Museum Core
นักบุญจอห์นแห่งเนโปมุก
Museum Core
02 มี.ค. 64 7K
ประเทศเช็ก

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

          เมื่อกรุ๊ปทัวร์ไปเยี่ยมเยียนสะพานชาร์ลส์ (Charles Bridge) ที่กรุงปราก (Prague) ประเทศสาธารณรัฐเช็ก ไกด์ทัวร์มักจะพานักท่องเที่ยวไปที่รูปปั้นของนักบุญจอห์นแห่งเนโปมุก เพราะนอกจากจะเป็นรูปปั้นที่สวยงามแล้วภาพประติมากรรมนูนต่ำทำด้วยสำริดที่บริเวณฐานก็มีเรื่องเล่า ผู้คนยังเชื่อกันว่าหากผู้มาเยือนได้เอามือลูบภาพนั้นแล้วจะมีโชคดีและจะได้กลับมาเยือนกรุงปรากอีก รูปปั้นนี้จึงมักจะมีนักท่องเที่ยวมุงกันหนาแน่น


          รูปปั้นของจอห์นแห่งเนโปมุก (John of Nepomuk หรือในภาษาเช็กเขียนว่า Jan Nepomucký อ่านว่า ยัน เนโปมุกสกี้) เป็นรูปปั้นที่เก่าแก่ที่สุดบนสะพานชาร์ลส์ นำมาติดตั้งในปี ค.ศ. 1683 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะครบรอบ 300 ปีแห่งการตายของท่าน ถ้าเล่าตามเรื่องเล่าที่ฐานรูปปั้นซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่อง จอห์นแห่งเนโปมุกคือนักบวชผู้ไม่ยอมเล่าว่าพระราชินีโซเฟียสารภาพบาปกับท่านด้วยเรื่องอะไร (รูปซ้าย) กษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 (Wenceslaus IV) ระแวงสงสัยในตัวพระราชินี จึงจับจอห์นไปทรมานเพื่อให้ยอมบอกความลับและเมื่อไม่ยอมบอกจึงถูกสังหารโดยทิ้งลงแม่น้ำวัลตาวา (Vltava) ที่สะพานชาร์ลส์ (รูปขวา) ข้อความตรงกลางเป็นคำอุทิศและตราประจำตระกูลของผู้สร้าง ส่วนภาพด้านขวาสุดบ้างก็ว่าเป็นจุดที่จอห์นถูกโยนลงแม่น้ำ บ้างก็ว่าด้านล่างเป็นจุดที่พบศพ

 

 

       

 

 

          คริสตจักรโรมันคาทอลิกยกย่องจอห์นแห่งเนโปมุกเป็นผู้พลีชีพคนแรกจากการไม่ยอมเผย “ความลับในที่แก้บาป” (The Seal of the Confessional) ท่านได้รับยกย่องเป็นนักบุญแห่งโบฮีเมีย (Saint of Bohemia อาณาจักรโบฮีเมียเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) และเป็นที่เคารพนับถืออย่างแพร่หลายในยุโรปตอนกลาง เช่น เยอรมัน ออสเตรีย อิตาลี ยูเครน สโลเวเนีย โปแลนด์ ฯลฯ ซึ่งนิยมสร้างรูปปั้นของนักบุญจอห์นไว้บนสะพาน และบนศีรษะก็มักจะมีดาวห้าดวงซึ่งเชื่อกันว่าส่องแสงอยู่เหนือแม่น้ำวัลตาวาในคืนที่ท่านสิ้นชีวิต


           ความตายของจอห์นแห่งเนโปมุกคงจะเป็นข่าวใหญ่ที่กระทบกระเทือนจิตใจของมหาชนในยุคที่การสื่อสารยังไม่มีประสิทธิภาพเหมือนปัจจุบัน เพราะหลังจากนั้นก็มีการเลื่อนไหลไปของเรื่องเล่าสู่การเป็นตำนานและบางส่วนก็เป็นความพยายามจะช่วงชิงความหมาย เช่น เรื่องของการเป็นนักบุญผู้ไม่ยอมเผยความลับในที่แก้บาปนั้นใช้เวลาเปิดเผยร่องรอยเกือบร้อยปีกว่าจะมีเรื่องเล่าแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เขียนประวัติศาสตร์บางคนสรุปว่าที่จริงมีจอห์นสองคนที่ถูกกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 สังหาร คนหนึ่งจากเรื่องการสารภาพบาป ส่วนอีกคนจากเรื่องการแต่งตั้งพระอธิการ กระทั่งเรื่องของดาวห้าดวงบ้างก็ว่าอยู่บนฟ้าเมื่อท่านถูกสังหาร บ้างก็ว่าอยู่เหนือน้ำเพื่อบอกว่าร่างของท่านจมอยู่ตรงไหน บ้างก็ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนภาษาละตินที่แปลว่าความเงียบ คือการไม่เปิดเผยความลับในที่แก้บาป นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวว่าแต่ละรูปปั้นของจอห์นแห่งเนโปมุกซึ่งมีอยู่นับพันในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วยุโรป ต่างก็มีเรื่องเล่าที่แต่งเติมเสริมต่อแตกต่างกันไป


          เรื่องเล่าที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่ว่าที่แท้ท่านก็คือคนเดียวกับจอห์น ฮัส (Jan Hus หรือ ยัน ฮุส ในภาษาเช็ก) ศาสนาจารย์ผู้ให้กำเนิดนิกายฮัสไซต์ (Hussite หรือ ฮุสไซต์ ในภาษาเช็ก) ซึ่งตายเมื่อปี ค.ศ.1415 โดยถูกเผาทั้งเป็น สืบเนื่องจากความตายของจอห์น ฮัส ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองและสงครามศาสนาต่อมาอีกหลายสิบปี เขาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักปฏิรูปศาสนาอีกร้อยปีต่อมา เช่น มาร์ติน ลูเทอร์ จะว่าไปแล้วความตายของเขามีผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ลึกและกว้างไกลไม่น้อยไปกว่าจอห์นแห่งเนโปมุก แต่เหตใดเรื่องเล่าและรูปเคารพของเขาจึงไปได้ไม่ไกลเท่าเรื่องของจอห์นแห่งเนโปมุก ก็เป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญขบคิด


          ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความตายของจอห์นแห่งเนโปมุกเป็นเรื่องที่มีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนจักรระหว่างกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 กับ โยฮันแห่งเจนเซนสไตน์ (Johann von Jenzenstien หรือ Jan of Jenštejna) อาร์ชบิชอปแห่งปราก ซึ่งในช่วงต้นรัชกาลความสัมพันธ์ก็ราบรื่นดีถึงขนาดท่านอาร์ชบิชอปได้รับแต่งตั้งให้เป็น Chancellor (คำนี้ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษ ในอาณาจักรต่างๆ ในสมัยกลางตำแหน่ง Chancellor โดยมากหมายถึงข้าราชการระดับสูงและในหลายกรณีก็เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดกษัตริย์มาก เป็นทั้งนักบวชผู้ชี้แนะทางจิตวิญญาณ เป็นผู้เก็บรักษาพระราชลัญจกร เป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ เป็นหัวหน้าฝ่ายเลขานุการดูแลงานเอกสารราชการต่างๆ ฯลฯ หน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งหรือหลายหน้าที่พร้อมกัน บิชอปและอาร์ชบิชอปมักจะได้รับแต่งตั้งเป็น Chancellor ของกษัตริย์หรือของเชื้อพระวงศ์ระดับสูงเช่นรัชทายาท)


          ท่านโยฮันแห่งเจนเซนสไตน์ได้เป็นอาร์ชบิชอปและ Chancellor ในปี ค.ศ. 1379 ความไม่ลงรอยกันของอาร์ชบิชอปและกษัตริย์เกิดจากการนับถือพระสันตะปาปาคนละพระองค์ ....พระสันตะปาปาไม่ได้มีองค์เดียวหรอกหรือ? ในช่วงนั้นยุโรปเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Papal Schism มีผู้แปลเป็นไทยว่า “ศาสนเภทพระสันตะปาปา” คือเหตุการณ์ที่มีนักบวชสองรูปต่างประกาศตนเป็นพระสันตะปาปา ท่านอาร์ชบิชอปแห่งปรากภักดีกับสันตะปาปาแห่งโรม ส่วนกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 อยู่ฝ่ายสันตะปาปาแห่งอาวิยอง


          ต่อมา ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 และท่านอาร์ชบิชอปมีมากขึ้น จนในปี ค.ศ. 1384 ท่านก็ลาออกจากตำแหน่ง Chancellor ละวางเรื่องบริหารแต่ยังคงเป็นอาร์ชบิชอปแห่งปราก ในปี ค.ศ.1393 ท่านอาร์ชบิชอปได้แต่งตั้งจอห์นแห่งเนโปมุกเป็นผู้ช่วย และในปีนั้นเองตำแหน่งพระอธิการแห่งอารามกลัดรูบี้ (Kladruby) ว่างลง อารามกลัดรูบี้เป็นอารามที่มีอำนาจและความมั่งคั่ง มีบทบาทสนับสนุนกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 ผู้เป็นพระบิดาของกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 มาตลอด ครั้นมาถึงในสมัยของกษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 ความที่ไม่ทรงได้รับความนิยมจากเหล่าขุนนางนัก ทำให้พระองค์ต้องการส่งคนของพระองค์ไปยึดกุมตำแหน่งที่ว่างของอารามที่สำคัญแห่งนี้ แต่แล้วจอห์นแห่งเนโปมุกได้ดำเนินการเสนอชื่อผู้ที่ได้รับเลือกตั้งโดยพระในอารามเข้าไปแทน การไม่ปฏิบัติตามพระราชประสงค์แต่ปฏิบัติตามกฎทำให้กษัตริย์โกรธกริ้วมาก


          กษัตริย์เวนเซสเลาส์ที่ 4 ได้ให้คนไปจับกุมจอห์นแห่งเนโปมุกมา ทรงลงมือทรมานด้วยพระองค์เอง และให้นำร่างที่สาหัสเจียนตายไปทิ้งลงแม่น้ำ หลังจากจอห์นแห่งเนโปมุกตายไม่นาน ท่านอาร์ชบิชอปก็เร่งรุดไปยังกรุงโรมพร้อมพระอธิการแห่งอารามกลัดรูบี้คนใหม่ เพื่อรายงานเรื่องที่เกิดขึ้น และในรายงานได้กล่าวถึงจอห์นแห่งเนโปมุกว่าเป็นผู้พลีชีพ


          ร่างของจอห์นแห่งเนโปมุกถูกฝังไว้ภายในมหาวิหารเซนต์วิตัส (Saint Vitus Cathedral) ในกรุงปราก ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการเปิดโลงขึ้นเนื่องจากจอห์นแห่งเนโปมุกได้รับเสนอชื่อและอยู่ในกระบวนการพิจารณาเพื่อประกาศเป็นนักบุญ พบว่ามีชิ้นเนื้อไม่เน่าเปื่อยและยังเป็นสีชมพูสดอยู่ คนเชื่อกันว่าชิ้นส่วนนั้นคือลิ้น (ที่ไม่ยอมพูดสิ่งต้องห้าม) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ปาฏิหาริย์ของจอห์นแห่งเนโปมุก ในปี ค.ศ.1719 มีการสร้างโบสถ์สำหรับผู้แสวงบุญแห่งจอห์นเนโปมุก (Pilgrimage Church of St John of Nepomuk) ที่เมืองซาร์นัดซาซาวู (Žďár nad Sázavou ตั้งอยู่ประมาณ 156 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของปราก) เพื่อนำชิ้นส่วนนี้ไปเก็บรักษาและเคารพบูชา โบสถ์ออกแบบอย่างสวยงามโดยสถาปนิกชาวโบฮีเมีย ยัน บัวเซ ซานตินี (Jan Blazej Santini) ผังของโบสถ์เป็นรูปดาวและมีรูปแบบการตกแต่งภายในซึ่งสะท้อนถึงตำนานของนักบุญจอห์น โบสถ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1994

 


         

          ในปี ค.ศ.1763 ได้มีการสร้างงานประติมากรรมไว้ ณ ที่ฝังศพของนักบุญจอห์นที่มหาวิหารเซนต์วิตัส ประติมากรรมนี้ทำด้วยเงินหนักถึงสองตันดูเป็นศิลปะแบบบาโรกที่โออ่าอลังการ์ดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันมาก จนแทบทำให้ลืมไปว่าโบสถ์ยังเป็นที่ฝังร่างของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์อีกหลายสิบพระองค์ ตรงฐานของประติมากรรมมีรูปสลักนูนต่ำชุดเล็กๆ แสดงฉากการสิ้นชีวิตของนักบุญจอห์น


          สำหรับชิ้นเนื้อที่เชื่อกันว่าเป็นลิ้นนั้น ในปี ค.ศ.1973 นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจชิ้นส่วนและสันนิษฐานว่าเป็นส่วนของเนื้อสมองที่มีเลือดคั่ง ส่วนร่างที่เชื่อว่าเป็นของนักบุญจอห์นตรวจได้ผลว่าเป็นร่างของชายในวัยกลางคน

 

          ผู้เขียนจะไม่สรุป และไม่สามารถจะสรุปว่ามีเรื่องเล่าที่จริงแท้เพียงเรื่องเล่าเดียว และเรื่องเล่าอื่นๆ ที่เล่าไม่ตรงกันนั้นไม่ถูกต้อง แต่ละเรื่องเล่าต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องกระทำในแต่ละช่วงเวลา นักประวัติศาสตร์และผู้สนใจศึกษาก็ค้นหาหลักฐานและวิเคราะห์กันไปอย่างไม่จบสิ้น รูปปั้นจอห์นแห่งเนโปมุกบนสะพานชาร์ลส์ก็คือวัตถุจัดแสดงชิ้นหนึ่งในพื้นที่มรดกโลก การพิจารณาและตั้งคำถามกับรูปปั้นของจอห์นแห่งเนโปมุกต่างหากที่ทำให้เราขยายขอบเขตความรู้ความเข้าใจไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากมาย

 

แหล่งที่มาของข้อมูล :
1. https://www.newadvent.org/cathen/08467a.htm
2. http://www.kralovskacesta.cz/en/tour/objects/statue-of-st-john-of-nepomuk_1.html
3. https://www.atlasobscura.com/places/location-of-saint-john-of-nepomuk-s-martyrdom
4. https://en.wikipedia.org/wiki/John_of_Nepomuk
5. https://en.wikipedia.org/wiki/Jan_of_Jen%C5%A1tejn
6. https://www.zelena-hora.cz/en/history/personalities/jakub-blazej-santini-aichel

 

 

กระต่ายหัวฟู

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ