“The capital cannot be a city without a past. It must regain its Castle and the Cathedral”
Jan Zachwatowicz
“เมืองหลวงไม่อาจเป็นเมืองที่ปราศจากอดีต เมืองต้องได้รับการฟื้นคืนปราสาทและมหาวิหาร”
ยัน ซัคควะโตวิช
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1944 เมื่อกองทัพโซเวียตเคลื่อนมาประชิดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำวิสวา (Wisła ในภาษาโปลิช เขียน Vistula (วิสตูลา) ในภาษาอังกฤษ) กองทัพใต้ดินของโปแลนด์จึงลุกฮือขึ้นเพื่อปลดปล่อยกรุงวอร์ซอจากนาซีให้ได้ก่อนที่โซเวียตจะข้ามมา กองทัพปลดแอกและนาซีสู้รบกันอย่างหนักเป็นเวลาสองเดือนและจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพปลดแอก อีกไม่กี่เดือนต่อมากองทัพนาซีระเบิดทำลายเมืองอย่างยับเยินก่อนที่จะถอนตัวจากวอร์ซอ จากนั้นโซเวียตจึงเข้ามาครอบครองวอร์ซอ โดยโซเวียตคิดจะสร้างโซนที่อยู่อาศัยลงบนซากเมืองโบราณด้วยอาคารที่มีลักษณะเป็นแฟลตสี่เหลี่ยมจำนวนมาก
เมืองวอร์ซอถูกทำลายไปประมาณ 84% หลังสงครามมีชาวเมืองวอร์ซอเหลืออยู่ไม่ถึงสองแสนคนจากที่เคยมีประชากรในเมืองหลวงแห่งนี้กว่าหนึ่งล้านคน เฉพาะในบริเวณเมืองเก่ามีคนที่ยังคงอาศัยอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังเพียงไม่กี่พันคน เมืองเก่าวอร์ซอที่นักท่องเที่ยวไปเช็คอินกันในปัจจุบันนี้ เป็นการบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
ในยุคนั้นมีข้อถกเถียงกันมากเรื่องการบูรณะเมือง นักโบราณคดีส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการขุดค้นและบูรณะโบราณสถานที่เก่าแก่ห่างไกลจากชีวิตของคนปัจจุบัน ยังไม่เคยเจอกรณีของการบูรณะเมืองเก่าที่พังไปเพราะสงครามแบบสดๆร้อนๆ เรื่องนี้จึงเป็นที่ถกเถียงไปทั่วในหลายวงการว่าจะรื้อถอนแล้วสร้างเมืองใหม่ทับลงไปเพราะมันพังจนสุดจะเยียวยา จะรักษาซากเท่าที่เหลือไว้แบบนั้น จะบูรณะขึ้นมาบางส่วนเพื่อเป็นอนุสรณ์ หรือจะสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งหมดโดยแซมใส่ของเดิมที่หลงเหลือกลับคืนที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และกลับฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมืองเก่าอีกครั้งหนึ่ง การถกเถียงแตะทั้งประเด็นการเมือง ผลประโยชน์ คุณค่าในเชิงวิชาการ และคุณค่าทางจิตใจ
เมืองวอร์ซอเกือบจะถูกทิ้งไว้ในความทรงจำ ขณะที่มีแผนจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อื่น แต่ชาววอร์ซอได้กลับเข้ามาที่เมืองเพื่อพยายามช่วยกันซ่อมแซมคนละไม้คนละมือ ความสำเร็จดูจะห่างไกลเกินฝันเหลือเกิน การบูรณะอย่างเป็นทางการคงไม่เกิดขึ้นถ้าไม่ใช่เพราะสตาลินเปลี่ยนใจ (ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศ) โซเวียตตกลงใจที่จะสนับสนุนการสร้างวอร์ซอเก่าขึ้นใหม่ และตั้งองค์กรขึ้นดูแลเรื่องนี้ เรียกว่า Biuro Odbudowy Stolicy (BOS) (Office for the Reconstruction of the Capital) นี่เป็นการสร้างเมืองเก่าที่ถูกทำลายเพราะสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นใหม่ทั้งเมืองในสเกลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และงานนี้คงจะไม่สำเร็จถ้าไม่ได้ ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิช (Jan Zachwatowicz ค.ศ.1900-1983) มาเป็นหัวหน้าโครงการและช่วยผลักดันเรื่องนี้
ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิช เรียนมาทางวิศวะและสถาปัตยกรรม ในปี ค.ศ.1930 ได้เข้าสอนในภาควิชาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอ (Warsaw University of Technology) ซึ่งในขณะนั้นศาสตราจารย์ออสการ์ ซอสโนสกี้ (Oskar Sosnowski) เป็นหัวหน้าภาควิชา ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิช กล่าวอยู่เสมอว่า 9 ปีที่ทำงานอยู่กับศาสตราจารย์ออสการ์ ซอสโนสกี้ เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อทัศนะในวิชาชีพของเขา
ด้วยเหตุที่ศาสตราจารย์ออสการ์ ซอสโนสกี้สนใจในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของโปแลนด์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมเชิงประเพณี เช่น โบสถ์ สุเหร่ายิว รวมถึงปราสาทราชวังและอาคารเก่าต่างๆ เขาให้ความสำคัญในการจัดทำและเก็บรักษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ เขาได้นำทีมอาจารย์และนักศึกษาในภาควิชาออกไปถ่ายภาพ สเก๊ตช์ภาพ รังวัดและจัดทำแบบแปลนอาคารเหล่านี้อย่างละเอียดต่อเนื่องเป็นเวลานับสิบปี มีรูปภาพและแบบแปลนที่ทีมงานทำไว้รวมกว่า 40,000 ชิ้น
ในเดือนกันยายน ค.ศ.1939 เพื่อปกป้องที่ซ่อนเอกสารข้อมูลของอาคารประวัติศาสตร์ ศาสตราจารย์ออสการ์ ซอสโนสกี้และอาจารย์ในภาควิชาอีกนับสิบคน ถูกทหารนาซีซ้อมและสังหารที่สนามหน้าอาคารของภาควิชาสถาปัตยกรรม ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิชได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาแทน และภาควิชาสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีวอร์ซอได้กลายเป็นกลุ่มต่อต้านนาซีแบบลับๆ หนึ่งเดือนต่อมา ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิช และ เยซิส ซาบลอสก์ (Jerzy Szablowski) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ได้ร่วมกันทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเพื่อพิทักษ์รักษาเอกสารสำคัญเหล่านี้ โดยการลอบขนย้ายเอกสารจำนวนถึง 138 ลัง ออกจากมหาวิทยาลัยไปเก็บรักษาไว้ยังประเทศอังกฤษ เรียกว่าขนย้ายกันใต้จมูกนาซีเลยทีเดียว เอกสารเหล่านี้เองที่ได้มีส่วนช่วยในการสร้างเมืองวอร์ซอกลับขึ้นมาใหม่
ในประเทศที่มรดกทางวัฒนธรรมถูกทำลายไปพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมากในคราวเดียวเช่นโปแลนด์ การตื่นตัวที่จะปกปักษ์รักษาจึงเห็นได้ชัด ประชาชนร่วมบริจาคทุนในการบูรณะและช่างจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วอร์ซอเพื่อช่วยงาน อาคารเก่าที่ได้รับการบูรณะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 – 20 ใช้เวลาบูรณะตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 ต่อเนื่องเกือบสี่สิบปี ศาสตราจารย์ยัน ซัคควะโตวิชทุ่มเทสิบปีสุดท้ายในชีวิตของเขาในการบูรณะปราสาทแห่งวอร์ซอซึ่งมาเสร็จสิ้นในปี ค.ศ.1984 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของนักโบราณคดีบางคนว่ามันเป็นงานสร้างภาพไม่ใช่งานบูรณะ เมืองเก่าวอร์ซอที่บูรณะขึ้นมาใหม่นี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ. 1980
พิพิธภัณฑ์ Warsaw's Old Town Heritage Interpretation Center คือการต่อยอดงานของศาสตราจารย์ยัน
ซัคควะโตวิช พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่อย่างสงบเสงี่ยมในบริเวณเมืองเก่าวอร์ซอซึ่งมีสถานที่เช็คอินสวยๆ และพิพิธภัณฑ์หลายหลากมากมาย ถ้าไม่ตั้งใจไปหากันจริงๆ แล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็อาจจะเดินผ่านเลยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไป ที่จริงเขาแนะนำให้มาเริ่มต้นการทัวร์เมืองเก่าที่พิพิธภัณฑ์นี้ก่อน เพราะที่นี่จะเล่าถึงที่มาของเมืองเก่าที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้และแนะนำข้อมูลให้แก่นักท่องเที่ยว ในส่วนจัดแสดงจะมีภาพจากคลังข้อมูลของศาสตราจารย์ออสการ์ ซอสโนสกี้ เช่น ภาพเมืองเก่าวอร์ซอก่อนจะถูกทำลาย ตัวอย่างแบบแปลนต่างๆ และภาพการทำงานของทีมบูรณะ พิพิธภัณฑ์มีส่วนที่นำเสนอด้วยมัลติมิเดียด้วย และการลงไปดูชั้นใต้ดินของอาคารนั้นคงจะน่าสนใจไม่น้อย แต่น่าเสียดายในช่วงที่ผู้เขียนไปชมพื้นที่ส่วนใหญ่ของพิพิธภัณฑ์มีการปิดปรับปรุง ข่าวว่าในปัจจุบันเปิดให้บริการได้แล้ว นอกจากนั้นงานด้านอื่นของพิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญเช่นกันคือ การเผยแพร่ จัดอบรม และจัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมไปยังเยาวชนและคนหนุ่มสาว ไม่เพียงกรณีศึกษาของเมืองเก่าวอร์ซอแต่รวมถึงมรดกวัฒนธรรมในที่อื่นๆ ด้วย
แหล่งที่มาของข้อมูล :
https://culture.pl/en/article/how-warsaw-came-close-to-never-being-rebuilt