ช่วงก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน เกือบทุกช่องทางของมีเดียข่าวสารมักกล่าวถึง “ปีชง” ว่ามีปีนักษัตรใดบ้างที่เป็นปีชงหรือปีชงร่วม และแนะนำวิธีการ “แก้ชง” ด้วยการให้เดินทางไปไหว้บูชาเทพเจ้าไท้ส่วยที่วัดจีน หรือศาลเจ้าจีนที่มีให้บริการ (มีน้อยแห่ง) จนดูกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไปที่ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนแต่รวมถึงคนไทยที่มีความเชื่อถือในเรื่องนี้
ทว่า ปรากฏการณ์ไหว้เจ้าแก้ปีชงในสังคมไทยไม่ได้มีมาแต่ช้านาน ทั้งนี้ อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมจีนได้เคยกล่าวไว้ว่า “ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ไม่เคยได้ยินเรื่องการต้องไปแก้ชง พวกที่วันนี้อายุ 60 ปีขึ้นไป ก็เชื่อว่าจะไม่เคยได้ยินเช่นกัน” อันที่จริงชาวไทยเชื้อสายจีนต่างก็มีธรรมเนียมการไปไหว้เจ้าช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นปกติอยู่แล้วเพื่อขอพรเมื่อย่างเข้าปีใหม่ ไม่ต่างจากคนไทยที่นิยมตะเวนทัวร์ไหว้พระ 9 วัดในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์ จึงขอสันนิษฐานว่าการแก้ปีชงจึงน่าจะเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นได้ไม่เกิน 30 ปีที่ผ่านมา และมีปัจจัยแวดล้อมมาสนับสนุนทำให้กิจกรรมความเชื่อนี้ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจมีความผันผวนนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540 และในช่วงเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้สุขภาวะทางจิตใจไม่มั่นคง ดังนั้นการทำกิจกรรมใดแล้วเกิดความรู้สึกสบายใจจึงเป็นทางออกของผู้คน
แน่นอนว่าความเชื่อและพิธีกรรมแก้ชงนั้นเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับธุรกิจสินค้าอุปกรณ์และเครื่องเซ่นไหว้ รวมถึงเครื่องรางต่างๆ อย่างไรก็ดี ในบทความนี้มุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจความหมายของ “ปีชง, ปีชงร่วม” ตามความเชื่อจีนเท่านั้น
นับตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวจีนมีความเชื่อว่าทุกสิ่งอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นจากธรรมชาติและมีพลังงานอยู่ในตัวเอง มนุษย์ก็เช่นกัน โดยอิงกับกฎแห่งจักรวาล (Law of attraction) และธาตุธรรมชาติทั้ง 5 (five elements of nature) เป็นพื้นฐานทางความคิดที่หลอมรวมกับกฎเกณฑ์ดาราศาสตร์ที่ยึดถือตามปฏิทินจันทรคติแล้วใช้เป็นตัวกำหนดรากฐานของระบบโหราศาสตร์จีน ทำให้มีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมากในการทำความเข้าใจ เริ่มจาก
1) สรรพสิ่งใดๆ ในโลกล้วนอยู่กันเป็นคู่ (dualism) มีหยิน-หยางเป็นตัวแทนของกฎแห่งจักรวาลที่มีพลังต่างขั้วสร้างแรงดึงดูดเข้าหากัน ซึ่งชาวจีนใช้หลักเกณฑ์เรื่องหยิน-หยางกำกับในหลายสิ่งอย่างละเอียด เช่น เวลาโมงยาม เดือนปีและธาตุธรรมชาติ เป็นต้น และรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ซินแสจีนใช้ประกอบเป็นพื้นฐานการทำนายดูดวงชะตานั่นเอง
2) มีความเชื่อที่ว่าสิ่งมีชีวิตในจักรวาลล้วนเกิดขึ้นจากธาตุธรรมชาติทั้ง 5 ได้แก่ ดิน น้ำ ไม้ ไฟ และทองเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ซึ่งธาตุต่างๆ นี้ก็ล้วนแล้วแต่มีคุณลักษณะของหยิน-หยางกำกับไว้
3) ดาราศาสตร์จีนได้แบ่งวงรอบท้องฟ้าออกเป็น 12 ส่วนเท่าๆ กัน หากแต่แทนสัญลักษณ์ของราศีบนฟากฟ้าเป็นรูปสัตว์ 12 ตัว และใช้นับแทนความหมายรูปสัตว์ 1 ตัวต่อ 1 ปี หรือที่เราเรียกว่า ปีนักษัตร
4) มีความเชื่อว่าหนึ่งชั่วอายุของมนุษย์ยืนยาวประมาณ 1 รอบ เท่ากับ 60 ปี (ที่มาของการจัดงานแซยิดเมื่ออายุครบ 60 ปี นับว่ามีอายุยืน) และในแต่ละปีนักษัตรก่อเกิดมาจากธาตุธรรมชาติทั้ง 5 ที่แตกต่างชนิดกันไปทุกปี (12 x 5 = 60)
ภาพที่ 1 วงรอบนักษัตรแสดงตำแหน่งคู่ตรงข้ามของปีชง
เมื่อรู้จักฐานการคิดเรื่องพลังในธรรมชาติตามความเชื่อจีนก็จะเข้าใจว่า การเปลี่ยนผ่านปฏิทินในแต่ละปีไม่ใช่เฉพาะรูปปีนักษัตรที่ต่างไปเท่านั้น แต่ทุกปีมีความหมายและรายละเอียดที่ลึกซึ้งไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่ออธิบายด้วยกฎแห่งจักรวาล หยิน-หยาง คำว่า “ปีชง” หมายถึง คู่ปีที่อยู่ตรงกันข้ามกันพอดีในวงรอบ 12 ปีแห่งนักษัตร ซึ่งเป็นปีที่มีพลังขั้วเดียวกัน โดยหลักสังเกตง่ายๆ คือ ปีที่ 1 ปีชวดจะชง (ไม่ถูกกับ) ปีที่ 7 ปีมะเมียเสมอไป ซึ่งคนจีนเชื่อถือกันว่าการ “ชง” หรือการปะทะนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีปีเกิดตรงข้ามกับนักษัตรประจำปีนั้นให้เผชิญกับความโชคร้ายหรือความวุ่นวายตลอดทั้งปี
ดังที่กล่าวแล้วว่า คนจีนมีความเชื่อเรื่องหนึ่งรอบของชั่วอายุคนเป็นเวลา 60 ปีที่มีคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละปีไม่เหมือนกัน จึงมีอีกความเชื่อหนึ่งที่เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับปีนักษัตร คือ เทพไท้ส่วย” (God of Age) หรือเทพผู้คุ้มครองดวงชะตาของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้มีองค์เดียวแต่มีมากถึง 60 องค์ อีกทั้งมีชื่อเรียกเฉพาะ แต่ละองค์ ทั้งนี้ ตามประวัติที่เล่าสืบต่อกันมาระบุว่า เทพไท้ส่วยแต่ละองค์ล้วนแล้วแต่เคยเป็นขุนพลหรือคนสามัญธรรมดา (ทั้งหมดเป็นเพศชายอย่างไม่ทราบเหตุผล) ทำแต่คุณงามความดี ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ได้ยากมาโดยตลอด หลังจากตายไปแล้วเง็กเซียนฮ่องเต้จึงโปรดให้มาช่วยดูแลความสงบสุขของโลกมนุษย์ในฐานะเทพผู้คุ้มครองดวงชะตาของมนุษย์ โดยทำหน้าที่หมุนเวียนกันคนละ 1 ปี ไปจนครบ 60 ปี แต่ในเมืองไทยเรามักจะไม่คุ้นหรือเคยเห็นว่าในวัดหรือศาลเจ้ามีรูปเคารพของเทพไท้ส่วยมากครบจำนวน ส่วนใหญ่จะเป็นรูปเคารพแบบองค์รวมในรูปเคารพเดียว
ภาพที่ 2 เทพไท้ส่วย ชินโฉว
(辛丑太歲 - Xīn-Chǒu Tài-Suì)
ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Tai_Sui
มนุษย์มีความกลัวเป็นพื้นฐานในจิตใจ เมื่อเชื่อว่าตนเองนั้นจะมีเคราะห์ภัยที่เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ แม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ย่อมหาทางแก้ไข จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมของพิธีกรรมไหว้เทพเจ้า ”ไท้ส่วย” เพื่อร้องขอให้ท่านช่วยบรรเทาเคราะห์กรรมผ่อนหนักให้เป็นเบา หรือเป็นการแก้ชง แก้ไขดวงชะตาเสริมบารมีพลังชีวิต และในปีนี้ (พ.ศ. 2564) เป็นคิวของเทพไท้ส่วย นามว่า ชินโฉว (辛丑太歲 - Xīn-Chǒu Tài-Suì) ทำหน้าที่ช่วยคุ้มครองผู้ที่เปิดในปีฉลู (หยิน ธาตุทอง) ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. 2504 ถึง 4 ก.พ. 2505 และวันที่ 12 ก.พ. 2564 ถึง 31 ม.ค.2565
ในการอธิบายความเชื่อเรื่องปีชงนั้นส่วนใหญ่จะสรุปแต่เพียงสั้นๆ ว่า ปีนี้ชงกับปีอะไร ตัวอย่างเช่น ปีฉลู 2564 ชงกับปีมะแม (โดยตรง) มีปีจอ มะโรง และฉลูเป็นปีชงร่วม เป็นต้น หากพิจารณาตามทฤษฎีกฎแห่งจักรวาล หยิน-หยางแล้ว หากปีใดมีพลังขั้วเดียวกันมาปะทะกันโดยตรงย่อมเกิดแรงผลักออกเป็นธรรมดาเฉกเช่นแรงต้านของแม่เหล็กขั้วเดียวกันที่กลายเป็นพลังงานสะท้อนกลับ จึงอาจเป็นเหตุเป็นผลให้เชื่อได้ว่าเหตุใดปีเดียวกับปีนักษัตรนั้นๆ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย กระนั้น ยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าอีก 2 ปีที่เป็น “ปีชงร่วม” นั้นมีที่มาอย่างไร รวมถึงหากเราไล่เรียงดูจะพบว่าใน 1 รอบนักษัตร (12 ปี) นั้นจะมีปีเกิดของเราอยู่ในกลุ่มปีชง ปีชงร่วมด้วยทุกๆ 3 ปี เลยทีเดียว
หากอ้างอิงหลักดาราศาสตร์จีนที่ใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นตัวกำหนดแล้ว จักรราศีของจีนที่แทนด้วยรูปนักษัตรก็แบ่งออกเป็น 12 ส่วนแต่ละราศีทำมุม 30 องศาเท่ากัน และสามารถแบ่งครึ่งราศีฟ้าได้ 2 ส่วนเป็น ราศีบน (ระกา จอ กุน ชวด ฉลู และขาล) และราศีล่าง (วอก มะแม มะเมีย มะเส็ง มะโรงและเถาะ) ไม่แตกต่างจากโหราศาสตร์ฝั่งตะวันตก เมื่อลากเส้นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทับลงบนรูปจักรราศีก็จะได้รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีมุมไม่ทับซ้อนกัน 3 รูป ได้แก่ กลุ่มที่ 1 (ฉลู/ มะโรง/ มะแม/ จอ) กลุ่มที่ 2 (ขาล/ มะเส็ง/ วอก/ กุน) และกลุ่มที่ 3 (ชวด/ เถาะ/ มะเมีย/ ระกา) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มปีนักษัตรที่มักถูกประกาศในกลุ่มปีชง ปีชงร่วมกันทุกครั้งเสมอไป
ด้วยเหตุนี้ ที่มาที่ไปของปีชงและปีชงร่วมน่าจะมาจากหลักเกณฑ์เดียวกันนี้ และเป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกันว่าเหตุใดเราจึงเผชิญกับปีชง ปีชงร่วมบ่อยๆ
ทั้งนี้ ตามหลักโหราศาสตร์นั้นได้อธิบายถึงการทำมุม 90 องศาหรือที่เรียกว่า “มุมเล็ง” ต่อกันของราศีทั้งสี่ว่าก่อเกิดการส่งพลังงานปะทะต่อกันภายในวงโคจร หรือแปลความหมายเป็นคำทำนายโชคชะตาเบื้องต้นได้ว่าชีวิตจะมีความทุกข์ ความลำบาก ปัญหายุ่งยาก มีอุปสรรคไม่ราบรื่น
ภาพที่ 3 จัตุรัสแห่งปีชง และปีชงร่วม
อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อถือว่าอุปสรรคและเคราะห์ต่างๆ นั้นเป็นไปตามกรรมเก่าแล้วก็ย่อมตระหนักได้ว่า พิธีกรรมการแก้ชงต่างๆ ทั้งการเซ่นไหว้ การปัดกระดาษที่ร่างกายและฝากดวงเพื่อให้พระสงฆ์จีนช่วยสวดมนต์ทำพิธีแก้ชงนั้นช่วยลบล้าง “กรรมเก่า” ไม่ได้ ทว่า เมื่อเราพิจารณาภาพรวมของการทำพิธีแก้ชงแล้วจะพบว่า มีความหมายต่างๆ แฝงอยู่ด้วย อาทิ การไหว้สักการะเทพเจ้านั้นก็เพื่อเป็นการเตือนใจให้หมั่นทำแต่ความดี ยึดถือปฏิบัติตามท่านไท้ส่วยที่ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นมนุษย์ธรรมดา รวมถึงคำแนะนำต่างๆ ที่เชื่อกันว่าช่วยเสริมดวงอย่างการทำบุญบริจาคทานก็อาจเป็นกุศโลบายหนึ่งที่กระตุ้นให้คนละกิเลศ ลดความตระหนี่และช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นแนวทางที่สัมพันธ์กับความเชื่อของชาวพุทธเรื่องการสร้างกรรมใหม่ด้วยกรรมดี ย่อมส่งผลให้ผู้ทำเกิดความรู้สึกสบายใจขึ้น มีขวัญและกำลังใจที่จะเผชิญกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตต่อไป
อ้างอิง
https://www.posttoday.com/politic/report/347429
https://www.sanook.com/horoscope/41477/
https://en.wikipedia.org/wiki/Tai_Sui
https://en.wikipedia.org/wiki/Chinese_zodiac
ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล