Museum Core
สีหราชคีรีสิกิริยา อำนาจที่ไม่จีรัง
Museum Core
31 มี.ค. 64 4K
ประเทศศรีลังกา

ผู้เขียน : เมฆตามจันทร์

          จุดมุ่งหมายการเดินทางนี้คือการตามความฝันในการตามรอยพระราชวังสิกิริยาแห่งศรีลังกา พระราชวังโบราณที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 13 บนยอดซากภูเขาไฟสูงเสียดฟ้ากว่า 370 เมตรที่เมืองมาตาเล (Matale) พระราชวังที่มีที่มาน่าเศร้าสะเทือนใจทว่ามีความมหัศจรรย์สุดแสนโรแมนติก

 

 

ภาพที่ 1 พระราชวังลอยฟ้าสิกิริยา

ที่มาภาพ: Pinterest

         จากบันทึกของพันเอกโจนาธาน ฟอร์เบส (Major Jonathan Forbes) เมื่อครั้งที่จักรวรรดิอังกฤษเข้ามารุกรานประเทศแถบเอเชียในยุคล่าอาณานิคม อำนาจของอาณาจักรสิงหลอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรถูกท้าทายและสุดท้ายต้องตกอยู่ใต้การปกครองจักรพรรดินีแห่งอังกฤษอย่างน่าเศร้าสลดใจ  จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.1846) สีหราชคีรี พระราชวังที่เคยถูกทิ้งร้างในป่าจึงได้ค่อยๆ เผยสู่สายตานักโบราณคดีและนักเดินทางอีกครั้งหนึ่ง   

                 

         ปัจจุบันการเดินทางมาเมืองมาตาเล เราสามารถเช่ารถตู้พร้อมคนขับในราคาหลักร้อย ถนนหนทางสะดวกแม้จะเป็นถนนแคบแค่สองเลน แต่คนขับค่อนข้างมีมารยาทและมีไมตรีจิตต่อกัน ถนนที่นี่ยังถูกขนาบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ฉันเคยเห็นแต่ในหนังสือพฤกษศาสตร์ สมบูรณ์อย่างที่สุดเท่าที่ต้นมันจะเติบโตได้ และอธิษฐานขอให้เขารักษาต้นไม้ได้ดีเช่นนี้ตลอดไป ทั้งอดคิดไม่ได้ว่าพุทธศาสนาได้หยั่งรากบนจิตใจคนที่นี่อย่างแน่นแฟ้น ทุกครั้งที่มีคนศรีลังกาถามว่าเป็นคนไทยใช่ไหม มักจะตามมาด้วยรอยยิ้มและยกมือสวัสดีชาวพุทธด้วยกันในแววตาอบอุ่น ทำให้ฉันรู้สึกขอบคุณบรรพบุรุษที่ได้เจริญพุทธไมตรีเมื่อหลายศตวรรษก่อนในนาม “ลังกาวงศ์” จนอีกหลายร้อยปีถัดมารัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พุทธศาสนาในศรีลังกายุคนั้นเริ่มเสื่อมลงจากการถูกชาติตะวันตกยึดครองบังคับให้เข้ารีต “สยามวงษ์“ ก็ได้กลับมาฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นที่นี่  

  

ภาพที่ 2 ต้นไม้ใหญ่สองข้างทางสมบูรณ์เหมือนอยู่ในตำราพฤกษศาสตร์

 

          บันทึกในตำนานกล่าวกันว่าชื่อ เขาสิกิริยา ถูกเรียกว่า สีห์คีรี  โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พ.ศ. 236 – 276) ที่เสด็จมาหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 277 ปี และพุทธศาสนาในอินเดียถูกไล่ล่าจากสงคราม มีพระสงฆ์กลุ่มหนึ่งหนีมาลงหลักปักฐานที่นี่ นำต้นศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยามาปลูกหยั่งรากที่ศรีลังกา ราชธานีอนุราชปุระ กระทั่งอีกหลายปีถัดมาในรัชสมัยพระเจ้าปุลหัตถะและพระราชโอรสพาหิยะผู้มีศรัทธาเลื่อมใสต่อพุทธศาสนาอย่างมากได้ทรงสร้างป้อมเชิงเทิน ศาลาโรงธรรม และโรงทานให้กับพระภิกษุขึ้น ณ ที่แห่งนี้

 

         พระราชวังโอ่อ่าโอฬารแห่งสิกิริยาถูกสร้างขึ้นอีกหลายร้อยปีถัดมาโดยพระเจ้าธาตุเสน แต่เหตุการณ์ก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อพระโอรสนามว่าเจ้าชายกัสสปะช่วงชิงบัลลังก์จากพระเชษฐาเจ้าชายโมคคัลลานะ ด้วยการทำปิตุฆาตจับพระราชบิดาขังไว้ในถ้ำและโบกปูนทับจนสวรรคตในถ้ำนั้นเอง ถึงตรงนี้ฉันได้แต่รำพึงว่า "อำนาจช่างน่ากลัวเปลี่ยนคนเป็นภูตผีปีศาจ" ส่วนพระเชษฐาหลบหนีการถูกล่าสังหารลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย กระทั่งอีก18 ปีถัดมาจึงได้กลับมาทวงราชบัลลังก์คืน คิดไปแล้วเหมือนดั่งว่า "อำนาจมีแล้วก็หมด เป็นเช่นนี้แต่ไรมา"

 

          พระเจ้ากัสสปะเมื่อขึ้นครองราชย์ธานีอนุราชปุระแทนพระบิดา และด้วยความทะเยอทะยานมีพระประสงค์จะเป็น “ผู้ปกครองทั้งดิน-ฟ้า” จึงทรงใช้พระราชทรัพย์จำนวนมหาศาลสร้างพระราชวังสูงบนยอดเขาเพื่อทรงพระสำราญกับเหล่าสนม มีบันทึกว่ามีสนมและราชบริพารเกือบ 500 คน อันที่จริงแล้วการเลือกสร้างพระราชวังที่นี่คงมีสาเหตุจากการขึ้นครองราชย์ที่ไม่ชอบด้วยธรรมนี่เอง เหล่าพราหมณ์ที่สนับสนุนยุยงอวยยศให้สถาปนาพระองค์เป็น “ท้าวกุเวรราชเทพ มีความหมายว่าผู้มีอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวง” เพื่อให้เหล่าประชาชนที่ยังจงรักภักดีพระเจ้าธาตุเสน เลื่อมใสยอมรับในพระราชอำนาจในฐานะเทพ โดยพระเจ้ากัสสปะได้ผลิตเหรียญทองขึ้นเพื่อใช้กำกับมูลค่าในรัชสมัยของพระองค์ และตั้งชื่อตามพระนามว่า ท้าวกุเวรราชเทพ ซึ่งใช้แพร่หลายเป็นที่ยอมรับของเหล่าพ่อค้าวาณิชและนำความรุ่งเรืองสู่ราชอาณาจักร ตามบันทึกกล่าวว่าทรงใช้พระราชทรัพย์ถึง 70 ล้านเหรียญทอง และใช้เวลาสร้างถึง 7 ปี

 

          พระราชวังถูกบรรจงสร้างทั้งอาคาร อุทยาน และระบบชลประทานอันเยี่ยมยอด ผู้สนใจสามารถเข้าชมและทำความเข้าใจได้จากพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าและเป็นจุดจำหน่ายตั๋วด้วย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยีหรือระบบแสงสีทันสมัยใดๆ แต่คุณค่าของโบราณวัตถุ และคุณค่าด้านภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของผู้ที่สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้นมาทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีความน่าประทับใจมาก

 

         ห้องแสดงแบ่งเป็นสามส่วน เริ่มจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งนับย้อนไปไกลถึงหนึ่งหมื่นปีก่อน มีมนุษย์รุ่นแรกอาศัยที่นี่ก่อนเข้าสู่ยุคสังคมเกษตรกรรม จนถึงยุคที่พุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่และนับเป็นยุคทอง หลักฐานทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาแทบไม่พบเห็นแล้วในพระราชวังสิกิริยาแห่งนี้ ทว่าศรัทธาต่อพุทธศาสนาถูกถ่ายทอดในศิลปกรรมที่ถูกพบในวัดต่างๆ มีจุดเด่นคือพุทธปฏิมากรรมล้วนประดับประดาด้วยพลอยมีค่าต่างๆ เนื่องด้วยเกาะศรีลังกาอุดมไปด้วยอัญมณี แต่ที่สำคัญคือหลักธรรมและพุทธปฏิบัตินั้นล้วนซึมซับจนเป็นรากฐานทางวัฒนธรรม-จรรยาของชาวสิงหลที่สัมผัสได้ถึงทุกวันนี้ ชาวสิงหลทุกเพศ วัย นิยมไปสวดมนต์ที่วัดในวันพระ บูชาด้วยดอกไม้สีขาวบริสุทธิ์ที่จัดวางในกระทงกระดาษเรียบง่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

 

          ส่วนจัดแสดงที่ไม่อยากให้พลาดคือ ห้องจัดแสดงภาพถ่ายขาวดำของนักโบราณคดีที่ถูกแต่งตั้งจากจักรภพอังกฤษชื่อว่า แฮร์รี่ ชาร์ล เพอร์วิส เบลล์ (Harry Charles Purvis Bell หรือ HCP Bell) ภาพเหล่านี้คลี่คลายและเชื่อมโยงประวัติศาสตร์รวมทั้งศิลปวัตถุผ่านสังคมและการเมืองในยุคล่าอาณานิคมได้เป็นอย่างดี ชาวสิงหลขมขื่นกับการตกเป็นเมืองขึ้น การค้นคว้าทางโบราณคดีเกิดขึ้นอย่างจริงจังโดยผู้เชี่ยวชาญและวิทยาการจากอังกฤษ โบราณวัตถุอันล้ำค่าถูกขนย้ายไปต่างประเทศ แม้อีกหลายปีต่อมาบางชิ้นจะถูกส่งคืนโดยทายาทของ HCP เอง

 

ภาพที่ 3 พิพิธภัณฑ์สิกิริยา

 

 

          จากพิพิธภัณฑ์ต้องเดินเท้าผ่านร่มเงาไม้ใหญ่เพื่อเข้าชมอาณาจักรของพระเจ้ากัสสปะที่ค่อยๆเปิดสู่สายตาทีละน้อยๆ  เริ่มจากคูน้ำกว้าง 10 เมตรและล้อมรอบกำแพงหินสูงทั้งสี่ด้าน เป็นการวางผังพระราชวังด้วยระบบป้อมปราการ คูน้ำ กำแพงเมืองเพื่อป้องกันข้าศึก หลังกำแพงเมืองจึงเข้าสู่พระราชฐานชั้นนอก ได้แก่ อุทยานที่ตกแต่งเป็นสระน้ำขนาดใหญ่สองสระมีทั้งน้ำพุน้ำตก กล่าวกันว่าใช้เป็นที่ลงสรงน้ำ และระบบน้ำฉ่ำเย็นบริสุทธิ์จากยอดเขายังใช้ได้ดีถึงทุกวันนี้  ชะง่อนหินที่บรรจงแต่งโดยลมและน้ำตามธรรมชาติ ทำให้ความรู้สึกระหว่างทางไต่ระดับขึ้นชมพระราชวังบนยอดเขานั้นตื่นเต้นทุกซอกทุกหลืบหิน การหย่อนกายเพื่อพักแทบไม่หายใจไม่ใช่เพราะเหนื่อยหอบ แต่เพราะทิวทัศน์ที่ปรากฏต่อหน้าช่างตระการตาประทับใจเหนือคำบรรยาย

 

ภาพที่ 4 ชะง่อนหินประติมากรรมจากธรรมชาติ เส้นทางระหว่างเดินขึ้นพระราชวังบนยอดเขา

 

          ไม่เพียงแต่ธรรมชาติที่ระดมสร้างศิลปะชั้นเลิศขึ้นที่นี่ มนุษย์ยังได้สรรค์สร้างภาพสีเฟรสโก (fresco) เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนบนหน้าผา ภาพนางอัปสรและราชนิกุลเปลือยอกมือประคองดอกบัวยาตราขึ้นบูชาพระหรือเทพยดาพร้อมราชบริพารที่ถือถาดดอกไม้ยังคงสีสดเหมือนจิตรกรเพิ่งวางพู่กันลงหมาดๆ แม้ปัจจุบันบางส่วนจะเริ่มเลือนราง และการมาชมภาพเขียนระดับยูเนสโกรับรองนี้ต้องไม่กลัวความสูงเพราะต้องไต่บันไดเหล็กแคบๆ ประมาณ 30 ขั้น แต่ภาพเขียนที่คงเหลือเพียง 4-5 ภาพบนหน้าผายาว 6 เมตรกว่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง จากภาพเขียนสีเฟรสโกนี้จุดสำคัญลำดับต่อไปคือ กำแพงเงา (the mirror wall) ผนังนี้ไม่ได้ทำจากกระจกแต่ฉาบด้วยปูนทาสีเหลืองมีความเรียบมันวาวราวกระจกเงา 

       

 

ภาพที่ 5 ภาพเขียนสีเฟรสโก

ที่มาภาพ: Pinterest

 

          ฉันคิดในใจตลอดย่างก้าวเข้ามาใครเลยจะคิดสร้างพระราชวังที่สร้างได้ลำบากยากเย็นเช่นนี้  แม้เทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบันยังต้องเดินไต่ขึ้นผาชันถึง 2,200 ขั้น  ในความคิดฉันกษัตริย์พระองค์นี้มีทั้งความบ้าอำนาจ มีทั้งรสนิยมและความโรแมนติก 

 

         ลานสุดท้ายก่อนขึ้นสู่พระราชวัง บนยอดสุดนั้นเป็นภาพคุ้นตาที่ทำให้พระราชวังสิกิยาเป็นที่รู้จักมากที่สุด นั่นคือ ลานสีห์บาท เท้าราชสีห์ที่ถูกสลักบนหินผาประดุจนายทวารปกปักรักษาผู้ที่ประทับในพระราชวังเบื้องบนนั้น ตำนานพงศาวดารศรีลังกามหาวงศ์ (Mahavamsa) ที่ประพันธ์ขึ้นราวศตวรรษที่ห้า กล่าวถึงความเป็นมาของชนชาติศรีลังกาหรือชาวสิงหลไว้ว่า มีต้นกำเนิดจากเจ้าชายอินเดียนามว่าเจ้าชายวิชญา (Prince Vijaya) ซึ่งเป็นหลานของสิงโต ออกเดินทางมาพบเกาะศรีลังกาและได้สมรสกับเจ้าหญิงคูเวณี (Princess Kuveni)  คำว่าสิงหลมีความหมายว่าสิงโต จึงถือเป็นบรรพบุรุษและสัญลักษณ์ของอำนาจกษัตริย์ในวัฒนธรรมศรีลังกา          

 

ภาพที่ 6 ลานสีหบาท

ที่มาภาพ: Pinterest

 

          จากลานนี้ไต่บันไดขึ้นอีกช่วงอึดใจรอ ภาพซากปรักหักพังทั้งสระโบราณ ฐานอาคาร ปราสาทราชวัง มีฉากหลังเป็นท้องฟ้าที่มองรอบตัว 360 องศา สุดปลายสายตานั้นคือป่าอันอุดมสมบูรณ์ ปราศจากอาคารสมัยใหม่สูงแทงยอดไม้ก็ปรากฏขึ้น ฉันแทบไม่หายใจดื่มด่ำกับความงามแบบสายตาของพระเจ้ากัสสปะที่คงมองเห็นเช่นนี้เมื่อพันปีก่อน ฉันทึ่งชาวศรีลังกาที่ช่างเก็บรักษาวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของเขาได้ดีวิเศษเช่นนี้ ก่อนที่จะเลือกมุมดีๆ นั่งมองอาทิตย์ลับขอบฟ้าบนสิกิริยาราชวัง มุมที่คาดว่าพระเจ้ากัสสปะน่าจะเลือกประทับชมพระราชอาณาจักร ก่อนวาระสุดท้ายจะปลิดชีพตนเองด้วยคมดาบในพระหัตถ์ คืนอำนาจที่ไม่จีรังให้กับพระเชษฐาของพระองค์

           

เมฆตามจันทร์

         

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ