ผู้เขียนมักบอกตัวเองอยู่เสมอว่า “ฉันไม่ใช่นักเดินทาง แต่ดวงโคจรมันทับลัคน์เท่านั้นเอง” เมื่อปี พ.ศ. 2562 ผู้เขียนต้องเก็บกระเป๋าเพื่อย้ายถิ่นฐานไปเป็นนักเรียนในกรุงมะนิลาตั้งแต่ต้นปี และอาศัยอยู่ที่เมืองนี้เป็นเวลา 6 เดือน ด้วยเหตุนี้สตรีไทยใบหน้าเหมือนชาวฟิลิปปินส์ แต่พูดตากาล็อกไม่ได้สักคำจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมวัฒนธรรมฟิลิปปินส์ขนานใหญ่ จะว่าไปแล้วชีวิตในเมืองมะนิลาก็เหมือนกรุงเทพอยู่ไม่น้อย มีทั้งเขตการค้าศิวิไลซ์และเขตด้านมืดของเมืองอยู่รวมกันไป แถมผู้คนก็ดูจะเป็นมิตรเอ่ยทักทาย “คามุสต้า” (Kamusta) ในยามเช้ากันได้ทั้งซอย ทำให้การมาอยู่ต่างแดนนั้นไม่ได้ยากอย่างที่กังวล และแม้ว่าตารางการเรียนจะแน่นมาก แต่ก็มีผู้จุดประเด็นกิจกรรมทริปที่ไม่ค่อยนิยมในหมู่นักศึกษา นั่นคือการท่องเที่ยวในเขตชุมชนแออัดของกรุงมะนิลา
ฉันใช้คำว่า “ท่องเที่ยว” เนื่องจากมีองค์กรหนึ่งรับจัดกิจกรรมทัศนศึกษาสำรวจโลกภายใต้นามว่า “Smokey Tour” เพื่อนำเสนอสังคมฟิลิปปินส์อีกด้านหนึ่งนอกเหนือจากย่านมากาติ และทะเลสวยงาม ทัวร์นี้มีเส้นทางท่องเที่ยวให้เลือกเพียง 3 รายการ ได้แก่ สลัมแออัด สุสานมะนิลา และตลาดสด สนนราคาทริปละ 1,400 เปโซ หรือประมาณ 840 บาท สามารถเลือกโปรแกรมใดโปรแกรมหนึ่ง หรือควบ 2 แห่งเป็นทริปเช้าและบ่ายก็ย่อมได้ การจองทัวร์ก็แสนสะดวก ทำได้ง่ายผ่านเว็บไซต์เช่นเดียวกับเว็บขายทัวร์ท่องเที่ยวทั่วไป หลังจากหาสมาชิกอยู่หลายวันก็รวบรวมได้เพื่อนผู้หญิง 4 คนตกลงมาร่วมผจญภัย แต่ความที่เป็นนักเรียนมีกระเป๋าสตางค์ใบน้อย พวกเราจึงเลือกสถานที่เดียว นั่นคือ สุสานกรุงมะนิลา! หากใครเคยชมสารคดีเกี่ยวกับประเทศนี้มาบ้างอาจเคยได้ยินเรื่องชุมชนในสุสาน ซึ่งพวกเราเคยได้ชมสารคดีเรื่องนี้กันในห้องเรียนแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจกันเป็นอย่างมาก สถานที่แห่งนี้จึงไม่น่าจะเป็นสถานที่สุดหลอนแต่เป็นที่รวมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่เราไม่เคยเจอมาก่อนอย่างแน่นอน
ภาพที่ 1 คุณมาจอร์รี่ หัวหน้าทัวร์ของพวกเรา
ที่มาภาพ: http://www.smokeytours.com/cemetery-tour
ในวันนัดหมาย พวกเราได้พบกับหัวหน้าทัวร์ชื่อว่า “มาร์จอรี่” ซึ่งเคยทำธุรกิจจัดงานศพครบวงจรมาก่อนเป็นหัวหน้ากรุ๊ปทัวร์สุดแปลกนี้ เขาให้คำแนะนำก่อนออกเดินทางว่า 1. ระวังความปลอดภัย 2. งดสนทนากับเหล่าเด็กๆ ในชุมชน และ 3.ห้ามถ่ายรูป (ซึ่งมีคำเตือนติดมุกตลกว่ารูปถ่ายมักจะติดภาพแปลกๆ มาด้วย) ระหว่างเดินทางด้วยการนั่งรถจี๊ปนีย์ (Jeepney) พวกเราเห็นรถบรรทุกหีบศพที่มีขบวนญาติเดินตามขนาบข้างรถอยู่หลายขบวน นั่นแสดงว่าสุสานอยู่ไม่ไกลแล้ว เพียงพ้นแยกจราจรติดขัดได้ไม่นาน พวกเราก็มายืนอยู่หน้าสุสานสาธารณะกรุงมะนิลาซึ่งเป็นสุสานเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ถึง 54 เฮคเตอร์ เชื่อมต่อกับสุสานอื่นๆ อีก 2 แห่ง มีทางเข้าออกเพียงทางเดียว แค่ได้ยินขนาดและความเก่าแก่เท่านั้นขนแขนก็ลุกซู่ขึ้นมา แล้วคิดว่าพวกเราเลือกมาพักผ่อนในวันอาทิตย์กันที่นี่จริงหรือ?
ภาพที่ 2 ทางเข้าด้านหน้าสุสานมะนิลา
เมื่อมาถึงแล้วก็ต้องเดินเข้าไปด้วยใจสู้ ระหว่างที่คุณมาร์จอรี่บรรยายประวัติและส่วนประกอบสุสานนั้น เหล่าขบวนขนหีบศพที่พวกเราเพิ่งเห็นบนถนนก็ทยอยเข้ามาในเขตสุสานด้วยจังหวะเพลงนำขบวนที่ต่างกันไป ทั้งเศร้าซึ้งอาลัย หรือบีบแตรเป็นจังหวะครึกครื้นรื่นเริง พวกเรามองดูอย่างงงงวยและได้รับคำอธิบายว่าธีมขบวนนั้นขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้ตายและญาติพี่น้อง ในกรณีที่แปลกสุดที่คุณมาร์จอรี่เคยเจอ คือ ลูกของผู้ตายมาว่าจ้างด้วยอาการแจ่มใสพูดจาตลกหัวเราะตลอดเวลา และขอให้รถนำขบวนเปิดเพลงต้านภัยยาเสพติดไปตลอดทางจนชาวบ้านเข้าใจผิดว่าผู้ตายติดยา แบบนี้ก็มีด้วย! สุสานที่นี่มีหลายดีไซน์ ได้แก่ ศาลาหรูหราของผู้มีเงินที่นิยมสร้างสุสานเหมือนบ้าน (บางหลังมีพัดลม เครื่องปรับอากาศ ห้องครัวและห้องน้ำสำหรับวันรวมญาติโดยเฉพาะ) คอนโดแนวตั้งเป็นช่องเก็บขนาดใหญ่สำหรับผู้ที่เพิ่งตาย (Fresh body) คอนโดช่องเล็กสำหรับเก็บกระดูกของผู้ที่ตายมานานเกินกว่า 5 ปี (ปล่อยให้เนื้อเยื่อย่อยสลายจนเหลือเพียงกระดูกแล้วจึงย้ายมาช่องเล็ก) และหลุมรวมสำหรับผู้ที่เสียชีวิตนานจนไม่มีญาติมาจ่ายค่าบำรุงสถานที่ สิ่งที่น่าแปลกใจคือค่าใช้จ่ายทำศพด้วยการเผานั้นกลับแพงกว่าการฝังเสียอีก อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสุสานรูปแบบไหนก็ต้องใช้เงินไม่น้อย ทำให้ครอบครัวยากจนจำนวนมากต้องเก็บร่างของบุคคลอันเป็นที่รักไว้ที่บ้านอยู่นานหลายสัปดาห์หรือจนกว่าจะหาเงินมาปลงศพได้
ภาพที่ 3 ข้าวของเครื่องใช้ดำรงชีพของผู้อยู่อาศัยในสุสาน
ที่มาภาพ: http://www.smokeytours.com/cemetery-tour
ภายในสุสานมีชุมชนซ่อนอยู่ การเดินผ่านถนนหลายเส้นทำให้เรารับรู้ว่าชุมชนแห่งนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นจากครอบครัวของผู้ดูแลสุสานตั้งแต่ยุคบุกเบิกและสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน ครอบครัวเหล่านี้มีทะเบียนบ้านซึ่งแจ้งเป็นที่อยู่ของสุสาน (เวลาแจ้งที่อยู่บ้านช่างเป็นเอกลักษณ์) แล้วพวกเขาทำอาชีพอะไรกัน? ไกด์ก็อธิบายว่า คนในชุมชนนี้มีอาชีพที่หลากหลาย ทั้งมีรายได้ในระดับที่อยู่รอด ด้วยการเป็นผู้ดูแลสุสาน (ทั้งรูปแบบลูกจ้างโดยตรงของสำนักงานสุสาน หรือได้รับการว่าจ้างจากครอบครัวของผู้ตาย) การตั้งแผงขายดอกไม้ที่มีเรียงรายด้านหน้าสุสาน ส่วนอาชีพอื่นๆ ที่พวกเราพบเห็นในพื้นที่สุสานก็มีทั้งร้านชำ ร้านขายน้ำแกลลอนที่เป็นน้ำบาดาลที่ขุดเจาะมาจากใต้สุสานเอามาขายให้ผู้อยู่อาศัยรายอื่นๆ หรืออาชีพทำกระถางดอกไม้ที่ใช้วัตถุดิบใกล้ตัวที่มีเยอะ! (เป็นแหล่งผลิตกระถางดอกไม้จากดินป่าช้า กรี๊ดในใจ) หลังเดินไปเดินมาก็รู้สึกว่าชีวิตในนี้ก็ดูสงบดี มลพิษในอากาศไม่รุนแรง ไม่แออัด แถมยังมี รปภ.เฝ้าหน้าประตู 24 ชั่วโมง ยิ่งโซนสุสานผู้มีฐานะนั้นมีบรรยากาศไม่ต่างจากหมู่บ้านจัดสรรเลยทีเดียว ไกด์บอกว่าครอบครัวส่วนใหญ่อยู่กันมาหลายชั่วอายุคนทำให้เคยชินจนไม่รู้ว่าจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอย่างไร แต่ก็มีสิ่งที่น่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อรู้ว่าเด็กๆ ที่เกิดในสุสานนั้นมักถูกรังแกและล้อเลียนจากเพื่อนหรือแม้กระทั่งครูในโรงเรียนว่า ไอ้ผี! ไอ้ศพกลับสุสานไป! จากเหตุการณ์นี้ทำให้เด็กหลายคนเลิกไปโรงเรียนและไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จเป็นดารานักแสดง และนักการเมือง
บางท่านอาจสงสัยว่า “ไม่กลัวหรืออย่างไร?” การมาเที่ยวที่นี่ทำให้กฎเกณฑ์การเดินในเขตฮวงซุ้ยหรือสุสานในครอบครัวจีนที่ถูกแม่สั่งสอนมานั้นลบไปหมดสิ้น! (เวลาไปเช็งเม้ง เด็กๆ จะได้รับการกำชับอย่างเคร่งครัดว่า “ห้ามไปเหยียบ หรือยืนบนฮวงซุ้ยของคนอื่นเด็ดขาด” ทั้งยังต้องขออนุญาต ยกมือไหว้ ทำความเคารพ ฯลฯ) ทว่า คุณมาจอร์รี่พาพวกเราเดินเบียดตัวผ่านช่องแคบระหว่างสุสานซอกแซกระหว่างหลุมเพื่อไปตามจุดต่างๆ หรือบางทีก็ยืนเหยียบบนสุสานแล้วบรรยายตบท้ายให้ฟังว่า ข้างใต้นี้คือช่องเก็บกระดูกที่ไม่มีญาติมายอมรับ หรือพูดอย่างน่ารักว่า “ใต้อาคารนี้ยังเป็นพื้นที่มีประโยชน์ จึงเป็นที่จัดสรรให้แก่เด็กๆ" เมื่อชะโงกหน้าไปดูก็เห็นลุงผู้ดูแลสุสานนอนบนเตียงผ้าใบ ตากพัดลมโบกมือส่งยิ้มให้แม้ว่ารอบตัวจะรายล้อมไปด้วยช่องเก็บกระดูกของเด็กน้อยที่มีรูปติดอยู่เต็มไปหมด และประหลาดใจที่สุดกับเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่ทำอาชีพผู้ดูแลมาหลายชั่วอายุ ตั้งแต่สาวยันแก่ คุณยายอดีตผู้ดูแลมือฉมังกำลังเอกเขนกบนหลุมศพที่ตนเป็นผู้ดูแลอย่างอารมณ์ดี โดยมีฉากหลังเป็นกำแพงสุสานแบบคอนโดที่ครอบครัวคุณยายตั้งบ้านพักอยู่บนกำแพงนั้น ซึ่งกำลังสังสรรค์รื่นเริงกันอยู่ และครอบครัวนี้มีอาชีพเก็บค่าผ่านทางด้วย ไกด์อธิบายว่าจุดนี้เป็นทางผ่านสาธารณะ ถ้านั่งรถจีปนีย์ต้องอ้อมถนนใหญ่เสียค่ารถเที่ยวละตั้ง 24 เปโซ หากใช้เส้นทางผ่านนี้ก็จ่ายแค่ 10 เปโซ เหมาทั้งเข้าออก คนจึงนิยมเส้นทางนี้กันมากกว่า ประหยัดกว่ากันเยอะ (อย่ากลับบ้านค่ำกันนะคะ!) ขณะที่เราหยุดเดินแล้วฟังเรื่องเล่าเพลินๆ นั้น จู่ๆ ก็มีคนกระตุกแขนดิฉันอย่างแรงจนตกใจร้องกรี๊ดเกาะแขนคนข้างๆตอนกลางวันแสก เมื่อหันไปก็เจอเด็กสาวคนหนึ่งเดินไปและหันหลังมายิ้มให้แบบลอยๆ โอ้ย พาดิฉันกลับบ้านเดี๋ยวนี้เลย!
อย่างไรก็ดีความหลอนทั้งหลายสลายไปเมื่อเราได้ฟังเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ด้วยความที่เป็นสุสานเก่าแก่ที่สุดทำให้เราได้พบกับสุสานของผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์หลายท่าน ทั้งประธานาธิบดีรามอน แมคไซไซ (Ramon Magsaysay) ประธานาธิบดีเซร์ฮิโอ โอสเมญญา (Sergio Osmeña) ที่มีรูปอยู่บนธนบัตรห้าสิบเปโซและดำรงตำแหน่งในยุคญี่ปุ่นปกครอง ผู้เป็นวีรบุรุษกู้เอกราชจากสเปน สุสานชาวยิวที่พวกเรายืนคุยเรื่องประวัติศาสตร์สงครามโลกหน้าหลุมกันอยู่พักใหญ่ มีลูกหลานผู้ที่หนีเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่าพันครอบครัวได้ตั้งรกรากบนแผ่นดินนี้จนถึงปัจจุบันและมีส่วนในการพัฒนาเมืองมะนิลาในยุคนั้น แล้วเรายังได้พบสุสานของกัปตันเรือคนหนึ่งในทีมผู้ค้นพบหมู่เกาะสแปรตลีและเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนพาณิชย์นาวีแห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งสุสานสร้างเป็นรูปเรือเด่นเป็นสง่ามีบันไดปีนขึ้นชั้น 2 ที่ออกแบบเป็นดาดฟ้าเรือ ทำให้เราได้เห็นสุสานแบบพาโนรามาเต็มตา (สวัสดีค่ะทุกท่าน ขนลุกซู่) ก่อนจบทริปท่องเที่ยวสุดประทับใจนี้พวกเราก็บังเอิญเห็นสุสานสุดหรูที่มีนามสกุลนักการเมืองชื่อดังในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ จึงเปิดประเด็นการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเพื่อนคนหนึ่งถามว่าในสมัยเรืองอำนาจของครอบครัวนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร แล้วคุณมาร์จอรี่ได้แต่คว่ำปากมองบนส่งเป็นคำตอบให้แทน เราจึงเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า หากอยากแนะนำให้นักศึกษาต่างชาติศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองและผู้นำดีเด่นของฟิลิปปินส์นั้นควรอ่านเรื่องของใคร คำถามนี้ทำให้ได้คำตอบอย่างฉะฉานว่า ประธานาธิบดีรามอน แมคไซไซ และประธานาธิบดีมานูเอล เกซอน (Manuel L. Quezon) การระบุชื่อสองท่านด้วยน้ำเสียงชื่นชมนี้ทำให้บทโคลงโลกนิติดังขึ้นมาในหัว ปิดทริปหลอนสุดประทับใจอย่างสวยงาม
ภาพที่ 4 สุสานของประธานาธิบดีรามอน แมคไซไซ
ภาพที่ 5 รูปภาพประธานาธิบดีเซร์ฮิโอ โอสเมญญาและสุสานที่อยู่ด้านหลัง
ภาพที่ 6 ภาพมุมสูงจากดาดฟ้าสุสานรูปทรงเรือเดินสมุทรของกัปตันเรือทีมสำรวจหมู่เกาะสแปรตลี
ที่มาภาพ: http://www.smokeytours.com/cemetery-tour
เราทั้งหลายที่ยังมีชีวิตอยู่จงมรณานุสติอย่างสม่ำเสมอ หมั่นทำความดีเป็นคุณประโยชน์และตั้งตนอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด
-นักศึกษาสัญชาติไทยใบหน้าเหมือนชาวฟิลิปปินส์พูดตากาล็อกได้ไม่กี่คำ-
พรฤทัย โชติวิจิตร