Museum Core
ลำนำ ประวัติศาสตร์ การสร้างชาติ: ซุนจาตา เคตา วีรบุรุษผู้ก่อตั้งจักรวรรดิมาลี
Museum Core
05 ม.ค. 64 1K
.

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

         คงมีน้อยคนที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ทวีปแอฟริกาก่อนยุคล่าอาณานิคม แผ่นดินนี้ไม่ได้ชื่อว่ากาฬทวีปโดยไม่มีที่มา ในสายตาคนนอกแอฟริกายังคงเป็นดินแดนลึกลับยากจะเข้าถึง ทว่าหลายคนอาจไม่เคยทราบว่า ครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนปริศนานี้ เคยมีจักรวรรดิรุ่งเรืองที่ถูกกล่าวขานว่ามั่งคั่งที่สุดตั้งแต่มนุษยชาติสร้างอารยธรรมมา จักรวรรดินี้มีชื่อว่าจักรวรรดิมาลี (Mali Empire) ที่มีอาณาเขตแผ่กว้างตามลำน้ำไนเจอร์ทางตะวันตกของทวีป และเป็นศูนย์กลางการค้า การศึกษา และศาสนาของผู้คนทั้งในและนอกแอฟริกาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา

 

 

ภาพที่ 1: แผนที่จักรวรรดิมาลียุคแรก

 

           ที่มาภาพ: Gomez, Michael A.. African Dominion: A New History of Empire in Early and Medieval             West Africa. 2018. Page 73.

 

          อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจักรวรรดิมาลีจะถูกกล่าวถึงในบันทึกชาวต่างชาติหลายครั้ง ทว่าจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิกลับเลือนราง มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับมาลีในด้านความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์  ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
นักประวัติศาสตร์ทั่วโลกต่างยึดกฎเกณฑ์การกำหนดยุดสมัยทางประวัติศาสตร์จากการมีตัวอักษรไว้ใช้ในการบันทึก ทว่าสำหรับแอฟริกานั้น กฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ ประวัติศาสตร์แอฟริกาถูกจดจำต่อๆ กันมาผ่านเรื่องเล่าที่ขับร้องโดยเจลี (Djeli) หรือนักขับลำนำแต่ละท้องถิ่น และแม้ว่าพ่อค้าชาวอาหรับและยุโรปจะบันทึกถึงเรื่องราวความเป็นไปในดินแดนนี้ ทว่าพวกเขาก็ไม่อาจถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในมุมมองของชาวแอฟริกันได้ครบถ้วน ในส่วนของมาลีเองก็เช่นกัน ตำนานการก่อตั้งจักรวรรดิมาลีเป็นหนึ่งในลำนำที่ถูกขับขานกันมายาวนานที่สุดในแอฟริกาตะวันตก เด็กทุกคนเติบโตมาพร้อมกับเรื่องราวของวีรบุรุษผู้อาภัพที่ถูกขับไล่จากบ้านเกิดเมืองนอน ก่อนจะก่อร่างสร้างอาณาจักรของตัวเองในที่สุด วีรบุรุษผู้นี้คือซุนจาตา เคตา (Sunjata Keita) นักรบชาวมันดิงกา (Mandinka) ผู้รวบรวมชนเผ่าน้อยใหญ่เข้าด้วยกันจนก่อเกิดเป็นจักรวรรดิ

 

          ซุนจาตา เคตาเป็นบุตรชายหัวหน้าเผ่ามันดิงกา บิดาของเขายึดมั่นในคำทำนายของนักล่าปริศนาว่า จงรับหญิงสาวที่มีใบหน้าอัปลักษณ์ที่สุดมาเป็นภรรยา และหญิงผู้นี้จะให้กำเนิดบุตรชายที่จะเป็นนักรบยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ต่อมาเขาได้แต่งงานกับหญิงค่อมน่าเกลียดคนหนึ่ง ทว่าบุตรที่เกิดมากลับมีร่างกายพิกลพิการเป็นที่รังเกียจของบิดาและมารดาเลี้ยง ภรรยาคนแรกของหัวหน้าเผ่าจึงพยายามฆ่าสองแม่ลูกหลายครั้ง มารดาของซุนจาตาจึงต้องพาบุตรชายหนีจากดินแดนดังกล่าวในที่สุด

 

           ซุนจาตาและมารดาระหกระเหเร่ร่อนอยู่นาน จนกระทั่งราชาอาณาจักรเพื่อนบ้านเห็นว่าเด็กชายมีพละกำลังน่าอัศจรรย์จึงได้รับครอบครัวของเขามาในปกครอง ซุนจาตาได้พิสูจน์ให้พระราชาเห็นว่า ตนเป็นนักรบที่เก่งกาจที่สุดในอาณาจักร หลายปีต่อมาเมื่อเขาทราบข่าวว่าซูเมาโร กันเต (Soumaoro Kante) ราชาอาณาจักรซอสโซ (Sosso Kingdom) เข้ายึดครองดินแดนบ้านเกิดของตน ซุนจาตาก็ได้รวบรวมไพร่พลเพื่อแย่งชิงอาณาจักรของตนคืนมา และในการปะทะกันครั้งสุดท้ายของเขาและซูเมาโร กันเตที่สมรภูมิคิรินา (Battle of Kirina) ซุนจาตาที่ก็ได้สังหารราชาไสยดำและสถาปนาอาณาจักรของตนหลังจากนั้น

 

           เรื่องราวเหล่านี้ถูกบันทึกในมหากาพย์ซุนจาตา (Sunjata Epic) ที่รวบรวมขึ้นต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ทว่าลำนำวีรบุรุษซุนจาตาในดินแดนต่างๆ กลับมีโครงเรื่องแตกต่างกัน ไสยศาสตร์นานาชนิดถูกแต่งเติมลงไปให้เข้ากับความเชื่อพื้นถิ่น ทำให้เรื่องราวของซุนจาตามีลักษณะเป็นบันเทิงคดีมากกว่าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในส่วนของผู้นำเผ่าซอสโซที่ถูกวางบทให้เป็นพ่อมดบ้าคลั่งแทนที่จะเป็นกษัตริย์นักรบ ทั้งที่หากเราดูในบริบทประวัติศาสตร์แอฟริกาตะวันตกตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 แล้ว วีรกรรมในการรวมชาติของซูเมาโรเองก็น่าชื่นชมไม่ต่างกับซุนจาตาเลยแม้แต่น้อย

 

 

 

ภาพที่ 2: นักขับลำนำและบาลาฟอน เครื่องดนตรีพื้นถิ่นของมาลี

 

ที่มา: DNPC. Cultural Practices and Expressions linked to the Balafon of the Senufos Communities of Mali, Burkina Faso. (2006). [Online]. Accessed 2020 Dec 12. Available from: https://news.un.org/en/story/2011/11/396292-unesco-committee-adds-12-elements-intangible-heritage-list

 

           ย้อนกลับไปหลายศตวรรษก่อนสมัยของซุนจาตา ดินแดนแอฟริกาตะวันตกถูกปกครองโดยจักรวรรดิกานา (Ghana Empire) ที่มีศูนย์กลายที่กุมบี ซาเลห์ (Koumbi Saleh) ประเทศมอริตาเนียในปัจจุบัน จักรวรรดิกานารุ่งเรืองตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ก่อนจะล่มสลายปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 11 จากการรุกรานของรัฐอิสลามเกิดใหม่ทางตอนเหนือ เผ่าต่างๆ ภายใต้การปกครองของกานาต่างประกาศเอกราชและก่อตั้งอาณาจักรของตน กุมบี ซาเลห์ถูกยึดครองหลายครั้ง จนกระทั่งซูเมาโรยึดเมืองหลวงเก่าของจักรวรรดิในต้นศตวรรษที่ 13 และสถาปนาอาณาจักรของตนขึ้นมา หากยึดเอาเรื่องราวในมหากาพย์ซุนจาตาเป็นหลักแล้ว อำนาจของซูเมาโร กันเตและอาณาจักรซอสโซในเวลานั้นยิ่งใหญ่เหนือเผ่าใดในแอฟริกาตะวันตก จนกระทั่งการแผ่ขยายอำนาจของเขาต้องยุติลงหลังการรบในสมรภูมิคิรินา

 

           หากมองถึงตรงนี้จะทราบว่า ซุนจาตา เคตาเดินเกมอย่างชาญฉลาดในเวลาหลายปีที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิด หลังจากหลบหนีจากเผ่าแล้ว ดันการัน ตูมัน พี่ชายต่างมารดาของเขาได้ขึ้นเป็นผู้นำเผ่า ทว่าแทนที่จะใช้กำลังเข้าต่อสู้ ซุนจาตากลับใช้เวลาหลายปีในการสั่งสมอำนาจและกองกำลังของตนภายใต้การสนับสนุนจากราชาเมมา เขาเฝ้ารอโอกาสที่เหมาะสม จนกระทั่งเมื่อเห็นว่า ซูเมาโร กันเตสังหารพี่ชายของตนและขึ้นปกครองเผ่ามันดิงกา นักรบจึงนำไพร่พลเข้ายึดแผ่นดินของตน ทว่าซุนจาตาไม่ได้ตรงเข้าจู่โจมกองทัพซอสโซอย่างไม่มีแผน เขาเดินทางตามหาพันธมิตรเพื่อขอความช่วยเหลือในการรบ ซึ่งสันติวิธีดังกล่าวทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากชนเผ่าต่างๆ ที่หวาดกลัวซูเมาโร กันเตเป็นอย่างดี และทำให้หลังจากเอาชนะกองทัพซอสโซได้แล้ว ซุนจาตา เคตาสามารถปกครองจักรวรรดิที่รวบรวมชนเผ่าน้อยใหญ่ไว้ด้วยกันอย่างผาสุก

 

           แน่นอนว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ ซุนจาตาเองก็เช่นกัน ผู้คนต่างยกย่องให้ซุนจาตาเป็นวีรบุรุษสร้างชาติ ในขณะที่ซูเมาโร กันเตกลับกลายเป็นทรราชย์ต่ำทราม สาเหตุสำคัญประการหนึ่งอาจเป็นเพราะจักรวรรดิมาลีของซุนจาตากลายเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามของแอฟริกาตะวันตกในเวลาต่อมา ลูกหลานของซุนจาตาใช้เวลานับศตวรรษในการสร้างทิมบัคตู (Timbuktu) เมืองหลวงของจักรวรรดิให้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาของโลกอิสลาม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่การบูชาวิญญาณสัตว์ป่าของซูเมาโร กันเตจะถูกมองว่าเป็นความเชื่อนอกรีตในจักรวรรดิมาลี จนทำให้ซูเมาโรถูกขนานนามว่าเป็นกษัตริย์ไสยดำในเวลาต่อมา

 

 ภาพที่ 3: ทิมบัคตู ศูนย์กลางศาสนาและการศึกษาจักรวรรดิมาลี

           

ที่มาภาพ: Dariusz Wiejaczka/Fotolia. Timbuktu. [Online]. Accessed 2020 Dec 12. Available from: https://www.britannica.com/place/Timbuktu-Mali

 

            นอกจากวรรณคดีมุขปาฐะแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับซุนจาตามีเพียงบันทึกการเดินทางของชาวอาหรับที่เขียนขึ้นในเวลากว่าศตวรรษหลังจากที่ซุนจาตาก่อร่างสร้างจักรวรรดิขึ้นมา นักขับลำนำแอฟริกาเหนือต่างพยายามเชื่อมโยงกำเนิดของซุนจาตาเข้ากับสายเลือดของศาสดามูฮัมหมัด กวีชาวแอฟริกาตะวันตกเองก็พยายามเชื่อมโยงวีรกรรมของซุนจาตาเข้ากับชนเผ่าของตนเช่นกัน การเสริมเติมแต่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นต่างๆ จึงกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาประวัติศาสตร์จักรวรรดิมาลียุคแรกเริ่ม และเป็นที่ถกเถียงถึงความน่าเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ของมหากาพย์ซุนจาตามาจนถึงปัจจุบัน

 

            อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์แอฟริกายุคใหม่ต่างใส่ใจในคุณค่าของวรรณคดีมุขปาฐะมากขึ้น พวกเขาพยายามลบคำกล่าวอ้างของนักประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมที่ว่า ดินแดนที่ไม่มีตัวอักษรใช้คือแผ่นดินที่ไม่มีประวัติศาสตร์ และต้องการพิสูจน์ว่า ชาวแอฟริกันเองก็มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ (Historical consciousness) ไม่ต่างไปจากอารยชนอื่นใดในโลก ประวัติศาสตร์แอฟริกาถูกเก็บรักษาในรูปแบบที่แตกต่างไปจากบันทึกลายลักษณ์อักษรที่ชาวตะวันตกคุ้นชิน พวกเขาถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการขับลำนำ กระทั่งในปัจจุบัน ชุมชนต่างๆ ในแอฟริกาก็ยังคงมีนักขับลำนำประจำถิ่นที่พกเครื่องดนตรีประจำตัวเพื่อบรรเลงขับขานเรื่องราวของเทพเจ้าและบรรพบุรุษ ผู้คนยังคงนับถือพวกเขาเหล่านั้นในฐานะคลังปัญญาของชนเผ่า ดังนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์แอฟริกาจึงไม่ยึดติดอยู่กับคำถามที่ว่า เรื่องราวต่างๆ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ทว่าแก่นแท้ของการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านลำนำกลับเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับจากเรื่องราวเหล่านั้น เหตุใดผู้คนท้องถิ่นต่างๆ จึงกล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกันในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และเจตนารมณ์ของพวกเขาในการปรุงแต่งประวัติศาสตร์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนคือสิ่งใดกันแน่ ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์แอฟริกาในยุคก่อนอาณานิคมจึงเข้ากับคำกล่าวที่ว่า ในดินแดนที่ปราศจากตัวอักษร ผู้ไม่รู้หนังสือจะไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง อย่างแท้จริง และตำนานของซุนจาตา เคตา วีรบุรุษผู้ก่อตั้งจักรวรรดิมาลีจะเป็นที่จดจำของผู้คนสืบต่อกันไปตราบนานเท่านาน

 

          กฤษณรัตน์  รัตนพงศ์ภิญโญ

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ