หากกล่าวถึงอารยธรรมโบราณในทวีปแอฟริกา คนทั่วไปคงนึกถึงอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์อย่างอียิปต์โบราณหรือนูเบีย แต่ใครเลยจะรู้ว่า หนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของทวีปถือกำเนิดขึ้นในดินแดนทางตอนใต้ของแอฟริกา สิ่งปลูกสร้างจากหินมากมายในพื้นที่บ่งบอกความเป็นสังคมซับซ้อน (Complex Society) ได้อย่างดี แหล่งโบราณคดีแห่งนี้คือกลุ่มโบราณสถานเกรทซิมบับเว (Great Zimbabwe) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศซิมบับเว ศูนย์กลางอารยธรรมชนเผ่าโชนา (Shona) ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปิดกั้นด้วยอคติของนักโบราณคดีสมัยอาณานิคมที่ว่า ไม่มีทางที่คนพื้นเมืองแอฟริกันจะสรรสร้างอารยธรรมยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้...
ภาพที่ 1: ภาพถ่ายทางอากาศของกลุ่มโบราณสถานเกรทซิมบับเว
ที่มาภาพ: Bell, Janice. Aerial view of Great Zimbabwe's Great Enclosure and adjacent ruins, looking Southeast. (2013). [Online]. Accessed 2021 Jan 13. Available from: https://smarthistory.org/great-zimbabwe/
เกรทซิมบับเวเป็นโบราณสถานที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,500 ไร่ ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และศาสนาในแอฟริกาใต้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 ถึง 15 ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากถึง 15,000 คน ภายในโบราณสถานประกอบด้วยกลุ่มอาคาร แบ่งตามลักษณะที่ตั้งออกเป็น เนินเขา หุบเขา และตัวเมืองชั้นใน สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดสร้างด้วยหิน ดิน และไม้ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสิ่งปลูกสร้างที่นี่คือการก่ออาคารโดยปราศจากปูนสอในการยึดวัสดุเข้าด้วยกัน ช่างก่อสร้างจะนำหินแกรนิตชิ้นใหญ่มาถูกความร้อน ก่อนจะราดน้ำเย็นทันทีให้หินแตกออกเพื่อสะดวกในการตัด ช่างจะตัดและขัดหินที่ได้จนได้รูปทรงที่ต้องการ แล้วจึงนำหินที่ผ่านการตัดแต่งมาก่อแนบสนิทให้โครงสร้างไม่พังทลายโดยง่าย นอกจากนี้ในส่วนของตัวเมืองชั้นในที่สันนิษฐานว่าเป็นที่อยู่ของชนชั้นสูงยังประกอบด้วยกำแพงและอาคารวงโค้งปราศจากเหลี่ยมมุม นับเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการและสถาปัตยกรรมในศิลปะแอฟริกาใต้ก่อนยุคล่าอาณานิคม
ภาพที่ 2: กำแพงตัวเมืองชั้นใน เกรทซิมบับเว
ที่มาภาพ: Alamy. Remains of the Great Enclosure. (2016). [Online]. Accessed 2021 Jan 13.
Available from: https://www.theguardian.com/cities/2016/aug/18/great-zimbabwe-medieval-lost-city-racism-ruins-plundering
แม้การสำรวจทางโบราณคดีจะทำให้ทราบว่าเกรทซิมบับเวมีการติดต่อค้าขายกับเอเชียตะวันออกกลาง เปอร์เซีย และจีน แต่ประวัติศาสตร์ของดินแดนนี้กลับเลือนรางจนนำไปสู่การตีความหลากหลายแง่มุมของนักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลักฐานลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกที่ระบุถึงเกรทซิมบับเวคือบันทึกของนักสำรวจชาวโปรตุเกส ดิโอโก เด อัลกาโซวา (Diogo de Alcáçova) และโจเอา เด บาร์โรส (João de Barros) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 บันทึกของทั้งคู่สอดคล้องกันในแง่ที่ว่า เกรทซิมบับเวถูกทิ้งร้างมาระยะเวลาหนึ่งก่อนที่พวกเขาจะเข้าไปสำรวจ และประวัติศาสตร์ของดินแดนนี้ได้หายไปจากความทรงจำของชนพื้นเมืองจนหมดสิ้น เด บาร์โรสอ้างว่าชนพื้นเมืองเชื่อว่าอาคารขนาดใหญ่ถูกสร้างด้วยฝีมือของปีศาจและวิญญาณร้าย ทำให้เขาไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่องรอยอารยธรรมที่เหลืออยู่
ซิมบับเวกลายเป็นอาณานิคมอังกฤษปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้นักสำรวจและนักโบราณคดียุโรปมากมายเข้ามาศึกษาโบราณสถานในดินแดนนี้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดการครองความเป็นใหญ่ของชาวยุโรป (European Hegemony) เหนือดินแดนอาณานิคมปรากฏชัดเจนในงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคแรกของซิมบับเว ในปี 1871 คาร์ล เมาค์ (Karl Mauch) นักสำรวจชาวเยอรมันบันทึกถึงโบราณสถานเกรทซิมบับเวโดยเสนอทฤษฎีว่า แท้จริงแล้วโบราณสถานแห่งนี้เชื่อมโยงกับตำนานกษัตริย์โซโลมอนและราชินีชีบาในคัมภีร์ไบเบิล แนวคิดของเมาค์เป็นการปฏิเสธความจริงว่าชนพื้นเมืองซิมบับเวเป็นผู้สร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เขาเชื่อว่าเกรทซิมบับเวถูกสร้างขึ้นโดยชาวเซมิติก (Semitic) กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ งานเขียนนี้ไปสู่ทฤษฎีของนักโบราณคดีในเวลาต่อมาว่า เกรทซิมบับเวเป็นสิ่งปลูกสร้างในอารยธรรมของชาวเลมบา (Lemba) ที่สืบเชื้อสายจากชาวยิว หรือแม้แต่ชาวฟินิเชียน (Phoenician) ที่เป็นเจ้าของอารยธรรมคาร์เธจในแอฟริกาเหนือ แนวคิดของนักวิชาการยุโรประหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นการปฏิเสธความคิดว่าชาวพื้นเมืองเป็นเจ้าของอารยธรรมโดยสิ้นเชิง แม้ในปี 1929 งานเขียนของเกอร์ทรูด เคตัน – ทอมสัน (Gertrude Caton – Thomson) นักโบราณคดีชาวอังกฤษจะเป็นการเสนอทฤษฏีใหม่ว่าชาวบันตู (Bantu) ชนพื้นเมืองในแอฟริกาใต้เป็นผู้สร้างเกรทซิมบับเว ทว่าเคตัน – ทอมสันก็ได้เสริมในเวลาต่อมาว่า ชาวพื้นเมืองสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ด้วยอิทธิพลของชาวอาหรับที่เข้ามาทำการค้าในสมัยนั้น
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนแห่งนี้อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลโรดีเชีย (Rhodesia) ภายใต้ความควบคุมของสหราชอาณาจักร การดำเนินงานในการสำรวจ ขุดค้น และบูรณะโบราณสถานเกรทซิมบับเวยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทว่าปัญหาการปิดกั้นแนวคิดทฤษฎีว่าชนพื้นเมืองเป็นเจ้าของอารยธรรมยังดำเนินต่อไป นักโบราณคดีซิมบับเวที่ทำการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานถูกสั่งห้ามจากรัฐบาลอย่างเด็ดขาดไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลหลักฐานใดๆ แก่สาธารณชน แม้แต่ในแผ่นพับและหนังสือนำเที่ยวเกรทซิมบับเวที่จัดพิมพ์ในปี 1979 ยังแสดงภาพประกอบของชาวพื้นเมืองที่คุกเข่าก้มหัวให้คนขาวที่เป็นเจ้าของอารยธรรม ตอนนั้นเองที่กลุ่มเคลื่อนไหวชาตินิยมซิมบับเวออกมารณรงค์ให้คนพื้นเมืองตระหนักถึงอารยธรรมเก่าแก่ที่ถูกสรรสร้างโดยบรรพบุรุษ พวกเขาต้องการให้ชาวซิมบับเวทุกคนได้รับรู้ว่าประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของชาติกำลังถูกอดีตเจ้าอาณานิคมบิดเบือน คนเหล่านั้นไม่ต้องการให้ชาวซิมบับเวและชาวโลกได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่ง คนผิวดำที่พวกเขามองว่าด้อยกว่าเป็นเจ้าของอารยธรรมยิ่งใหญ่เกินกว่าผู้ใดจะจินตนาการถึง และในที่สุดหลังการต่อสู้เพื่อเอกราชที่ยาวนานมาหลายทศวรรษ ซิมบับเวก็ได้ประกาศตนเป็นเอกราชอย่างเต็มตัวในปี 1980 และตั้งชื่อประเทศใหม่จากโรดีเซียเป็นสาธารณรัฐซิมบับเว ตามชื่อของโบราณสถานเกรทซิมบับเวซึ่งเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมของพวกเขา
ภาพที่ 3: ธนบัตร 1 ปอนด์ของโรดีเชีย (ซิมบับเว) แสดงรูปโบราณสถานเกรทซิมบับเว
ที่มาภาพ: The British Museum. Southern Rhodesia (now Zimbabwe) banknote featuring the
conical tower at Great Zimbabwe, 1995. (2013). [Online]. Accessed 2021 Jan 13.
Available from: https://smarthistory.org/great-zimbabwe/
เกรทซิมบับเวถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1986 งานวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียุคใหม่สนับสนุนทฤษฎีที่ว่า ชาวโชนาเป็นเจ้าของอารยธรรมซิมบับเวที่กินอาณาเขตตั้งแต่ซิมบับเวไปจนถึงชายฝั่งโมซัมบิก นักประวัติศาสตร์ได้นำเอาวรรณคดีมุขปาฐะที่ถ่ายทอดผ่านนักขับลำนำในชุมชนโชนามาเป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม และชื่อซิมบับเวของโบราณสถานก็ถูกตั้งตามชื่อในภาษาโชนาว่า ดซิมบา – ดซา – มาบเว (Dzimba-dza-mabwe) ที่มีความหมายว่า กลุ่มบ้านหินขนาดใหญ่ ปัจจุบันเกรทซิมบับเวกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในแอฟริกาใต้ นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศต่างเข้ามาเยี่ยมชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพยายามทำให้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์
หนังสือและบทความอ้างอิง
Huffman, Thomas N. Debating Great Zimbabwe, the South African Archaeological Bulletin Vol.66, No.193: 27 – 40. Cape Town: South African Archaeological Society, 2011.
Huffman, Thomas N. The Chronology of Great Zimbabwe, the South African Archaeological Bulletin, Vol.46, No.154: 61 – 70. Cape Town: South African Archaeological Society, 1991.
Ndoro, Webber. The Preservation of Great Zimbabwe: Your Monument, Our Shrine. Rome:
International Center for the Study of Preservation and Restoration of Cultural Property, 2005.
กฤษณรัตน์ รัตน์พงศ์ภิญโญ