นับแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล บรรดาพ่อค้าต่างพากันออกเดินทางจากถิ่นกำเนิดเพื่อแสวงโชคในต่างแดน เส้นทางการค้าทางทะเลเฟื่องฟูขึ้นโดยมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนที่มีอาณาเขตจากกรุงโรมผ่านชายฝั่งแอฟริกาเหนือ ลากยาวไปยังดินแดนอาระเบีย อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินทองมากมายไหลสะพัดเพื่อแลกมาซึ่งสินค้าฟุ่มเฟือย ทว่าความรุ่งเรืองดังกล่าวมาถึงจุดเสื่อมถอยในคริสต์ศตวรรษที่ 5 พร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าจากต่างแดนยังคงมีอยู่ เพียงแต่ผู้ควบคุมเส้นทางการค้าทางทะเลไม่ใช่ชาวตะวันตกอีกต่อไป แต่เป็นเหล่าผู้ครองรัฐอิสลามที่เถลิงอำนาจเหนือเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7
หลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน ยุโรปเผชิญภาวะสงคราม โรคระบาด และความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เกิดเป็นยุคมืดที่ถูกครอบงำโดยศาสนจักรนานนับศตวรรษ และหลังจากสร้างชาติที่มั่นคงได้แล้ว พวกเขาก็ไม่รอช้าที่จะดำเนินรอยตามจักรวรรดิอันรุ่งโรจน์ในอดีต พวกเขาต้องการอำนาจในการเป็นใหญ่เหนือผู้ใด และเพื่อการนั้น ชาวตะวันตกจึงต้องการเงินตราและเสบียงมากพอที่จะสนับสนุนกองกำลังของตน
ชาวสเปนและโปรตุเกสเป็นชาติแรกๆ ในยุโรปที่ตระหนักถึงความสำคัญของเส้นทางการค้าทางทะเล ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าแทรกแซงเครือข่ายที่ถูกควบคุมโดยรัฐมุสลิมที่เป็นศัตรูตั้งแต่ครั้งสงครามศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย กษัตริย์สเปนและโปรตุเกสจึงสนับสนุนนักเดินเรือให้ออกเดินทางหาเส้นทางใหม่เพื่อไปยังแหล่งเครื่องเทศและสิ่งทอในดินแดนตะวันออก ด้วยเหตุนั้นเอง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือชาวอิตาเลียนจึงออกเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยหวังจะไปถึงอินเดียด้วยเส้นทางที่ไม่มีผู้ใดรู้จัก และแม้ว่าโคลัมบัสจะล้มเหลวในการเดินทางไปอินเดีย ทว่าเขากลับได้พบโลกใหม่สถานที่ที่เต็มไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติที่จะทำให้กษัตริย์ของเขาพอพระทัย
การค้นพบโลกใหม่ในทวีปอเมริกาของโคลัมบัสปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถือเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการค้าแอตแลนติก ชาวสเปนและโปรตุเกสใช้ประโยชน์จากผืนดินอุดมสมบูรณ์ในการเพาะปลูกพืชเมืองร้อนเพื่อนำผลผลิตส่งกลับยุโรป อย่างไรก็ตาม การใช้โลกใหม่เป็นฐานการผลิตสินค้านำไปสู่ความต้องการแรงงานจำนวนมาก และชาวพื้นเมืองผู้ไร้ซึ่งภูมิคุ้มกันโรคที่ติดตัวมากับกะลาสียุโรปไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในการนั้น ชาวตะวันตกจึงมองหาแรงงานกลุ่มใหม่ ชาติพันธุ์ที่ทนต่องานหนัก สภาพอากาศเลวร้าย และโรคภัยนานาชนิด ไม่นานพวกเขาก็พบว่า ทาสผิวดำจากแอฟริกาสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่ว่ามาทุกประการ
ภาพที่ 1. แผนที่เมืองท่าสำคัญในการค้าทาสผ่านเส้นทางการค้าแอตแลนติก
ที่มาภาพ: Thomas, Hugh. The Slave Trade: The Story of the Atlantic Slave Trade: 1440-1870. 1999. Page 29.
การครอบครองทาสในแอฟริกาไม่ใช่เรื่องใหม่ จักรวรรดิต่างๆ ในกาฬทวีปก่อร่างอารยธรรมโดยมีพื้นฐานจากแรงงานทาสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ มาลี หรือคองโก ทาสคือแรงงานชั้นดีที่ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนหรือซื้อหาในบางกรณี ก่อนการเข้ามาของชาวอาหรับและยุโรป ชนเผ่าในแอฟริการบพุ่งกันเองอยู่เป็นนิจ เชลยศึกที่ได้มาจากการต่อสู้จะถูกกล้อนผมและนำตัวไปเป็นทาสรับใช้ผู้ชนะ ทว่าแม้จะมีสถานะแตกต่างจากผู้เป็นนาย แต่ทาสในแอฟริกาก็ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ทาสที่รับใช้นายอย่างดีจะได้รับอนุญาตให้มีบ้านและที่ดินของตัวเอง สถานะความเป็นทาสจะไม่ถูกส่งต่อตามสายเลือด ความต้องการทาสในทวีปเน้นที่สตรีเป็นหลัก ทาสหญิงจะถูกนำตัวไปเป็นภรรยาของชายในเผ่า ซึ่งบุตรที่เกิดกับนายและทาสจะมีสิทธิ์ในการสืบทอดมรดกของบิดา
อย่างไรก็ตาม ความต้องการทาสของชาวยุโรปแตกต่างออกไป พวกเขาต้องการแรงงานชายที่แข็งแรงในการเพาะปลูกพืชไร่ที่ต้องการการดูแลตลอดเวลาอย่างฝ้าย น้ำตาล และยาสูบ ทว่าการซื้อหาทาสจำนวนมากกลับไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวยุโรปไม่คุ้นชินกับสภาพภูมิอากาศในแอฟริกา นักเดินทางยุคแรกต่างล้มตายด้วยโรคเขตร้อน พวกเขาจึงเลือกที่จะเป็นคนกลางในการซื้อทาสผิวดำจากพ่อค้าอาหรับส่งต่อไปยังผู้ประกอบการในหมู่เกาะแคริบเบียนแทนที่จะหาทาสโดยตรงด้วยตนเอง ทว่าความต้องการแรงงานกลับมีมากกว่านั้น พวกเขาจึงเริ่มติดต่อกับผู้นำเผ่าแอฟริกากลางและตะวันตก แสดงให้ชนชั้นสูงเห็นประโยชน์ที่จะได้จากการค้าทาส หัวหน้าเผ่าหลายคนถูกจูงใจด้วยสินค้าฟุ่มเฟือยจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นโลหะ อาวุธ เครื่องประดับ และของมึนเมา พวกเขาตกลงให้ความร่วมมือกับชาวยุโรปในการจัดหาทาสที่ได้มาจากการศึก ในขณะที่ผู้นำเผ่าบางคนถูกชักนำให้ร่วมมือด้วยเหตุผลที่ซับซ้อนกว่านั้น นซิงกา นกุวู (Nzinga-a-Nkuwu) ราชาแห่งอาณาจักรคองโก (Kingdom of Kongo) เข้ารับศีลล้างบาปเป็นคริสต์ศาสนิกชนในปี 1491 หลังการเข้ามาของมิชชันนารีโปรตุเกส ราชสำนักโปรตุเกสอ้างเหตุผลด้านพันธมิตรในการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของคองโก ทำให้คองโกกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าทาสของชาวยุโรปในเวลาต่อมา
ภาพที่ 2. แบบแปลนเรือบรรทุกทาสบรูคส์ (Brookes) แสดงให้เห็นความแออัดภายในท้องเรือ
ที่มาภาพ: Claire Shaw. Liverpool's Slave Trade Legacy. (2020). [Online]. Accessed 2020 Dec 15. Available from: https://www.historytoday.com/history-matters/liverpool%E2%80%99s-slave-trade-legacy
แอฟริกาเป็นทวีปที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ละเผ่ามีภาษาพูดและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง การจับคนต่างเผ่าส่งขายให้ชาวยุโรปจึงไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมในยุคนั้น การค้าทาสให้กำไรงามกว่าธุรกิจใดๆ ที่พวกเขาเคยรู้จัก บรรดานักรบก่อศึกกับคนต่างเผ่าเพียงเพื่อได้มาซึ่งเชลยสงคราม ผลแพ้ชนะของการต่อสู้ไม่มีความหมายใดๆ อีกต่อไป ไม่ช้าไม่นาน อาณาจักรน้อยใหญ่ต่างก็มีส่วนได้ส่วนเสียในการค้าทาสทั้งสิ้น พวกเขาต้องการอาวุธเพื่อต่อสู้ป้องกันตนเองจากเผ่าอื่นที่ต้องการจับคนของตน และเพื่อได้มาซึ่งอาวุธที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาต้องพึ่งพาชาวยุโรปในการจัดหา ชนเผ่าต่างๆ หันไปพึ่งพาคนผิวขาวทีละน้อย และเมื่อชายฉกรรจ์ถูกจับตัวไปเป็นทาสจนหมดสิ้น อาณาจักรที่ไร้ซึ่งกำลังพลป้องกันดินแดนจึงพ่ายแพ้ต่อกองทัพยุโรปจนตกเป็นอาณานิคมในที่สุด
ภาพที่ 3. อยูบา สุไลมาน ดิอันโย (Ayuba Suleiman Diallo) พ่อค้าทาสที่ถูกจับตัวไปเป็นทาสในเวลาต่อมา
ที่มาภาพ: William Hoare of Bath. Portrait of Ayuba Suleiman Diallo (1733)
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 19 แอฟริกากลายเป็นดินแดนแห่งความหวาดกลัว พ่อค้าทาสที่เคยมั่งมีถูกลักพาตัวไปเป็นทาสเสียเองในเวลาต่อมา ผู้คนต่างระแวงซึ่งกันและกัน ความเชื่อดั้งเดิมถูกละทิ้งด้วยความหวังว่าการนับถือพระเจ้าองค์เดียวกับคนขาวจะทำให้ได้รับการคุ้มครอง ภายในเวลา 300 ปี ชาวแอฟริกันกว่า 10 ล้านคนถูกเคลื่อนย้ายจากแผ่นดินเกิดไปเป็นแรงงานในโลกใหม่ ผู้คนมากมายล้มตายระหว่างการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยโรคภัยไข้เจ็บ บางส่วนเลือกที่จะก่อกบฏเพื่ออิสรภาพ ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะจบชีวิตแทนที่จะถูกริดรอนความเป็นมนุษย์ ในปีค.ศ. 1803 ชาวอิกโบ (Igbo) ที่ถูกลักพาตัวจากตอนใต้ของไนจีเรีย 75 คนกระทำอัตวินิบาตกรรมร่วมกันโดยหวังเพียงเพื่อให้มหาสมุทรพัดพาวิญญาณของพวกเขากลับไปหาครอบครัวที่รัก การเป็นทาสในโลกใหม่โหดร้ายกว่าผู้ใดจะนึกฝัน ทันทีที่ไม้กระดานดาดฟ้าเรือถูกปิดลง ทาสใต้ท้องเรือก็หมดหวังที่จะได้เห็นดวงตะวันแห่งแอฟริกาอีก แทบไม่มีทาสคนใดได้เห็นแผ่นดินเกิดเป็นครั้งที่สอง และแม้ว่าสงครามกลาง เมืองในอเมริกาจะปะทุขึ้นครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่อปลดปล่อยทาสผิวดำ ทว่าพวกเขายังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์มาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าการค้าทาสในเส้นทางการค้าแอตแลนติกจะจบลงไปแล้วกว่าสองศตวรรษ ทว่าผลกระทบจากการแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นธรรมยังหลงเหลืออยู่ ทรรศนะการเหยียดผิว (Racism) ของชาวตะวันตกเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกแบ่งแยกผู้อื่นที่ไม่ใช่พวกตน (Sense of Otherness) ในขณะเดียวกัน ชาวแอฟริกันได้ริเริ่มแนวคิดความเป็นชาติเดียวขึ้นตอนต้นศตวรรษที่ 20 การเป็นชาติเดียวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการรวมตัวเป็นประเทศแต่อย่างใด พวกเขาเพียงแต่ต้องการให้คนในทวีปนับถือกันและกันเหมือนพี่น้องเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากชาติมหาอำนาจ และเพื่อลบคำครหาของนักประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมที่ว่า การค้าทาสให้ชาวยุโรปเป็นตราบาปของชาวแอฟริกันที่ขายคนของตัวเองแลกมาซึ่งของฟุ่มเฟือยให้ชนชั้นสูง แน่นอนว่าการเอาบรรทัดฐานศีลธรรมปัจจุบันมาตัดสินการกระทำของคนในอดีตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ความจริงที่ว่าผลประโยชน์ที่ชาวแอฟริกันได้รับจากการค้ากับชาติตะวันตกแทบไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่พวกเขาต้องสูญเสียยังคงอยู่ พวกเขาสูญเสียทรัพยากร แผ่นดิน หรือกระทั่งอิสรภาพให้กับความกระหายอำนาจของคนต่างถิ่น และแม้ว่าความจริงดังกล่าวจะโหดร้าย แต่บทเรียนจากอดีตเป็นประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจดจำและศึกษามากกว่ากลบฝังหรือเพิกเฉยให้ลบเลือนไปตามกาลเวลา
กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ