หากพูดถึงปลายทางในฝันของนักเดินทางแล้ว คงมีนักเดินทางจำนวนไม่น้อยที่ยกให้ “เดนมาร์ก (Denmark)” เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งความสวยงามของภูมิประเทศ สถาปัตยกรรม ความสงบเรียบง่าย ที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับของชาวสแกนดิเนเวียน (Scandinavian) ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผู้คนอยากไปสัมผัสกับดินแดนแห่งนี้ดูสักครั้ง และเมื่อเอ่ยถึงเดนมาร์ก ปลายทางสำคัญคงหนีไม่พ้น โคเปนเฮเกน (Copenhagen) เมืองหลวงอันสวยงาม ที่มีเงือกน้อย Little Mermaid คอยต้อนรับผู้มาเยือน จนทำให้เราอาจมองข้ามเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป ผู้คนไม่พลุกพล่าน และแสนเงียบสงบอย่าง “ออร์ฮุส (Aarhus)” เมืองเล็ก ๆ เงียบ ๆ สถานที่ท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่กลับมีพิพิธภัณฑ์อันน่าทึ่ง ที่ดูเหมือนสามารถพาเราย้อนเวลาไปสู่ออร์ฮุสในอดีตได้ และที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือ เมื่อก้าวเข้าไปแล้ว สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าดูราวกับว่ามีชีวิตและกำลังดำเนินอยู่จริง
“ออร์ฮุส” ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland Peninsula) ห่างออกมาจากเมืองหลวงโคเปนเฮเกนกว่าร้อยไมล์ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่ยุคไวกิ้งตอนต้น (Early Viking Age) ในช่วงศตวรรษที่ 8 นับเป็นหนึ่งในเมืองเก่าแก่ที่สุดของเดนมาร์ก ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับเมืองริเบ (Ribe) และ เฮเดบี (Hedeby) เมืองเก่าแก่ยุคไวกิ้งที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรแห่งนี้เช่นกัน ออร์ฮุสเป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงาม สงบเงียบ ถนนหนทางเป็นระเบียบสะอาดตา มีสถานที่ท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่กลับมีพิพิธภัณฑ์อันน่าทึ่ง ที่ดูเหมือนว่าสามารถพาเราย้อนเวลาไปสู่ออร์ฮุสในอดีตได้ และที่มหัศจรรย์กว่านั้นคือ เมื่อก้าวเข้าไปแล้ว สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าดูราวกับว่ามีชีวิตและกำลังดำเนินอยู่จริง
“Den Gamle By” คือชื่อของพิพิธภัณฑ์นี้ เป็นภาษาเดนิช (Danish) ซึ่งผู้เขียนเคยได้ฟังชาวเดนิชออกเสียงเมื่อครั้งไปเยือน สิ่งที่ได้ยินยากยิ่งต่อการพูด และยากยิ่งกว่าที่จะเขียนออกมาให้เป็นภาษาไทยได้ จึงขอใช้ชื่อ “Den Gamle By” น่าจะดีกว่า
“Den Gamle By” หรือ “The Old Town Museum” ตั้งอยู่บนถนน Viborgvej ของเมืองออร์ฮุส พิพิธภัณฑ์นี้ถูกสร้างขึ้นให้เป็นหมู่บ้านจำลองขนาดใหญ่ของออร์ฮุสในอดีต มีตึกรามบ้านช่อง สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันยาวนาน แบ่งโซนแสดงออกเป็นช่วงก่อนปี 1900 ช่วงปี 1920 และช่วงปี 1970 บ้านเรือนของชาวออร์ฮุสในยุคก่อนนั้นมักก่อสร้างด้วยอิฐ ที่ดูแข็งแรงหนาทึบ น่าจะให้ความอบอุ่นแก่ผู้อยู่อาศัยได้ดี สีที่ใช้มักเป็นโทนสีเหลือง ส้ม แดง น้ำตาล หรือสีขาว เมื่อเดินเข้าไปในบ้านแต่ละหลัง จะได้พบกับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัวที่แตกต่างหลากหลายกันออกไป บ้างสะท้อนให้เห็นถึงอาชีพของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นช่างทำรองเท้า คนขายของ ช่างตัดเสื้อ เมื่อเดินเข้าไปในบ้านหลังงามที่ดูโปร่งสบายกว่าหลังอื่น เราพบกับสุภาพสตรีสองคนแต่งตัวแบบชาวเดนิชโบราณนั่งถักนิตติ้งอยู่บนเก้าอี้ที่มุมหนึ่งของห้องซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม สุภาพสตรีที่เห็นนั้นเป็นคนจริง ๆ นั่งทำงานและพูดคุยกันอยู่ ไม่ใช่หุ่นหรือรูปปั้น ผู้เขียนรู้สึกราวกับว่ากำลังมาเยี่ยมเยียนบ้านของเธอเมื่อร้อยกว่าปีก่อนจริง ๆ เดินต่อมาที่บ้านหลังหนึ่ง เมื่อเข้าไปถึงห้องครัวจะได้พบกับแม่บ้านที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมอาหาร เครื่องครัวต่าง ๆ ถ้วย โถ จาน ชาม ข้าวของเครื่องใช้ที่ดูแปลกหูแปลกตา ชวนให้ต้องยืนจ้องมองนิ่ง ๆ เหมือนต้องมนต์ แม้แต่ห้องนอนที่อาจจะดูทึบไปบ้าง แต่ผ้าห่มผืนหนาบนเตียงไม้ขนาดเล็ก น่าอบอุ่นชวนให้ซุกตัวนอนหนีความหนาวเย็นในยามค่ำคืน ก็ดูน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ถัดมาอีกหน่อยจะเจอกับร้านขนม มีหญิงสาวแต่งตัวสวยสาละวนอยู่กับการหยิบขนมใส่ถุงกระดาษส่งให้ลูกค้า ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของเธอ เมอแรงค์ (Meringue) หวาน ๆ ที่ไม่เคยชอบกินตอนอยู่เมืองไทย กลับเข้ากันดีเมื่อได้นั่งกินอยู่ด้านนอกร้านที่มีอากาศหนาวและมีลมแรง ๆ ปะทะตัวอยู่ตลอดเวลา ขนมชิ้นโตที่หน้าตาและรสชาติคล้ายคุกกี้ ติดป้ายไว้ว่า Vaniljekranse ก็อร่อยหอมมัน พอค้นดูถึงได้รู้ว่าที่แท้มันคือคุกกี้เนยสไตล์เดนิช (Danish Butter Cookies) นี่เอง
เดินตามทางมาเรื่อย ๆ จะได้เห็นร้านรวงมากมายเรียงรายตลอดทาง ทุกร้านดูมีชีวิตชีวา ชวนให้เข้าไปชม ทั้งร้านขายยาอันเก่าแก่และโด่งดัง ร้านขายของชำใหญ่โตโอ่โถง ร้านขายและซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ ที่เราจะได้เห็นทั้งวิทยุและโทรทัศน์รุ่นโบราณตั้งอยู่เรียงราย ร้านขายสบู่ ร้านหนังสือ ร้านถ้วยชามลายน่ารัก หรือแม้แต่บาร์แจ๊ส (Jazz bar) ในยุคแรก ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวออร์ฮุส เราก็สามารถพบเห็นได้ที่นี่ บางอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ จัดแสดงหลากหลายเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น The Danish Museum of Clocks and Watches, The Danish Poster Museum, Toy Museum และ The Gallery of Decorative Arts ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์อีกที ดังคำเรียกว่า “Museums in the museum”
อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากคือบ้านหลังหนึ่งซึ่งภายในถ่ายทอดเรื่องราวของ Hans Christian Andersen นักเขียนชาวเดนิช ผู้สร้างสรรค์นิทานที่โด่งดังไปทั่วโลก อย่าง The Little Mermaid, The Snow Queen, The Ugly Duckling หรือ The Little Match Girl เรื่องราวของเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟผู้น่าสงสาร ห้องเก่า ๆ ห้องนั้นของเด็กหญิงปราฏอยู่เบื้องหน้า เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ใส่เสื้อผ้าเก่ามอมแมม กำลังนั่งมัดก้านไม้ขีดไฟสำหรับนำไปขายด้วยสีหน้าหม่นหมอง การได้เห็นเรื่องราวในนิทานที่เคยได้อ่านตั้งแต่เด็กมาอยู่ตรงหน้าเป็นตัวเป็นตน ได้ยืนอยู่ในห้องเก่า ๆ ที่เราเคยจินตนาการถึงเมื่อครั้งวัยเยาว์ ทำให้ใจเต้นแรง แต่อีกใจก็สงสารหนูน้อยคนนี้ขึ้นมาอีกมากเมื่อนึกไปถึงตอนจบของเรื่องที่เธอต้องพบเจอในค่ำคืนแสนหนาวเหน็บคืนนั้น
ระหว่างเดินบนถนนเล็ก ๆ เราอาจได้พบเห็นรถม้าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง นาน ๆ ที อาจได้พบกับชายหญิงในชุดแต่งกายย้อนยุคเดินผ่านไปมา เห็นสวนสวย ๆ ที่ดอกไม้ออกดอกบานสะพรั่ง ก่อนจะเดินไปสุดทางที่จะพาเราออกไปสู่ปัจจุบัน ผู้เขียนไม่ลืมที่จะหันหลังมองกลับไปที่เมืองโบราณแสนวิเศษแห่งนี้ ตึกรามบ้านช่องสีสวยทอดตัวยาวสุดสายตา มองเห็นคลองเล็ก ๆ สงบเงียบ เป็นภาพที่ยังชัดเจนมาจนถึงวันนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าค้นหา เดินสนุกจนลืมเหนื่อย ตื่นเต้นจนไม่รู้ตัวว่ากำลังเรียนรู้ แต่กลับได้รับความรู้มามากมาย เหมือนได้มุดตัวลงไปในหนังสือประวัติศาสตร์เล่มใหญ่ บทที่พูดถึงประเทศเดนมาร์ก โดยเฉพาะเมืองออร์ฮุสในกาลก่อน แต่ทุกอย่างในหนังสือช่างชัดเจนมีตัวตน เรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้เห็นนั้นจะประทับอยู่ในใจไปอีกนาน เพียงเท่านี้ก็ถือได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ที่สุดแล้ว
มีเรื่องแถมอีกหนึ่งเรื่องที่อยากบอกเล่า ถ้าใครได้ไปเยือน Den Gamle By ตรงทางออกจะมีร้านไอศกรีมเล็ก ๆ มีหลากหลายรสชาติให้เลือก ขอแนะนำให้ลองชิมรส lakrids ในภาษาเดนิช หรือ liquorice ในภาษาอังกฤษ หรือรสชะเอมของบ้านเราเองนี่แหละ รสชาติยอดนิยมของชาวเดนิช ไม่ว่าจะเป็นลูกอม ช็อคโกแลต ขนมหวานต่าง ๆ เป็นต้องได้เห็นรสชาตินี้อยู่เสมอ ผู้เขียนได้ชิมไอศกรีมรส lakrids ครั้งแรกที่นี่ รสชาติหวานชุ่มคอ มีกลิ่นเฉพาะตัว มาถึงถิ่นแล้วยังไงก็ต้องลองให้ได้รู้ แล้วค่อยตัดสินใจอีกครั้งว่าไอศกรีมลูกถัดไป จะสั่งรส lakrids ซ้ำ หรือถ้าจะกลับไปสั่งรสชาติเดิมที่คุ้นเคยก็ไม่ว่ากัน เพราะอย่างน้อยก็คุ้มค่าแล้วที่ได้ลอง
รัมภ์รดา มีบุญญา