว์อย่างหนึ่งซึ่งพระกินไม่ได้ ถ้าเติมเครื่องหมายอย่างที่ 1 กลายเป็นอาศน์ซึ่งใช้ได้ทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ ถ้าเติมเครื่องหมายอย่างที่ 2 กลายเป็นเครื่องห่มซึ่งพระไทยใช้ไม่ได้ และถ้าเติมอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่แห่งสัตว์นั้น จะกลายเป็นนามคณะอันหนึ่ง”
คำตอบคือ เสื่อ เสื้อ เสือป่า ขยายความได้ดังนี้ เสือ, + ไม้เอก (เครื่องหมายอย่างที่ 1 เอก) = เสื่อ. เสื้อ, + ไม้โท (เครื่องหมายอย่างที่ 2 โท) = เสื้อ. เสือ, + ป่า, = เสือป่า
เหตุที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการเล่นปริศนาคำทายผะหมี เนื่องจากพระองค์ทรงต้องการฝึกให้ข้าราชบริพารได้คิดทายกันเพื่อฝึกสมอง ประลองปัญญา จากนั้นการเล่นผะหมีนี้ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนทั่วไป มีการเล่นดังกล่าวในงานวัดต่างๆ ปัจจุบันกลายเป็นการเล่นที่ยังคงเล่นกันอยู่ แต่กลายเป็นการเล่นประจำท้องถิ่นไปเสียแล้ว
สรวิชญ์ ฤทธิจรูญโรจน์
บรรณานุกรม
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ,. พระราชนิพนธ์ปริศนา คำโคลงและความเรียง. เข้าถึงจาก
วิภา ศิริสวัสดิ์. (2526). วิวัฒนาการของปริศนาคำทายไทย และการนำมาใช้ในการเรียนการสอนระดับประถมศึกษา. เข้าถึงจาก