หากพูดถึงวิชามหกายวิภาคศาสตร์ หรือ gross anatomy นักศึกษาแพทย์คงจะหนีไม่พ้นกับคำถามที่ว่า “ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่หรือยัง” ตามด้วย “กลัวไหม?” ก่อนที่ผู้เขียนจะตอบคำถามนั้น อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวจากห้องเรียนมหกายวิภาคศาสตร์นี้ดูก่อน บางทีร่างไร้ชีวิตอาจไม่น่ากลัวอย่างที่ท่านคิดก็เป็นได้
ห้องกรอส…ชีวิตหลังความตายของครูผู้ให้
ห้องเรียนมหกายวิภาคศาสตร์ หรือ ห้องกรอส เป็นห้องที่นักศึกษาแพทย์ใช้เรียนเพื่อศึกษาร่างกายของผู้ตายที่ได้บริจาคไว้ก่อนเสียชีวิต หรือเรียกว่า อาจารย์ใหญ่ โดยศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของร่างกาย ระบบอวัยวะ จุดเกาะของกล้ามเนื้อ ตำแหน่งของเส้นเลือด เส้นประสาท และต่อมน้ำเหลือง นักศึกษาแพทย์จะเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ ควบคู่ไปกับสรีรวิทยา พยาธิวิทยา ฯลฯ เป็นการเชื่อมโยงความรู้แต่ละภาควิชาเพื่อต่อยอดการเรียนในระดับชั้นปีที่สูงขึ้นไป
ห้องกรอสในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เดิมอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกกายวิภาคศาสตร์เป็นตึกเรียนที่มีประวัติยาวนานเกือบร้อยปี ตัวอาคารเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2468 มีลิฟท์สำหรับยกร่างอาจารย์ใหญ่ขึ้นมาที่ห้องเรียนชั้น 2 ต่อมาเสริมอาคารเป็น 3 ชั้น ในปี พ.ศ.2477 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2488 ตัวอาคารเสียหายอย่างมาก และได้รับการบูรณะในภายหลัง ปัจจุบันตึกกายวิภาคศาสตร์เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์สองแห่งนั่นคือ พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร และพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม
ภาพที่1 ห้องเรียนมหกายวิภาคศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน
ที่มาภาพ: https://th.foursquare.com/v/%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%87-gross-anatomy/4dd9dbbe8877f1151024ae79
สำหรับห้องกรอสที่นักศึกษาแพทย์ศิริราชใช้ในปัจจุบัน อยู่ที่ชั้น 4 ของตึกศรีสวรินทิรา ภายในห้องแบ่งเป็นโซนๆ มีเตียงสำหรับวางร่างอาจารย์ใหญ่จัดอย่างเป็นระเบียบ มีตู้ลิ้นชักภายในมีอุปกรณ์สำหรับการชำแหละ และมีโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่เอาไว้ประกอบการเรียน เมื่อผ่าเสร็จแต่ละคาบก็จะทาน้ำยาดองแบบพิเศษเพื่อเก็บรักษาร่างสำหรับคาบเรียนถัดไป ทุกๆ ครั้งในคาบเรียนอาจารย์แพทย์จะเน้นย้ำเสมอว่า “ร่างทุกร่าง กระดูกทุกชิ้นล้วนมีเจ้าของ ศึกษาเสร็จแล้วเก็บให้เรียบร้อยอย่าวางทิ้งไว้” เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษา“เคารพ”อาจารย์ใหญ่ในฐานะ“ครู” คนหนึ่ง
แม้หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปจากอดีต แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือจิตวิญญาณของครูผู้อุทิศร่างให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ โดยจะมีงานทำบุญอาจารย์ใหญ่ประจำปีจัดโดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของอาจารย์ใหญ่ และเน้นย้ำให้นักศึกษาแพทย์ตั้งใจเล่าเรียนเพื่อจบเป็นแพทย์ที่ดีในอนาคต
ภาพที่ 2 คู่มือกายวิภาคสาตรช่วยไนการเรียนชำแหละสพ
การผ่าอาจารย์ใหญ่จำเป็นต้องเรียนเนื้อหาความรู้จากตำราควบคู่ไปด้วย หนังสือ “คู่มือกายวิภาคสาตรช่วยไนการเรียนชำแหละสพ” เป็นหนังสือคู่มือในการผ่าอาจารย์ใหญ่ที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้ทุ่มเทเวลาเขียนขึ้นเพื่อให้นักศึกษาแพทย์มีตำราประกอบทุกๆครั้งที่มีเรียนกายวิภาคศาสตร์ เนื้อหาภายในมีศัพท์แพทย์หลายคำที่ถอดความมาจากภาษาอังกฤษ จึงพบการสะกดคำทับศัพท์ที่แตกต่างจากคำที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ดังเช่นประโยคตอนหนึ่งในหนังสือคู่มือ ตอนที่ 4 อวัยวะของหัวและคอ ที่เขียนว่า “การตกเลือดในห้วงใต้ อะรัฆนอยด์” มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า subarachnoid hemorrhage หมายถึง ภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง พบว่ามีการถอดเสียงตัว ch เป็นตัวอักษร ฆ หนังสือคู่มือนี้แบ่งแต่ละตอนเป็น region คือ แบ่งเนื้อหาเรียนร่างกายเป็นส่วนๆเช่น ศีรษะและคอ ทรวงอก ช่องท้อง เป็นต้น ถือเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญของการเรียนกายวิภาคศาสตร์ของนักศึกษาแพทย์ในสมัยนั้น ปัจจุบันหนังสือเหล่านี้ถูกจัดเก็บไว้ในหอสมุดศิริราช
ภาพที่ 3 ข้อความบางส่วนในหนังสือ
สำหรับหลักสูตรกายวิภาคศาสตร์ที่ผู้เขียนได้เรียนยังคงแบ่งเป็น region อยู่เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีหนังสือกายวิภาคศาสตร์ภาษาอังกฤษมาใช้ประกอบตอนเรียนกับอาจารย์ใหญ่แทนหนังสือคู่มือเล่มเดิม แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์กายวิภาคศาสตร์ที่บันทึกอยู่ในเล่ม ยังควรค่าแก่การศึกษาและเป็นที่จดจำตราบนานเท่านาน
ในคาบเรียนมหกายวิภาคศาสตร์วันหนึ่ง มีแผ่นกระดาษพิมพ์อักษรขนาดใหญ่สีดำแปะอยู่หน้าประตู ไม่ว่าใครหันไปเห็นก็คงต้องสะดุดตากับคำว่า “ห้องล้างใจ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงห้องทำสมาธิชำระจิตใจให้สะอาดแต่อย่างใด แต่หมายถึงห้องที่อาจารย์ ผู้สอนเตรียมไว้ให้สำหรับล้าง “หัวใจ” ของอาจารย์ใหญ่ในคาบเรียนผ่าthorax หรือทรวงอกเพื่อศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างของหัวใจ ในคาบเรียนนั้นนอกจากจะศึกษาอวัยวะจากร่างอาจารย์ใหญ่แล้ว ยังมีอุปกรณ์ประกอบการสอนเป็นชิ้นเนื้อที่อยู่ในกล่องใส เพื่อแสดงอวัยวะในมุมที่ไม่สามารถมองเห็นได้ชัดจากการผ่าชำแหละ มีทั้งกล่องใสที่แสดงเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจ เส้นเลือดที่วิ่งผ่านในเยื่อยึดลำไส้ ชิ้นส่วนที่แสดงภาคตัดขวางของร่างกายสำหรับเรียนรู้เพื่อเป็นพื้นฐานเปรียบเทียบกับการอ่านภาพจาก CT scan ใครจะรู้ว่ากว่าจะมาเป็นชิ้นเนื้อบรรจุในกล่องใส ในห้องเรียนกายวิภาคศาสตร์และในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอนจะต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ภาพที่ 4 กล่องใสภายในบรรจุชิ้นเนื้อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน
ที่มาภาพ https://www.museumthailand.com/th/museum/Congdons-Anatomical-Museum
การทำชิ้นเนื้อ หรือ specimenสำหรับเก็บรักษาเพื่อการเรียนรู้จำเป็นต้องใช้วิธีการที่จำเพาะ แต่เดิมการเก็บรักษาชิ้นเนื้อให้คงสภาพสมบูรณ์นั้น จะต้องบรรจุชิ้นเนื้อไว้ในโหลแก้ว ทาสีชิ้นเนื้อด้วยวิธีเคลือบสีน้ำที่มีส่วนผสมของไข่ขาว และแช่ในแอลกอฮอล์ ต่อมาศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ สุด แสงวิเชียร ได้นำวิธีทำกล่องพลาสติกใส่ชิ้นเนื้อจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษมาใช้แทนกล่องแก้ว เลือกใช้สีอะคริลิกทาชิ้นเนื้อและแช่ในฟอร์มาลีนแทนแอลกอฮอล์ พิพิธภัณฑ์จึงเลือกใช้วิธีนี้ในรักษาสภาพชิ้นเนื้อมาจนถึงปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปที่คำถามที่ว่า “เรียนกับอาจารย์ใหญ่แล้วกลัวไหม” คำตอบของผู้เขียนคงจะเป็น “หากรู้เช่นนี้แล้วจะกลัวไปทำไม?”
ยามชีวิตผ่านพ้น ความตาย
มอบร่างอุทิศกาย หนึ่งไว้
ความดีจักมิคลาย คงอยู่ นิรันดร์
ศิษย์แพทย์ประณตไหว้ ซาบซึ้งพระคุณ
เอกสารอ้างอิง
https://museum.li.mahidol.ac.th/medical_bethel/download/23Sood.pdf
https://www.sarakadee.com/feature/2000/03/15year7.htm
https://www.facebook.com/siriraj.museum/posts/1716509845180804/
https://www.facebook.com/siriraj.museum/posts/637051563126643/
กมลชนก กุลชุติสิน